กลับมาพบกันคราวนี้ คุณ avatayos จะมารีวิว วิธีสร้าง Shed หรือห้องเก็บของในสวน ด้วยตัวเอง ให้เราได้ชมกันครับ ห้องเก็บของแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่มีของเก่าแต่ไม่อยากทิ้ง สามารถนำมาจัดเก็บไว้ได้ ใครที่อยากมีบ้าง ตามมาดูเป็นแนวกันได้เลย
Review : สร้าง Shed หรือห้องเก็บของในสวน ด้วยตัวเอง แก้ปัญหาบ้านรกไปด้วยของเก่า
(โดย avatayos)
ผมเชื่อว่าหลายๆ บ้านมีปัญหาแบบเดียวกับที่ผมมี คือ บ้าน รก ไปด้วยสิ่งของที่เรา ไม่อยากทิ้ง
บ้านผมมีพื้นที่ไม่มาก 72 ตารางวา ตัวบ้านมีพื้นที่ใช้สอยแค่ 150 ตารางเมตร มีห้องเก็บของเพียงห้องใต้บันได จึงเรียกว่าไม่สามารถเก็บของได้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันจึงต้องสละห้องนอนไป 1 ห้องสำหรับเก็บของ
เริ่มต้นในการสร้าง Shed
ผมมองหาแบบตัวอย่างจากในเน็ตครับ ค้นง่ายๆ คำว่า “Shed” ก็ได้ภาพออกมาเยอะครับ และได้วิธีการสร้างมาเยอะครับ ส่วนใหญ่ฝรั่งสร้างด้วยไม้ แต่บ้านเราผมมองไว้สองแบบคือ เหล็ก กับไม้
ตอนแรกจะเอาโครงเหล็ก ซึ่งต้องจ้างช่างมาดำเนินงาน แต่สุดท้ายเลยคิดว่าเอามันเอาสนุก ทำเองละกัน
เริ่มต้น ก็เทปูนสำหรับพื้นห้องเก็บของก่อน
ผมไม่ได้ลงเสาเข็ม เพราะที่ดินตรงนี้ แน่นแล้ว ไม่ยุบตัวเลย ตั้งแต่ผมอยู่บ้านมา และสองคือ ของที่นำมาเก็บ เฉลี่ยแล้ว น้ำหนักไม่ได้มาก จึงเทพื้นผูกเหล็ก เพียงอย่างเดียว
หลังจากพื้นปูนเรียบร้อย
ก็คิดแบบว่าจะเอาแบบไหนดี โดยตั้ง ธง ว่า ต้องไม่ใช้งบประมาณมากนัก และหากวันหนึ่งมีเงิน อาจต่อเติม ต้องรื้อได้ไม่ยาก แต่แข็งแรงพอ จึงเลือกใช้ ไม้ฝาสำเร็จรูป ที่มีความหนาใช้เป็นฝาบ้านได้ และเลือกโครงเป็นโครงไม้ เพื่อความง่ายในการก่อสร้าง ส่วนหลังคาใช้ไม้ฝาวางแบบซ้อนเกล็ด
อุปกรณ์ทั้งหมดประกอบด้วย
1. ไม้โครง ใช้ไม้ยาง จำนวน 30 เส้น
2. ไม้ฝาสำเร็จรูป มีลายร่อง 4 นิ้ว จำนวน 7 แผ่น
3. ไม้ฝาลายไม้สัก ไม่ลงสี ขนาด 6 นิ้ว จำนวน 20 แผ่น
4. น็อต ตะปู
5. ไม้ปิดมุมนอก 7 เส้น
รวมๆ มูลค่า 13,000 บาท
จากนั้นซื้อสี TOA
1 สีขาวกระป๋องเล็ก
1 สีเทาอ่อนแกลลอน
1 สีเทาเข้มกระป๋องเล็ก
รวมๆ พันนิดๆ
จากนั้นอุปกรณ์สำหรับทำประตู
1. วงกบ + ประตู 2800 บาท
2. กลอน และบานพับ เกือบ 500 บาท
จากนั้น ก็เริ่มทำโครงไม้ โดยตัดไม้
1. ไม้โครงด้านใน สูง 2.8 เมตร พร้อมตัดร่องมุม เพื่อเข้าร่อง จำนวน 6 เส้น
2. ไม้โครงด้านนอกที่หันเข้าสวน สูง 2.4 เมตร ตัดแบบเดียวกัน อีก 6 เส้น
3. ไม้คานล่างและคานบน ตัดเข้าร่อง ไม้ โดยวัดระยะร่อง ให้ห่างกัน 60 ซม. ตามมาตรฐานของไม้ฝา ที่จะต้องล็อกกับโครงในระยะ 60 ซม.
