ปกติแล้ว การปลูกพืชทำสวน เราจำเป็นจะต้องมีพื้นที่ที่กว้างพอ หากอาศัยอยู่ในคอนโดหรืออพาร์ทเมนต์แล้วล่ะก็ การที่เราจะปลูกสวนหวังผลผลิตคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากทีเดียว
แต่ถ้ามีไอเดียเจ๋งๆ วางแผนดีๆ เราก็สามารถทำการเพาะปลูกได้ถึงแม้จะอาศัยอยู่ในห้องเช่า เหมือนกับคุณ Maeo-Ngao สมาชิกเว็บไซต์ Pantip.com ที่ได้ปลูก เมล่อนญี่ปุ่น บนระเบียงทาวน์เฮาส์ จนได้ผลผลิตออกมาน่าทานมากๆ อยากรู้แล้วล่ะสิว่าทำได้ยังไง? ลองไปชมกันเลยครับ
ครั้งแรกกับการปลูกเมลอนญี่ปุ่นบนทาวน์เฮ้าส์
(โดย Maeo-Ngao)
สวัสดีครับ ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อนเลยนะครับว่าผมเป็นพนักงาน IT บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแถว ๆ ฝั่นธนบุรี เรียนจบด้าน IT มาโดยตรง ไม่มีความรู้เรื่องการทำเกษตรใด ๆ ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเลยครับ ทั้ง ๆ ที่ครอบครัวเป็นเกษตรกรกันทั้งบ้าน พูดไปก็รู้สึกเสียดายผืนดินบ้านเกิดที่ไม่ได้กลับไปดูแล แต่พอดีเมื่อ 4 เดือนก่อนผมได้มีโอกาสเข้ามาอ่านบทความของ คุณ กอล์ฟ เจ้าของเฟซบุ๊ก กอล์ฟฟาร์ม เมล่อนไทยแลนด์ เรื่องการปลูกเมลอนแบบไฮโดร ผมเลยอยากลองปลูกดูบ้าง เพราะผมเองชอบกินเมลอนมาก ๆ เหมือนกัน ดังนั้นจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลการปลูกแบบเอาจริงเอาจังอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงตัดสินใจทดลองปลูกเมลอนดู ก็เลยหยิบกระเป๋าตังค์แล้วมุ่งหน้าไปตลาดธนบุรีแถว ๆ คลองทวีวัฒนาเลยครับ
รายการสินค้าก็มี
1. ถาดเพาะต้นกล้า 1 ถาด
2. ถุงชำสีดำ 20 บาท
3. ดินมูลไส้เดือน+ใบก้ามปู 5 ถุง
4. กาบมะพร้าว 4 ถุง
5. ปุ๋ยสูตร 16-16-16 กับ ขี้วัวแห้ง
6. กระถาง 12
7. เมล็ดเมลอนสายพันธุ์ปริ้นเซส ซองละ 25 บาท
อันนี้เป็นภาพสถานที่ปลูกครับ ดูแออัดไปหน่อย แต่ก็พอทดลองปลูกได้ประมาณไม่กี่ต้น
เพาะเมล็ดได้ 5 วัน ก็เริ่มงอกเห็นใบเลี้ยง 2 ใบแล้วครับ เย้ ๆ
วันที่ 7 นับจากวันเพาะเมล็ด ก็ถึงเวลานำต้นอ่อนลงถุงดำเพื่อนำไปปลูกครับ ก่อนหน้านี้ผมได้นำดินผสมกับเชื้อไตรโคเดอร์มาที่สั่งซื้อมาจาก ม.เกษตร กำแพงแสน และตากแดดทิ้งไว้ 1 วันเต็ม ก็ตักมาใส่ถุงดำและปลูกต้นกล้าลงไปในถุง รอบนี้ผมเพาะไปทั้งหมด 20 ต้น แต่มี 1 ต้นใบหงิก ไม่แข็งแรง กลัวว่าจะไม่รอด ก็เลยจำใจต้องถอนทิ้งครับ
