ข้าวของเครื่องใช้ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มักจะทำให้เกิดความรกรุงรังในบ้าน ส่งผลให้การใช้ชีวิตไม่สะดวกสบาย จะหยิบจะจับอะไรก็ยุ่งยาก แถมยังเป็นจุดเริ่มต้นของความสกปรกอีกด้วย สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาก็คือ การเพิ่มที่เก็บของให้เป็นระเบียบ และ ชั้นวางติดผนัง ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะทำให้บ้านเราดูเรียบร้อยสบายตาขึ้นมาได้
วันนี้ ในบ้าน ก็จะพาชาวเว็บไปดู รีวิว DIY ชั้นวางของติดผนัง ด้วยวัสดุจากไม้อัดและไม้โครง ของคุณ padawan โดยจะเป็นการบิวท์อินชั้นวางติดผนัง เป็นที่เก็บข้าวของต่างๆ ที่รกรุงรังให้เป็นระเบียบ งานนี้ทำด้วยตัวเองในวันว่าง ตั้งแต่ ออกแบบ ซื้อวัสดุ อุปกรณ์ รวมถึงประกอบเอง แบบไม่ง้อช่าง ลองมาดูกันเลยครับ
DIY ชั้นวางของติดผนัง ทำเองง่ายๆ ในวันว่าง ด้วยวัสดุจากไม้อัดและไม้โครง
(รีวิวโดย padawan)
หันมองดูโต๊ะทำงาน โต๊ะวางของ มีของวางระเกะระกะเยอะมาก
วางแผนมานานว่าจะทำชั้นวางของที่ผนังว่าง ๆ วันนี้วันดีมีเวลาว่างนิดหน่อย ก็เลยจัดการลงมือ เริ่มต้นจากร่างแบบคร่าว ๆ คิดอยู่ว่าไม่อยากให้มีขารับชั้นเพราะมันดูเกะกะ อยากให้มันเป็นแผ่นยื่นออกมาจากผนังไปเลย ปัญหาก็คือจะรับน้ำหนักยังไง มันอาจจะไม่แข็งแรง เคยเห็นในอินเทอร์เน็ตที่ว่าทำเหล็กเส้นเชื่อมกับเหล็กแผ่น แล้วยึดกับผนังโดยเสียบเหล็กเส้นเข้าไปในชั้นไม้ ดูแล้วรู้สึกว่ายุ่งยาก จริง ๆ เครื่องเชื่อมอะไรงี้ก็มีอยู่ แต่ถ้าทำทั้งงานไม้งานเหล็ก ดูจะใช้เวลามากหน่อย เพราะต้องเตรียมของ ไม่มีห้องทำงานช่างโดยเฉพาะ เวลาจะทำงานทีนึงก็ต้องเตรียมเครื่องมือ อย่างนั้นก็คิดว่าทำเฉพาะงานไม้ดีกว่า เอาเป็นโครงจ๊อยส์ ตีโครงคร่าวแล้วเอาไม้อัด 4 มิลลิเมตร กรุบนล่าง โครงใช้ไม้ยาง ต่อกันเป็นโครงตามแนวตั้ง เพราะจะต้องมีพื้นที่แนบผนัง และจะยึดเกลียวปล่อยโครงเข้ากับผนัง ฟังดูคงจะ งง ๆ ใช่ไหม เดี๋ยวค่อย ๆ ดูไปนะครับ
แรกเริ่มก็ออกจากบ้านเดินไปหน้าปากซอยกับลูกน้อง
ไปซื้อไม้ยางจ๊อยมามัดนึง ราคา 290 บาท ก็ไม่ได้เลือกอะไรมาก ดูไม่โก่ง ไม่งอ ก็จ่ายตังค์หยิบมาเลย แบกกลับบ้านกัน 2 คน ไม้ยางมัดนึงยาวประมาณ 2.5 เมตร จำนวน 10 ท่อน ตามแผนที่วางไว้ ชั้นไม้ 1 อัน ใช้ไม้ประมาณ 3 ท่อน ส่วนไม้อัดมีเหลืออยู่แผ่นนึง เป็นไม้อัดลายเส้นไวท์โอ๊ก เก็บไว้นานแล้ว ได้ใช้สักที ตามขนาดของไม้อัดคือ 4 x 8 ฟุต เอามากรุบน/ล่างชั้นไม้ได้ขนาด 30 เซนติเมตร x ความยาวได้ถึง 240 เซนติเมตร (ตามความยาวไม้อัด) แต่พื้นที่ผนังของผมวางได้แค่ 190 เซนติเมตร ดังนั้นผมก็เลยออกแบบว่า จะทำชั้นซัก 30 x 180 เซนติเมตร ครับ
