ปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรที่เกิดจากปลั๊กพ่วงหรือรางปลั๊กไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างคาดไม่ถึง เพราะโดยทั่วไปแล้ว ปลั๊กพ่วงราคาถูก มักจะใช้วัสดุคุณภาพต่ำและมีระบบป้องกันน้อยมากๆ
ปลั๊กพ่วงราคาถูกที่วางขายตามท้องตลาด จึงอาจจะเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่มีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายอย่าง จนบางครั้งก็อาจทำให้ปลั๊กพ่วงรับความร้อนไม่ไหว ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าพังไปเลยก็มีให้เห็นกันบ่อยๆ
หลายปัญหาที่เกิดจากปลั๊กพวงราคาถูกจะหมดไป หากเราพิจารณาเลือกปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพ หรือหากไม่มั่นใจ ก็ทำปลั๊กพ่วงไว้ใช้เองซะเลย!
คราวนี้ ในบ้าน มี DIY เจ๋งๆ จากคุณ KanichiKoong มาฝากกันครับ โดยจะเป็น วิธีทำรางปลั๊กไฟคุณภาพสูงไว้ใช้เอง ปลอดภัยต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกด้วยนะ
ทำรางปลั๊กไฟไว้ใช้เองดีกว่า จะได้หมดปัญหาที่พบเจอบ่อยๆ กับปลั๊กพ่วงแบบเดิมๆ
(สาธิตโดย KanichiKoong)
วันนี้ว่างๆ หาอะไรสนุกๆทำ วันอาทิตย์ร้านเปิดครึ่งวัน เมื่อเช้าเลยแว๊บเข้าไปเอาอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ร้านมาทำปลั๊ก
พ่วงไว้ใช้เอง เพราะโดยส่วนตัวผมเอง บอกลาไปนานแล้วกับปลักพ่วงแบบเก่าๆที่เป็นตลับกลมๆ หรือที่เป็นรางแต่ใช้สายไฟเส้น เล็กไม่ได้คุณภาพมาทำ พวกปลั๊กพ่วงส่วนใหญ่ระบบป้องกันจะน้อยหรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้
รุ่นที่ไม่มีฟิวส์หรืออุปกรณ์ป้องกันชนิดอื่น อันนี้น่ากลัวมาก เพราะเขาจะใช้สายไฟเส้นเล็ก ส่วนมากจะขนาดขนาด 0.5 sq.mm.ซึ่งโดยประมาณจะทนกระแสได้เพียง5-8Aเท่านั้น และบางท่านก็ชอบเอาไปพ่วงกับปลั๊กหม้อหุงข้าว กระทะไฟฟ้าหรือเตาไฟฟ้า ซึ่งล้วนแต่กินกระแสสูงๆทั้งนั้น เมื่อสายแบกรับภาระทางไฟฟ้าไม่ได้ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า “โอเวอร์โหลด”
สายจะร้อน จนทำให้ฉนวนชำรุดและเกิดการลัดวงจรในที่สุด และพวกตลับปลั๊กกลมๆที่มีสายยาวๆ เวลาใช้กับกระแสไฟสูงๆ โดยที่ไม่ดึงสายออกมาให้หมด สายที่ขดกันภายในนั้น จะเกิดสนามแม่เหล็กและทำให้เกิดความร้อน อีกอย่าที่ย่าคิดคือ ปลั๊กพ่วงบางอันได้รับมาตรฐานแค่สายไฟเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญอย่างเต้ารับเต้าเสีย กลับไม่มีมาตรฐาน
เต้าเสียบแบบปั๊มก็ทนกระแสได้ไม่ดี ร้อนนิดหน่อยตรงพลาสติกส่วนขาก็ละลายแล้ว ส่วนรางปลั๊กไฟแบบทั่วไปก็เช่นกัน ที่ดูภายนอกสวยงาม แต่…เอ่อ เคยเปิดดูข้างในบ้างไหมครับ
ส่วนใหญ่ภายในรางปลั๊กแบบทั่วๆไป จะมีรางทองเหลืองหรือทองแดงบางๆ วางตลอดแนว ซึ่งรางดังกล่าวนี้เป็นขั้วเต้ารับของปลั๊กพ่วงพวกนี้บางอันทำรูสายดินแบบหลอกๆ คือมีแต่ช่องเสียบสายดินเท่านั้น ไม่เกิดผลอะไร การเชื่อมต่อภายในก็นิยมใช้การ บัคกรีเพียงเล็กน้อย และสายที่บัคกรีทับไปก็ไม่ได้มีการยึดด้วยวัสดุใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อใช้ไฟมากๆจนร้อน รอยบัคกรีก็จะละลาย สายไฟก็จแยกออกจากรางโลหะ บางท่านที่ไม่ทราบก็จะคิดว่า มันเสียแล้ว ได้เวลาเปลี่ยนใหม่ซะแล้ว