หลังจากนำต้นกล้าลงถุงเรียบร้อยแล้วก็ดำเนินการจัดวางบนระเบียงบ้าน แต่พื้นที่ไม่เอื้ออำนวยในด้านสถานที่ก็เลยลงได้ 13 ถุง เหลืออีก 7 ต้นก็ต้องปล่อยทิ้ง เสียดายมากครับเพราะแต่ละต้นกำลังน่ารักเลย
วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกก็ผ่านไป 2 วัน ต้นเมล่อนน้อยของผมก็เริ่มเติบโตแตกใบจริงเพิ่มขึ้นมาเรื่อยก็เลยต้องทำบ้านให้เขาอยู่ ผมก็ไม่รู้จะใช้อะไรทำดีเพราะมองหาไม้ไผ่ตามร้านต้นไม้ก็แสนจะหายากเสียเหลือเกิน เลยเดินไปร้านขายอุปกรณ์ท่อประปาใกล้ ๆ บ้านเพื่อมองหาท่อพีวีซี แต่ก็ไม่ถูกใจเพราะท่อมันอ่อนเกินกว่าจะรับน้ำหนักลูกเมล่อนตอนโตได้ จึงใช้ท่อเหล็กแทนพร้อมกับจัดมา 3 ท่อ ขนาด 1/2 นิ้ว ยาว 2 เมตร 3 ท่อ และข้อต่อโค้ง 2 อัน
จัดการวัดขนาดยาว 1.8 เมตรแล้วตัดซะเลยครับ วิธีนี้เป็นวิธีง่าย ๆ ครับ ไม่ต้องลงทุนเยอะ 300 บาทเอง
หลังจากทุกอย่างเรียบร้อยก็ดำเนินการผูกเชือกเพื่อทำโครงให้เจ้าเมลอนเลื้อยขึ้นไป
ผ่านไป 1 คืนผมตื่นแต่เช้ามารดน้ำปกติและไปทำงานตามประสาพนักงานออฟฟิศ พอเลิกงานกลับมาถึงบ้าน ผมนี่ใจสลายเลยครับ เมล่อนผมโดนทำร้ายร่างกาย เพราะใบนี้ขาดเป็นรูพรุนเลยครับ ไม่รู้ว่าตัวอะไรกัด
หลังจากเจ็บแค้นอย่างมาก ผมต้องรู้ให้ได้ว่ามันตัวอะไร หลังจากนั้นตอนเช้าผมจึงนั่งเฝ้าดูอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงยอมไปทำงานสายเลยครับ ไม่นานนักก็มีแมลงชนิดหนึ่งตัวสีส้ม ๆ ปีกแข็ง ๆ บินวนไปมา แล้วมันก็มาเกาะที่ใบผมจึงถ่ายรูปและค้นในกูเกิลดูก็เลยถึงบางอ้อว่า มันคือแมลงเต่าแตงที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตกับพืชตระกูลแตงโดยแท้ ผมเลยต้องกำจัดมันโดยการหยิบมาแล้ว เหยียบ ๆ จนตาย (ฮ่า ๆ ๆ ) สะใจที่ได้ระบายแค้น
ผ่านไปได้ 5 วันก็เกิดปัญหาใหญ่ซะแล้วครับ ตัวผมเองจำใจต้องไปต่างจังหวัดนานถึง 5 วัน คราวนี้ใครจะรดน้ำให้เมล่อนน้อยของผมล่ะครับ ครุ่นคิดอยู่สักพักเลยนึกขึ้นได้ว่า คุณกอล์ฟแห่งเมล่อนฟาร์ม ก็เคยปลูกแบบไฮโดรนี่หน่า ก็ดูวิธีแล้วก็จัดการผสมปุ๋ยกับน้ำเทใส่กะละมัง จากนั้นก็เอาถุงเมลอนไปแช่ทิ้งไว้อย่างนั้น เพื่อให้ดินมันชื้นอยู่ตลอดเวลา (ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ผิดนะครับเพราะอาจทำให้รากเน่าและตายได้ แต่ไม่รู้ทำไงก็เหตุการณ์มันบังคับ)
