สำหรับในวันนี้ ในบ้าน มีรีวิวการรีโนเวทบ้านจากทาง SCG Buildingmaterials มาฝากกันครับ เป็นผลงานการออกแบบของ คุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล สถาปนิกจาก Full Scale Studio ที่ได้เปลี่ยนบ้านเก่าๆ ให้กลายเป็นบ้านสีขาวที่มีความพอดี ลงตัวสำหรับทุกคนในครอบครัว โดยจะคงโครงสร้างเดิมเอาไว้และเพิ่มรายละเอียดพิเศษเข้าไปในบ้าน ลองมาชมรายละเอียดกันครับ ว่าจะสวยน่ามองแค่ไหน
Review : รีโนเวทบ้านเก่า ให้กลายเป็นบ้านสีขาวอยู่สบาย
(โดย : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์)
(ภาพ : คุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล)
นิยามของคำว่าบ้านของคุณคืออะไร สำหรับบ้านหลังนี้ นิยามของคำว่า “บ้าน” คือ ความพอดี ความคิดที่ตกผลึก ไม่ต้องหรูหรา เป็นสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย และตรงกับชีวิตของคนในบ้าน บ้านที่เชียงใหม่หลังนี้ กระซิบบอกเราผ่านบรรยากาศและรูปแบบของบ้านที่ลงตัว บ้านหลังนี้จึงพิเศษที่ภายในของบ้าน เพราะเจ้าของบ้านต้องการให้เมื่อมองจากภายนอก ไม่ได้รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก ความน่าสนใจจึงอยู่ที่การออกแบบปรับปรุงบ้านหลังนี้ โดยยึดการใช้โครงสร้างเดิมมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากพอ ที่จะทำให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างเหมาะสม และเป็นบ้านน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
คุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล สถาปนิกจาก Full Scale Studio เป็นทั้งผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านหลังนี้ ด้วยความต้องการบ้านที่มีความเป็นส่วนตัวและอยู่ในบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งคุณอรรถและภรรยาได้มาเจอบ้านเก่าหลังนี้ประกาศขาย จึงสนใจและเข้ามาดูสภาพต่างๆ ของบ้าน ตอนแรกอยากสร้างบ้านที่ออกแบบขึ้นมาใหม่เลย แต่เมื่อมาพิจารณาหลายเรื่อง การซื้อบ้านเก่ามาปรับปรุงก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะบ้านหลังนี้มีแปลนบ้านเดียวกันกับบ้านของพี่ชาย ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหลังนี้ ทำให้คุ้นเคยกับแบบบ้าน แต่บ้านหลังนี้อยู่แปลงมุม และเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ดูด้านหน้าบ้านจะดูไม่กว้างนัก แต่เมื่อเข้ามาข้างในก็จะกว้างและระเบิดออก ซึ่งคุณอรรถสิทธิ์ ก็ชอบที่ดินที่น่าสนใจแบบนี้อยู่แล้ว บวกกับเรื่องเวลาของการก่อสร้างและราคาที่ประหยัดกว่า ในกรณีที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก
รูปแบบภายนอกนั้นไม่ได้ทำการปรับปรุงมากนัก มีเพียงการทาสีรั้ว ทำรั้วทึบและโปร่งใหม่ ประตูรั้วสำหรับโรงรถ และงานบำรุงรักษา แต่รูปแบบยังคงเหมือนเพื่อนบ้าน บ้านหลังนี้ประกอบด้วย 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว และศาลา เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เดิมก่อนปรับปรุง มีเพียงการปรับพื้นที่เล็กน้อยเพื่อให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสม
เริ่มจากการดูว่าสิ่งเดิมนั้นมีสภาพที่แข็งแรงเพียงพอหรือต้องซ่อมแซมหรือไม่ จากนั้นก็ดูว่าพื้นที่ต่างๆ ควรได้รับการปรับปรุงและแปลงเปลี่ยนอย่างไรบ้าง เช่น บ้านหลังนี้จะแบ่งตัวบ้านออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ด้านที่เป็นอาคารหลักและอาคารรอง ทั้งสองห่างกันประมาณ 1 เมตร และมีศาลาตรงพื้นที่สวนกลางบ้าน เจ้าของบ้านเลือกเก็บโครงสร้างหลักไว้ทั้งหมด และทำการเชื่อมอาคาร 2 อาคารเข้าด้วยกันด้วยทางเดินและหลังคาครอบให้เป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนศาลาที่อยู่กลางสวนนั้นเดิมก็เป็นเพียงศาลาโล่งๆ เจ้าของบ้านจึงเพิ่มเคาน์เตอร์อ่างล้างมือเล็กๆ ตู้เก็บของ และชุดโต๊ะ-เก้าอี้ สำหรับการจัดงานปาร์ตี้กับเพื่อนฝูง ศาลานี้ถูกโอบล้อมด้วยตัวบ้านที่วางเป็นรูปตัวแอล ผนังบ้านด้านที่ติดสวนถูกเปลี่ยนแปลง จากหน้าต่างแคบและเตี้ย ให้กลายเป็นบานเลื่อนกระจก ที่สามารถเปิดมุมมองมาที่สวนได้เต็มที่
ศาลามีการเพิ่มเคาท์เตอร์อ่างล้างมือ ตู้เก็บของ และชุดโต๊ะ-เก้าอี้ โดยตั้งอยู่บนพื้นคอนกรีตเดิมสามารถรับน้ำหนักได้สบายๆ
เดิมบริเวณนี้ไม่มีการเปิดช่องเปิดที่ใหญ่พอ เป็นเพียงหน้าต่างบานเล็กๆ ติดเหล็กดัด ซึ่งน่าเสียดายที่มีสวนและศาลาที่น่านั่งอยู่ คุณอรรถจึงเลือกที่จะเปิดด้านนี้มากที่สุด โดยมีชายคาของบ้านเดิมที่ยื่นยาวอยู่แล้ว ให้ร่มเงาได้ดี
บริเวณพื้นที่ระเบียงของบ้านที่ต่อเนื่องกับศาลากลางบ้าน เป็นระเบียงและพื้นที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถใช้งานได้เหมาะสม ทนทาน วัสดุที่ใช้ก็เป็นวัสดุที่ผสมผสานกันระหว่างเก่าและใหม่ โดยเจ้าของบ้านเห็นว่าหากของเก่านั้นมีสภาพที่ดีอยู่ก็สามารถใช้งานได้ โดยพิจารณาวัสดุใหม่ให้เข้ากับของเก่าและภาพรวม
พื้นที่ส่วนศาลากลางบ้านนี้จะเย็นสบาย เพราะร่มตลอดทั้งวันเนื่องจากชายคาของตัวบ้านและศาลาเอง เป็นพื้นที่พักผ่อนแบบไทยๆ
บ้านสมัยก่อน ส่วนผนังมักเป็นผนังก่ออิฐทั้งหมด ไม่ได้ใช้ผนังเบาแบบปัจจุบัน โครงสร้างเดิมจึงค่อนข้างแข็งแรงอยู่แล้ว สำหรับส่วนนี้ เจ้าของบ้านเลือกที่จะเปิดให้ทุกห้องเชื่อมถึงกัน ทั้งห้องนั่งเล่น รับประทานอาหาร และครัว ซึ่งทำให้บ้านโปร่งสบาย และสว่าง
สำหรับตัวบ้าน ผู้ออกแบบไม่อยากให้ตัวบ้านดูโดดเด่นต่างจากเพื่อนบ้าน เมื่อดูจากมุมมองภายนอก เพราะคิดว่าบ้านที่ดีควรเรียบง่าย กลมกลืน และมีความนอบน้อมในตัว สอดคล้องกับความต้องการบ้านใหม่ที่ก่อสร้างเร็ว ซึ่งการปรับปรุงบ้านเดิม หากทำในปริมาณที่ไม่มาก ก็จะช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้างเมื่อเทียบกับสร้างบ้านขึ้นมาใหม่ได้มากทีเดียว อีกทั้งงบประมาณก็น้อยกว่าด้วย
