สำหรับบ้านมือสองหรือบ้านเก่าที่มีการใช้งานมานานหลายปี ย่อมจะมีความเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ดังนั้น จึงอาจจะต้องมีการซ่อมแซม และปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่ เพื่อให้บ้านกลับมาแข็งแรงมั่นคง และมีความสวยงามทันสมัยตามยุคปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข
วันนี้ ในบ้าน ก็มีเรื่องราวดีๆ จากคุณ tauhoo ที่ได้มีการ “รีโนเวทบ้านใหม่บนโครงสร้างเดิม” ทำให้ได้บ้านใหม่สไตล์โมเดิร์นที่สวยงามน่าอยู่ โดยหวังว่าเรื่องราวในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลและแนวทางดีๆ ให้เพื่อนๆ ได้ศึกษากันนะครับ
“:: รีโนเวท :: บ้านใหม่บนโครงสร้างเดิม”
(โดยคุณ tauhoo)
สวัสดีครับ กระทู้นี้มีไว้ให้ศึกษาและเอามาเป็นตัวอย่าง การรีโนเวทบ้านพักอาศัย
เชื่อว่ามีคนอยากที่จะปรับปรุงบ้านของตัวเอง เยอะ แต่ด้วยอาจจะยังหาแนวทางของตัวเองไม่เจอ หรือยังนึกไม่ออก จึงอยากจะนำเสนอไอเดีย เล็กๆน้อยๆ เผื่อจะเป็นแนวทางให้ใครต่อใครหลายคนที่กำลังสนใจในการจะปรับปรุงบ้านของตัวเอง
สมัยนี้ใครจะซื้อบ้านซักหลังกลางกรุงนี่เป็นเรื่องที่แทบจะไกลเกินตัว กับราคาที่คนระดับชั้นสามัญ ยากที่จะเอื้อมไปแตะ อย่างน้อยๆผมคนนึงล่ะ ที่บอกตรงๆชาตินี้ไม่รู้จะมีปัญญาซื้อได้หรือเปล่า ได้แต่มองตาปริบๆ กับราคาอสังหาในเมืองกรุง ที่พุ่งเอาๆ
ถ้าจะถามหาบ้านใจกลางเมืองซักหลัง ผมเชื่อว่า ณ ตอนนี้กำเงินสิบล้านไปแลก ซื้อไม่ได้แน่นอน และที่ดินปัจจุบันกลางเมืองยิ่งหายากเข้าไปใหญ่ ยิ่งหายากเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งแพงเข้าไปอีก ยิ่งถ้าเป็นเส้นที่รถไฟฟ้าพาดผ่านด้วยแล้ว เอื้อมไม่ถึงแน่นอน
แต่จะว่าไปก็ตลกนะ ที่ดินเปล่าน่ะแพงขึ้นๆ แต่สิ่งปลูกสร้างบางอย่างกลับราคายังไม่ขึ้นถึงกับที่คนทั่วๆไปแตะไม่ได้ (ก็อย่าไปหาที่มันติดถนนใหญ่ แนวรถไฟฟ้าละกัน) และเห็นมีอยู่ดาษดื่นทั่วกรุง บ้านเก่า หรือตึกแถวในทำเลที่ดีๆ เราสามารถนำมาปรับปรุงให้น่าอยู่ทำให้มันสวยงามเหมือนบ้านใหม่ได้
เปรียบเทียบรูปจากบ้านเดิม และหลังจากรีโนเวทเสร็จ
โห รีโนเวทกันแพงขนาดนี้ ซื้อบ้านใหม่เลยไม่ดีกว่าเหรอ?
