สวนสวยแบบมืออาชีพ ที่ดูเผินๆ อาจจะคิดว่าต้องใช้เงินจ้างช่างมาทำให้แพงๆ แต่ในบางที มือสมัครเล่นก็อาจจะทำได้เหมือนกัน หากมีการค้นหาข้อมูลและทำการบ้านเพื่อเตรียมจัดสวนมาเพียงพอ สวนสวยที่ราวกับจ้างช่างมืออาชีพมาทำให้ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในเขตรั้วบ้านของเรา
วันนี้ ในบ้าน ก็มีรีวิว จัดสวนแบบมือสมัครเล่น แต่สวยงามราวกับจ้างมืออาชีพมาทำให้ ของคุณ avatayos มาให้ชาวเว็บได้ชมกัน การจัดสวนครั้งนี้ทำด้วยใจรักล้วนๆ ออกแบบเองทั้งหมด แถมฟังก์ชั่นการใช้งานก็คุ้มค่า ได้ใช้ประโยชน์เต็มๆ อีกทั้งมีความสวยงามร่มรื่นอยู่เต็มอิ่ม เอาเป็นว่าอย่ารอช้า ลองมาชมกันดูครับ
Review : จัดสวนด้วยใจรักฉบับมือสมัครเล่น แต่สวยงามสะดุดตา ราวกับจ้างมืออาชีพมาทำให้
(รีวิวโดย avatayos)
ก่อนจะไปดูรีวิว DIY ผมขอตอบคำถาม เพื่อให้เข้าใจจุดประสงค์ก่อน เวลาดูเนื้อความจะได้ไม่มีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นอีก
1. ผมทำเองทั้งหมดเลยหรือ?
ถ้าเป็นงานที่มิใช่แรงงาน ผมทำเองทั้งหมดคนเดียว งานแรงงานเช่น งานขนกองทรายจากหน้าบ้านไปหลังบ้าน งานขุดดิน งานถอนหญ้า เป็นต้น ที่จริง งานผสมปูนก็กะใช้แรงงาน แต่เวลาคอยไม่ได้ แรงงานไม่ว่าง กลัวว่าเวลาผ่านไปจะไม่ทันหน้าฝนเอา
ส่วนงานแรงงานที่บอก ผมจ้างคนรับจ้างทั่วไปแถวบ้าน มีแรง แต่ไม่มีฝีมือ มาทำครับ (ไม่มีฝีมือระดับ บอกให้ขุดหลุม 40 ซม. เอาตลับเมตรให้ วัดมา 40 นิ้ว แล้วก็นั่งบ่นว่าทำไมเราให้ขุดลึกจัง)
2. ผมทำตอนไหน
ผมทำเฉพาะเวลา เสาร์หรืออาทิตย์ที่ว่างครับ ทำตั้งแต่มีแสง จนหมดแสง หรือบางทีก็ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้งานตามที่ตั้งเป้าไว้
3. ใครออกแบบให้
ผมออกแบบเองทั้งหมด ยึดประโยชน์การใช้งานเป็นที่ตั้ง ความสวยเป็นรอง ความเข้ากันได้หรือสไตล์ที่ถูกต้อง อาจไม่มี 555
4. ผมเรียนก่อสร้าง เรียนออกแบบมาหรือเปล่า
ผม เรียนจบวิทย์ คอมฯ แต่ทำงานหลากหลายครับ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการอาวุโสอยู่องค์กรแห่งหนึ่ง
ผม มีพ่อเป็นแมคกายเวอร์ครับ พ่อผมจบเพาะช่าง ท่านทำได้สารพัดอย่าง ผมเห็นมาตั้งแต่เล็กๆ เป็นลูกมือบ้าง ผมจึงมีแบบอย่างที่ดีครับ อุปกรณ์หลายอย่างก็ตกทอดมา ซื้อใหม่เองบ้างแค่ไม่กี่อย่างครับ
5. ผมโง่หรือเปล่าที่ใช้แรงงาน ไม่ยอมจ้างผู้รับเหมามาทำให้
