บ้านเรือนไทย เป็นสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่พักอาศัยในรูปแบบไทยดั้งเดิม ในสมัยก่อนจะเน้นไม้เป็นองค์ประกอบหลัก เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาง่ายและมีความแข็งแรงทนทาน แต่ในภายหลังก็ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ผสมผสานโครงสร้างไม้เข้ากับฐานคอนกรีตเพื่อให้บ้านมีความมั่นคงมากขึ้น
ซึ่งในปัจจุบัน บ้านเรือนไทย ก็กลับกลายเป็นรูปแบบบ้านที่หาพบได้ยากเต็มที แต่ก็ยังมีคนที่ยังคงอนุรักษ์เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมที่พักอาศัยไว้ ดังเช่น คุณ Apple Devil ที่เลือกก่อสร้าง “เรือนพ่อคง” บ้านเรือนไทยพร้อมใต้ถุน ที่มีทั้งความสวยงาม และพื้นที่โปร่งโล่งสำหรับพักผ่อนนอกบ้าน
โดยจุดประสงค์ในการก่อสร้างครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้ผู้คนได้เข้าไปชื่นชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมไทยท้องถิ่น พร้อมให้ข้อมูลการก่อสร้างสำหรับผู้ที่สนใจ หากใครชื่นชอบก็ลองไปติดตามชมกันเลยค่ะ
“เรือนพ่อคง” เรือนโคราชสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สวยงาม
(โดย Apple Devil)
ออกตัวไว้ก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการสร้างบ้านแต่อย่างใด แต่เป็นคนที่ชอบเรือนโบราณเท่านั้นนะครับ หนึ่งในเรือนโคราชที่ผมใช้เป็นแหล่งข้อมูลสร้างบ้านของตนเอง (แต่ก่อนสร้างผมไม่เคยไปดูเรือนหลังจริง) และคิดที่จะไปเยี่ยมชมเรือนแห่งนี้กับตาให้ได้สักครั้ง
สัปดาห์ที่แล้วสบโอกาสที่ได้ไปอบรมที่ จ.อุบลราชธานี ขากลับจึงตั้งใจที่จะแวะเยี่ยมเรือนโคราชแห่งนี้ และตั้งใจเก็บภาพมาฝากสำหรับคนที่ชอบและรักเรือนไม้โบราณ และอาจจะใช้เป็นไอเดียไปออกแบบบ้านเรือนของท่านเองได้ ปัจจุบันเรือนหลังนี้ตั้งอยู่ใจกลางมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เข้าชมฟรี ซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกเรือนหลังนี้ว่า “เรือนพ่อคง” นะครับ
เรือนโคราชหลังนี้ เป็นเรือนของพ่อคง โชตินอก เดิมตั้งอยู่ ณ บ้านตะคร้อ ตำบลเมืองคง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2448 ถ้านับถึงปัจจุบันก็สร้างมาแล้วประมาณ 112 ปี ซึ่งผ่านการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของทายาทพ่อคงมากว่า 4 รุ่น สภาพก่อนจะย้ายมาปรุงใหม่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมานั้น มีความทรุดโทรมลงไปบ้างอันเนื่องจากผ่านกาลเวลา แต่ยังคงความแข็งแรง มั่นคง สวยงาม และสะท้อนภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรม และอัจฉริยภาพของช่างท้องถิ่นชาวโคราชได้อย่างชัดเจน
เรือนโคราชกลางมหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความคิดริเริ่มของอดีตบุคลากรและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยในการระดมทุนกัน ซึ่งเริ่มระดมกันเมื่อต้นปี 2559 และแล้วเสร็จในปีเดียวกันนั่นเองครับ ชื่นชมมาก ๆ นะครับ
อนึ่ง เรือนโคราชไม่ใช่เรือนไทยภาคอีสาน และไม่ใช่เรือนไทยภาคกลาง แต่เป็นลูกผสมของทั้งสองสถาปัตยกรรม (อาจจะเอียงไปทางภาคอีสานมากหน่อย) ที่ลงตัวมาก ๆ โดยส่วนตัวผมชอบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบนี้มาก ผมขอนับว่าเป็นเรือนอีสานอีกแบบนึ่งก็แล้วกันนะครับ
แล้วเรือนโคราชคืออะไร ?
