เมื่อมีลมเอื่อย ๆ เย็น ๆ พัดฉิวกายไป เราก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่คือสัญญาณของการเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นสัญญาณของการเข้าสู่หน้าหนาวเช่นกัน นั่นก็คือ กลิ่นของต้นตีนเป็ด หรือพญาสัตบรรณ โดยกลิ่นของต้นตีนเป็ดนั้นจะมีทั้งคนที่ชอบ และคนที่ไม่ชอบกลิ่นนี้ คล้ายกับคนที่ชอบ หรือไม่ชอบทุเรียนนั่นเอง
สำหรับปี 2564 นี้ ก็จะเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวในช่วงปลายเดือนตุลาคม และการมาถึงของกลิ่นต้นตีนเป็ดก็กำลังจะเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะบางคนก็บอกว่ากลิ่นของมันทำให้ผู้สูงอายุบางคนเหม็นจนความดันขึ้น จึงอยากให้หน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการดูแล ในขณะที่บางกลุ่มก็มองว่าเป็นกลิ่นที่หอม
โดยก่อนหน้านี้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ความรุนแรงของกลิ่นต้นพญาสัตบรรณ ที่เข้มข้นสูง ๆ ที่มาแบบเป็นดงนั้น ไม่ได้มีแต่คนไทยเรา ๆ ที่บ่นกัน แต่ทั้งแถบเอเชียใต้ เวียดนาม และเขตร้อนชุ่มชื้นทั้งหลายนั้นถึงกับกล่าวขวัญว่าเป็น “ต้นไม้แห่งกลิ่นปิศาจ”
ทั้งนี้ สาเหตุของความปวดหัวยามที่ได้กลิ่นดอกตีนเป็ดแบบเข้มข้นนั้น เกิดจากการที่สารในกลุ่มลินาโลออล (linalool) ที่สามารถกระตุ้นระบบประสาทในสมองให้ทำงานหนักยิ่งขึ้น และส่งผลทำให้เกิดอาการปวดหัว อีกทั้งยังกระตุ้นความอยากอาเจียน ของผู้ที่แพ้กลิ่นสารจำพวกนี้ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งคนที่แพ้กลิ่นดอกตีนเป็ดก็มักจะแพ้กลิ่นดอกราตรีด้วย เนื่องจากว่าเป็นสารประกอบกลุ่มเดียวกัน ที่มีโทนกลิ่นที่ชวนปวดหัวได้พอๆกัน หากได้รับความเข้มข้นสูงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานๆ นอกจากนั้นอาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการน้ำตาและน้ำมูกไหลออกมาด้วย
ดอกราตรี
อย่างไรก็ตาม อาการนี้ก็ไม่ได้เป็นทุกคน บางคนก็สามารถรับกลิ่นดอกตีนเป็ด (แบบอ่อนบาง) ได้โดยไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ พร้อมกับบอกว่า “หอมหวานเย็น ๆ” ด้วยซ้ำไป ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล
แล้วเพื่อน ๆ ชาวเว็บ ในบ้าน ล่ะ ใครชอบ หรือไม่ชอบกลิ่นต้นตีนเป็ดบ้าง มาร่วมพูดคุยกันได้นะ