ผมไม่โง่ครับ ผมออกแบบแล้วให้ช่างมาวัดที่ ตีราคา ทำให้สวยเหมือนแบบ (ซึ่งไม่ตรงกับปัจจุบันนัก แต่ต้นทุนพอๆ กัน) ช่างส่วนใหญ่คิดมาเกิน 2 แสนบาททั้งนั้นครับ
ผมใช้เวลาทำจนถึงวันนี้ 8 เดือนเต็มๆ ค่อยๆ ทำวันเสาร์อาทิตย์ที่ว่าง ถ้าคิดแบบง่ายๆ ผมว่าค่าจ้างผมในการลงแรง ก็เดือนละหมื่น คิดเป็นวันก็วันละหลายพันเลย 555 –> ถ้าคิดในมุมช่างทำสวน เขาใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ ก็ตกวันละเกือบหมื่นบาททีเดียว (หักค่าวัสดุออกแล้ว)
ดังนั้น แค่ผมทำเอง ผมก็ประหยัดเงินไปหลายบาท ผมก็เลยเลือกทำเอง…
ต่อไปนี้เรามาดูการทำสวน DIY กันครับ
ผมบอกได้เลยว่าทุกคนทำตามได้ ขอแค่มีเครื่องมือ มีใจ ก็พอครับ
อันดับแรกมาดูแบบกันก่อน
ผมออกแบบไว้สนุกๆ ง่ายๆ ด้วย Google Sketch up
ลืมบอก ผมทำสวนในบ้านใหม่หมด เพราะน้ำท่วมครับ
หลังน้ำท่วม ซ่อมบ้านไป อยู่ไป จนเข้าเดือนที่ 9 ของปี 55 จึงได้เริ่มทำสวน ดูแบบแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากครับ แค่พื้นที่นั่งเล่นได้ในสวน มีต้นไม้ให้ชมบ้าง มีสนามหญ้าให้ลูกวิ่งเล่นบ้าง แต่แบบที่ออกไว้ เป็นแค่ไอเดียคร่าวๆ ครับ หน้างานจริงๆ มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ
หัวใจสำคัญคือ ออกแบบใหม่ ทำใหม่แล้ว ต้องแก้ไขปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วย เริ่มจาก หน้าบ้าน ตอนแรกกะแค่วางหิน ปูหญ้า ปลูกต้นไม้กลับไปเหมือนเดิม แต่สุดท้ายแล้ว ก็นั่งคิดว่า ปัญหาหน้าบ้านจริงๆ คือ อะไร
อยู่มาตั้ง 5-6 ปี (ในเวลานั้น) แทบไม่เคยได้นั่งหน้าบ้านเลย เพราะพื้นที่ชานบ้านมันน้อยไป และเพราะมันสกปรกง่าย
ผมจึงออกแบบใหม่ ยกระดับพื้นให้เท่ากัน เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย แล้วไม่เทปูน เพราะเผื่ออนาคตจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ทำได้ทั้งหมด แค่รื้อออก จากนั้นก็เริ่มออกแบบใหม่ และวางแผนการทำงานใหม่
จริงๆ แล้ว ตามแผน ผมจะทำหลังบ้านก่อน แต่ทุกเสียงในบ้าน ลงความเห็นตรงกัน ว่า ทำหน้าบ้านก่อนเถอะ มันเป็นหน้าตาของบ้าน สวนข้างๆ ในบ้าน มีแค่เราที่เห็น จึงเริ่มทยอยซื้อของ ความจริง ถ้าวางแผนดีๆ ก็สั่งทีเดียว ส่งฟรี แต่เพราะเราแรงงานน้อย มีคนเดียว จึงทยอยซื้อไป ทำไป
- ไปซื้อไม้หมอนทางรถไฟ มา 5000 บาท ต้นละ 1000 บาท เอามาราดน้ำมันเครื่องเก่า ป้องกันปลวก และทำให้ดำสวยขึ้น
- ไปซื้อต้นไทรเกาหลี ต้นละ 100 บาท ขนาด 1 เมตร ปัจจุบัน 8 เดือนผ่านไป สูงขึ้นมา ประมาณ 50 ซม.