ผ่านไป 5 วันผมก็กลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้วรีบวิ่งขึ้นไปดู ปรากฏว่าอยู่รอดปลอดภัยกันหมดแถมยังโตขึ้นกว่าเดิมมาก เพื่อชดเชยหลายวันที่ผ่านมาผมจึงดำเนินการเอาเมลอนไปตากแดดทั้งวันอีกครั้ง (ผมลืมบอกไปว่าบ้านผมบริเวณระเบียงจะมีแดดเพียงแค่ 4 ชั่วโมงในตอนเช้าเท่านั้น หลังจากนั้นก็มืดตึ้บเพราะหลังคาบ้านมันจะบัง) ด้วยความดีใจผมจึงผสมปุ๋ยสูตร 16-16-16 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 1 ลิตร แล้วฉีดพ่นไปที่ใบของเมล่อน เพื่อให้สารอาหารทางใบ ท่านใดที่ต้องการให้อาหารทางใบต้องตรวจปริมาณการใช้ปุ๋ยให้ดีนะครับ ไม่อย่างนั้นใบจะไหม้เหมือนของผมเพราะปุ๋ยเข้มเกินไปครับ
จึงได้รีบนำเอาภาพปัญหาไปถามเหล่าพี่ ๆ ใน กลุ่มคนรักเมล่อน หลายท่านแนะนำให้ปรับค่าสมดุลในดินก่อน เพราะสภาวะดินเริ่มเป็นกรดแล้วเนื่องจากปุ๋ยเยอะเกินไป ตามหลักเคมีหากต้องการลดกรดก็ให้เติมด่างลงไปครับ แต่ผมไม่สะดวกหาปูนขาวจึงนึกขึ้นได้ว่า ขี้เถ้าก็เป็นด่างนี่นา จึงไปขอขี้เถ้าจากร้านขายไก่ย่างมาประมาณ 1 กิโลกรัม เมื่อได้มาแล้วผมก็ผสมน้ำแล้วแช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง จากนั้นก็นำไปฉีดพ่นที่ใบและรดลงดินให้มาก ๆ เพื่อชะล้างกรดจากปุ๋ยที่ใส่เกินขนาดและเล็มส่วนที่ไหม้ทิ้งไป
หลังจากนั้นไม่นานปัญหาที่ 2 ก็ตามมาติด ๆ เพราะเมลอนนั้นเป็นพืชในตระกูลแตงที่อ่อนแอและป่วยง่ายที่สุด อาการคือต้นแตกครับ สาเหตุน่าจะติดเชื้อที่เมล็ด แถมใบเลี้ยงก็เหี่ยวแห้งตายไปตาม ๆ กัน (โอ้ ! ทำไมปัญหามันเยอะเยี่ยงนี้นะ)
วันเวลาผ่านไป 25 วันหลังจากเพาะเมล็ด ก็ดูเหมือนจะดีขึ้นมาหลังจากเจอปัญหาอย่างหนักหน่วง แต่แล้วฝันมันก็ไม่ได้ก้าวไปถึงแบบง่าย ๆ อยู่ดีครับ
เมื่อเจอปัญหาใหญ่อีกรอบกับการระบาดของแมลงหวี่ขาว เล่นเอาใบหงิกกันเป็นแถบ ๆ ทีแรกนึกว่าติดไวรัสครับ
ไม่วายจริง ๆ ครับ แมลงเต่าแตงมันมาอีกแล้ว คงเห็นว่าผมไม่พ่นเคมีก็มาแอบกินกันใหญ่ สงสัยต้องเจอขั้นเด็ดขาดครับ
พ่นด้วยเจ้านี่ซะเลย ไม่สนใจแล้วครับออแกหน่งออแกนิก
เมลอน 32 วันนับจากวันเพาะเมล็ด วันเวลาก็ผ่านไปแต่ละต้นก็เริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ ครับ เริ่มมีแขนงและดอกตัวผู้ปรากฏออกมาให้เห็นในแต่ละข้อใบ
เมลอน 35 วันติดลูกแล้วครับ รอผสมเกสรครับงานนี้
เมลอน 39 วันนับจากวันเพาะเมล็ด เริ่มผสมเกสร ช่วงนี้งดใช้เคมีภัณฑ์ทุกชนิดและคิดว่าจะงดต่อไปจนเก็บเกี่ยวครับ เนื่องจากผมมีผู้ช่วยผสมเกสรสุดเก่งนั่นคือแมลงชันโรงครับ บังเอิญมาก ๆ ที่เจ้าชันโรงเขามาทำรังอยู่ใกล้ ๆ หลังคาผมพอดีเลยครับ เลยนึกสงสารเห็นพากันมาดูดน้ำหวานกันเต็มไปหมด ก็กลัวว่าจะพวกมันจะตายเพราะโดนยาครับ (ต้องพึ่งพากันและกันครับงานนี้)