ได้จ้า แต่อย่างที่บอก ถ้าจะเอาให้แฟร์ ก็ต้องเทียบต่อประโยชน์ใช้สอย ….. สมัยเราจะหาบ้านซักหลัง ที่มีพื้นที่ใช้สอย 250 ตารางเมตร ขึ้นไป ได้ในทำเลไหนของเมืองกรุง หรือ คอนโด ขนาด 250 ตารางเมตร
ในเมือง ราคาจะเท่าไหร่แล้วในตอนนี้ เปรียบเทียบกันแล้ว การรีโนเวทที่หลายคนตกใจกับราคา จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก และสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดก็คือ ทำเล ที่มันมี
แน่นอน ถ้าเราอยากหลีกหนีความวุ่นวาย และหนีออกไปใช้ชีวิตชานเมือง ก็ไม่ผิด ที่จะเลือกซื้อบ้านใหม่ และเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ถ้าเราคิดกลับกันล่ะ ? เรายังมีความสุข สนุกคุ้นชินกับทำเลที่เคยอยู่ และไม่อยากจะออกไปไหนไกลจากที่เคยอยู่ที่เดิม…
ฉะนั้น ใครมีบ้านเก่าหรือตึกแถว จึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง ในการรีโนเวทปรับปรุงของมีค่าที่เรามีอยู่ และใช้มันให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
Project นี้ เริ่มทำการออกแบบปลายปีที่แล้ว
โดยเจ้าของบ้าน อยากมีบ้านเล็กๆซักหลังไว้ในเมือง จึงหาซื้อบ้านในทำเลที่สะดวกในการเดินทาง
เจ้าของบ้านทำการบ้านมาพอสมควรในการเลือกทีมงานออกแบบและตกแต่ง ทั้งยังบอกแนวทางความต้องการสไตล์ที่ชัดเจน ทำให้การออกแบบค่อนข้างจะราบรื่นและลงตัวถูกใจเจ้าของบ้าน (การทำการบ้านจากเจ้าของบ้าน อันนี้ถือว่าสำคัญ เพราะมันจะทำให้ผู้ออกแบบสามารถนำเสนอแบบตามสไตล์ที่เจ้าของบ้านต้องการได้อย่างรวดเร็ว)
เริ่มทำการรีโนเวท ประมาณกลางเดือนมีนาคม ใช้ระยะเวลารีโนเวท 6 เดือน โดยยึดตามแบบที่ได้ออกแบบไป ไม่มีการแก้ไขระหว่างหน้างาน อาจจะมีการปรับแบบบ้างตามความเหมาะสมกับหน้างานที่ designer เสนอเพื่อให้งานออกมาเหมาะสมกับหน้างาน
ในการรีโนเวท ทำอะไรบ้าง?
– รื้อระบบน้ำ-ไฟใหม่
– เปลี่ยนโครงสร้างหลังคา
– หลังคาใหม่
– ผนังใหม่
– บันไดใหม่
– จัดวาง lay out ใหม่
– ปูวัสดุพื้นใหม่
– ทำโรงจอดรถใหม่
– ทำงานตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็น
– Budget 3.2 ล้านบาท
.
ตัวบ้านเดิม เป็นลักษณะบ้าน 2 ชั้น มีระเบียงด้านหน้า หลังคาจั่ว ชั้นล่างตามประสาบ้านทั่วไป ที่จอดรถ รับแขก ครัว ห้องน้ำ ส่วนชั้นบนมี 2 ห้องนอน และ 1ห้องน้ำ โดยทางเจ้าของบ้านต้องการพื้นที่ใช้สอยบ้านเพิ่มเติม
พอได้เห็นบ้านแล้วก็พยายามคิดต่อเหมือนกัน เรื่องจะแนะนำเจ้าของบ้านยังไงดี ระหว่างการจะทุบบ้านแล้วสร้างใหม่ หรือเลือกที่จะรีโนเวท เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด หากจะทุบแล้วสร้างใหม่ แน่นอน
เราจะต้องมีข้อจำกัดในเรื่องการขออนุญาตใหม่ ระยะร่นตามกฎหมายใหม่ จะทำให้พื้นที่ในบ้านแคบลง พอพิจารณาดูแล้ว ได้ไม่คุ้มเสียกับการที่จะต้องเสียค่ารื้อบ้านทิ้งแล้วทำโครงสร้างขึ้นมาใหม่ แถมยังได้พื้นที่น้อยลง ถ้าเขาเลือกจะทำสามชั้น เขาอาจจะได้พื้นที่มากขึ้น แต่แน่นอน ค่าใช้จ่ายจะมากขึ้นตามมา บนพื้นที่แบบนี้
การรีโนเวทจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยการเก็บโครงสร้างเดิมของบ้านไว้ ทั้งชั้น 1 และ ชั้น2 เพื่อประหยัดงบประมาณในการรีโนเวทลง
กลับกัน หากว่าพื้นที่นี้เป็นบ้านที่มีพื้นที่ว่างเหลือเยอะ การเลือกที่จะทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย เพราะสามารถออกแบบบ้านได้เต็มที่ตามที่ต้องการได้
รูปถ่ายจากด้านหน้าบ้าน
.