เรือนโคราชคือเรือนไทยโบราณแบบหนึ่งที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างเรือนไทยภาคกลางกับเรือนไทยภาคอีสาน เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงใต้ถุนโล่ง หลังคาทรงจั่วทำมุมประมาณ 40 องศา มีป้านลมและจั่วนิยมตกแต่งเป็นลวดลายการเข้าไม้ การแกะสลัก ตัวเรือนมีวิธีการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปเหมือนเรือนไทยภาคกลาง (ที่ทำฝาเรือนเป็นกระแบะมีหน้าต่างมาพร้อมแล้วยกมาแปะเลย) โครงสร้างระบบเสา-คาน แต่จัดวางรูปแบบของเรือนเหมือนสถาปัตยกรรมเรือนไทยในภาคอีสาน แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 4 ส่วนคือ เรือนนอน (เป็นเรือนอยู่ระดับสูงสุด) พะระเบียง (ถ้าเรือนอีสานจะเรียกส่วนนี้ว่า “เกย” เป็นเรือนที่อยู่ถัดลงมามีหลังคาลาดเอียงคลุม) มีนอกชาน (อีสาน : ชานแดด) เป็นส่วนที่ต่ำที่สุดไม่มีหลังคาคลุม และครัว พื้นที่ใช้สอยให้ความสำคัญกับเรือนนอนเป็นหลัก ส่วนพะระเบียง (เกย) นั้นเอาไว้พักผ่อน หรือต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียน
ตัวเรือนนิยมวางตัวเรือนล่องตะเว็น (ตามตะวัน) คือหันด้านยาวของหลังคาทางทิศตะวันตก-ตะวันออก ให้ตัวเรือนนอนหัวลงทางด้านทิศใต้เพื่อรับลม ลักษณะของเรือนจะเป็นเรือนสามห้อง (เสา 4 ต้น สามช่วงเสา) มีด้านกว้างห้องละ 2.5 เมตร ด้านยาว 3.8 เมตร สูงประมาณ 2.8 เมตร การที่หันเรือนนอนลงทิศใต้ ทำให้คนโคราชเรียกทิศใต้ว่า “ทิศหัวนอน” เรือนจะมีหน้าต่าง 3 บาน ประตู 1 บาน (นั่นหมายความว่า เรือนโคราชจริง ๆ นั่น เรือนนอนจะเป็นห้องเดียว) ช่วงระดับจากเรือนนอนลงสู่พะระเบียง (เกย) จะสูงถึงประมาณ 80 cm ทำให้ต้องมีไม้มารองแทนบันไดอีก 1 ขั้น เรียกว่า “ม้ารองตีน” ตรงช่องว่างระหว่างเรือนนี้ เรียกว่า “ช่องแมวลอด” จุดประสงค์คือต้องการให้ลมพัดผ่านเข้ามาได้เพื่อระบายอากาศ
ฝาเรือนจะมีสองลักษณะคือ ฝาปรือและฝากระดาน ฝาปรือคือฝาที่ใช้วัสดุธรรมชาติจำพวกต้นปรือ (ต้นกกผือ) มาทำ ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ส่วนฝาไม้กระดานจะใช้เคร่าตั้งด้านในตีฝากระดานแนวนอนซ้อนเกล็ดด้านนอกแต่เว้นเป็นช่องจังหวะ นั่นคือทฤษฎีของเรือนโคราชทั่ว ๆ ไปครับ
แล้วเรือนพ่อคงแตกต่างจากเรือนโคราชหลังอื่นอย่างไร ?
