ครั้งก่อนๆ ในบ้าน ได้นำไอเดียรีโนเวทและไอเดียตกแต่ง ห้องครัว มาฝากเพื่อนๆ ชาวเว็บหลากลายดีไซน์ ครั้งนี้เราลองมาชม ไอเดีย ‘ต่อเติมครัวหลังบ้าน’ กันบ้างดีกว่าค่ะ โดยไอเดียนี้เป็นโปรเจ็กต์ของคุณ แมวพุงพลุ้ย ที่ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การก่อสร้างครัวโดยไม่ลงเสาเข็ม แต่ก็รอบคอบพอที่จะรับมือกับปัญหาพื้นทรุด
ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่มีมากเกินไป เรื่องการป้องกันพื้นทรุด ตลอดจนกฏหมายและข้อกำหนดต่างๆ แต่ทว่าการต่อเติมครั้งนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี เอาล่ะค่ะ สำหรับคนที่กำลังจะเริ่มต่อพื้นที่ใช้งานต่างๆ ภายในบ้าน ก็ลองไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันดูก่อนได้นะคะ
แบ่งปันประสบการณ์ DIY ‘ต่อเติมครัวหลังบ้าน’ ฉบับบ้านๆ แบบไม่ลงเสาเข็ม พร้อมกับวิธีป้องกันพื้นทรุด
(โดย แมวพุงพลุ้ย)
ผมกับแฟนเราตกลงกันว่าจะต่อเติมครัวหลังบ้านเพื่อเอาไว้ทำอาหารไทยแท้ เอกลักษณ์ของอาหารไทยประเภทรสจัดที่จะเข้าถึงรสถึงพริกถึงขิงนั้นหลายเมนูจะมีกลิ่นแรง จำพวกผัด แกง ฯลฯ – คือเรามีครัวอยู่แล้วซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้าน แต่ว่าเป็นครัวทำหรับทำอาหารเล็กๆ น้อยๆ เช่น ต้มไข่ ทำกาแฟ ทำขนมปัง ซุปสำเร็จรูป ประเภทนี้พอได้อยู่ แต่พอจะทำอาหารประเภทผัดแล้วคงไม่ไหวแน่ๆ กลิ่นคงฉุนตลบอบอวนไปทั่วบ้าน
เมื่อตัดสินใจที่จะต่อเติมครัวไทยหลังบ้านแล้ว ปัญหาถัดมาคือ (1) งบประมาณ เรามีไม่เกิน 65,000 บาท และ (2) เราต้องแก้ปัญหาเรื่องพื้นทรุดให้ได้ เนื่องจากครัวของบ้านเก่าของเรา ขนาดที่ว่าตอกเสาเข็มแล้วเวลาผ่านไป 5-6 ปี เห็นรอยทรุดลงไปประมาณ 2 ซม. ได้
เรื่องของเสาเข็มนั้น ประเด็นที่เราตั้งข้อสรุปเอาไว้คือ ราคาแพง และพอตอกแล้วก็ไม่สามารถการันตีได้ว่ามันจะไม่ทรุด เพราะโครงการของหมู่บ้านเราตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นทุ่งนามาก่อน คือยังไงๆ ก็ทรุดแน่ๆ ดังนั้นเราสองคนมาออกแบบกันใหม่ ซึ่งละแวกนี้ไม่มีใครเขาเคยทำกัน คอนเซ้ปต์ใหม่ที่เราจะต่อสู้กับปัญหาดินทรุดคือเราจะต่อเติมเป็นครัวที่มีน้ำหนักเบา และวางอยู่บนหัวน็อตขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าหากดินทรุดแล้ว เราจะขันปรับหัวน็อตตาม เพื่อรักษาระดับของพื้นครัวให้คงที่อยู่ตลอด (ภาพด้านล่าง ครัวสำหรับทำอาหารเบาๆ ภายในบ้าน)