- ไปซื้ออิฐมอญโบราณ มาทำเป็นพื้น
- ไปซื้อต้นไม้มาปลูก โดยไม่ได้วางแผนว่าจะปลูกอะไร แค่ ซื้อแบบเรียงระดับสูงต่ำ และดูธรรมชาติของมันว่าชอบอยู่อย่างไร
- ไปซื้อบ่อน้ำมา 1 บ่อ เพื่อรองรับน้ำจากหลังคา ที่ไม่ได้ติดรางน้ำ
สุดท้ายทำอยู่ 1 เดือน หมด งบประมาณตรงนี้ไป 2 หมื่นบาทนิดๆ
มาดูภาพกันครับ
อันนี้ก่อนทำ
จากนั้นเอาศิลาแลงมาตีแนว กั้นเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้
เพื่อไม่ให้หญ้า ที่อนาคตอาจจะปูหรือไม่ปูก็ได้นั้น ไม่รบกวนกัน
วางไม้หมอน
พร้อมราดน้ำมันเครื่องเก่า กันปลวก
จากนั้นกั้นอีกแนว
ด้านหน้า หลุมตรงกลาง ใส่ทราย แต่ไม้หมอนนั้น วางอยู่บนดิน ผมใช้ดินเป็นฐาน เพราะทรายสามารถขยับได้เวลาโดนน้ำ ในระยะยาวแล้ว ดินเป็นคันกั้นที่ดีกว่า จึงเอาไม้หมอนวางบนดินที่อัดแน่น
ต้นจันผาเดิม ใกล้ตาย แต่ผมไม่รู้
ภายหลังผมจึงตัดต้นทิ้ง แล้วเลี้ยงใหม่ เลี้ยงมาได้ 8 เดือน มันรอดนะ แต่ไม่สวย ปัจจุบัน เลยขุดออก ไปเลี้ยงหลังบ้าน แล้วจุดนี้เอาต้นอื่นๆ ลงแทน (ยังไม่ได้คิดเลยว่าจะเอาต้นอะไรลง)
เอาทรายมาลง
จำได้ว่าหมดนี้ 2 คิว เหลือนิดหน่อย ไปใช้หลังบ้านต่อ
จากนั้นก็ปูอิฐมอญโบราณ
ใช้ไปเกือบ 200 ก้อนได้
เสร็จแล้วก็มาทำทางขึ้น
ใช้ทรายในการจัดระดับ ปูหินทางเดินของเก่า บนสแลนสีเขียว (ความจริงน่าปูบนพลาสติกเลยดีกว่า) ปัจจุบันมีหญ้าขึ้นบ้าง กวนใจอยู่เรื่อยๆ นิดๆ หน่อยๆ พวกนกชอบคาบเมล็ดมาปล่อยให้โตเอง
นี่คือ ที่แต่งเสร็จแล้ว ในวันนั้นที่ทำ
นี่คือ ภาพปัจจุบัน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
มาต่อครับ
จากด้านหน้าของบ้านเสร็จ สิ่งที่ทำต่อก็เป็นพื้นที่ต่อจากหน้าบ้าน เป็นด้านข้าง คิดอยู่ตั้งนานว่า จะทำอย่างไร สุดท้ายก็ตัดใจ ปิดทางเดินเดิม แล้วทำให้เหลือทางเดียว เดิมที่บ้านตรงจุดนี้สามารถเดินได้สองทาง คือ เดินผ่านชานหน้าบ้าน กับเดินผ่านพื้นสวน ซึ่งผลคือ พื้นชานบ้านจะสกปรกบ่อย
ผมเลยตัดใจ ขยายพื้นที่ชานบ้าน ด้วยอิฐมอญ ตามภาพช่วงแรก แล้วปิดทางเดินที่ผ่านชานหน้าบ้าน เพื่อให้เป็นพื้นที่ นั่งพักที่ใหญ่ขึ้น ตรงจุดนี้ผมจัดสวนไปหลายพันบาท เป็นสวนในร่ม เพราะเป็นจุดที่ร่มตลอดเวลา แต่ก็ร่มไม่มาก ต้นไม้ที่มาลง บางต้นเลยตาย เพราะร่มไม่พอ