เอกลักษณ์ของเรือนโคราชหลังนี้ เป็นเรือนแฝดที่มีเรือนนอน 2 หลังขนานกัน มีชานหรือโถงกั้นกลาง เป็นลักษณะเด่นแตกต่างจากเรือนทั่วไป (เรือนมี 2 จั่ว แต่มีพื้นที่ใช้สอยเทียบเท่าเรือน 3 จั่ว ตัวอย่างเรือนสามจั่วก็บ้านคำแก้วในละครเรื่องนาคี หรือชื่อสถานที่จริงคือเรือนนางสาหร่ายในหมู่บ้านอีสานของไร่จิมทอมป์สัน) มีการสอดประสานชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นองค์อาคารได้อย่างแข็งแรง มั่นคง ซึ่งทำให้เรือนพ่อคงหลังนี้ สามารถคงอยู่มาได้นานถึง 112 ปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอัจฉริยภาพและปัญญาสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นโคราช ที่มีความริเริ่ม มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบโครงสร้าง แตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์ หาได้ยากยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเรือนในสมัยนั้น (ลองดูภาพแปลนประกอบนะครับ ผมถ่ายภาพมาจากบนเรือน)
อ่านบทความเรื่องเรือนโคราชหลังนี้อย่างละเอียดได้ที่นี่นะครับ ผมคงเล่าไม่ละเอียดสู้อ่านเองกันไม่ได้ ยาวพอสมควรแต่ได้ความรู้มากครับ http://www.koratmuseum.com/bankorat/bankorat-karun.pdf เขียนโดย ผศ.การุณย์ ศุภมิตรโยธิน ครับ
ภาพของเรือนก่อนจะย้ายมาสร้างใหม่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
แปลนของเรือน
.
.
.
พื้นที่ใช้สอยภายในเรือน
เรือนพ่อคงเป็นเรือนแฝดที่มีลักษณะเป็นเรือนสามห้องเหมือนเรือนโคราชทั่วไป เพียงแต่กั้นห้องไว้แค่ 2 ห้อง ปล่อยพื้นที่โล่งไว้รับกับกลางเรือนทำให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ซึ่งอาจเอาไว้รับแขกหรือทำกิจกรรมร่วมกัน
.
ฝาเรือน
ฝาเรือนเป็นฝาไม้กระดาน มีการรูปแบบการเข้าไม้หลายอย่าง ทั้งการเข้าไม้สลักลิ่มซ้อนเกล็ด, ทั้งตีซ้อนเกล็ดแนวนอน แต่ทั้งหมดล้วนแต่เป็นระบบสำเร็จรูปคล้ายเรือนไทยภาคกลาง คือปรุงฝา (ประกอบไม้ทั้งหมดรวมหน้าต่าง) เป็นกระแบะแล้วยกขึ้นมาติดตอกด้วยตะปู 6 นิ้ว
.
.
.
.
เอกลักษณ์เรือนโคราชเลย คือการปล่อยชายพรึง (ไม้รองฝา) ให้ยาวเฟื้อยอยู่อย่างนั้นไม่ตัดออก
การวางตงและคาน
.
.
โครงหลังคา
.
ครัวไฟ
.
พื้นที่ใช้สอยส่วนอื่น ๆ
.
.
.
.
ท่านใดชอบเรือนไม้ หากมีโอกาสผ่านไป จ.นครราชสีมา อย่าลืมแวะเข้าไปเยี่ยมชมเรือนพ่อคงกันนะครับ อยู่กลางราชภัฎฯ เลยทีเดียว ไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใดนะครับ ผมเดินดูอยู่คนเดียวอยู่เกือบสองชั่วโมง (ไม่มีใครสนใจผมเลยจริง ๆ เป็นส่วนตัวมาก อิอิ) ใจจริงไม่อยากจะกลับบ้านเลย ชอบเรือนหลังนี้มาก ๆ
หวังว่าคงมีประโยชน์กับท่านที่สนใจครับ
**หมายเหตุ
1. หากท่านมีโอกาสไปเยี่ยมชมเรือนหลังนี้ อย่าลืมแวะไปพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาด้วยนะครับ อยู่ติดกันเลย เดินไปแค่ไม่กี่ก้าวเท่านั้นครับ
2. ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและดูภาพสวย ๆ ได้ที่เวบไซต์ของพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาครับ ทำไว้ดีมาก ๆ
http://www.koratmuseum.com/bankorat.html
ซึ่งคุณ tabtimtod ก็ได้ไปเที่ยวชม เรือนพ่อคง หลังนี้แล้ว และได้เก็บภาพสวยๆ มาฝากพวกเราด้วยค่ะ ลองไปชมกันเลยดีกว่า
.
.
.
ที่มา : Apple Devil .