หนึ่งในปัญหาที่คนพื้นเมืองหลายชนเผ่าบนโลกต้องประสบในโลกยุคใหม่ก็คือ ปัญหาในการสร้างที่อยู่อาศัย
สาเหตุก็เป็นเพราะสภาพอากาศและภูมิประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแปรปรวนและซับซ้อน จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างบ้านในพื้นที่ชนบทโดยไม่พึ่งพานวัตกรรมและองค์ความรู้ที่ทันสมัยใหม่
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือปัญหาหลักที่ส่งผลให้ผู้คนในกลุ่มชนเผ่าดั้งเดิม Nahua ผู้อาศัยอยู่ในเขตชนบท Tepetzintan ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง Puebla ประเทศแม็กซิโก ต้องร่วมมือกันก่อตั้ง Comunal Taller de Arquitectura องค์กรเล็กๆ ในชุมชุน ที่มีไว้เพื่อจัดการกับปัญหาที่อยู่อาศัย
ซึ่งปัญหาที่ชนเผ่า Nahua ต้องเจอนั้นมีสองข้อด้วยกัน คือ
1. ลักษณะบ้านแบบดั้งเดิมของพวกเขาไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนได้
2. ภูมิประเทศในพื้นที่ชุมชนที่มีต้นไผ่ขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้ยากต่อการทำเกษตร
ลักษณะบ้านแบบดั้งเดิมของชนเผ่า Nahua
บ้านแบบดั้งเดิมของชนเผ่า Nahua นั้นมีลักษณะเป็นกระท่อมไม้ หลังคามุงด้วยฟาง จึงไม่มีความแข็งแรงทนทานและเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศที่ยากจะคาดเดา
ภูมิประเทศในพื้นที่ชุมชน Tepetzintan
นอกจากนี้ พื้นที่ชุมชนในเขตชนบท Tepetzintan มีปัญหาเรื่องต้นไผ่ที่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่สร้างปัญหาให้กับการปลูกพืชผลทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นต้นข้าวโพด ต้นกาแฟ ซึ่งทั้งสองนี้เป็นพืชหลักที่ชาว Nahua ปลูกมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
จากปัจจัยทั้งสองข้อนี้ ทีมสถาปนิกของ Comunal Taller de Arquitectura จึงได้วางแผนที่จะนำไม้ไผ่ที่ขึ้นเป็นจำนวนมากในชุมชน มาใช้เป็นวัสดุในการสร้างบ้านที่มีทั้งความแข็งแรงและรูปทรงที่ทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายแบบดั้งเดิมของชนเผ่าที่มีชีวิตอยู่กับเกษตรกรรมและธรรมชาติได้อย่างลงตัว
การสร้างที่อยู่อาศัยให้คนในชุมชนนั้น จะนำไม้ไผ่ที่มีอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว มาสร้างบ้านบนเขตที่ดินเปล่า และก็จะเป็นบ้านต้นแบบ ที่เป็นตัวอย่างให้คนในชุมชนสามารถนำไปสร้างบ้านด้วยตัวเองได้
เรามาชมดีไซน์ของตัวบ้านกันเลยค่ะ
สิ่งที่โดดเด่นมากๆ คือ ใช้ไผ่เป็นหนึ่งในโครงสร้างหลัก อีกทั้งยังช่วยรับมือกับสภาพอากาศต่างๆ ได้ดี และไม่ต้องทำการซื้อวัสดุทันสมัยราคาแพง ถือว่าตอบโจทย์สำหรับพวกเขามากทีเดียวค่ะ
ไม่เพียงแค่วัสดุไผ่ที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังมีการใช้อิฐดินดิบ ซึ่งเป็นวัสดุของท้องถิ่น มาก่อไว้เป็นลวดลายบนผนัง โดยแต่ละบ้านที่นำรูปแบบการสร้างบ้านนี้ ก็จะมีลายที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
โครงสร้างตัวบ้าน
นอกจากเสน่ห์จากวัสดุของตัวบ้านแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โครงสร้างหลังคา ที่มีการใช้โครงถักเหมือนหลังคาเพิงหมาแหงน ที่จะถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาด้านหน้ากับเสาบ้าน และแทบจะไม่ต้องใช้วัสดุอื่นเพื่อยึดเข้าหากัน
ภายในตัวบ้านจะให้ความรู้สึกแบบดิบๆ โดยเน้นโชว์ผิววัสดุของไม้ไผ่ ปูนเปลือย และลวดลายการเรียงอิฐ โดยบริเวณผนังเหนือเพดานขึ้นไป จะเห็นว่ามีการเปิดโล่งไว้ เพื่อรับลมและเพิ่มแสงธรรมชาติเข้ามายังพื้นที่ด้านใน
ถัดมา สังเกตว่าหน้าต่างและประตูของบ้านหลังนี้ มีการสานกันของไม้ไผ่ให้เป็นลวดลายแบบเรขาคณิต ส่วนโครงหน้าต่างก็ใช้เป็นวงกบไม้อีกที ซึ่งเรียกได้ว่าแข็งแรงมากๆ และสร้างความสวยงามได้อีกด้วย
มองจากภายนอกจะเห็นได้ว่าเป็นเพียงแค่การเรียงอิฐเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วการเรียงอิฐแบบนี้เป็นการวางเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับผนัง โดยไม่จำเป็นต้องวางให้ทึบติดกัน แต่สามารถแบ่งช่องแสงได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
.
.
เป็นอย่างไรกันบ้างคะเพื่อนๆ? บ้านหลังนี้เรียกได้ว่าเป็นบ้านที่มาความเรียบง่ายมาก ออกแบบมาเพื่อคนในชุมชนอย่างแท้จริง และยังแฝงไปด้วยเสน่ห์ของวัสดุและการออกแบบโครงสร้างที่หาดูได้ยาก ถือว่าเป็นบ้านสไตล์ท้องถิ่นต้นแบบเลยทีเดียวค่ะ ^_^
ที่มา : archdaily
สถาปนิก : Comunal Taller de Arquitectura
ถ่ายภาพ : Onnis Luque
.
.
.
.
.
.
.
.
.