แปลนที่เราเขียนส่งให้ทางฝ่ายนิติของหมู่บ้านนั้น มีลักษณะดังต่อไปนี้
1) ไม่มีส่วนใดของครัวยึดติดกับตัวบ้าน เพียงแต่ติดชิดกับผนังเท่านั้น คือถ้าครัวทรุด ก็ทรุดเฉพาะส่วนของครัว ไม่มีการดึงผนังบ้านตามไปด้วย
2) มีหลังคาสองชั้นเพื่อการระบายอากาศที่ดี (เอากลิ่นผัดฉุนๆ ออกเร็วๆ)
3) ขนาด กว้าง X ยาว = 1.8 เมตร x 6 เมตร แบ่งเป็นสองส่วนคือห้องเก็บของและห้องครัว ตามรูป
4) ขนาดของน็อตที่ใช้รับน้ำหนักคือ น็อตชุบกันสนิม M36 — เส้นผ่าศูนย์กลางเกลียว 36 มม. และหัวน็อตประมาณ 55 มม. ใช้ทั้งหมด 8 ตัว
5) น้ำหนักโดยประมาณ 1.5 ตัน
เหล็กโครงพื้นที่ใช้คือขนาด 3นิ้ว X 3 นิ้ว หนา 3 มิลครับ
ขั้นตอนนี้กำลังวางโครงเหล็กครับ
สเปคของวัสดุ
-โครงเหล็กคานและเสา = 3×3 นิ้ว หนา 3 มิล
-กลอนหลังคา = 2×2 นิ้ว หนา 3 มิล
-โครงเหล็กฝาผนัง เหล็กรับน้ำหนักแผ่นพื้นไฟเบอร์ซีเมนต์ 2×1 นิ้ว หนา 2.3 มิล
.
.
ลักษณะของพื้น ผนังด้านข้าง และโครงเคาน์เตอร์ครับ
สเปควัสดุ
พื้น ใช้แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์หนา 10 มม.
แผ่นผนัง ใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์หนา 6 มม.
แผ่นวางบนเคาน์เตอร์ ไฟเบอร์ซีเมนต์หนา 12 มม.
.
จัดการกับระบบไฟ ระบบน้ำดีน้ำเสีย และผนังด้านนอกเป็นไม้เฌอร่า เพดานติดไม้ระแนงครับ
.
.
ชุดเครื่องดูดควัน+อ่างล้างจาน+เตาแก้สของ FRANKE ตอนนั้นลดราคาที่ Homepro ทั้งหมดรวมกัน 15,000 บาทครับ
ทำไปเรื่อยๆ นะครับ ไม่ได้รีบร้อนอะไร
เมื่อมองจากโต๊ะที่เรานั่งทานข้าวเข้าไปในครัวครับ ตรงหน้าต่างจะตรงกับหน้าเตาพอดี คือกะว่าพอทำอาหารเสร็จก็ยื่นผ่านมาทางหน้าต่างเลยครับ
ทั้งหมดนี้งบประมาณ 65,000 บาท รวมเตา + อ่างล้างจาน+ที่ดูดควันเรียบร้อยแล้ว
ระยะเวลาที่ทำบ้างไม่ทำบ้าง ประมาณ 1 เดือนครับ
***เมื่อถึงเวลาพื้นทรุด สิ่งที่เราเตรียมการไว้คือ จะใช้แม่แรงยกครัวขึ้นที่ละจุดและขันหัวน็อตลงเพื่อรักษาระดับให้คงที่ครับ
และถ้าหากหมดเกลียวน็อตแล้วยังทรุดอีก ก็จะหล่อแผ่นซีเมนต์รองหัวน็อตเป็นจุดๆ ไปครับ แล้วแต่ว่าจุดไหนทรุดลงมากน้อยเท่าไหร่
มีคำถามหรือข้อเสนอแนะ หรือติชมประการใด ช่วยบอกกันครับ — สำหรับงาน DIY โปรเจคนี้ก็มีเท่านี้ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่าน
.