ได้ไม้มาแล้วก็ตัด ๆ ๆ
ตรงนี้ผมใช้เลื่อยวงเดือนตัด ซึ่งมันน่าจะสะดวกที่สุดแล้ว ตัดได้ฉากแบบง่าย ๆ ตัดไว ตัวนี้ซื้อมาราคาประมาณพันกว่า-สองพัน ขอโทษทีที่ไม่ได้ถ่ายรูปเอาไว้ ซื้อมาจากจีนใช้งานมาหลายปีแล้วยังไม่เสีย เปลี่ยนใบไปหนนึง…โอเค…มาดูไม้ ตอนนี้เรามีไม้ความยาว 180 เซนติเมตร จำนวน 4 ท่อน และ ไม้ยาว 25 เซนติเมตร จำนวน 14 ท่อน ใช้กระดาษทรายขัดตรงที่มันเป็นเสี้ยนออกก่อน
จากนั้นใช้ปืนลมแบบขาคู่ เอาไม้มาเข้าเป็นโครงแล้วยิงลูกแม็กเย็บไม้เข้าด้วยกัน
ผมจะทำทีเดียว 2 ชุดเลยคือ เอา 180 เซนติเมตร วางสองท่อนแล้วเอา 25 เซนติเมตร ซอยตรงกลาง ชุดละ 7 ท่อน ตรงนี้เรียกว่าโครงคร่าว…คือ…คร่าวมาก ๆ ไอที่ซอยตรงกลางนี้ กะ ๆ เอาไม่ได้วัดเลย ระยะห่างของไม้ซอยน่าไม่ต้องพูดถึง ไม่เท่ากันแน่นอน การเย็บแม็กด้านแรกไม้มันจะยังไม่เกาะกันแข็งแรง ให้เราพลิกด้านด้วยความระมัดระวัง ประคองไม้ไม่ให้มันหลุดออกจากกัน พลิกมายิงแม็กอีกข้างนึง พอยิงครบ 2 ด้านแล้ว มันก็จะแข็งแรงขึ้นมาพอสมควร เรียกว่า จับโยนกระแทก ๆ แรง ๆ “ก็แหกสิครับ” ฮ่า ๆ…พูดเล่นนะครับ มันแข็งแรงขึ้นพอสมควร จับพลักคว่ำหงายไม่มีปัญหาแล้ว
เมื่อเราได้โครงคร่าวที่แข็งแรงแล้ว จับตั้งขึ้น เจาะรูด้วยดอกสว่านเจาะไม้ขนาด 5 มิลลิเมตร
รูนี้เอาไว้ที่ช่องผ่านของเกลียวปล่อยที่เราจะเอาไว้ยึดกับผนัง เจาะตามรูป แต่จริง ๆ ควรเจาะเยื้องไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะเวลาวางเข้าผนังแล้ว รูที่ว่าควรจะอยู่แถบบน ๆ จะรับน้ำหนักได้ดีกว่า อยากแข็งแรงก็เจาะหลาย ๆ รู
เสร็จแล้วก็มาถึงคราวของแผ่นไม้อัด
เราจะตัดแผ่นไม้นี้ให้ลงโครงคร่าว วิธีที่ผมใช้ก็คือเอาโครงคร่าวทากาวลาเท็กซ์ขวดใหญ่ จำราคาไม่ได้ น่าจะขวดละ 40 บาท ใช้นานจนลืม ตัดเปิดฝาแล้วใช้ไม่หมดต้องเอาอะไรอุดไม่ให้กาวเสีย ทากาวลงไปตรงขอบโครงด้านที่จะติดไม้อัด คำแนะนำคือติดไม้ที่ส่วนล่างของชั้นวางก่อน เพราะเวลาที่เราจะยึดโครงเข้าผนัง การติดไม้อัดด้านล่าง จะมีพื้นที่ให้เราไขเกลียวปล่อยได้ง่ายกว่า เพราะรูยึดมันอยู่แถบบน ถ้าเราไปติดไม้อัดแถบบน ทีนี้รูมันก็จะอยู่ใกล้กับไม้อัดทำให้ไขยาก