มาดูรูปกันครับ
เดิมตรงนี้เดินผ่านได้สองทาง คือ ผ่านชานบ้านกระเบื้องขาว กับผ่านสวน
แล้วผมก็เอาเก้าอี้สักไม้เก่าของพ่อมาตีที่นั่งใหม่ด้วยไม้ยาง
แล้วก็มาวางกั้นไม่ให้เดินผ่านเลย แต่ก็ดีมาก เพราะเป็นจุดที่ลมผ่าน เนื่องจากเป็นช่องลมพอดี (ดูภาพกว้างจากภาพร่างแบบประกอบนะครับ)
จากนั้นผมก็เอาพื้นหินเก่า มารวมเป็นทางเดินสองช่อง
อัดทรายเป็นสโลบแบบเดินสบายๆ (วิธีการคือ ลองเดินดูหลายๆ รอบจนรู้สึกว่าเดินได้เป็นธรรมชาติ ก็เอาหินลง) – รูปนี้เล่าข้ามนะครับ ตอนทำจุดนี้ ยังไม่ได้ปูอิฐ
จากนั้นก็แก้ไขปัญหาพื้นหญ้าตรงจุดนี้
ตอนแรกคิดว่า จะเทปูน แต่ก็ติดตรงที่ว่า ถ้าจะต่อเติมใดๆ ก็ต้องทุบปูนทิ้งทำใหม่หมด เลยเปลี่ยนใจ หาอะไรปูทับแทน ก็ได้เป็นอิฐมอญโบราณ นอกจากสวยแล้ว ยังเย็น สามารถทำเป็นพื้นติดแอร์ได้ง่ายๆ แค่ราดน้ำ
วิธีการปูก็ง่ายๆ
จัดระดับด้วยทราย ใช้ไม้สองอัน มาวาง แล้ววัดระดับของไม้ทั้งสองให้ตรงแนว (ของผมเอียงไปทางหลังบ้านนิดหน่อย เพื่อให้เวลาน้ำฝนลงน้ำจะได้ไหลออกไปทางหลังบ้าน)
จากนั้นค่อยๆ อัดทรายเป็นช่วงๆ
แล้วก็เอาอิฐมอญมาวางจัดลายง่ายๆ เป็นบล็อกๆ
ภาพนี้คือ ตอนทำเสร็จใหม่ๆ ครับ
หลังจากนั้นก็เริ่มมาตกแต่งจุดที่บอกว่าเป็นสวนร่มๆ
บางต้นในปัจจุบันตายไปแล้ว เพราะไม่เข้ากัน
อย่างที่บอกครับ ผมก็ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องจัดสวน อาศัยว่าซื้อมาลองลงดู
การวางตรงนี้ผมใช้วิธีซื้อต้นไม้มา แล้วจัดวางด้วยกระถาง หรือถุงที่ติดมาตั้งแต่ซื้อ
วางไว้สองอาทิตย์ ดูว่ามันอยู่ได้ก็ค่อยเอาลงดิน โดยส่วนใหญ่ก็อยู่ได้ ครับ หินต่างๆ เป็นหินจากบ้านเก่า ไม่ต้องซื้อ
กล้วยไม้ดิน ออกดอกนานดีครับ
แต่ดอกหายไปทีก็นานเหมือนกัน กว่าจะออกดอกใหม่อีกรอบใช้เวลาเป็นเดือนๆ ครับ
อยากให้ดูภาพนี้ตรงช่วงรอยต่อครับ
ตอนแรกๆ ผมไม่ได้ทำแบบนี้ แต่หลังจากใช้งานไปสักพัก ก็พบว่า การเดินโดยมีรอยต่อของแผ่นหินและอิฐแบบนี้เดินสะดวกกว่า หินเล็กๆ ไม่ถูกเตะไปมา จึงจัดแบบนี้ครับ
สิ่งที่จัดการลำดับต่อมาคือ ศาลาครับ
ศาลานี้ได้มาพร้อมบ้าน ซึ่งหมู่บ้านจัดสวนให้