เจ้าของบ้านเลือกที่จะใช้การสร้างแผงบังตาในบริเวณที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เช่น ส่วนทางเข้าหลักของบ้าน จากที่จอดรถ จากเดิมนั้นจะเดินผ่านระเบียงเล็กๆ ที่มีชายคาเข้าสู่ตัวบ้านตามรูปแบบของบ้านจัดสรรทั่วไป แต่ด้วยความที่รั้วบ้านเดิมนั้นมีความโปร่งและเตี้ยมาก จึงสามารถมองเห็นทะลุเข้ามาภายในบ้านได้ ผู้ออกแบบจึงใช้การก่อผนังอิฐมอญแบบสลับให้เกิดช่องว่างเล็กน้อย สร้างความเป็นส่วนตัวแต่ยังให้แสงแดดและลมผ่านได้ เป็นพื้นที่กึ่งภายนอกที่สร้างขึ้นจากความต้องการความเป็นส่วนตัว เมื่อมองภาพรวม ผนังนี้ก็ช่วยสร้างมิติและมุมมองของบ้านที่แปลกออกไป ไม่เปิดเผยเหมือนเมื่อก่อน แต่ก่อเกิดความน่าสงสัย เป็นส่วนตัวได้ดี
ผนังกึ่งโปร่งกึ่งทึบที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นผนังบังตาแบบเป็นมิตรกับเจ้าของบ้าน โอบล้อมโถงทางเข้าบ้านที่ต่อเนื่องจากที่จอดรถ แสงแดดสายลมยังสามารถพัดผ่านได้สบาย
มุมมองจากที่จอดรถเข้ามาในบ้าน จะเจอพื้นที่ที่ปิดล้อมด้วยผนังอิฐเว้นช่อง
ส่วนโครงสร้างหลังคาเหล็กที่โชว์ให้เห็นนี้ เป็นการตัดสินใจหน้างาน เพราะเมื่อมีการรื้อฝ้าเดิมซึ่งเป็นฝ้าแบบทีบาร์ ก็พบว่าโครงหลังคาเป็นเหล็กอย่างดี และยังคงแข็งแรง จึงตัดสินใจโชว์ให้เห็นโครงสร้างนี้
ไม่เพียงแต่การปรับเปลี่ยนทางด้านกายภาพ แต่การปรับปรุงบ้านหลังนี้ ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดเรื่องการออกแบบบ้านพักอาศัย ในอดีตเราอาจไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างมากนัก ตัวบ้านจึงกระจายเกือบเต็มพื้นที่ดิน ช่องเปิดต่างๆ ก็ไม่กว้างมากนัก ไม่ได้เน้นการเชื่อมโยงกับสวน เมื่อเวลาผ่านไป คนยุคนี้ให้ความสำคัญกับบริบทมากขึ้น รั้วจึงมีการเปลี่ยนแปลงโดยการเลือกที่จะเปิดและปิดในช่วงที่เหมาะสม การเปลี่ยนช่องเปิดและผนังบางส่วนใหม่ แสดงให้เห็นว่าความโปร่งสบายและความเป็นส่วนตัวเป็นหัวใจสำคัญของการปรับปรุงบ้านครั้งนี้
ห้องนอนของลูกสาวที่ตกแต่งเรียบง่าย เฟอร์นิเจอร์ทั้งจากบ้านเดิมและซื้อใหม่ ดูสบายตา
จากการพูดคุยกับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นสถาปนิกด้วยแล้ว ทำให้รู้สึกว่า “บ้าน” ที่ดี เกิดจากความคิดที่ตกตะกอน บ้านไม่จำเป็นต้องแพงที่สุด ไม่จำเป็นต้องหรูหราที่สุด แต่ต้องมีความพอดีกับเจ้าของบ้านมากที่สุด บ้านหลังนี้ใช้งบในการปรับปรุงประมาณ 1 ล้านบาท เรียกได้ว่าคุ้มค่าไม่น้อย แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ต้องผ่านการคิดและทบทวนวิธีการมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อความลงตัวมากที่สุดทั้งงบประมาณและการออกแบบ
Tip: งานโครงสร้างนั้นสามารถใช้โครงสร้างของบ้านเดิมได้ แต่หากเป็นเรื่องของงานระบบไม่ว่าจะเป็นงานไฟฟ้าหรือประปา ควรมีการตรวจสอบอย่างละเอียด หากไม่ติดขัดเรื่องงบประมาณ ก็ควรที่จะเดินระบบใหม่ทั้งหมด เพราะการแก้ไขงานระบบ อาจมีความยุ่งยากในการปรับปรุงซ่อมแซมภายหลัง โดยเฉพาะหากเดินท่อร้อยสายไฟซ่อนในผนัง อาจต้องทำการทุบผนังหรือรื้อฝ้าเพดานออกก่อน
ที่มา : SCG Buildingmaterials