ปล. เราไม่ได้ทำงานต่อเติมเป็นอาชีพนะครับ เพียงแต่เห็นว่าส่วนไหนที่ทำเองได้เราก็จะทำ ส่วนอื่นในบ้านที่เรา DIY ก็มีผนังเบากั้นห้องนอน ซึ่งห้องนอนเดิมนั้นมันยาวมาก คิดว่าคงเปลืองแอร์โดยใช่เหตุ จึงกั้นด้วยโครงเหล็ก นิ้วxนิ้ว ประกบด้วยบอร์ดแล้วทับด้วย wallpaper
ผนังนี้เราฝังบานประตูรางสไลด์ สำหรับไปอีกห้องหนึ่งซึ่งจะเป็นห้อง walk in closet เก็บเสื้อผ้าให้อยู่ในนั้น (ยังทำไม่เสร็จ) และไปยังห้องน้ำ builtin
ผนังนั้นแข็งแรงมากครับ ติดตัวยึด TV 50 นิ้วได้สบายๆ
ค่าใช้จ่าย
เหล็ก 600 บาท
บอร์ด 5 มม. 1200 บาท
กระจกหน้าต่าง 400 บาท
บานประตูสไลด์ 1800 บาท -ไทวัสดุ
รางสไลด์ และชุดล้อเลื่อน 200 บาท -ไทวัสดุ
รวม 4200 บาท
ว่ากันตรงๆ ผมไม่รู้ข้อกฏหมายสิ่งปลูกสร้างเลยสักนิดครับ และไม่ใช่ว่าผมนึกจะสร้างก็สร้างเลย แต่สิ่งที่ผมทำคือปรึกษาฝ่ายนิติฯของหมู่บ้านครับ เขียนแปลนส่ง ฝ่ายนิติตรวจแปลนอย่างละเอียด เรียกเก็บเงินมัดจำหลายหมื่น และหักเงินจำนวนหนึ่ง จำได้ว่าในแบบฟอร์มที่ฝ่ายนิติให้กรอกเพื่อยื่นคำขอต่อเติมนั้นละเอียดมาก เช่นต้องบอกลักษณะของ footing / ลักษณะหลังคา องศาความลาดเอียงของหลังคา ฯลฯ
ฝ่ายนิติทำงานและตรวจละเอียดขนาดไหน? ละเอียดถึงต้องมากำกับการก่อสร้างอยู่ตลอด มีกฏข้อห้ามมากมาย เช่น ห้ามทำงานเสียงดังเกินเวลา และห้ามทำในวันหยุด สีภายนอกและสีกระเบื้องหลังคาต้องเป็นไปตามที่หมู่บ้านกำหนด ปล่องควัน/หมวกจีนต้องมีความสูงที่กำหนด — จุดที่ติดตั้งหน้าต่างต้องทำตามที่กำหนด และต้องดำเนินการติดตั้งรางน้ำฝนทันที่ทำหลังคา ฯลฯ สร้างเสร็จก็มาตรวจอีก ส่ง รปภ. มาดูทุกวัน ว่ามีเศษวัสดุวางเกะกะมั้ย บางครั้งอดคิดไม่ได้ว่าเสียค่าส่วนกลางเดือนละ 3000 บาท เพื่อให้ รปภ.มากำกับระเบียบวินัยตัวเราเอง — หมู่บ้านผมมีหลายหลังมากที่มีสิ่งปลูกสร้างที่หลังบ้าน ถ้าหากผิดกฏหมาย คงจะมีหลัก 40-50 หลังรวมท้งผมด้วยที่ทำผิด – หลังจากที่อ่านคอมเมนต์คุณ ผมก็ไปค้นดูข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งก็มีหลายจุดจริงๆ ที่ไม่ถูกกฏหมาย เช่น ระยะห่างจากรั้ว /ผนังไม่ทึบ — คอมเม้นต์ของคุณมีประโยชน์นะครับ เพราะหลายคนเข้ามาอ่านแล้วจะได้รับรู้ในสิ่งที่ผิดตรงนี้ด้วย บ้านที่มีพื้นที่กว้างขวางคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีพื้นที่จำกัดแบบผม ต้องเช็คกับฝ่ายกฎหมายดีๆ นะครับ
** ผมถือว่าฝ่ายนิติรู้ข้อกฏหมายดีกว่าผมครับ มันอาจจะเป็นข้อยกเว้นอะไรบางอย่างก็ได้ คือถ้าหากมันผิดมากเขาคงให้แก้ไขหรือรื้อใหม่ครับ และที่กล้าเอามาลงคือผมอยากแชร์ไอเดีย เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับคนที่อยากทำครัวเล็กๆ น้ำหนักไม่มาก และไม่อยากตอกเสาเข็มซึ่งมีราคาแพง เฉพาะค่าเสาเข็ม เท่าที่ผมโทรถามมีตั้งแต่ 6-7 หมื่นถึงหลักแสน อยากแบ่งปันไอเดียก็เท่านั้นเองครับ
.
