หากบ้านเรามีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ล่ะก็ เราก็คงไม่ต้องการให้พวกเขาต้องเดินขึ้นๆ ลงๆ บันไดบ่อยๆ โดยเฉพาะบ้านที่มีห้องนอนของผู้ชราอยู่ชั้นบนและห้องน้ำอยู่ชั้นล่าง หากต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้
ด้วยความคิดข้างต้น คุณ ลูกชายคนแรก สมาชิกเว็บไซต์ Pantip.com ก็ไม่ปล่อยให้คุณแม่ผู้มีอายุของตัวเองที่อาศัยอยู่บ้านไม้สองชั้นต้องลำบากเดินมาเข้าห้องน้ำที่ชั้นล่าง โดยได้ทำการรีโนเวทห้องเก็บของเก่าๆ ให้กลายเป็นห้องน้ำชั้นสอง แถมยังออกแบบในสไตล์วินเทจ ดูสวยงามน่าใช้งานสุดๆ เอาเป็นว่าเราลองมาชมกันเลยดีกว่าครับ
Review : เปลี่ยนห้องเก็บของเก่าโทรมๆ ให้กลายเป็นห้องน้ำสไตล์วินเทจ กะทัดรัดน่าใช้งาน
(จากคุณ ลูกชายคนเล็ก รีวิวโดย scgbuildingmaterials)
โจทย์ในการทำห้องน้ำนี้มีอยู่ว่า จะต้องเป็นห้องน้ำที่อาบน้ำได้ สามารถทำธุระหนัก-เบาได้ และต้องไม่ใช่โครงสร้างปูน โดยผู้ดำเนินการนอกจากมีช่างฝีมือฉมัง 2 คนแล้ว เรื่องการออกแบบ งานสถาปนิก และการควบคุมงานระบบนั้นคุณแพร์ลงมือลงแรงเองทั้งหมด โดยมีคุณแม่เป็นผู้ช่วยจับนิดนี่หน่อยมาประดับจนออกมาเป็นห้องน้ำโทนหวานสไตล์วินเทจ
เริ่มต้นจากการเคลียร์พื้นที่ที่จะทำเป็นห้องน้ำ ตามด้วยการวางโครงเคร่ากั้นแบ่งส่วนระหว่างห้องน้ำและห้องแต่งตัว และเดินท่อประปาให้เรียบร้อย
ต่อไปก็เริ่มเดินสายไฟไว้รอจุดที่เป็นห้องน้ำเช่นนี้ควรมีการเดินสายไฟแบบร้อยท่อ และควรคำนึงถึงระยะติดตั้งที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสสัมผัสน้ำ เช่น เลือกติดตั้งอุปกรณ์ที่สูงกว่าระดับพื้น มีการแบ่งพื้นที่ส่วนเปียกส่วนแห้ง เป็นต้น รวมถึงการเลือกใช้ชนิดของปลั๊ก และอุปกรณ์แบบป้องกันน้ำเข้าสู่แผงอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น
ตามด้วยกรุผนังในส่วนที่เป็นห้องน้ำ และห้องแต่งตัว โดยใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ตราช้าง สมาร์ทบอร์ดสำหรับทำผนัง แทนการใช้แผ่นยิปซั่มแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์มีคุณสมบัติในการเป็นฉนวนที่ดี ไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ ทนแดดทนฝน ดังนั้น จึงสามารถใช้กับงานห้องน้ำ และงานนอกอาคารได้อีกด้วย
ต่อไปก็เริ่มกรุผนังห้องน้ำด้วยไม้ที่ใช้ทำบัวฝ้า ตัดสูงประมาณ 1 เมตร โดยหันด้านเรียบที่ไม่เซาะร่องประกบกัน เรียงไปเรื่อยๆ แต่เว้นด้านหนึ่งของห้องไว้เพื่อมาเก็บงานทีหลัง
ทาสีรองพื้นและสีจริงที่ผนัง
การวางไม้ฝา เว้นระยะไว้สำหรับวางตู้อาบน้ำ
นอกจากจะทำห้องน้ำใหม่แล้ว ยังปรับปรุงห้องแต่งตัวภายนอกห้องน้ำให้คุณแม่ใหม่ด้วย โดยการทาสีใหม่
เริ่มนำสุขภัณฑ์มาใส่ห้องน้ำ รวมถึงตู้อาบน้ำที่สามารถฟังเพลงและรับโทรศัพท์ได้ นับว่าเป็นห้องน้ำที่ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ในตอนต้นได้ทุกข้อ คือ สามารถอาบน้ำ ทำธุระหนัก – เบาได้ และต้องไม่ใช่โครงสร้างปูน การต่อท่อน้ำทิ้งจากตู้อาบน้ำคุณแพร์เสริมว่าใช้ท่อขนาด 1 ½ -2 นิ้ว ส่วนปั๊มน้ำเป็นปั๊มอัตโนมัติขนาด 150 วัตต์ ชนิดใช้กับบ่อน้ำตื้นที่คุณตาคุณยายของคุณแพร์ขุดไว้ใช้เองตั้งแต่สร้างบ้านหลังนี้ใหม่ๆ
ตู้อาบน้ำเว้นระยะจากผนังนิดหน่อยสำหรับใส่ Stop Valve เนื่องจากเดินระบบประปาไว้ก่อนที่ช่างจะมาติดตั้งตู้อาบน้ำ
