จุดประสงค์ของการต่อเติมรีโนเวทบ้านนั้น นอกจากจะเปลี่ยนโฉมสภาพบ้านเก่าๆ ให้ดูใหม่ทันยุคสมัยแล้ว ยังเป็นการเพื่มประโยชน์ใช้สอยให้กับพื้นที่เดิมอีกด้วย ซึ่งในการรีโนเวทนั้นจะต้องคำนึงถึงงบประมาณ และแนวทางรูปแบบการดีไซน์บ้านใหม่ด้วย
เหมือนกับตึกแถวเก่าอายุ 30 ปี ที่ถูกรีโนเวทให้กลายเป็นบ้านสไตล์มินิมอลหลังนี้ ของคุณวิสิษฐ์ ที่เจ้าของตั้งใจซื้ออาคารเก่าเพื่อมารีโนเวท ต่อเติม เพิ่มฟังก์ชั่นให้มากขึ้น จากตึกแถวธรรมดาที่มีเพียงพื้นที่โล่งๆ กลับกลายเป็นบ้านที่มีห้องต่างๆ ตอบรับประโยชน์ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น
สำหรับโปรเจครีโนเวทนี้ เป็นผลงานของทาง asis design studio ซึ่งวันนี้เราจะมารับชมกันครับว่ามีขั้นตอนอะไร และมีแนวคิดยังไงในการก่อสร้างบ้าง ไปชมกันได้เลยครับ
Review : เปลี่ยนตึกแถวเก่าอายุ 30 ปี ให้เป็นบ้านสไตล์มินิมอล เพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้กว้างขึ้นเหลือเชื่อ
(โดย asis design studio )
สภาพดั้งเดิมภายนอก
สภาพดั้งเดิมภายใน
อาคารเดิมเป็นตึกแถว 2 ห้องติดกัน มีหน้ากว้าง 4 เมตร ลึก 12 เมตร คิดแล้วมีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านประมาณ 200 กว่าตารางเมตร เป็นอาคารที่เจ้าของซื้อต่อมาจากเจ้าของเดิม และต้องการรีโนเวท ต่อเติม ซ่อมแซมให้อาคารอยู่ในสภาพใช้งานได้ โดยยังสอดคล้องกับความต้องการเรื่องประโยชน์ใช้สอย แต่ลักษณะของบ้านหลังนี้ที่ดินมีความพิเศษตรงที่มีพื้นที่ด้านหลังลึกมากรวมๆ แล้วประมาณ 30 เมตร
แบบบ้าน
สภาพด้านนอกหลังการต่อเติม รีโนเวทสำหรับสิ่งแรกที่ทางสถาปนิกเริ่มทำเลยก็คือการเช็คโครงสร้างของอาคารหลังเดิมทั้งหมด ทั้งขนาดของเสา คาน ซึ่งพบว่าสภาพเดิมค่อนข้างดี ไม่ค่อยมีความเสียหาย มีเพียงขนาดเสา และคานที่เล็กเนื่องจากเดิมใช้รับน้ำหนักพื้นไม้ชั้นสอง ส่วนโครงสร้างไม้ในส่วนหลังคาก็ต้องรื้อและเปลี่ยนเป็นโครงสร้างเหล็กแทน
“เราต้องใช้คานและตงเป็นเหล็กแทน จากนั้นเสริมเสาเหล็กบางส่วนเพื่อช่วยกระจายน้ำหนัก ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะโครงเหล็กนั้นเป็นโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และหากเราใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กจะต้องทำเสาเพิ่มด้วย”
แม้ตัวอาคารจะมีลักษณะเป็นตึกทรงยาวลึกเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่ก็มีข้อได้เปรียบในการรีโนเวทคือเป็นประโยชน์ในการวางเลย์เอาท์พื้นที่ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้อาคารหลังนี้ยังมีการจัดสวนบริเวณด้านหลัง ทำให้อากาศไหลผ่านไปได้ทั่วทั้งหมดตั้งแต่หน้าบ้านจนถึงหลังบ้าน