พื้นที่ภายในตัวบ้าน
จากที่ได้รับฟังความต้องการของเจ้าของบ้านมา คือเจ้าของบ้านเค้าอยากได้บ้านออกแนว cozy หน่อยๆ
อยากปรับเปลี่ยนหน้าบ้าน แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำยังไง อยากจะตกแต่งส่วนบันไดใหม่
เพราะบันไดเดิม หนัก ตัน และกว้างเกินความจำเป็น ทำให้เสียพื้นที่ใช้งานไปพอสมควร และก็ต้องการทำเป็นบันไดเหล็ก
ซึ่งหลังจากที่ได้ฟังมา อันนี้ผมก็เห็นด้วย เพราะพื้นที่ของตัวบ้านที่จำกัดนั้น การตกแต่งบันไดให้สวย ผมมองเป็นเรื่องสำคัญ
ทั้งเป็นการตกแต่งตัวบ้านไปในตัวและยังเป็นประโยชน์สำหรับการใช้สอยไปในตัวอีกด้วย
รูปถ่ายของบ้านเดิม
.
บ้านหลังนี้ เป็นบ้านสไตล์แบบปลูกเต็มพื้นที่สองข้างเลย จะมี set back เข้ามานิดหน่อย ประมาณข้างละ 40 เซน เจ้าของบ้านอยากจะลดพื้นที่ตัวบ้านลง และอยากมีพื้นที่สีเขียวเล็กๆในบ้าน รวมทั้งหาที่จอดรถ 1 คันให้ด้วย ง่ายๆ ว่า มีสวนในบ้าน ที่เป็นพื้นที่ปิด
Ground Floor Plan
Second Floor Plan
project นี้เริ่มออกแบบประมาณปลายปี เจ้าของบ้านค่อนข้างทำการบ้านมาดีในเรื่องความต้องการต่างๆ เลยทำให้การทำงานง่ายขึ้น การออกแบบจึงจบได้เร็วและตรงตามความต้องการของเจ้าของบ้าน
รู้หรือไม่??
สถาปนิก อินทีเรีย วิศวกร มีค่าบริการสำหรับงานออกแบบ ค่าออกแบบเป็นต้นทุนเพื่อใช้ในการออกแบบ และเลี้ยงชีพ
แบบก็คือแม่พิมพ์ดีๆนี่เอง งานจะออกมาดีหรือไม่ดี แบบมีความสำคัญมาเป็นอันดับแรก เราควรที่จะให้ความสำคัญกับงานออกแบบเป็นลำดับต้นๆของงานก่อสร้างทั้งหมด
ทั้งยังเป็นตัวกลาง หลักฐานและกรรมการให้กับเจ้าของบ้านและช่างรับเหมาอีกด้วย
แม้จะมีรายการ boq แต่หากไม่มีแบบแล้ว โอกาสจะทำ boq ให้ถูกต้องไม่มีเลย เพราะทำได้แค่ประมาณการกันเท่านั้น ดังนั้นถ้าสร้างกันแบบไม่มีแบบ โอกาสทะเลาะกันสูง ความเข้าใจคนเราไม่เหมือนกัน ปัญหาที่ทะเลาะกันที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างคือ การทำงานแบบไม่มีตัวกลาง ไม่มีหลักฐานใดๆ อ้างอิง และแบบ สามารถทำให้เรารู้ต้นทุน งบประมาณล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี
ฉะนั้น จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใด แบบ จึงมีความสำคัญ สำหรับมาตรฐานของงานก่อสร้าง ทั้งตัวเจ้าของงานและช่างรับเหมา
การแก้ไขงานระหว่างการออกแบบ ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการที่สร้างไปแล้วแต่ไม่ถูกใจแล้วสั่งรื้อทุบทำใหม่มาก
หลังจากสรุปแบบ และตกลงกันเสร็จสรร จากนั้น มหกรรมการรีโนเวทก็เริ่มต้นขึ้น
หลายๆคนถามว่า ถ้าเราอยากจะรีโนเวทจริงๆ แต่ระหว่างนั้นเราไม่รู้จะไปอยู่ไหน เราสามารถจะรีโนเวททีละชั้นได้มั้ย ?
