การสร้างบ้านขึ้นสักหลังนั้น ย่อมจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำให้ต้องมีการวางแผนการกู้เงิน การใช้เงินให้เป็นระบบ และรัดกุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถึงจะวางแผนดีสักแค่ไหน บ่อยครั้งก็มักมีรายจ่ายที่นอกเหนือการควบคุม มาให้เราต้องปวดหัวอยู่เสมอ
วันนี้ ในบ้าน ก็มีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ “ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงหลังจากซื้อบ้าน” มาให้เพื่อนๆ ได้ลองอ่านกันดู เพื่อการวางแผนในอนาคตที่ไม่มีสะดุด เป็นประสบการณ์จากคุณ รินไวน์ ครับ ไปลองอ่านกันได้เลย
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง หลังจากซื้อบ้าน (อยากให้คนที่กำลังจะซื้อบ้านเข้ามาอ่านก่อนค่ะ)
(โดยคุณ รินไวน์)
‘เงินเดือน เท่านั้น เท่านี้ กู้ซื้อบ้านได้ไหม’
จากประสบการณ์ตรงของ จขกท ขอบอกว่าต่อให้คุณเงินเดือน 12000 หรือ 15000 คุณก็กู้ซื้อบ้านได้ ส่วนจะได้ราคาบ้านเท่าไหร่นั้นนอกจากธนาคารจะดูฐานเงินเดือนคุณแล้ว ยังดูบริษัทที่คุณทำงานด้วย
จขกท เคยกู้ซื้อบ้านด้วยสวัสดิการ ธอส ของบริษัทที่น้องชายทำงาน เงินเดือนน้องชายที่ยื่นกู้ ณ ตอนนั้นคือ 12500 บาท (ตอนนั้นน้องชายเรียนปี 4 แล้ว แต่ทำงานไปด้วยตั้งแต่ ปี1 จึงได้บรรจุเป็นพนักงานประจำของบริษัทหลายปีแล้ว) ราคาบ้านที่กู้คือ 2 ล้านค่ะ กู้ได้เต็มจำนวน 100% ทีนี้เรื่องกู้บ้านจบไป เราจะมาพูดถึงเรื่องราวหลังจากมีบ้านแล้วนะคะ
คนผ่อนบ้านคือ จขกท ซึ่งมีเงินเดือนมากกว่าน้องชายพอสมควร และหลังจากผ่อนครบ 3 ปี จขกท ทำเรื่องเป็นตัวเองกู้แทนน้องชายเรียบร้อยแล้วค่ะ
ค่าใช้จ่ายหลังจากมีบ้าน (เฉพาะค่าใช้จ่ายหลักที่เกี่ยวข้องกับบ้านเท่านั้น)
1. ค่าผ่อนบ้าน 3 ปีแรก = 8000 บาท/เดือน (ที่ถูกเพราะเป็นสวัสดิการที่ ธอส ทำร่วมกับบริษัท)
2. ปีที่ 4 ค่าผ่อนบ้าน = 12000 บาท/เดือน
3. ค่าน้ำประปา = 250-300 บาท/เดือน
4. ค่าไฟฟ้า = 2200 บาท/เดือน
5. ค่าอินเตอร์เน็ตบ้าน = 900 บาท/เดือน
6. ค่าส่วนกลาง =12000/ปี หรือ 1000 บาท/เดือน
รวม ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 3ปีแรก = 12,400 บาท/เดือน+- ปีที่ 4 = 16,400 บาท/เดือน+-
ต่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตอื่นๆ นะคะ
1. ค่าน้ำมันรถไปทำงาน = 1000-2000 บาท / เดือน (ไม่มีค่าผ่อนรถค่ะ)
2. ค่าอาหารเช้า กลางวัน = 3000-4500 บาท / เดือน
3. ค่าโทรศัพท์มือถือรายเดือน = 700 บาท / เดือน
4. ค่าสังสรรค์ = 2000 บาท / เดือน
5. ของใช้ส่วนตัว เสื้อผ้า และของฟุ่มเฟือย = 2000-3000 บาท/เดือน
รวม = 12,200 บาท/เดือน +-
สรุปค่าใช้จ่ายต่อเดือน = 28,600 บาท/เดือน+-
ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเงินของ จขกท คนเดียว ไม่มีเงินของสามีมาเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นค่ะ คชจ ส่วนตัวอื่น ๆ ที่กล่าวมาก็ไม่รวมส่วนของสามีและลูกเช่นกัน เนื่องจากตอนซื้อบ้าน เรายังไม่จดทะเบียนสมรสกัน และบ้านหลังนี้ จขกท ต้องการซื้อด้วยเงินของตัวเอง ดังนั้นสามีจึงไม่มีส่วนช่วยใดๆ ในการจ่าย
ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาด้านการเงินในระยะยาว จนนำมาสู่การถูกยึดบ้านขายทอดตลาด ก่อนซื้อบ้านหรือคอนโด อยากให้ทุกคนมองค่าใช้จ่ายอื่นที่จะเกิดขึ้นนอกจากค่าผ่อนบ้านด้วยนะคะ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของแต่ละคนไม่เท่ากัน อาจจะมาก หรือน้อยกว่า จขกท แต่ในส่วน คชจ จากการมีบ้านนั้น เชื่อว่าไม่หนีห่างจากกันมากแน่นอนค่ะ
ที่มา : รินไวน์ .