ผมไม่ค่อยได้ใช้งานเท่าไร เพราะนั่งไม่ค่อยสบายและร้อน มีช่วงหนึ่งน้ำยากันปลวกหมดฤทธิ์ มอดก็ขึ้นกินไม้เนื้ออ่อนหมดเลย แล้วต้นไม้บางชนิดที่เป็นกาฝาก ก็มาเกาะที่หลังคา ทำให้หลังคานิ่ม จนผุพังตามกาลเวลา แต่ส่วนที่เป็นไม้เนื้อแข็ง ที่เป็นโครง ยังดีอยู่ ผมเรียกคนซื้อไม้เก่ามาตีราคาได้ 4 พันบาท เลยตัดใจ รื้อเอง เก็บไม้ไว้ใช้เอง คุ้มค่ากว่า 4 พันบาท
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ศาลาพวกนี้ ช่างไม้ทำไว้แข็งแรงเกินไป กล่าวคือ ตอกตะปูสวนแนวเกือบทุกจุด เรียกว่า รื้อถอนมีไม้เสียแน่นอน สุดท้ายผมก็รื้อจนหมด ใช้เวลารื้อศาลานี้นานมากประมาณ 4 เดือนครับ ถ้านับถึงวันนี้ จะเห็นว่าจริงๆ ผมเสียเวลากับการทำสวนแค่ 4 เดือน เพราะอีก 4 เดือนผมรื้อศาลาครับ
เหตุที่รื้อช้า ส่วนหนึ่งเพราะผมเท้าเจ็บ ข้อเท้าบวม ต้องใช้ไม้เท้าเลยครับ เลยใช้เวลารื้อนานมาก คือ เริ่มรื้อ เท้ายังไม่เจ็บ รื้อไปได้นิดหน่อยเท้าเกิดอุบัติเหตุ เลยหยุดรื้อไป
นี่เป็นภาพตอนรื้อหมดครับ
จะเห็นว่า หลังบ้าน ผมก็ปล่อยให้หญ้า วัชพืชต่างๆ ขึ้นหมด
เพราะไม่มีเวลาทำ จากนั้น ผมก็วางแผนแก้ไข พื้นที่หลังบ้านให้ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยเริ่มจาก เคลียร์พื้นที่ ให้สะอาด มาดูภาพเก่ากันก่อนครับ
จากนั้นก็เคลียร์หญ้าออกไป
เอาทรายมาถมเพิ่มเติมเพื่อปรับระดับ
ให้คุณลุง คนงาน มาขุดเตรียมวางเสา เพื่อทำศาลาใหม่
ระหว่างทีคนงานขนทราย ขนหิน ผมก็เริ่มปูพื้นทรายล้าง
แผ่นละ 40 บาท เป็นแบบสั่งตามร้านที่รับทำ ไม่ใช่ซื้อตามร้านขาย ใช้ทั้งหมด 42 แผ่น ได้พื้นที่ 3.6 X 2.1 เมตร เพียงพอต่อการเป็นพื้นที่ซักล้างเพิ่มเติม (ทุกทีต้องไปซักล้าง ทำอะไรหน้าบ้าน พอแขกมาละ ดูไม่ได้เลย )
ปัญหาอีกอย่างของบ้านผม คือ ไม่มีที่เก็บของ
ห้องเก็บของในบ้านก็เล็กไม่เพียงพอ จึงทำห้องเก็บของข้างนอกต่างหาก โดยเริ่มจากเทพื้นเตรียมไว้ก่อนขนาด 3X1.75 เมตร
กว่าผมจะผสมปูนแล้วเทหมด ก็เล่นซะมืดเลย
นี่เป็นภาพที่เสร็จแล้ว ผ่านไป 1 สัปดาห์
พื้นที่ซักล้าง
จากนั้นตรงศาลาเดิม ซึ่งมีแผ่นปูรองอยู่ ไม่สามารถขยับได้
ผมจึงตัดสินใจปูทับ โดยยกความสูงขึ้นอีก 20 ซม.