โอเคทากาวแล้ว เอาไปวางไว้ใต้แผ่นไม้อัดบริเวณริมแผ่น
ถึงตรงนี้อาจจะงง…ไม่ตัดไม้อัดมาแปะลงบนโครงเหรอ ? คำตอบคือไม่ต้องครับ เอาโครงที่ทากาวแล้วไปวางใต้แผ่นไม้อัดบริเวณริม ๆ ใช้แม็กลูกเดี่ยว F10 ยิงยึดเอาไว้ซัก 2 มุม ไม่ให้ไม้มันเคลื่อน ถ้าไปยิงมุมไกล ๆ ซึ่งอยู่ด้านในของแผ่นไม้อัด มันจะเล็งยาก เอาแค่มุมโครงด้านริมแผ่นไม้อัดก็พอ แล้วพอเรายึดแผ่นไม้อัดกับโครงแล้ว ก็ใช้ Trimmer กัดขอบ มันจะตัดไม้อัดให้เหลือเท่ากับโครงพอดี ใช้หัว Trimmer แบบลูกปืนกัดขอบ (Trimmer เป็นอุปกรณ์ที่ราคาไม่แพง ผมซื้อมาไม่ถึง พัน แต่ชุดหัวที่มีหลาย ๆ แบบจะแพงหน่อย ก็เกือบพันเหมือนกัน) พอใช้ Trimmer กัดขอบเสร็จก็จะได้แผ่นไม้อัดที่ขนาดเท่ากับโครงคร่าวของเราเป๊ะ ๆ เสร็จแล้วก็ไล่ยิงลูกแม็กเดี่ยว F10 ไปตามขอบ เพื่อยึดให้แผ่นไม้อัดติดกับโครงอย่างสมบูรณ์ ไว้ระยะแต่ละลูกซัก 10 เซนติเมตร (กะ ๆ เอาก็พอ อย่าให้ต้องถึงกับเอาไม้บรรทัดมาวัดเลย)
เราได้แผ่นไม้อัดปิดโครงคร่าวมาด้านนึงแล้ว เราจะทำอีกด้านนึง แต่คราวนี้ยังไม่ต้องทากาว
ทำเหมือนขั้นตอนเมื่อกี้ แต่เพียงเราจะยังไม่ยึดแผ่นนี้ลงไป เพียงแค่ตัดให้ได้ขนาดพอดีโครง แผ่นที่เราตัดนี้ จะเอามาปิดงานท้ายสุดหลังจากที่ยึดโครงกับผนังเสร็จแล้ว วิธีการก็คือเอาโครงสอดเข้าใต้แผ่นไม้อัด ใช้ลูกแม็กเดี่ยวยึดซัก 2 มุม แล้ว Trimmer กัดขอบเหมือนเดิม เพียงแต่พอกัดเสร็จแล้วก็ดึงไม้อัดออกมา แล้วตอกลูกแม็กให้จมไปเลย เพียงเท่านี้ก็เสร็จไปอีกขั้นตอน ทำทั้งหมด 2 ชุดครับ
คลิปการ Trimmer กัดขอบ
ขั้นตอนต่อมาก็คือการทาแล็กเกอร์
ตรงนี้ไม่มีอะไร…ก็เอาแล็คเกอร์มาผสมทินเนอร์ แล้วก็ทา ๆ ไป ถ้ามีเวลาลง Sanding Sealer ของ TOA ก่อน แห้งไว แถมขัดง่าย เรียบเนียนสวย แล้วค่อยลงแล็กเกอร์ซ้ำ จริง ๆ ผมมีถังลม มีกาพ่นสี แต่ถ่าใช้พ่น กลิ่นมันจะเหม็นไปข้างบ้าน ก็เลยใช้ทาเอาน่าจะดีกว่า แต่มันมีสูตรน้ำที่กลิ่นเหม็นไม่มี แต่แห้งช้า แต่ผมมีสูตรทินเนอร์อยู่แล้วก็เลยใช้แบบนี้ ผมใช้ขวดเป็บซี่ลิตรมาตัดเอาก้น แล้วเทแล็กเกอร์สูงขึ้นมาซัก สองนิ้ว ตามด้วยเททินเนอร์ตามไปสักนิ้วนึง คน ๆ ผสมกันแล้วก็เอาแปรงทา ตรงนี้ไม่มีอะไรยาก รอแห้งแล้วก็เอาขึ้นผนังได้เลยครับ
การเอาขึ้นผนัง
