สวัสดีครับชาวเว็บในบ้านทุกท่าน เนื่องจากได้มีแฟนเพจขอแนวทางการสร้างห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุมา ทางเราก็ได้ไปเจอบทความนี้ของทาง SCG Experience มาครับ ซึ่งจะเป็นแนวทางการปรับแต่งห้องน้ำในบ้าน ให้ครอบคลุมการใช้งานสำหรับ ‘ผู้สูงอายุ’ ครับ
ในการออกแบบสร้างห้องน้ำในบ้าน เรามักจะทำกันในวัยหนุ่มสาว และไม่ได้คำนึงว่าเมื่อแก่ตัวไป เราจะเคลื่อนไหวได้ลำบากขึ้น การสร้างห้องน้ำจึงนิยมสร้างตามแบบยุคสมัยโดยไม่คำนึงถึงการใช้งานเมื่อเราแก่ตัวลงไป หรือสำหรับบางครอบครัวอาจจะมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านและอาจจะประสบกับปัญหาความยากลำบากในการเข้าห้องน้ำ ก็มีไม่น้อยทีเดียว
ลองมาดูแนวทางการปรับแต่งกันครับ
1. เปลี่ยนมือจับลูกบิดประตูห้องน้ำเป็นแบบคันโยก พร้อมติดราวทรงตัวด้านข้าง หรือจะถอดประตูบานเปิดออกแล้วเปลี่ยนเป็นประตูบานเลื่อนแบบรางแขวนแทน (เพื่อไม่ให้มีรางลื่นสะดุดตรงเท้า)
ในการเลือกบานประตู ควรเลือกใช้บานประตูที่มีน้ำหนักไม่มาก ไม่ควรติดกลอนล็อกบาน อาจมีการเจาะช่องกระจกสำหรับมองเข้าไปในห้องเผื่อเกิดอุบัติเหตุจะเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที
2. ในส่วนของพื้นห้องน้ำ ควรปรับพื้นส่วนแห้งและส่วนเปียกให้มีระดับเดียวกับพื้นภายในบ้าน โดยรื้อกระเบื้องพื้นและโถสุขภัณฑ์เดิมออก สกัดปูนผิวหน้าให้ลดต่ำลง ทาน้ำยาประสานคอนกรีต และเทปูนทรายปรับระดับพื้นห้องน้ำให้ลาดเอียงไปทางท่อระบายน้ำ ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วทำความสะอาดฝุ่นผง จากนั้นทาน้ำยากันซึมเคลือบทับผิวพื้นปูนและที่ขอบล่างของผนัง ก่อนจะปูกระเบื้องพื้นด้วยปูนกาว ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนจะยาแนวร่องรอยต่อ
ทั้งนี้ ควรเลือกกระเบื้องปูพื้นที่มีค่าความฝืดผิวกระเบื้องตั้งแต่ R 10 ขึ้นไป เพื่อลดการลื่นล้มเมื่อพื้นเปียกน้ำ นอกจากนี้สีขององค์ประกอบและวัตถุต่างๆ ที่ใช้ในห้องน้ำควรให้ดูแตกต่างกันชัดเจน โดยเฉพาะวัตถุที่อยู่ใกล้กัน เช่น สีของกระเบื้องพื้นและผนังควรให้ดูต่างกัน และตัดกับสีของสุขภัณฑ์อย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น
3. ควรติดตั้งราวจับเพื่อช่วยในการพยุงตัวทั้งสองข้างของอ่างล้างหน้าและโถสุขภัณฑ์ โดยสามารถเลือกใช้ราวทรงตัวรูปตัวแอลหรือราวทรงตัวแขนพับแบบสวิง ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ควรมีราวจับที่ผนังนำทางไปจนถึงส่วนอาบน้ำ ติดตั้งสูงจากพื้น 60 – 75 เซนติเมตรทั้งนี้ สีของราวจับควรดูแตกต่างจากสีของกระเบื้องผนังอย่างชัดเจนด้วยครับ
4. สำหรับโถสุขภัณฑ์ภายในห้องน้ำ ควรเปลี่ยนมาเลือกใช้รุ่นที่มีที่นั่งสูงจากพื้น 43 – 45 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับที่ผู้สูงอายุลุกนั่งได้อย่างสะดวกเมื่อใช้งานร่วมกับราวทรงตัว (ที่นั่งของโถสุขภัณฑ์ปกติจะสูงจากพื้น 38 – 40 เซนติเมตร ทำให้ต้องออกแรงมากขณะดันตัวลุกขึ้นยืน) ที่กดชำระน้ำควรเลือกใช้เป็นแบบคันโยก ส่วนสายชำระควรติดตั้งไว้ด้านข้างให้มือเอื้อมหยิบใช้ได้ง่ายโดยไม่ต้องเอี้ยวตัวไปด้านหลัง
นอกจากนี้ควรจะมีเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำ โดยฝักบัวอาบน้ำควรยึดกับก้านจับเลื่อนขึ้นลงปรับระดับในการใช้งานได้ ส่วนหัววาล์วเปิดปิดน้ำควรเลือกแบบก้านปัด รวมถึงก็อกน้ำที่อ่างล้างหน้าด้วย เนื่องจากหัววาล์วแบบนี้ใช้งานและดูแลรักษาง่าย
5. ควรเพิ่มแสงสว่างด้วยการติดหลอดไฟให้มากขึ้น โดยแสงที่เหมาะสมควรจะเป็นแสงสีขาว ซึ่งช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่จะหยิบจับใช้งานในห้องน้ำ รวมไปถึงข้อความระบุวิธีใช้งานด้านข้างขวดน้ำยาต่างๆ ได้อย่างง่ายดายชัดเจน
เพียงเท่านี้ ห้องน้ำในบ้านของเราก็จะปลอดภัยมากขึ้น รองรับการใช้งานสำหรับอายุที่มากขึ้นด้วยครับ หรือครอบครัวไหนมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ ลองนำไปเป็นแนวทางในการปรับแต่งดูนะครับ
ที่มา : SCG Experience