ศาลานี้ผมจะใช้ไม้เสาเดิมมาทำเสาศาลา และซื้อไม้มาทำระแนงและหลังคาเพิ่มเติม
ส่วนพื้นจะปูด้วยไม้เทียม เพื่อตัดปัญหาเรื่องปลวก เรื่องผุพัง โดยรวมๆ ถึงตรงนี้ ผมทำมาแล้ว 8 เดือน งานโครงสร้างต่างๆ เรียบร้อยหมดแล้วเหลือแค่ งานไม้ ในการทำศาลา และทำห้องเก็บของ (Shed)
ผมใช้งบประมาณไป 3.6 หมื่นบาท เหลืออีก 2.9 หมื่นบาท ผมเตรียมไว้เป็นค่าไม้ทั้งหมด ซึ่งน่าจะพอเหลือๆ (ใช้ไม้ผสม ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้ยาง)
การปูหญ้า ทำไม่ยาก ถ้ารู้จักเตรียมพื้นที่ครับ
เริ่มจาก ต้องทำให้พื้นที่ร่วน คือ ผมใช้วิธีถมด้วยทรายหน้าประมาณ 2 ซม. แล้วปล่อยให้หญ้าขึ้นประมาณ 3-4 เดือน เป็นการเลี้ยงไส้เดือนในตัว มันจะย่อยปรับหน้าดิน จนทรายกลายเป็นสีดำและร่วนมาก จากนั้นก็เคลียร์หญ้าวัชพืชออก แล้วซื้อหญ้ามาวาง เอาทรายมาโรยเล็กน้อย แล้วใช้น้ำหนักตัวเรา เหยียบๆ ไปพร้อมกับรดน้ำ ไม่กี่วันหญ้าก็จะติดดินง่ายๆ
ส่วนของผมเจอปัญหา ฮาๆ จากคนงาน
ผมบอกให้เอาหินวางไว้ในสุดๆ ตอนผมออกไปซื้อวัสดุเพิ่มเติม คุณท่านก็เอาอิฐแดงที่ยังไม่ได้ปูพื้นมาวางแทน ส่วนหินก็วางใกล้ๆ ทำให้แผนเดิมผมจะปูหญ้า ก็เลยทำไม่ได้ สุดท้ายหญ้าก็เลยถูกดองอยู่ 1 สัปดาห์ ถึงจะปูได้ มีบางส่วนตายไป แต่ยังไงก็หญ้า ดังนั้น ปล่อยๆ ไปเดี๋ยวก็ขึ้นเต็มพื้นที่เหมือนเดิม
การทำสวนครั้งนี้ นอกจากประหยัดแล้ว ผมยังได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายครับ
1. การทำบ้าน ควรใจเย็นๆ อยู่ไปก่อน เรียนรู้ไปก่อน
เราจะรู้ว่าฟังก์ชันการใช้งานบ้านที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไร แล้วค่อยปรับตามนั้น มันดีกว่าซื้อบ้านแล้ว ก็ลงทุนตกแต่งเลย ตามใจคิด เพราะบางทีสิ่งที่คิดกับการใช้งานมันไม่ตรงกัน
2. หลายครั้งที่มีปัญหา ในการอยู่อาศัย การจัดการมีได้หลากหลายรูปแบบ
ใช้เงินเยอะ ใช้เงินน้อย สวยมาก สวยน้อย หากคุณผ่านข้อแรกมาแล้ว เข้าใจตนเองแล้ว ลงทุนไปเลยครับ เอาที่ดีที่สุด แล้วคุณจะสบายกับการใช้งานมันไปอีกนาน
