เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศว่า ไขมันทรานส์ หรือทรานส์แฟท (Trans Fat) จะถูกสั่งห้ามนำเข้า ผลิต และจัดจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2562 เป็นต้นไป
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมอยู่ดีๆ ไขมันทรานส์ก็กลายเป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มันเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญสำหรับอาหารนานาชนิด
และวันนี้ ในบ้าน จะขอพาชาวเว็บทุกท่านไปทำความรู้จักกับ “ไขมันทรานส์” ให้มากขึ้น รวมถึงไขข้อสงสัยว่าเหตุใดไขมันทรานส์จึงไม่ควรนำมาบริโภคอีกต่อไป เอาล่ะค่ะ เราลองไปติดตามรายละเอียดกันเลยดีกว่า
ไขมันทรานส์ คืออะไร
กรดไขมันทรานส์ คือไขมันชนิดหนึ่งที่มีส่วนทำให้น้ำมันพืชสามารถคงสภาพแข็งตัวหรือกึ่งแข็งกึ่งเหลว และมีอายุเก็บไว้ได้นานกว่าเดิม
ในทางอตสาหกรรมอาหารลดต้นทุนในการผลิตได้มากขึ้น ซึ่งเราจะพบกรดไขมันทรานส์ได้ ในอาหารและขนมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบเกอรี่ หรือ โดนัท ที่ใช้เนยขาว เนยเทียม ครีมเทียม หรือมาการีน เป็นส่วนผสม
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ‘ไขมันทรานส์’ เคยถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าไขมันธรรมชาติ แต่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่ามันเป็นภัยต่อสุขภาพ
จากผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เมื่อไขมันทรานส์ เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) และลดไขมันดี (HDL) ในเส้นเลือด ซึ่งนำไปสู่ โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ รวมถึงโรคเบาหวาน อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการบริโภคไขมันทรานส์เป็นจำนวนหลายล้านรายทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้เอง องกรค์อนามัยโลกหรือ WHO จึงได้มีแผนการที่จะให้ประชากรโลกเลิกบริโภคไขมันทรานส์ ซึ่งคาดการณ์เอาไว้ว่า ภายใน ปี ค.ศ. 2023 จะมีผู้เสียชีวิตจากการบริโภคไขมันทรานส์ลดลงกว่า 10 ล้านคน
จากความตั้งใจดังกล่าวของ WHO ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงเริ่มตื่นตัวและห้ามใช้ไขมันทรานส์
เริ่มจากประเทศเดนมาร์กที่ห้ามใช้อย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ ประกาศห้ามใช้ได้ตาม ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ห้ามใช้เมื่อปี ค.ศ. 2006 ประเทศสิงคโปร์ได้ห้ามใช้เมื่อปี 2012 และอีกหลายประเทศทั่วโลก
จนในที่สุด กระแสการยกเลิกไขมันทรานส์ ก็ได้มาถึงประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มศึกษาแนวทางการเลิกใช้ไขมันทรานส์มาตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 และจะถูกสั่งห้ามนำเข้า ผลิต และจัดจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2562 เป็นต้นไป
แต่…ไม่มีไขมันทรานส์ ไม่ได้แปลว่าไขมันต่ำ
เมื่อไขมันทรานส์ได้ถูกห้ามใช้ในประเทศไทยแล้ว ทางองค์การอาหารและยา ก็กำลังพิจารณาการติดฉลาก “ปราศจากไขมันทรานส์” หรือ “Trans fat free” บนตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ามีไขมันต่ำและบริโภคในปริมาณเยอะจนเกิดผลเสียต่อร่างกายได้
รศ.ดร. วันทนีย์ ประธานหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหาร สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ได้กล่าวว่า ถึงแม้จะไม่มีไขมันทรานส์แล้ว แต่ก็ยังมีไขมันอิ่มตัวที่มาจากพวกของทอด ซึ่งการบริโภคมากเกินไปก็ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้เหมือนกัน
นอกจากนี้ ไขมันทรานส์ ยังพบได้ในเนื้อสัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้องบางชนิด ซึ่งมักอยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่าไขมันทรานส์ที่ผลิตจากกระบวนการอุตสาหกรรม
แม้ว่าทั่วโลกจะเริ่มตื่นตัวกับการห้ามผลิตไขมันทรานส์กันแล้ว แต่การบริโภคไขมันนั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่เราต้องควบคุมอยู่ด้วย ซึ่งเราควรทำความเข้าใจว่าไขมันนั้นสามารถบริโภคได้ แต่ให้บริโภคในปริมาณน้อยหรือเท่าที่ร่างกายต้องการเท่านั้นนะคะ ^_^
ที่มา : BBC .