เนื่องจากบ้านนี้เป็นบ้านไม้เก่าแก่ของตระกูล จึงไม่อยากรื้อพื้นไม้ จึงเป็นที่มาของสไตล์เรียบๆ กรุไม้ครึ่งผนัง ทาสีขาว พื้นไม้ธรรมชาติ กระจก อ่างล้างหน้าออกแนวหวานๆ พอนำของตกแต่งมาใส่เพิ่ม ก็กลายเป็นสไตล์วินเทจ ดูอบอุ่นไปโดยปริยาย
เลื่อนตู้อาบน้ำชิดผนัง สำหรับการทำความสะอาดก็จะเรียกช่างประจำบ้านมีขยับออก เมื่อทำความสะอาดเสร็จก็จะเลื่อนเข้าที่เดิม
จะเห็นว่ามีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นไว้ห่างจากตู้อาบน้ำ เนื่องจากไม่อยากให้อยู่ใกล้ตู้อาบน้ำจนเกินไป ทั้งนี้ฝักบัวที่ตู้อาบน้ำเป็นแบบผสม ที่สามารถใช้ได้กับทั้งเครื่องทำน้ำร้อนหรือเครื่องทำน้ำอุ่น แต่คุณแพร์เลือกใช้เครื่องทำน้ำอุ่น เพราะใช้ท่อ PVC ได้ ไม่ต้องใช้ท่อทองแดง
งานระบบท่อ เก็บงานด้วยการทาสีให้เนียนไปกับสีพื้น
ส่วนห้องแต่งตัวของคุณแม่ทางด้านนอก ก็เสร็จแล้วเช่นเดียวกัน
คุณ ลูกชายคนเล็ก ได้เสริมข้อควรคำนึงถึงไว้กับเจ้าของบ้านท่านอื่นๆ ที่ต้องการจะปรับปรุงชั้นสองของบ้านไม้เก่า ให้เป็นห้องน้ำแบบบ้านคุณแพร์ไว้ด้วยว่า ไว้ดังนี้
1. เรื่องโครงสร้าง ถ้าคนที่มีบ้านไม้แล้วอยากทำห้องน้ำบนบ้านไม้แบบนี้ ควรประเมินว่าโครงสร้างเดิมแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักสุขภัณฑ์หนักๆ เช่นชักโครกและตู้อาบน้ำได้หรือไม่ กรณีบ้านของคุณแพร์เองได้ประเมินคร่าวๆว่าน่าจะแข็งแรงเพียงพอเนื่องจากบ้านไม้หลังนี้ตอนคุณตาคุณยายสร้าง ท่านวางคานคู่ หน้าไม้1 1/2″ -2 ” และวางตงค่อนข้างถี่ พื้นกระดานหนา1/2″ ซึ่งไม้ต่างๆเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้มะค่า ไม้แดง และเสาปูนขนาด 30×30 cm รวมถึงประเมินจากสภาพการใช้งานเดิมของห้องนี้คือใช้เก็บของ แต่เดิมมีตู้ไม้ขนาดใหญ่หลายใบและเก็บของไว้ค่อนข้างเยอะ การรับน้ำหนักน่าจะมากกว่าสุขภัณฑ์ที่จะนำมาจัดใส่ห้องน้ำพอสมควร จึงคิดว่าสามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องน้ำได้อย่างปลอดภัย
2. เรื่องความชื้น ควรออกแบบให้มีการไหลเวียนของอากาศ มีลมพัดโกรก เนื่องจากจะช่วยให้ห้องน้ำของเราแห้งไม่มีความชื้นค่ะ กรณีบ้านคุณแพร์พอดีห้องเดิมมีหน้าต่างจึงใช้หน้าต่างให้เป็นประโยชน์ บวกกับติดพัดลมเพดานเข้าไปอีก 1 ตัว เวลาเลิกใช้ก็เปิดหน้าต่างระบายอากาศไว้ ทุกวันนี้ก็ใช้งานปกติ ยังไม่มีปัญหาเรื่องความชื้นสะสม
3. เรื่องการรั่วซึม การทำห้องน้ำบนบ้านไม้ อาจต้องระวังมากหน่อยในการเดินท่อประปา การต่อท่อเข้ากับสุขภัณฑ์ต่างๆให้เรียบร้อยแน่นหนา มั่นใจ ว่าไม่รั่วซึม กรณีบ้านของคุณแพร์จะเดินท่อต่างๆไว้ใต้ห้องน้ำ ยึดท่อด้วยตัวยึดท่อเข้ากับพื้นไม้และคานไม้ บางส่วนวางบนคานไม้ และเปลือยโล่งไม่ติดฝ้าเพดานที่พื้นชั้นล่าง ทำให้เมื่อถ้าเกิดมีการรั่วซึมจะได้มองเห็นและแก้ไขได้ทันที
4. เรื่องการทำความสะอาด ห้องน้ำบนพื้นไม้แบบนี้ ต้องให้ความระมัดระวังในการใช้และทำความสะอาด ต้องละเอียดพอสมควร ซึ่งอย่างกรณีห้องน้ำห้องนี้ไม่ได้ใช้เป็นห้องน้ำหลักและคุณแม่ใช้คนเดียว ใช้เฉพาะแค่ตอนกลางคืน แถมคุณแม่เป็นคุณนายละเอียด เวลาล้างจะค่อยๆทำค่อยๆเช็ด น้ำกระเด็นเปียกก็รีบซับให้แห้ง ทำให้พื้นห้องน้ำไม่เปียกชื้น ตู้อาบน้ำ สุขภัณฑ์จะสะอาดตลอดเวลา
สรุปงบประมาณที่คุณแพร์ใช้ในการทำห้องน้ำ รวมถึงห้องแต่งตัวคุณแม่ คือ 70,000 บาท โดยประมาณ
ที่มา : ลูกชายคนเล็ก รีวิวโดย scgbuildingmaterials