3. บ้านมันมีจุดที่ดีที่สุดสำหรับอะไรบางอย่างอยู่เสมอ
อยู่ที่เราจะหาและใช้ประโยชน์มันได้หรือเปล่า เลยเอาต์การจัดวางก็เป็นเรื่องหนึ่ง การใช้งานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากปรับแต่งให้ทั้งคู่อยู่ที่จุดเดียวกันได้ คือ สิ่งที่ดีที่สุด
4. อย่าใจร้อน เพราะใจร้อนอาจหมายถึง ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน
พื้นที่ตรงนี้ผมปรับแต่งมาทั้งหมด 4 รอบ หมดเงินไปหลาย เหลือของให้เก็บในห้องเก็บของหลายอย่างเลย
5. ฝันและศึกษาให้เยอะๆ ดูให้เยอะๆ แล้วค่อยๆ คัดกรอง
เลือกมาให้ตรงกับวิถีชีวิตของเรามากที่สุด
มาสรุปอุปกรณ์ที่ผมต้องใช้กับงานนี้ทั้งหมด
1. ไม้บรรทัดวัดระดับ –> ไม่มีก็ซื้อดีๆ ไปเลยครับ ถ้าชอบงานช่าง มันได้ใช้ตลอด เอาง่ายๆ แค่ขยับเฟอร์นิเจอร์ แล้วประตูตู้มันปิดไม่สนิท เหตุก็เพราะพื้นไม่ได้ระดับ ลองเอาไม้บรรทัดวัด ก็จะรู้ว่าเอียงตรงไหน ก็เอากระดาษพับ รองตรงนั้นได้ เรียกว่า เป็นของจำเป็นควรมีติดบ้านเหมือนกันนะ
2. สายยางวัดระดับ –> สายอ๊อกซิเจนของตู้ปลานั้นละครับ ใช้ยาวเท่าที่ความห่างของวัตถุทั้งสองที่ต้องการวัด
3. ค้อน –> มีหลายประเภท ควรมี ค้อนหงอน ไว้ถอนตะปู ไว้ตอกนู้นนี่นั่น ค้อนยาง ไว้ตีอะไรที่ต้องการใช้แรงเยอะๆ แต่ไม่ต้องการให้ผิวเสียหาย
4. พลั่ว –> ไว้ตักทราย ตักดิน ตักอะไรก็ได้ ขุดก็ได้นิดหน่อย
5. เสียม –> ไว้ขุดินโดยเฉพาะ
6. มีดพร้า -> ไว้ฟันต้นไม้
7. เลื่อยไม้ –> ไว้เลื่อยกิ่งไม้
8. จอบ –> ไว้ขุด ไว้เกลี่ยดิน
9. เกรียงฉาบปูน –> ไว้ปาดหน้าพื้นผิวต่างๆ ให้เรียบ เช่น หน้าทราย หน้าดิน หรือตามหน้าที่ของมันคือ หน้าปูน
10. สามเหลี่ยมปาดปูน –> สำหรับปาดจัดระดับ ปาดหน้าปูนให้เรียบ หรือจะปาดอะไรก็ได้ที่่ต้องการพื้นที่มากๆ ยาวๆ เท่าๆ กัน
11. ถังปูน –> ไว้ตักปูน ตักทราย ตักหิน
12. ถังผสมปูน –> มีหลายขนาด แล้วแต่ความเหมาะสม ถ้าไม่มี ต้องใช้วิธีโบราณ คือ กองผสมปูนเองกับพื้น
