หากจะพูดถึง บ้านไม้ทรงไทย หลายคนคงจะนึกภาพ บ้านไม้ยกพื้นสูง มีใต้ถุนบ้าน พร้อมหลังคาทรงหน้าจั่วที่เป็นเอกลักษณ์ มีชานบ้านด้านบนสำหรับพักผ่อน และบันไดทางขึ้นบ้านด้านหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นับเป็นดีไซน์ดั้งเดิม ที่ยังคงความงดงามจากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
วันนี้ ในบ้าน ได้มาพร้อมกับ แบบบ้านเรือนโคราช ที่คงความเป็นสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้อย่างครบครัน เข้ากับการใช้ชีวิตในชนบทได้อย่างอบอุ่น หากเพื่อนๆ ชื่นชอบบ้านไทยแบบดั้งเดิมล่ะก็ หลังนี้ไม่ควรพลาดเลยค่ะ
พาชม บ้านไม้ทรงไทย “เรือนโคราช” สถาปัตยกรรมสุดคลาสสิค ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น
(โดย Apple Devil)
ออกตัวไว้ก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการสร้างบ้านแต่อย่างใด แต่เป็นคนที่ชอบเรือนโบราณเท่านั้นนะครับ หนึ่งในเรือนโคราชที่ผมใช้เป็นแหล่งข้อมูลสร้างบ้านของตนเอง (แต่ก่อนสร้างผมไม่เคยไปดูเรือนหลังจริง) และคิดที่จะไปเยี่ยมชมเรือนแห่งนี้กับตาให้ได้สักครั้ง
สัปดาห์ที่แล้วสบโอกาสที่ได้ไปอบรมที่ จ.อุบลราชธานี ขากลับจึงตั้งใจที่จะแวะเยี่ยมเรือนโคราชแห่งนี้ และตั้งใจเก็บภาพมาฝากสำหรับคนที่ชอบและรักเรือนไม้โบราณ และอาจจะใช้เป็นไอเดียไปออกแบบบ้านเรือนของท่านเองได้ ปัจจุบันเรือนหลังนี้ตั้งอยู่ใจกลางมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เข้าชมฟรี ซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกเรือนหลังนี้ว่า “เรือนพ่อคง” นะครับ
เรือนโคราชหลังนี้ เป็นเรือนของพ่อคง โชตินอก เดิมตั้งอยู่ ณ บ้านตะคร้อ ตำบลเมืองคง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2448 ถ้านับถึงปัจจุบันก็สร้างมาแล้วประมาณ 112 ปี ซึ่งผ่านการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของทายาทพ่อคงมากว่า 4 รุ่น สภาพก่อนจะย้ายมาปรุงใหม่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมานั้น มีความทรุดโทรมลงไปบ้างอันเนื่องจากผ่านกาลเวลา แต่ยังคงความแข็งแรง มั่นคง สวยงาม และสะท้อนภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรม และอัจฉริยภาพของช่างท้องถิ่นชาวโคราชได้อย่างชัดเจน
เรือนโคราชกลางมหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความคิดริเริ่มของอดีตบุคลากรและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยในการระดมทุนกัน ซึ่งเริ่มระดมกันเมื่อต้นปี 2559 และแล้วเสร็จในปีเดียวกันนั่นเองครับ ชื่นชมมาก ๆ นะครับ
อนึ่ง เรือนโคราชไม่ใช่เรือนไทยภาคอีสาน และไม่ใช่เรือนไทยภาคกลาง แต่เป็นลูกผสมของทั้งสองสถาปัตยกรรม (อาจจะเอียงไปทางภาคอีสานมากหน่อย) ที่ลงตัวมาก ๆ โดยส่วนตัวผมชอบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบนี้มาก ผมขอนับว่าเป็นเรือนอีสานอีกแบบนึ่งก็แล้วกันนะครับ
แล้วเรือนโคราชคืออะไร ?