คำตอบคือมันก็ได้ครับ แต่มันจะไม่สะดวก ทั้งเรื่องช่างที่เข้ามาทำงานในบ้าน ฝุ่นเอย เสียงเอย ความปลอดภัยเอย สิ่งต่างๆพวกนี้ควบคุมได้ยาก
ถ้าบ้านมีพื้นที่มากหน่อยก็อาจจะพออยู่ไปด้วยหรือทำไปทีละชั้นได้ครับ แต่ถ้าให้แนะนำ หากจะต้องรีโนเวทจริงๆ แนะนำว่าหาที่อยู่อื่นชั่วคราวจะดีกว่า
การรีโนเวทครั้งเดียว จะประหยัดมากกว่าการทำทีละชั้น ด้วยเรื่องเวลาและงบประมาณ
หลังคาเดิม รื้อออก และยกหลังคาเพิ่ม เพื่อให้ฝ้าเพดานชั้น 2 สูงขึ้น
ด้านหน้าบ้าน ตัดหลังคาเดิมออกแล้วทำโครงสร้างใหม่เป็นหลังคาเพิงหมาแหงจากหน้าไปหลังทีเดียวเลย ส่วนระเบียงด้านหน้าเดิมที่ไม่ได้ใช้ จัดการต่อเติมออกมาทำเป็นห้องนอนแทน
การปรับปรุงตึกแถวในพื้นที่แคบๆ มีข้อจำกัดหลายๆอย่าง ทั้งจำนวนช่าง พื้นที่การวางของ เศษวัสดุที่ต้องขนออกเกือบทุกวัน
การวางแผนงานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเราให้ความสำคัญของแบบก่อสร้าง และยึดทำงานตามแบบที่ได้ออกแบบไว้
การรีโนเวท จึงต้องวางแผนงานทำทีละชั้นให้เรียบร้อย และชั้นล่างสุดคือ ชั้นสุดท้ายที่จะทำการรีโนเวท
งานระบบต่างๆใต้ดิน ปรับพื้นผิว วางระบบท่อน้ำ ท่อน้ำทิ้ง สุขาภิบาล ระบบไฟฟ้า
ก่อนความสวยงามจะมา ความจำเป็นพวกนี้ต้องเสร็จเรียบร้อย และมีคุณภาพ
ระหว่างรีโนเวท ก็พยายามจะสร้างกิมมิกให้กับบ้าน อยากจะหาซักมุมไว้ให้รู้ว่าอันนี้คือบ้านที่รีโนเวทจากบ้านเดิมนะ ว่าแล้วก็เขียนวงให้ช่างว่า แงะเอาปูนฉาบออกให้หน่อย
ช่าง : พี่แน่ใจนะ ถ้าฉาบคืนผมคิดตังนะ
ผม : ไม่รู้เหมือนกันจะสวยมั้ย แต่ทำไปเถอะ
ช่างทำไปพลางบ่นไป
ในตัวบ้าน มีการใช้ช่องลมเข้ามาตกแต่ง เพื่อให้อากาศในบ้านถ่ายเท และมีแสงจากธรรมชาติเข้ามาในส่วนของพื้นที่ภายนอกในตัวบ้าน
อย่างบริเวณที่จอดรถ และพื้นที่ระเบียง ส่วนโถงบันได ทุบผนังบันไดเดิมทิ้งและใส่บล๊อกแก้วเข้าไปเป็นผนังแทน เพื่อที่จะได้แสงสว่างเข้ามาในตัวบ้าน
หน้าบ้าน ใช้ประโยชน์จากระเบียงเดิมที่มีอยู่ แบ่งห้องทำเป็นห้องนอน 2 ห้องด้านหน้า
.