13. ไม้แบบ –> ราคาขายเป็นเมตร ประมาณ 60-100 บาท ซื้อตามแบบที่ต้องการ เมื่อเสร็จงานสามารถเก็บไว้ได้ หรือจะเอาไปใช้ทำอะไรก็ได้
14. คีม –> ไว้ตัดลวด สำหรับผูกเหล็กเส้น
15. คีมตัดเหล็กเส้น –> ไว้ตัดเหล็กเส้น ในกรณีที่ผูกเอง เพราะถ้าพื้นที่ไม่มาก ซื้อไวร์แมส (เหล็กเส้นปูพื้นสำเร็จ) จะไม่คุ้ม
16. ถุงมือ –> ซื้อเป็นโหลๆ ไปเลย คู่ละ 5 บาท ถนอมมือได้ดีมาก
17. เส้นเอ็น –> สำหรับขึงแนวระดับ ม้วนหนึ่ง 20 บาท (อย่างมาก)
18. ตะปู –> ไว้ยึดแบบ หรือเส้นเอ็น
ผมเชื่อว่า รายการอุปกรณ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่มีเกือบหมดละ บางคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น อาจคิดว่าแพง (แพงจริง) แต่ลองคิดถึงอนาคตที่ใช้งาน คุ้มครับ อย่าง คีมตัดเหล็กเส้นเนี่ย พ่อผมซื้อมาเกิน 20 ปี แล้ว ได้ใช้หลายงานแล้ว ดังนั้น มันอาจแพง แต่มันอยู่ได้ตลอดกาล ไม่พังง่ายๆ ถ้าไม่มีก็สร้างไว้ให้ลูกหลานใช้ ไม่เสียหายครับ
ราคาสิ่งของต่างๆ
เท่าที่ผมจำได้นะครับ หลายรายการมีขึ้นราคาสูงมาก
ปูน ลูกละ 100-140 บาท แล้วแต่ยี่ห้อ และเวลาที่ซื้อ
หินก่อสร้าง จำราคาไม่ได้
ทราย คิวละ 280-430 บาท แล้วแต่เวลาที่ซื้อ (รวมราคาส่งด้วยบางเจ้า)
เหล็กเส้น 2 หุน ยาว 10 เมตร ผมใช้ทั้งหมด 9 เส้น เส้นละประมาณ 50-70 บาท แล้วแต่จังหวะราคา
ไม้หมอน รถไฟ เส้นละ 1000 บาท ยาว 1 เมตร
อิฐมอญโบราณ 20*20 (จำไม่ได้)
อิฐมอญโบราณ 15*30 ก้อนละ 16-18 บาท
แผ่นปูนหน้าทรายล้าง แผ่นละ 40 บาท
แผ่นหินสีชมพู แผ่นละ 72 บาท
บ่อน้ำ ขนาด 80 ซม. 450 บาท
หินเม็ดเล็กๆ สีขาว สีส้ม ถุงละ 5 กิโลกรัม ประมาณ 40 บาท ต่อถุง
ต้นไม้ จำไม่ค่อยได้ มีที่จำได้ไม่กี่รายการ
ต้นไทรเกาหลี ต้นละ 100 บาท ซื้อที่ คลอง 11
หญ้า ตร.ม. ละ 18 บาท
ต้นง่อนไก่ด่าง ต้นละ 10-15 บาท
ต้นหน้าวัว ต้นละ 40 หรือ 80 บาทนี่ละ
กล้วยไม้ดิน ต้นละ 40 หรือ 80 บาทนี่ละ
หนวดปลาดุก ถุงละ 10 บาท
ต้อยติ่งแคระ ถุงละ 10 บาท
ท่อเหลืองสำหรับเดินสายไฟในสวน เส้นละ 40-42 บาท ยาว 4 เมตร
ข้อต่อท่อต่างๆ – จำราคาไม่ได้
ที่มา : avatayos