หลายคนเคยเผชิญกับปัญหาค่าไฟฟ้าสูงเกินเหตุ สาเหตุหลักๆ มักจะมาจากการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้โดยลืมตัว จนทำให้ค่าหน่วยไฟฟ้าในบิลขึ้นสูงลิ่วนั่นเอง
ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านแต่ละชนิดนั้น มีอัตราการกินไฟที่ไม่เท่ากัน บางอย่างเปิดทิ้งไว้นานอาจเสียค่าไฟไม่มาก แต่บางอย่างหากลืมปิดและปล่อยทิ้งไว้นานๆ ค่าไฟก็อาจจะบานปลายสุดๆ ไปเลยก็เป็นได้
สำหรับวันนี้ ในบ้าน จะพาเพื่อนๆ ชาวเว็บมาดูกันว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดนั้น มีอัตราการกินไฟประมาณเท่าไหร่ พร้อมทั้งวิธีการคำนวณแบบคร่าวๆ ว่า จำนวนหน่วยไฟฟ้า หรือยูนิตไฟฟ้าที่ปรากฎบนบิลไฟฟ้าแต่ละเดือน มีที่มาที่ไปยังไง ตามมาดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ
ปริมาณวัตต์ (watt) คือตัวกำหนดว่า เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ กินไฟมากน้อยเท่าไหร่
เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดนั้น จะมีจำนวนวัตต์ (Watts) หรือแรงเทียน ที่แตกต่างกันไป นั่นก็หมายความว่าในเวลาเท่าๆ กัน อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีวัตต์มากก็กินไฟมากกว่า ชิ้นไหนที่มีวัตต์น้อยกว่าก็กินไฟน้อยกว่านั่นเองครับ
หน่วยไฟฟ้าหรือยูนิต ถูกคำนวณจาก ปริมาณกิโลวัตต์ x จำนวนชั่วโมงที่ใช้งานเครื่องไฟฟ้า
1 กิโลวัตต์ เท่ากับ 1,000 วัตต์ หากเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอัตราการกินไฟ 1 กิโลวัตต์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หมายความว่า เราได้ใช้ไฟฟ้าไปจำนวน 1 หน่วย หรือ 1 ยูนิต แล้วนั่นเอง
ยกตัวอย่าง : ในบ้านมีหลอดไฟ หลอดละ 100 วัตต์ จำนวน 10 หลอด
คิดเป็น 100 วัตต์ x หลอดไฟ 10 หลอด = กินไฟ 1,000 วัตต์/ชั่วโมง (หรือ 1 กิโลวัตต์/ชั่วโมง)
ดังนั้น ถ้าหากเปิดหลอดไฟที่กินไฟหลอดละ 100 วัตต์ ทั้ง 10 ดวงพร้อมกัน นานเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หมายความว่าเราได้ใช้ไฟฟ้าไป 1 หน่วย หรือ 1 ยูนิต ตามที่ปรากฎบนบิลค่าไฟฟ้านั่นเอง
มาดูจำนวนวัตต์คร่าวๆ ของเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดกันเลยค่ะ
1. พัดลมตั้งพื้น 45-75 วัตต์
2. เครื่องอบผ้าแห้ง 650-2,500 วัตต์
3. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า 500-1,000 วัตต์
4. พัดลมเพดาน 70-104 วัตต์
5. เตารีดไฟฟ้า 430-1,600 วัตต์
6. เครื่องทำน้ำร้อนในห้องน้ำ 900-4,800 วัตต์
7. เครื่องซักผ้า 250-2,000 วัตต์
8. เครื่องปิ้งขนมปัง 600-1,000 วัตต์
9. เครื่องเป่าผม 300-1,300 วัตต์
10. ตู้เย็น 2-12 คิว (ลบ.ฟุต) 53-194 วัตต์
11. เครื่องปรับอากาศ 680-3,300 วัตต์
12. เครื่องดูดฝุ่น 625-1,000 วัตต์
13. เตาไฟฟ้า (เดี่ยว) 300-1,500 วัตต์
14. โทรทัศน์สี 43-95 วัตต์
เมื่อเรารู้แล้วว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทกินไฟกี่วัตต์ ก็นำไปตัวเลขไปคำนวณกับชั่วโมงที่เปิดใช้งาน เมื่อได้หน่วยแล้วก็สามารถนำไปเทียบกับตารางค่าไฟฟ้าและคำนวณค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้เลยค่ะ ทีนี้เราก็จะรู้แล้วว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวไหนกินไฟมากที่สุดนะคะ
ที่มา : Provincial Electricity Authority .