ส่วนสวิชต์เปิดปิดปุ่มแดงๆมีไฟหรือที่เรียกว่าสวิชต์แลมป์ก็เปราะบางเหลือเกิน เปิดปิดมากๆหรือใช้ไฟมากๆก็ไปเสียแล้ว
หลายหลายปัญหาน่าเบื่อของปลั๊กพ่วงแบบเดิมๆ ทำให้ผมเองก็เบื่อกับปลั๊กพวกพวกนี้ แต่ที่บ้านของผมยังมีปลั๊กพ่วงแบบสำเร็จรูปใช้อยู่5ราง แต่ต้องเป็นของดีเท่านั้นที่ผมจะเลือกใช้ ซึ่งเป็นปลั๊กพ่วงชนิดที่ป้องกันแรงดันไฟเกิน-ลัดวงจร-ฟ้าผ่า-ไฟกระชาก ของยี่ห้อหนึ่ง ไม่ขอเอ่ยนาม ปลั๊กพ่วงแบบนี้วงจรภายในถือว่าอยู่ในระดับดีและการป้องกันที่ดี ซึ่งผมนำมาใช้กับทีวี,ชุดโฮมเทียเตอร์ ,โทรศัพท์ไร้สาย,เครื่องแฟกส์,คอมพิวเตอร์PC-note book,เครื่องถ่ายเอกสาร,ปริ้นท์เตอร์,สโคป
ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าพวกนี้เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไวต่อกระแสไฟมากๆ จึงต้องเลือกปลั๊กพ่วงดีๆสักอันมาป้องกัน
เตรียมเครื่องมือให้พร้อม แล้วแต่สะดวกจะใช้อะไร ก็เตรียมมาครับ
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้อาจจะดัดแปลงตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ครับ
สายไฟ
ผมเลือกใช้สาย VCT ชนิด 3 แกน ยี่ห้อ BCC (บางกอกเคเบิ้ล) ส่วนตัวชอบ BCC มากกว่า YAZAKI เพราะ YAZAKI ฉนวนเหนียวบ้าบอคอแตก ปอกแล้วเจ็บมือ มีดจะหัก เนื้อทองแดงก็เหมือนๆกัน ของBCCฉนวนกำลังดีไม่หนาไม่อ่อนเกินไป
ขนาดที่ใช้ เป็นสาย 3 แกน ขนาด 1.5 sq. mm. ซึ่งสาย ขนาด 1.5 sq. mm.จะทนกระแสได้ที่ 15-17A
แผงไม้
แผงไม้ ขนาด 6×12 นิ้ว จำนวน 2 อัน เอามาไว้ทำแผงวางเต้ารับและฝาปิดด้านหลัง
ฝาพลาสติดหน้ากากสำหรับเต้ารับ
ฝาพลาสติดหน้ากากสำหรับเต้ารับ ยี่ห้อ Panasonic รุ่น FULL-COLOR ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นยอดนิยม และราคาถูกที่สุดของPanasonic เหมาะที่จะเอามาทำรางปลั๊กพ่วง
เซฟตี้เบรกเกอร์(SB)
เซฟตี้เบรกเกอร์(SB) Panasonic ขนาด 15A IC1500A ขนาดกระแสของเบรกเกอร์ต้องเป็นขนาดที่สัมพันธุ์กันกับขนาดสายไฟ ห้ามใช้เกินพิกัดของสายไฟ เพราะกรณีคุณใช้ไฟเกิน มันจะไม่ตัดไฟ สายไฟอาจจะร้อน
หน้ากากเบรกเกอร์แบบฝัง
.
เต้ารับ-สวิชต์
เต้ารับ-สวิชต์ รุ่น Panasonic รุ่น FULL-COLOR (กล่องสีน้ำเงิน-ขาว) ส่วนกล่องสีฟ้า-ขาวซึ่งเป็นเต้ารับ และในแพ๊คซึ่งเป็นสวิชต์ เป็นของเกรดต่ำยี่ห้อ MUTSUKAMI ราคาถูกกว่า Panasonic รุ่น FULL-COLOR เกินครึ่ง รูปแบบจะคล้ายกันมาก สามารถใส่ด้วยกันได้ทั้งหน้ากากและสวิตซ์ หากไม่ต้องการของเกรดดีเลิศหรืออยากจะประหยัดงบ ลองหันมามองของเกรดรองลงมาได้ครับ
เต้าเสียบ
ผมเลือกใช้เต้าเสียบแบบมาตรฐานเยอรมัน (ทนกระแสได้สูงสุด 16A) เพราะว่าที่บ้านติดเต้ารับเยอรมันไว้บนผนังแทบทุกจุด เพราะส่วนตัวชอบระบบของเต้ารับเต้าเสียบแบบเยอรมัน เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง ป้องกันมือสัมผัสโดนกับขาเต้าเสียบขณะเสียบ และยังเสียบได้แน่น ไม่หลุดง่าย