หลังจากนั้นเมื่อผสมเสร็จผ่านไป 1 วัน ดอกตัวเมียจะหุบเข้าเพื่อตั้งท้องครับ เมล่อน 1 ต้นจะมีผลเยอะมากแทบทุกข้อใบที่มีแขนง แต่ตามตำราบอกไว้ว่าจะไว้ผลได้แค่ 1-2 ผลต่อต้นเท่านั้น โดยให้ไว้ผลตั้งแต่ข้อที่ 9-12 เพราะจะให้ผลดี
41 วันนับจากวันเพาะเมล็ด เมล่อนหลังผสมเกสรติดแล้วจะโตเร็วมาก และต้องการน้ำเยอะกว่าปกติมาก ผมจึงเริ่มคัดผลที่มีความสมบูรณ์และมีขนาดประมาณเท่าลูกปิงปองไว้ 1 ลูกต่อต้น ส่วนลูกอื่น ๆ ที่ไม่โตหรือผิดรูปก็ตัดทิ้ง เอาไปลวกกินกับน้ำพริก (ฮ่า ๆ ๆ)
50 วันนับจากวันเพาะเมล็ด เมล่อนก็เริ่มสร้างลายนูนให้เห็นบ้างเป็นช่วง ๆ ครับ เนื่องจากรอบนี้ผมมือใหม่จริง ๆ ไม่ค่อยได้ให้อาหารเสริมเลย วุ่นวายกับการเจอโรคโน่นนี่นั่น ก็เลยไม่มีเวลามาศึกษาเรื่องอาหารเสริมเลย ไว้ครั้งหน้าจะตั้งใจให้มากกว่านี้ครับ
ลูกนี้เบี้ยวเพราะผสมเกสรไม่ดี หรือเป็นเพราะผมห่อถุงพลาสติกแล้วมันแน่นเกินไป ลูกมันอาจจะพยายามดันถุงก็เลยเบี้ยว ๆ แบบนี้
65 วันนับจากวันเพาะเมล็ด ตั้งแต่วันนี้งดให้น้ำเพื่อทำความหวานให้กับผลเมลอนที่แก่เต็มที่ และวันที่ 69 เป็นวันตัดผลผลิตครับ เมล่อนสายพันธุ์นี้เวลาแก่จัดผิวของเขาจะออกเหลือง ๆ และมีกลิ่นหอมฟุ้งเลยครับ หลังจากตัดแล้วควรทิ้งไว้อีก 5 วันเพื่อให้เนื้ออ่อนนุ่ม รสชาติก็จะอร่อยมากขึ้นด้วยครับ
ทดลองผ่าดูครับและลองชิมหลังตัดเลย สรุปเนื้อกรอบมากและออกแข็ง ๆ ถ้าคนชอบเมลอนเนื้อส้มราคาถูกก็คงบอกว่าปกติ แต่ถ้าคนชอบเมล่อนญี่ปุ่นที่เนื้อนุ่ม ๆ ก็คงบอกว่ามันแข็ง กินไม่อร่อย ฮ่า ๆ ๆ แต่สำหรับผมมันอร่อยที่สุดในโลกเลยครับ เพราะปลูกเองกินเองและแจกชาวบ้านกินครั้งแรก
บทสรุปของการปลูกเมล่อนในครั้งนี้
1. เมลอนดูแลยาก ปลูกยาก แต่ทำได้ถ้าเราเข้าใจมัน
2. ใคร ๆ ก็ปลูกเมลอนได้ ทุกที่ และทุกฤดูกาล เพราะปลูกเมลอนไม่ต้องอาศัยดินสามารถใช้วัสดุปลูกแทนได้ทุกอย่าง
3. อยากให้ทุกคนลองปลูกพืชผักที่ตัวเองชอบและลองกินดู ไม่จำเป็นต้องเป็นเมล่อนก็ได้ครับ ขอแค่คุณชอบและเฝ้ามองมันเติบโต
4. ปัญหาที่พบเจอมาตั้งแต่แรก นั่นก็คือความรู้อันมีค่าที่ซื้อหาที่ไหนไม่ได้ครับ
5. อดทนและหมั่นศึกษาหาวิธีแก้ปัญหา ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจะผ่านมันไปได้ครับ
ผมหวังว่ากระทู้นี้จะมีประโยชน์กับผู้ที่สนใจกำลังจะหัดปลูกเหมือนผมนะครับ ความรู้ที่ผมมีก็แค่งู ๆ ปลา ๆ หากเรื่องใดไม่ถูกต้องก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
ที่มา : Maeo-Ngao