อีกจุดหนึ่งที่เรา DIY แล้วรู้สึกดูดีขึ้นมาทันทีด้วยงบหลักพัน คือผนังลายอิฐหินทรายครับ ไม่รู้ว่าผมเรียกถูกรึเปล่านะ เคยได้ยินบางท่านเรียกว่าหินกาบ คือผนังเดิมตอนที่ส่งมอบบ้าน เป็นผนังทาสีธรรมดาครับ ดูไม่สะดุดตา เรากระเทาะเอาสีเดิมออก และซื้อหินแผ่นที่ขายเป็นมัดจาก Do Home ครับ ขนาดแผ่น 10×30 ซม. ขายเป็นมัด มัดละ 95 บาทครับ มัดละ 10 แผ่น ใช้ทั้งหมด 28 มัด เผื่อคัดเอาแผ่นหัก แผ่นไม่สวยออก รวมงบประมาณที่ใช้ประมาณไม่เกิน 4000 บาทครับ แต่ได้ Look ที่สะดุดตาครับ มีเพื่อนบ้านมาดูแล้วจะเอาไปทำตามบ้าง — จริงๆ แล้วทำไม่ยากครับ ถ้าหากท่านไหนสนใจจะ DIY บ้าง ให้คอมเม้นต์บอกนะครับ จะบอกวิธีทำอย่างละเอียด
.
เพื่อนบ้านหลังบ้าน ป้ากับลุงอัธยาศัยดีครับ ทักทายกันเป็นประจำ บางทีป้าก็ยื่นผลไม้และของกินให้ด้วย — หลังบ้านป้ากับลุงสร้างครัวมาชิดกำแพงก่อนผมนะครับสังเกตจากภาพด้านล่างนี้ รางน้ำฝนที่เห็นนั่นคือของครัวบ้านป้ากับลุงลอยอยู่เหนือขอบรั้วพอดี
ถ้าจะว่ากันตามกฏหมายสิ่งปลูกสร้าง คงผิดกฏหมายกันหมดแหล่ะครับ ผมไม่ใช่คนเรื่องมาก เห็นเขาสร้างมาชิดกำแพงด้านหลังผมก็เฉยๆ ไม่ฉุกคิดว่ามันผิดกฏหมายด้วยซ้ำ จนกระทั่งมาอ่านในคอมเม้นต์นี่แหล่ะครับถึงรู้ เห็นก็งั้นๆ เพราะไม่ได้เดือดร้อนอะไร — และก็ถึงตาผมสร้างบ้าง ผมบอกป้ากับลุงว่าขอเสียงดังนะครับ — ป้ากับลุงบอก “ตามสบายเลยลูก เป็นธรรมดา ที่ก่อสร้างต้องเสียงดัง” จะเห็นว่าเราอยู่แบบเพื่อนบ้านถ้อยทีถ้อยอาศัยกันครับ – ถ้าจะทำเอกสารรับรู้เป็นลายลักษณ์อักษรผมว่ายังไม่จำเป็นครับผม
สภาพปัจจุบันครับ หลังจากภรรยาเก็บหม้อไหจานชามเข้าไปในครัวและใช้งานตามปกติ รกไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่ แต่มันคือความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน — ภาพแรกๆ เป็นภาพที่เพิ่งทำเสร็จครับ ตอนนั้น เช็ดถู ก่อนถ่ายภาพครับผม
.
หวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่ให้ไป คงเพียงพอนะครับ ถ้าหากท่านใดสนใจที่จะทำครัวขนาดเล็กแบบนี้บ้าง — Happy New Year ทุกท่านครับ
ที่มา : แมวพุงพลุ้ย .