เป็นที่ทราบกันดีว่าพลังงานลมนั้นเป็นหนึ่งในตัวเลือกของพลังงานทดแทนที่ได้รับความนิยมมาก และด้วยจำนวนที่มีเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปีทั่วโลก เดนมาร์กก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้กังหันลมผลิตพลังงานได้ 40% แล้ว และตั้งเป้าจะไปให้ถึง 70% ในปี 2030
เมื่อกล่าวถึงแหล่งพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานที่ได้จากลม จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย จนกระทั่งเกิดเป็นคำถามที่ตามมาว่าพลังงานสะอาดที่ได้จากลม
แต่ตัวใบพัดของกังหันที่ต้องทิ้งไปเมื่อถึงระยะเวลาแล้วจะต้องกำจัดทิ้งอย่างไร เพราะมันจะมีอายุการใช้งานได้ประมาณ 20 ปี และเป็นใบพัดที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
ทางด้านรัฐบาลเดนมาร์กจึงมอบหมายให้บริษัทเอกชนหลายแห่ง นำเสนอแผนการนำใบพัดกังหันลมยักษ์พวกนี้มาใช้งานด้านอื่นแทน จึงถือกำเนิดเป็นโครงการ ‘re-wind’ โดยตั้งเป้าหมายเปลี่ยนใบพัดกังหันลมให้กลายมาเป็นจุดจอดจักรยานหรือสะพานลอยแทน
การพัฒนาโครงการ re-wind นี้เป็นการลองทางเลือกอื่นให้กับการกำจัดใบพัดกังหันที่ใช้งานไม่ได้แล้ว จะไม่ถูกนำไปทิ้งถมในพื้นที่ทิ้งขยะหรือการเผาขยะ
ก่อนหน้านี้มีการนำใบพัดกังหันลมไปทิ้งเรื่อยๆ จนกระทั่งทำให้มันทับถมกันจนไม่สามารถกำจัดได้จริง และบ่อขยะส่วนใหญ่ก็เริ่มล้นจนไม่สามารถทิ้งเพิ่มได้อีก
ดังนั้นการนำใบพัดกังหันลมยักษ์เหล่านี้มาใช้งานใหม่ทางด้านสถาปัตยกรรมและโครงสร้างทางวิศวกรรมจึงตอบโจทย์ตรงนี้ได้
ด้วยการนำมาใช้เป็นที่จอดสำหรับจักรยานหรือสะพานลอยสำหรับคนเดินเท้า โดยหนึ่งในสองไอเดียนี้ได้ถูกนำมาปรับใช้จริงแล้วที่บริเวณท่าเรือ Aalborg ประเทศเดนมาร์ก
ซึ่งจะเป็นจุดจอดจักรยานที่แตกต่างจากจุดอื่นๆ เพราะมันทำมาจากใบพัดกังหันลมที่เคยถูกใช้งานผลิตพลังงานทดแทนนั่นเอง
ไม่เพียงแต่ที่ประเทศเดนมาร์กเท่านั้น ในประเทศไอร์แลนด์เองก็มีหนึ่งโครงการจากทีมของ re-wind ที่จะถูกนำไปใช้งานในประเทศด้วยเช่นกัน
เพราะที่นั่นกำลังวางแผลรีไซเคิลใบพัดกังหันลม 3 ตัวที่ถูกปลดการใช้งานในปี 2020 ทั้งนี้มีการพิจารณาจะถูกนำไปใช้งานหลากหลายอย่าง และกำลังทดสอบกันอยู่
ซึ่งถ้าหากพวกเขาทำได้สำเร็จ ใบพัดของกังหันลมยักษ์เหล่านั้นอาจจะนำไปใช้ในลานสเก็ต เป็นที่นั่งในสนามกีฬา หรือเป็นตัวป้องกันเสียงก็ได้
ที่มา: re-wind.info, designboom