ช่วงเวลาที่ผ่านมา หลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะโซนภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากพายุฝนจนเกิดเป็นอุทกภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้บ้านเรือนและรถต่าง ๆ ของประชาชนได้รับความเสียหายอยู่เป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าหลังจากน้ำลดแล้วย่อมจะมีปัญหาเรื่องการซ่อมแซมบ้านตามมาแน่นอน
วันนี้ ในบ้าน จึงได้รวบรวม วิธี “ซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม” มาฝากเพื่อน ๆ ซึ่งจะไล่กันไปตั้งแต่ระบบไฟฟ้าไปจนถึงผนังบ้าน เพื่อเป็นแนวทางและแผนการเพื่อให้สามารถที่จะวางแผนเรื่องงบประมาณในการซ่อมบำรุงบ้านได้อย่างเหมาะสมนั่นเองค่ะ
ระบบไฟฟ้า
1. ตรวจสอบปลั๊ก สวิทช์ โดยเปิดคัทเอ้าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา ถ้าปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งในระบบยังเปียกชื้นอยู่ คัทเอ้าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาดให้เปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้ 1 วันให้ความชื้นระเหยออกไปแล้วลองทำใหม่ หากยังเป็นเหมือนเดิมคงต้องตามช่างไฟมาแก้ไขดีกว่าเสี่ยงชีวิต
2. ทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กทุกจุดว่ามาปกติหรือไม่ด้วยไขควงทดสอบไฟ หากทุกจุดทำงานก็ถือว่าใช้ได้ หากมีปัญหาอยู่ต้องรอให้ความชื้นระเหยออกก่อน หรืออาจต้องตามช่างมาแก้ไขหรือเปลี่ยนปลั๊ก/สวิทช์เหล่านั้น
3. ตรวจสอบไฟฟ้าว่ารั่วหรือไม่ ด้วยวิธีการดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังเปิดคัทเอ้าท์ไว้ แล้วตรวจดูมิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่ถ้ามิเตอร์หมุนแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านท่านอาจจะรั่วได้ ให้รีบตามช่างไฟมาดูแลโดยเร็ว
ระบบประปา
1. ถ้ามีบ่อเก็บน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บน้ำในระดับน้ำท่วมถึง ควรล้างทำความสะอาดถังน้ำ แล้วจึงปล่อยน้ำประปาใหม่ลงเก็บไว้ใช้งานอีกครั้งหนึ่ง
2. บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำควรตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊มน้ำ และถังอัดความดันว่าใช้งานได้เหมือนเดิมหรือไม่ โดยพิจารณาเสียงเครื่องทำงาน ดูแรงดันน้ำในท่อว่าแรงเหมือนเดิม (ก่อนน้ำท่วม) หรือไม่ หากมีความผิดปกติควรตรวจสอบด้วยการแกะ แงะ ไข ว่ามีเศษผง สิ่งสกปรกเข้าไปอุดตัน กีดขวางการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้หรือไม่
3. หากปั๊มน้ำที่บ้านท่านถูกน้ำท่วม ควรเรียกหาช่างมาทำการตรวจสอบซ่อมแซมเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงจากเพลิงไหม้ในตัวมอเตอร์
พื้นไม้ปาเก้
1. หากปาเก้เปียกน้ำเล็กน้อยไม่ถึงกับหลุดล่อนออกมา แค่เช็ดทำความสะอาดแล้วปล่อยให้แห้งโดยให้อากาศถ่ายเทความชื้นออกไป ปาเก้จะเป็นปกติได้ไม่ยาก แต่ถ้าปาเก้ยังชื้นอยู่ไม่ควรเอาสารทาทับหน้าไปทาทับ เนื่องจากจะไปเคลือบผิวไม่ให้ความชื้นในเนื้อไม้ระเหยออกมา