การรีโนเวท หลังนี้ ใช้เวลาประมาณ เกือบๆ 7 เดือน อาจจะด้วยเพราะยึดตามแบบ ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแบบหน้างานมากนัก
จึงทำให้งานราบรื่นไปด้วยดี ถ้าเทียบจากรูปของบ้านเดิม บนพื้นที่เดิม การเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย และการใช้สีสัน ทำให้บ้านดูหลังใหญ่กว่าเดิม
ทั้งๆ ที่ทุกอย่างก็นั่งอยู่บนบ้านเดิมนั่นแหละ
พื้นที่ภายใน กับพื้นที่เดิมทุกอย่าง ที่เพิ่มเติมเข้าไปคือ การจัดวางตำแหน่งต่างๆให้เหมาะสม ทั้งพื้นที่ใช้สอย และพื้นที่ทางเดิน
ทำให้จากบ้านที่ดูคับแคบ มีพื้นที่ดูกว้างกว่าเดิม
.
บ้านหลังนี้เน้นเรื่องบันไดเป็นพิเศษ จากโครงสร้างคสล มาเป็นบันไดเหล็ก ลูกบันไดเป็นไม้ประสาน ด้วยเหตุผลเรื่องของพื้นที่การสร้างกิมมิกให้กับบ้าน
และแน่นอน เราไม่พลาดที่จะทำการทดสอบ
รูป before & after จากหน้าบ้าน และรูป before & after หลังจากที่ตกแต่งเสร็จ
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
ห้องน้ำที่ตกแต่งใหม่
ดูงาน interior กันบ้าง บ้านหลังนี้เจ้าของบ้านขอเน้น เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว มากกว่างานบิ้วท์
ห้องรับแขกและอาหาร เจ้าของบ้านขอโต๊ะใหญ่ที่ติดกับครัว เป็นโต๊ะทานข้าวไปในตัว
มุมจากบันไดมองออกไปหน้าบ้าน
โถงบันได (ยังไม่ได้ติดราวบันไดนะครับ อยากตกใจ)
master bedroom
ห้อง master bedroom ในห้องนอนแต่ละห้อง จะเน้นเรื่องแสงสว่างเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ห้องรู้สึกมืด และทึบ
ทางเดินที่ปรับให้กระชับตามพื้นที่ และแน่นอน แสงสว่าง
ใช้บล๊อกแก้วเพราะต้องการแสงสว่างที่เข้ามา และทำเป็นกำแพงไปในตัว
หลังจากที่ปลุกปล้ำกับโถงบันได เห็นแล้วก็ชื่นใจทั้งเจ้าของและคนทำ
ห้องนอนหน้าบ้านที่ขยายออกมาจากระเบียง
ระเบียงเล็กๆ สำหรับหน้าบ้าน
ครัวที่พร้อมสำหรับการทำอาหาร แต่คงไม่เหมาะนักถ้าจะผัดกระเพรา
ขอบคุณทีมงานทุกคน ที่ได้ช่วยกันออกแบบและรีโนเวทบ้านหลังนี้ จนสำเร็จไปด้วยดี หากไม่มีบุคลากรเหล่านี้ งานคงไม่สำเร็จ
และขอบคุณเจ้าของบ้าน ที่ได้ให้โอกาสพวกเราทำงานให้ครับ
.
ขอบคุณสำหรับเวลาอ่านที่เสียไปนะครับ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ให้กับหลายๆคนที่มีบ้านเก่าหรือตึกแถวเก่า ที่อยากจะรีโนเวทปรับปรุงบ้านตัวเองใหม่ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง
หลักๆของการทำคือ พยายามเติมแสงสว่าง ทั้ง direct (แสงธรรมชาติ) indirect (แสงประดิษฐ์) เข้าไปให้ดูสว่าง อบอุ่น น่าอยู่ เท่านี้ จากตึกแถวเก่าๆทึมๆ ห้องแคบๆ ก็กลายเป็นบ้านหลังเบ้อเริ่มใจกลางเมือง ที่สะดวกสบายต่อการเดินทาง ต่อการใช้ชีวิตที่คุ้นเคยของเรา และยังทำให้เราอยากจะอยู่บ้านหลังใหม่ ที่เราตกแต่งขึ้นมาใหม่ไปอีกนาน
การจัดวาง circulation ดีๆ สำคัญมาก ตัดพื้นที่ว่างที่ไม่จำเป็นออกไป เพราะจะทำให้เราได้พื้นที่ใช้สอยได้มากขึ้นอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน
หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆท่านนะครับ ….. ขอบคุณครับ
ที่มา : tauhoo .