ห้องน้ำและบริเวณภายในบ้าน “แต่ข้อด้อยก็มีตรงที่พื้นที่ด้านหน้าแคบมาก หากคิดจะทำอะไรเพิ่มเติมในอนาคตก็ทำได้ยาก นอกจากนี้หากทิ้งพื้นที่ด้านหลังไว้มากจนเกินไป ก็จะเป็นปัญหาในการก่อสร้าง การขนย้ายวัสดุ สำหรับงานนี้เราจึงทำการต่อเติมทั้งหมดครึ่งหนึ่งของอาคารเดิม ส่วนที่เหลือจะเป็นการซ่อมแซม ปรับเปลี่ยนการใช้งานและวัสดุ”
พื้นที่สวนหลังบ้าน หลังการต่อเติมจากบ้านตึกแถวทั่วไปที่พื้นที่แต่ละยูนิตเปิดโล่ง มีห้องน้ำ บันไดขึ้นชั้น 2 ที่เป็นพื้นที่เปิดโล่งและห้องน้ำอีก 1 ห้อง ก็กลายเป็นโถงขนาดใหญ่บริเวณหน้าบ้าน ชั้นบนยังแบ่งเป็นห้องน้ำ ห้องนอนแม่บ้าน และห้องนอน Master bedroom อีก ส่วนด้านล่างมีห้องนอนที่มีห้องน้ำในตัวสำหรับแขก รวมถึงยังปรับเป็นห้องนอนสำหรับผู้สูงวัยเตรียมไว้สำหรับอนาคต รวมๆ แล้วมีพื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าเดิมพอสมควร
พื้นที่บริเวณโถงบันได ที่ปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้น “นอกจากห้องต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นแล้ว สิ่งที่เราทำคือเรื่องโครงสร้าง เสริมเสา คาน ปรับเปลี่ยนบันไดให้อยู่ในตำแหน่งใหม่ และให้ดูทันสมัยขึ้น เปลี่ยนโครงสร้างพื้นชั้น 2 ที่ของเดิมเป็นโครงไม้ พื้นไม้ ให้เป็นโครงเหล็ก วางด้วยวีวาบอร์ด และจบด้วยไม้ลามิเนต”
ความยากของบ้านหลังนี้ทางสถาปนิกเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า หลังเปิดหน้างานแล้ว โครงสร้างในส่วนที่มองไม่เห็นจะสอดคล้องกับแบบที่วางไว้มากน้อยเพียงใด ซึ่งปกติงานรีโนเวทหรืองานต่อเติมจะต้องพบเจอปัญหานี้อยู่แล้ว รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างที่เกี่ยวพันกับบ้านข้างเคียงด้วยว่าจะสามารถรับมือในการทำงานก่อสร้างได้ขนาดไหน ซึ่งก็ต้องมีการแก้ไขปัญหาไปทีละจุด
อาคารสไตล์มินิมอลเรียบง่ายอาคารนี้จึงใช้เวลาในการรีโนเวทต่อเติมรวมๆ ทั้งสิ้นประมาณ 1 ปี เนื่องจากเวลาจะหมดไปกับการออกแบบซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 เดือน การรื้ออาคารหลังเดิม เช็คความแข็งแรงของโครงสร้าง เสริมโครงสร้างใหม่ ต่อเติมเริ่มตั้งแต่งานเข็ม หล่อเสาและคาน รวมงบประมาณในการต่อเติมทั้งสิ้นประมาณหลักล้าน
“จริงๆ หากให้แนะนำเรื่องการรีโนเวทนั้นอาจต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า หรือเจ้าของบ้านว่าผูกพันกับอาคารเดิมมากน้อยแค่ไหน มีความต้องการพื้นที่ใช้สอยอะไรบ้าง หลักๆ น่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างเดิมสอดคล้องกับการรีโนเวทหรือเปล่า”
อย่างไรก็ตามเจ้าของบ้านก็เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกรีโนเวทหรือสร้างบ้านใหม่ เพราะในท้ายที่สุดแต่ละวิธีการก็มีเหตุผลสนับสนุนแตกต่างกัน
ที่มา : asis design studio
สถาปนิก : คุณณัฐพงษ์ แผ่นทรัพย์ โทร. 086-5085847 หรือ facebook.com/asisdesignstudio/