2. หลังการทำความสะอาดปาเก้แล้ว ให้ยาแนวด้วยยาแนวกันเชื้อรา ก็จะช่วยปกป้องพื้นดียิ่งขึ้น ส่วนบัวพื้นคงต้องรื้อทิ้งเพราะเจอความชื้นมาก ซ่อมแซมได้ยาก และถ้าจะทาสีใหม่ ให้ทาสีไปพร้อม ๆ กับสีผนังบ้าน
3. หากปาเก้มีอาการบิดงอ ปูดโปน เบี้ยวบูด ให้เลาะออกมาและหากยังอยู่ในสภาพดีก็ผึ่งลมให้แห้งอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้
4. หากท่านจะซ่อมแซมพื้นใหม่ ด้วยการใช้วัสดุปูพื้นที่ทนน้ำได้มากกว่า เช่น กระเบื้อง หรือหินอ่อน แกรนิต เหล่านี้ ต้องระวังเรื่องน้ำหนักวัสดุที่จะปูทับหน้าว่าโครงสร้างเดิมจะรับน้ำหนักได้หรือไม่ เพราะบ้านท่านอาจเสียหายได้
5. หากรื้อหรือซ่อมแซมแล้ว ต้องการปูปาเก้แบบเดิม หรือใช้วัสดุอื่นที่ใช้กาวเป็นตัวประสานเช่นกัน เช่น กระเบื้องยาง อย่าปูทับทันที ต้องรอให้พื้นคอนกรีตแห้งเสียก่อนแล้วจึงปูลงไปได้ ไม่เช่นนั้น ถึงน้ำไม่ท่วมก็คงล่อนออกมาอีกแน่นอน
ผนังบ้าน
1. ผนังไม้ เมื่อน้ำลดให้เอาผ้าเช็ดทำความสะอาด ขจัดคราบสกปรกออกเพื่อให้ผิวไม้ระเหยความชื้นออกไปได้ เมื่อผนังแห้งดี แล้วให้ใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้ทาชะโลมลงที่ผิว การทาสีหรือยารักษาเนื้อไม้อาจทำภายในก่อนก็ได้เพื่อความสวยงามในการอยู่อาศัย แล้วรออีกสักพัก (3-4 เดือน) จึงทาภายนอกอีกทีเพราะผนังภายนอกน่าจะแห้งสนิทดีแล้ว
2. ผนังก่ออิฐฉาบปูน ให้ดำเนินการเหมือนกับผนังไม้ แต่ต้องทิ้งระยะเวลานานกว่าเนื่องจากผนังอิฐจะมีมวลสารและการเก็บกักความชื้นในตัววัสดุได้มากกว่าไม้ จึงต้องใช้เวลาระเหยความชื้นออกไปนานกว่า
3. ผนังยิบซั่มบอร์ด เนื่องจากวัสดุชนิดนี้เป็นแผ่นผงปูนยิบซั่มที่หุ้มด้วยกระดาษอย่างดี แต่เมื่อเจอกับน้ำ(ท่วม) แล้วก็คงไม่น่าจะใช้งานได้ต่อไป ดังนั้นให้แก้ไขโดยเลาะเอาแผ่นที่โดนน้ำท่วมออกจากโครงเคร่า แล้วค่อยหาแผ่นใหม่มาติด ยาแนว ทาสีทับใหม่ก็เรียบร้อยใช้งานได้เหมือนเดิม
4. ผนังโลหะ/กระจก โดยตัวเนื้อวัสดุคงไม่มีความเสียหาย เพียงแค่ทำความสะอาดขัดถูก็จะสวยงามเหมือนเดิม แต่ควรตรวจสอบรอยต่อว่ามีคราบน้ำ เศษผง สิ่งสกปรกติดฝังอยู่บ้างหรือไม่ หากมีก็ให้ทำความสะอาดเสียให้เรียบร้อย เนื่องจากคราบน้ำ ความสกปรกอาจทำให้วัสดุยาแนวเสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด
สีทาบ้าน
การซ่อมแซมสีทาบ้านทั้งภายนอกและภายใน ควรเป็นสิ่งสุดท้ายในการแก้ไขปรับปรุงบ้าน เพราะจะต้องปล่อยทิ้งให้ความชื้นหรือน้ำในตัววัสดุระเหยออกไปให้ได้มากที่สุด มิฉะนั้นท่านทาสีทับไปดีอย่างไร ก็จะเกิดอาการหลุดล่อนออกมาในที่สุด
ข้อควรคิดสำหรับการซ่อมแซมสี คือ ปัญหาสีลอก สีล่อนไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสีแต่เกิดจากความไม่พร้อมของพื้นผิวที่ทาสี หากพื้นผิวที่ทาสีมีความชื้นหรือสิ่งสกปรกติดอยู่ทาสีทับอย่างไรสีก็จะล่อนออกมาอยู่ดี
ข้อพึงกระทำเวลาซ่อมสี คืออย่างเพิ่งรีบทาสี ให้ทำความสะอาดและลอกสีเดิมทิ้งออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เฉพาะที่มีปัญหา) หลังจากนั้นรอให้แห้งสนิท โดยทิ้งไว้ไม่น้อยกว่า 20 วัน แล้วใช้สีรองพื้นปูนเก่าทารองบนพื้นผิวที่ทำความสะอาดแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการทาสีบ้านให้กลับมาสวยสดใสดังเดิม
ที่มา: เนเชอรัลโฮม รับสร้างบ้าน