ผมเจาะรูผนังด้วยดอกเจาะปูนขนาด 9/32 นิ้ว ใช้พุกเบอร์ 7 และเกลียวปล่อยเบอร์ 7 ยาว 2 นิ้ว เริ่มด้วยการเอาโครงขึ้นไปกะ ๆ ดูคร่า วๆ ว่าเราจะยึดตรงนี้ แล้วก็ดูรูริมสุด จะริมซ้ายหรือขวาก็ได้ ว่าอยู่ประมาณตรงไหน เอาโครงชั้นไม้ออกไปก่อนแล้วเจาะรูใส่พุกเข้าไปเลย 1 รู จากนั้นเอาชั้นกลับมาติดตั้งแล้วยึดด้วยเกลียวปล่อย 1 ตัว ขั้นตอนนี้ทำเพื่อเราจะกะรูอื่น ๆ ตอนนี้เรามีชั้นไม้ที่ยึดด้วยเกลียวปล่อย 1 ตัวที่รูริมสุด ไม่ต้องยึดแน่น ให้มันหมุนขึ้นลงได้ เอาระดับน้ำมาวัด เพื่อให้ชั้นไม้ของเราขนานกับพื้นโลกแล้วจับเอาไว้ จากนั้นใช้ดอกเจาะปูนเล็ก ๆ (ผมใช้ขนาด 2-3 มิลลิเมตร) เจาะไปตามรูบนโครงให้มันทะลุไปโดนผนังตามตำแหน่งรูที่เราเจาะบนโครง เสร็จแล้วให้ถอนเกลียวปล่อย 1 ตัวออกมาแล้วยก ชั้นไม้ออกไปก่อน สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ก็คือ ตำแหน่งรูต่าง ๆ บนผนัง แบบเดียวกับที่เราเจาะบนโครงไม้ สิ่งที่ต้องทำก็คือเจาะรูทั้งหมดนั้นด้วยดอกเจาะปูน 9/32 แล้วใส่พุกลงไปให้เรียบร้อยทั้งหมด จากนั้นก็เอาชั้นไม้มาติดตั้งแล้วยึดเกลียวปล่อยทุกตำแหน่งเพื่อความแข็งแรง
หลังจากที่โครงชั้นวางของเรายึดเข้ากับผนังเรียบร้อย
ก็ทากาวตามสันโครง แล้วเอาไม้อัดที่เราตัดเตรียมเอาไว้มาวางทาบ เสร็จแล้วก็ใช้ลูกแม็ก F10 ยิง ๆ ๆ ตามโครงเพื่อยึดไม้อัดด้านบน ถึงตรงนี้จะถือว่าเสร็จแล้วก็ได้ แต่มันยังเปลือย ๆ บริเวณขอบ เพราะเราไม่ได้ทำไม้ปะขอบ วิธีการก็คือตัดไม้ตามขนาดขอบ (อาจจะใหญ่กว่านิดหน่อย) ทากาว แล้วแปะลงไป ยิงลูกแม็ก F10 เพื่อยึด เว้นช่องไฟ 10 เซนติเมตรระหว่างลูกแม็ก เสร็จแล้วใช้ Trimmer กัดขอบให้มันเรียบเนียน แต่ผมไม่ได้ทำ…เพราะไม้หมดขี้เกียจซื้อแค่นิดหน่อย ก็เลยขอจบแค่นี้ครับ ฮ่า ๆ ๆ
เวลาเจาะปูนเศษปูนมันเยอะ ผมใช้กระดาษ A4 ตัดหัวตัดท้าย แล้วซ้อนเข้าหากันใช้แม็กเย็บ แล้วเทปกาวติด เอาไปติดไว้ใต้รูที่เราจะเจาะ
มันจะรองรับเศษปูนที่ออกมา ไม่ต้องทำความสะอาดมาก เวลาเจาะก็ค่อย ๆ เจาะ ถ้าเจาะเร็วมันจะมีลมพัดเอาเศษเล็ก ๆ ปลิวไปไกล ใช้วิธีหมุนช้า ๆ แต่ให้แขนช่วยดันเข้าไปแทน เหนื่อยหน่อยแต่เศษมันไม่ค่อยปลิว
ตัวนี้ครับเอาไว้ตัดไม้โครงหรือไม้ท่อน ปรับองศาได้
ซื้อมาน่าจะประมาณเกือบ 2 พัน แต่โดนค่าส่งอีกพันกว่า (จำตัวเลขไม่ค่อยได้ นานมากแล้ว)
ปั้มลม PUMA รุ่นเสียงเงียบ
นี่ถ้าไม่มีรุ่นนี้ผมนี่จะไม่ซื้อปั้มลมเด็ดขาด เพราะรุ่นที่ไม่ใช่เสียงเงียบ เสียงมันดังมาก รำคาญถึงข้างบ้าน ตัวนี้ถังจุ 50 ลิตร ราคาจำไม่ได้ครับ ฮ่า ๆ ๆ
รูปตู้ที่ทำเสร็จแล้วครับ
ที่มา : padawan