เรือนโคราชคือเรือนไทยโบราณแบบหนึ่งที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างเรือนไทยภาคกลางกับเรือนไทยภาคอีสาน เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงใต้ถุนโล่ง หลังคาทรงจั่วทำมุมประมาณ 40 องศา มีป้านลมและจั่วนิยมตกแต่งเป็นลวดลายการเข้าไม้ การแกะสลัก ตัวเรือนมีวิธีการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปเหมือนเรือนไทยภาคกลาง (ที่ทำฝาเรือนเป็นกระแบะมีหน้าต่างมาพร้อมแล้วยกมาแปะเลย) โครงสร้างระบบเสา-คาน แต่จัดวางรูปแบบของเรือนเหมือนสถาปัตยกรรม
เรือนไทยในภาคอีสาน แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 4 ส่วนคือ เรือนนอน (เป็นเรือนอยู่ระดับสูงสุด) พะระเบียง (ถ้าเรือนอีสานจะเรียกส่วนนี้ว่า “เกย” เป็นเรือนที่อยู่ถัดลงมามีหลังคาลาดเอียงคลุม) มีนอกชาน (อีสาน : ชานแดด) เป็นส่วนที่ต่ำที่สุดไม่มีหลังคาคลุม และครัว พื้นที่ใช้สอยให้ความสำคัญกับเรือนนอนเป็นหลัก ส่วนพะระเบียง (เกย) นั้นเอาไว้พักผ่อน หรือต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียน
ตัวเรือนนิยมวางตัวเรือนล่องตะเว็น (ตามตะวัน) คือหันด้านยาวของหลังคาทางทิศตะวันตก-ตะวันออก ให้ตัวเรือนนอนหัวลงทางด้านทิศใต้เพื่อรับลม ลักษณะของเรือนจะเป็นเรือนสามห้อง (เสา 4 ต้น สามช่วงเสา) มีด้านกว้างห้องละ 2.5 เมตร ด้านยาว 3.8 เมตร สูงประมาณ 2.8 เมตร การที่หันเรือนนอนลงทิศใต้ ทำให้คนโคราชเรียกทิศใต้ว่า “ทิศหัวนอน” เรือนจะมีหน้าต่าง 3 บาน ประตู 1 บาน (นั่นหมายความว่า เรือนโคราชจริง ๆ นั่น เรือนนอนจะเป็นห้องเดียว) ช่วงระดับจากเรือนนอนลงสู่พะระเบียง (เกย) จะสูงถึงประมาณ 80 cm ทำให้ต้องมีไม้มารองแทนบันไดอีก 1 ขั้น เรียกว่า “ม้ารองตีน” ตรงช่องว่างระหว่างเรือนนี้ เรียกว่า “ช่องแมวลอด” จุดประสงค์คือต้องการให้ลมพัดผ่านเข้ามาได้เพื่อระบายอากาศ
ฝาเรือนจะมีสองลักษณะคือ ฝาปรือและฝากระดาน ฝาปรือคือฝาที่ใช้วัสดุธรรมชาติจำพวกต้นปรือ (ต้นกกผือ) มาทำ ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ส่วนฝาไม้กระดานจะใช้เคร่าตั้งด้านในตีฝากระดานแนวนอนซ้อนเกล็ดด้านนอกแต่เว้นเป็นช่องจังหวะ นั่นคือทฤษฎีของเรือนโคราชทั่ว ๆ ไปครับ
แล้วเรือนพ่อคงแตกต่างจากเรือนโคราชหลังอื่นอย่างไร ?
