นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจในอาเซียน หรือ บลูมเบิร์ก อาเซียน บิสสิเนส ซัมมิต (Bloomberg ASEAN Business Summit) ครั้งที่ 4 ว่า ขณะนี้นักลงทุนทั่วโลกได้รับทราบถึงการพัฒนาพื้นที่เขตพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงแนวทางการบริหารงานของรัฐบาลไทย ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0
ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่เน้นการมุ่งไปสู่นวัตกรรม หรืออุตสาหกรรม 4.0 ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติจึงต้องการรับรู้ข้อมูลในประเด็นเรื่องของกฎหมาย รวมถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่อีอีซี เพื่อการตัดสินใจในเรื่องการวางแผนการลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้คณะกรรมการอีอีซีได้ดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยในปี 2561 นี้จะมีการเร่งการดำเนินการประกาศเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในโครงการวางระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ใน 5 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
ส่วนโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) ได้ประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 นี้ คณะกรรมการอีอีซีได้ดำเนินการแผนการ ขับเคลื่อนอีอีซีตามแผนงานที่ได้ประกาศไว้ใน 2 เรื่องหลักเรียบร้อยแล้ว คือ เรื่องกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ และการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งหลังจากที่ได้ประกาศร่างขอบเขตการลงทุน (ทีโออาร์) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปรากฏว่านักลงทุนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
“นักลงทุนต่างชาติรู้จักพื้นที่การพัฒนาโครงการอีอีซี และมีการสอบถามเข้ามาอย่าง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพราะถือว่าโครงการเหล่านี้เป็นกระดูกสันหลังของ อีอีซี ที่รัฐบาลต้องมีการลงทุน และทำให้เกิดขึ้นจริงภายในไตรมาส 4 ของปี 2561 นี้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตประกอบการภายใต้ อีอีซี” นายคณิศ กล่าว
ที่มา: reic, หนังสือพิมพ์แนวหน้า .