สำหรับคนที่อาศัยอยู่ทาวน์เฮาส์ คงจะหนีไม่พ้นปัญหาเสียงดังจากเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน สาเหตุอาจจะมาจากการก่อสร้างที่ไม่รองรับการเก็บเสียงได้ดีพอ เพราะเสียงนั้นสามารถทะลุได้โดยง่าย หากละเลยปัญหานี้ เราก็จะต้องใช้ชีวิตอย่างอดทนกับความน่าเบื่อไม่รู้จักจบสิ้น
อย่ากระนั้นเลย วันนี้ ในบ้าน ก็มีเทคนิคการแก้ปํญหาเสียงดังจากทาวน์เฮาส์ที่อยู่ติดกัน มาฝากเพื่อนๆ ชาวเว็บกัน งานนี้แนะนำโดยทาง Get Best Home ใครกำลังประสบกับปัญหาน่ารำคาญใจแบบนี้อยู่ ตามมาดูต้นตอของสาเหตุ และแนวทางการแก้ไขปัญหากันได้เลยครับ
ที่มาของเสียงรบกวนรอบบริเวณบ้านทาวเฮ้าส์
1. เสียงจากเครื่องขยายในที่สาธารณะ เช่น วัดโรงเรียน ลานกิจกรรม ห้างสรรพสินค้า
2. เสียงจากยานพานหะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องบิน รถไฟ
3. เสียงจากกิจกรรมรอบๆ บ้าน เช่น มีการก่อสร้างใกล้ๆ บ้าน เสียงเพื่อนบ้านเปิดลำโพงเสียงดัง หรือสังสรรค์พูดตะโกน โวยวาย
4. ในกรณีของบ้านทางเฮ้าส์ กิจกรรมของบ้านที่อยู่ติดกัน จะพบว่ามีผลกระทบเป็นอย่างมาก เช่น เสียงจากข้างบ้านเปิดเสียงดังจากลำโพง หรือกิจกรรมสังสรรค์ภายในบ้านข้างๆ จนไปถึงการเปิดปิดประตู ของบ้านข้างที่จะสร้างเสียงรบกวนให้แก่เราได้
เสียงเข้ามาภายในบ้านเราได้ยังไงกัน??
ในทำนองเดียวกันกับบ้านเดี่ยว เสียงเดินทางเข้ามายังบ้านทาวเฮ้าส์ได้ 2 ทางหลัก แต่จะมีเสียงกระแทกจากกิจกรรมของบ้านที่ติดกัน ซึ่งสามารถสร้างเสียงรบกวนให้แก่เราได้
1. ทะลุผนัง กระจก ประตู ทึบแต่มีน้ำหนักเบาเข้ามาได้ตรงๆ
2. เสียงพยายามเล็ดลอดเข้ามาตามรอยรั่วต่างๆ บริเวณโดยรอบบ้าน
3. เสียงจากการกระแทกบ้านข้าง แรงสั่นสะเทือนไหลตามโครงสร้าง และสร้างเสียงรบกวนมายังบ้านเรา
อย่างไรก็ตามเนื่องจากรูปแบบการก่อสร้างบ้านทาวเฮ้าส์ในเมืองไทย มีความแตกต่างกัน จึงจะต้องแยกรูปแบบการวิเคราะห์เป็นดังต่อไปนี้
A) กรณีแรกของปัญหาเสียงรบกวนของห้องนอนบ้านทาวเฮ้าส์
คือบ้านทาวเฮ้าส์ไม่ได้ก่อผนังจะชนใต้ท้องหลังคา เป็นเหตุผลเสียงสามารถเดินทางอ้อมผนังที่กั้นระหว่างบ้านผ่านโถงหลังคา มายังฝั่งตรงข้ามได้ รวมทั้งหากผนังที่กั้นระหว่างบ้านเป็นผนังที่บางและมีน้ำหนักเบา เช่น ผนังก่ออิฐมวลเบา เสียงรบกวนก็สามารถทะลุผ่านผนังมาได้โดยตรง ดังแสดงในรูป
การแก้ไขปัญหารูปแบบ A)
เนื่องจากเมื่อเข้าไปอยู่ภายในบ้านแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้ช่างขึ้นไปก่อผนังจนชนใต้ท้องหลังคา แนวทางที่แนะนำให้แก้ไขคือการปรับปรุงระบบฝ้าของบ้านเราเอง โดยใช้รูปแบบการปรับปรุงระบบฝ้าเช่นเดียวกับการทำฝ้าป้องกันเสียงแบบบ้านเดี่ยวดังแสดงในรูปข้างล่าง
เมื่อทำการปรับปรุงประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงของฝ้าแล้ว หากยังมีเสียงรบกวนดังมาจากผนัง แนะนำให้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงผนัง เพื่อให้สามารถป้องกันเสียงรบกวนจากบ้านข้างเคียงได้อย่างสมบูรณ์
ทำการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผนังก่ออิฐ ด้วยการติดตั้งโครงผนังเบายิปซั่มหรือไฟเบอร์ซีเมนต์ (ความหนาโครงอย่างน้อย 64 มิลลิเมตร) เข้ากับผนังเดิมของบ้าน และกรุภายในด้วยฉนวนกันเสียง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเสียง แนะนำให้ใช้แผ่นยิปซั่มหรือไฟเบอร์ซีเมนต์ความหนาอย่างน้อย 10 มิลลิเมตร ทำการติดตั้งให้ชนท้องฝ้าและยิงซิลิโคนอุดรอยรั่วทั้งหมดให้เรียบร้อย
B) กรณีที่สอง