เอกลักษณ์ของเรือนโคราชหลังนี้ เป็นเรือนแฝดที่มีเรือนนอน 2 หลังขนานกัน มีชานหรือโถงกั้นกลาง เป็นลักษณะเด่นแตกต่างจากเรือนทั่วไป (เรือนมี 2 จั่ว แต่มีพื้นที่ใช้สอยเทียบเท่าเรือน 3 จั่ว ตัวอย่างเรือนสามจั่วก็บ้านคำแก้วในละครเรื่องนาคี หรือชื่อสถานที่จริงคือเรือนนางสาหร่ายในหมู่บ้านอีสานของไร่จิมทอมป์สัน) มีการสอดประสานชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นองค์อาคารได้อย่างแข็งแรง มั่นคง
ซึ่งทำให้เรือนพ่อคงหลังนี้ สามารถคงอยู่มาได้นานถึง 112 ปี สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอัจฉริยภาพและปัญญาสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นโคราช ที่มีความริเริ่ม มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบโครงสร้าง แตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์ หาได้ยากยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเรือนในสมัยนั้น (ลองดูภาพแปลนประกอบนะครับ ผมถ่ายภาพมาจากบนเรือน)
อ่านบทความเรื่องเรือนโคราชหลังนี้อย่างละเอียดได้ที่นี่นะครับ ผมคงเล่าไม่ละเอียดสู้อ่านเองกันไม่ได้ ยาวพอสมควรแต่ได้ความรู้มากครับ http://www.koratmuseum.com/bankorat/bankorat-karun.pdf เขียนโดย ผศ.การุณย์ ศุภมิตรโยธิน ครับ
ภาพของเรือนก่อนจะย้ายมาสร้างใหม่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
แปลนของเรือน
.
.
พื้นที่ใช้สอยภายในเรือน เรือนพ่อคงเป็นเรือนแฝดที่มีลักษณะเป็นเรือนสามห้องเหมือนเรือนโคราชทั่วไป เพียงแต่กั้นห้องไว้แค่ 2 ห้อง ปล่อยพื้นที่โล่งไว้รับกับกลางเรือนทำให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ซึ่งอาจเอาไว้รับแขกหรือทำกิจกรรมร่วมกัน
.
ฝาเรือน
ฝาเรือนเป็นฝาไม้กระดาน มีการรูปแบบการเข้าไม้หลายอย่าง ทั้งการเข้าไม้สลักลิ่มซ้อนเกล็ด, ทั้งตีซ้อนเกล็ดแนวนอน แต่ทั้งหมดล้วนแต่เป็นระบบสำเร็จรูปคล้ายเรือนไทยภาคกลาง คือปรุงฝา (ประกอบไม้ทั้งหมดรวมหน้าต่าง) เป็นกระแบะแล้วยกขึ้นมาติดตอกด้วยตะปู 6 นิ้ว
.
.
.
.
เอกลักษณ์เรือนโคราชเลย คือการปล่อยชายพรึง (ไม้รองฝา) ให้ยาวเฟื้อยอยู่อย่างนั้นไม่ตัดออก
การวางตงและคาน
.
.
.
โครงหลังคา
ครัวไฟ
.
.
พื้นที่ใช้สอยส่วนอื่นๆ
.
.
.
.
ท่านใดชอบเรือนไม้ หากมีโอกาสผ่านไป จ.นครราชสีมา อย่าลืมแวะเข้าไปเยี่ยมชมเรือนพ่อคงกันนะครับ อยู่กลางราชภัฎฯ เลยทีเดียว ไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใดนะครับ ผมเดินดูอยู่คนเดียวอยู่เกือบสองชั่วโมง (ไม่มีใครสนใจผมเลยจริงๆ เป็นส่วนตัวมาก อิอิ) ใจจริงไม่อยากจะกลับบ้านเลย ชอบเรือนหลังนี้มากๆ
หวังว่าคงมีประโยชน์กับท่านที่สนใจครับ
หมายเหตุ
1. หากท่านมีโอกาสไปเยี่ยมชมเรือนหลังนี้ อย่าลืมแวะไปพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาด้วยนะครับ อยู่ติดกันเลย เดินไปแค่ไม่กี่ก้าวเท่านั้นครับ
2. ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและดูภาพสวยๆ ได้ที่เวบไซต์ของพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาครับ ทำไว้ดีมากๆ
ที่มา : Apple Devil