นอกจากนี้ เต้าเสียบมีระบบสายดินที่เป็นแผ่นโลหะอยู่ข้างๆ ทำให้สามารถใช้กับเต้ารับแบบ 2 ตาได้ และเมื่อต่อเต้าเสียบเข้ากับเต้ารับแบบเยอรมันที่มีการต่อกราวด์ไว้เรียบร้อย รางปลั๊กพ่วงอันนี้ก็จะต่อลงดินโดยอัตโนมัติ
แต่ใครที่ไม่เอาระบบสายดิน จะใช้เต้าเสียบ 2 ขาก็ได้ หรือจะใช้เต้าเสียบแบบ3ขาก็ไม่เป็นไร แต่เต้าเสียบแบบ 3 จะมีข้อจำกัดในการใช้ได้กับเต้ารับ 3 ตาเท่านั้น
เต้ารับ
เต้ารับเยอรมันของ bticino ทนกระแสได้สูงสุด 16A ติดไว้บนรางปลั๊กพ่วง เพื่อรองรับเต้าเสียบแบบเยอรมันของเครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวก เตารีด คอมพิวเตอร์ ไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว ฯลฯ
เต้ารับคู่+กราวด์(ปลั๊กกราวด์คู่)
เต้ารับคู่+กราวด์(ปลั๊กกราวด์คู่) ของ VENA ทนกระแสได้สูงสุด 16A เต้ารับคู่+กราวด์ VENA คุณภาพพอๆกับ Panasonic รุ่น FULL-COLOR และราคาถูกกว่าด้วย ติดตั้งไว้สำหรับรองรับเต้าเสียบ 3 ขา
ขั้นตอนในการทำ
1. เริ่มจากการประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชุดเข้าด้วยกัน และ วางเพื่อกำหนดจุดที่จะติดตังบนแผงไม้
2. ร่างเส้นส่วนที่ต้องการจะตัดออก และทำการตัดออกโดยใช้สว่านเจาะนำรู แล้วเอาเรื่อยฉลุไฟฟ้าตัดตามเส้น
3. วางอุปกรณ์ลงบนแผงไม้ แล้วทำการเจาะรูเพื่อยึดสกรูของอุปกรณ์เข้ากับแผงไม้
4. ต่อสายไฟเข้ากับเบรกเกอร์ แล้วต่อสายออกจากเบรกเกอร์เข้าสู่เต้ารับแต่ละชุด
5. เทคนิคการรับแรงดึงของสายไฟที่อาจเกิดขึ้นขณะใช้งาน โดยนำเอาเคเบิ้ลไทด์ มายึดให้แน่นที่สายเอาไว้
6. ต่อสายไฟเข้าเต้ารับแต่ละจุด เมื่อต่อสายเสร็จเรียบร้อย ทำการตรวจสอบวงจร
อย่าลืมสายดินด้วยนะครับ!
7. นำแผงไม้อีกอัน มาทำการงัด เอาแต่แผ่นไม้อัด โครงไม้ไม่ต้องนะครับ
8. แล้วเอาแผ่นไม้อัด มาปิดทับด้านหลังของรางปลั๊ก แล้วยึดด้วยสกรู
9. เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานครับ
ใครมีไอเดียแจ่มๆ ก็สามารถดัดแปลงให้เป็นแบบอื่นได้ แล้วแต่ความต้องการใช้งานและความเหมาะสม
.
ปลั๊กพ่วงที่ทำขึ้นเอง หากทำอย่างถูกต้องเลือกใช้ของที่ได้มาตรฐานตรงตามสเป็ก และในเรื่องการใช้งาน นำไปใช้งานอย่างถูกวิธีในสภาวะที่ปกติ ผมกล้าพูดได้เลยว่ามันจะอยู่กับคุณไปนานมาก นานจนลืมไปเลยว่าทำไว้เมื่อไหร่ เมื่อเทียบกับปลั๊กพ่วงแบบสำเร็จรูปราคาถูกๆที่ขายตามท้องตลาดที่มีปัญหากวนใจอยู่บ่อยๆ
และใช่ว่าปลั๊กพ่วงแบบสำเร็จรูปจะไม่ดีเสมอไป ในการเลือกซื้อ ผมแนะนำให้พิจารณาดูดีๆ อย่างแรกที่ต้องดูให้ดีๆคือ ระบบป้องกัน อย่างที่สองคือขนาดของสายไฟและมาตรฐานของอุปกรณ์ และสุดท้ายคือเรื่องระบบสายดินว่ามีระบบสายดินจริงๆหรือมีแบบหลอกเอาไว้ ซึ่งปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพดีๆก็มีอยู่มากมาย แต่…ราคาก็ไม่ช่น้อยเลยนะครับ
บอกลาปลั๊กพ่วงคุณภาพต่ำแบบเดิมๆไปได้เลย!!
หมายเหตุ: ตลับปลั๊กแบบมวนกลมที่สามารถม้วนเก็บสายได้ ในกรณีที่ใช้งานกระแสสูงๆ จำเป็นต้องดึงสายออกจากม้วนให้หมด เพราะหากไม่ดึงสายออกมา สายที่ขดม้วนกันอยู่ภายใน จะเกิดสนามแม่เหล็ก ทำให้เกิดความร้อนได้
ที่มา : KanichiKoong