หากตรวจสอบแล้วว่าผนังที่กั้นระหว่างบ้าน มีการก่อจนสุดใต้ท้องหลังคาดังแสดงในรูปข้างล่าง ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า เสียงรบกวนที่ได้ยินเกิดจากผนังมีประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงไม่เพียงพอ เสียงจึงทะลุผ่านผนังได้โดยตรง
การแก้ไขปัญหารูปแบบ B)
ในรปูแบบ B นั้น หากผนังถูกก่อขึ้นไปจนชน ท้องหลังคาแล้ว สามารถสรุปสาเหตุได้เพียงอย่างเดียวคือ เสียงเดินทางทะลุผ่านผนังที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่เพียงพอ การเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงให้กับผนังสามารถทำได้เหมือนเช่นกรณีที่อธิบายด้านบน
C) กรณีที่สาม
คือ เสียงเกิดจากการกระแทก เช่น เสียงการตำครก เพื่อเตรียมเครื่องปรุงทำอาหารเครื่องปรุง เสียงการปิดประตู หรือแม้แต่เสียงกระแทกของบานตู้บิ้วอิน ที่อยู่ติดกำแพงระหว่างห้อง
การแก้ไขปัญหารูปแบบ C)
การแก้ไขปัญหารูปแบบ C นั้นจะแตกต่างจากปัญหาในรูปแบบของทั้ง A และ B เนื่องจากเสียงกระแทกที่ได้ยินจากการกิจกรรมประกอบอาหาร หรือเสียงกระแทกของประตู บานตู้ เป็นเสียงที่ไม่ใช่เสียงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแล้วเดินทางผ่านอากาศมายัง ฝั่งผู้รับโดยตรง แต่เป็นแรงสั่นสะเทือนที่วิ่งผ่านตามโครงสร้าง ส่งผ่านมายังฝั่งผู้รับ และสั่นสะเทือนพื้นผิวภายในห้องของฝั่งผู้รับ สร้างเสียงรบกวน
การแก้ไขปัญหาในฝั่งผู้รับค่อนข้างยุ่งยากและใช้งบประมาณที่สูง เพราะหลักการก็คือการตัดขาดจุดเชื่อมต่อของโครงสร้างเพื่อไม่ให้แรงสั่นสะเทือนเดินผ่านเข้ามายังภายในห้องได้ แนวทางที่เหมาะสมคือการเจรจากับเพื่อนบ้าน เพื่อติดตั้งโช๊คอัพ เพื่อชะลอการกระแทกของประตู ขณะทำการเปิด- ปิด หรือการใช้ผ้าหรือพรมรองบริเวณที่เกิดการกระแทกจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
หากในกรณีของเสียงรบกวนไม่ได้มาจากบ้านที่อยู่ติดกัน แต่มาจากหน้าบ้านหรือหลังบ้าน
เช่น คนกินเหล้าหน้าบ้านเสียงดัง เสียงจากร้านอาหาร หรือเสียงจากรถที่วิ่งผ่านถนน หากต้องการให้เงียบและประหยัดค่าใช้จ่าย แนะนำดังนี้ครับ
1. ปัญหาเสียงมาจาก ประตูที่เปิดไปยังระเบียง
ช่องประตูและหน้าต่างที่ไม่ใช้งานตรงระเบียง ถ้าเป็นไปได้ อาจจะต้องก่อปิดไปเลยครับ เพื่อไม่ให้เกิดรอยรั่ว เสียงจะได้ผ่านไปไม่ได้
2. หน้าต่างกระจก หรือประตูกระจก ที่เป็นบานเลื่อน
หน้าต่างหรือประตุบานเลื่อน ให้เปลี่ยนจาก เป็นบานตาย ที่เปิดปิดไม่ได้ หรือ เป็นบานเปิดแทนครับ
มีไอเดียที่คอนโด หรือบ้านตึก รื้อกระจกบานเลื่อนแผงใหญ่ทิ้ง แล้วใช้ประตูบานเปิดที่เก็บเสียงร่วมกับบานตายแทนครับ
3. ตัวผนังเองที่บางเกินไป
ส่วนตัวผนังที่บางเกินไป ก็สามารถเพิ่มระบบผนังได้ตามรูปแบบนี้ครับ
ที่สำคัญ หากเป็นเสียงดังจาก ผับ เทค หรือร้านอาหาร ที่เปิดเสียงดังๆ
จะต้องเพิ่มสเปกการป้องกันเสียงจัดหนักดังนี้ครับ
1. ช่องเปิด ที่ไม่จำเป็นให้ก่ออิฐปิดไปเลยครับ
2. ผนังปูนเดิม ต้องเพิ่มผนังเบา ตามรูปด้านบน อีกชั้นเพื่อเพิ่มค่าการป้องกันเสียง
3. ถ้าช่องเปิดด้านไหนต้องการแสงสว่างเข้า โดยควรเลือกช่องเปิดที่ไม่สามารถมองเห็นร้านอาหารที่เปิดเสียงดัง
ทำกระจกบานตาย ใช้กระจกหนาที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ ติดตั้ง เป็น 2 ชั้น แยกวงกบอิสระกัน จะช่วยได้มากครับ
หวังว่าความรู้นี้จะช่วยพี่น้องๆ ชาวไทย มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นนะครับผม
ที่มา : Get Best Home