ก็จะได้ตามภาพครับ
แต่ปัญหาที่ผมพบ และทำให้ท้อใจตอนแรกคือ ไม้ยาง มันบิดตัวง่าย
ทำให้โครงบางจุดไม่ตรงแนว แต่เรื่องความแข็งแรง เมื่อยึดติดกับไม้ฝา ก็แน่นหนา รับน้ำหนักได้ตามที่คำนวณครับ
เพื่อความแข็งแรงเพิ่มเติม บางจุดนอกจากน็อต ตะปูแล้ว ผมยังซื้อเหล็กฉากเล็กๆ มาล็อกฉาก ระหว่างไม้ด้วย
เมื่อได้โครงแล้ว ก็นำไม้ฝามาติดตั้งครับ
วิธีการติดให้สวย
1. ใช้ดอกสว่านเจาะปูน ขนาดใหญ่เท่าหรือใหญ่กว่าหัวน็อต เจาะเป็นหลุม เพื่อซ่อนหัวน็อต
2. ใช้ดอกสว่านเจาะปูน ดอกเล็กขนาดเหมาะกับน็อต เจาะให้ทะลุ
3. ใช้ดอกสว่านเจาะไม้ ขนาดเล็กกว่าน็อต เจาะนำในเนื้อไม้
4. ใช้น็อตหัวเจาะ ยิงด้วยสว่านที่ใส่หัวเป็นไขควง เพื่อทุ่นแรง ถ้าดอกไหนยิงไม่เข้า อย่าฝืน ให้ไขน็อตออก แล้วเจาะด้วยข้อ 3 ใหม่
ภาพรวมที่ได้น็อตจะฝั่งตัวเข้าไปกับไม้ฝา อย่างสวยงาม
พึ่งเจอรูปแบบ ครับ
จากแบบมีเปลี่ยนแค่ตรงฝาที่มีประตู เหตุเพราะไม้ยางบิดตัวนี้ละครับ เดิมตั้งใจเอาไม้มาทำประตูเอง แต่ด้วยความที่ไม้บิดตัวมาก ไม่ได้ฉาก จึงต้องเปลี่ยนใจซื้อวงกบ และประตูไม้สำเร็จมาแทน
ไม้ฝา มีขนาด 120*280 แต่พื้นที่ผมมีขนาด 270 จึงมีส่วนที่ต้องตัดอยู่ 10 ซม
ก็ใช้ลูกหมู ใส่ใบตัดหิน ตัดครับ ไม่ต้องกังวลว่า ตัดไม่สวย (แต่พยายามตัดให้สวยดีกว่าครับ) ที่ไม่ต้องกังวลเพราะตามขอบมุม เราจะปิดด้วย ไม้ปิดมุมครับ จากนั้นผมก็ทาสี เพราะด้านนี้จะหันไปบ้านข้างๆ ซึ่งจะไม่สะดวกในการทำงาน จึงต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยทีเดียวก่อนยกขึ้นติดตั้ง
ปัญหาที่สอง คือ ไม้ฝาแต่ละแผ่น มีน้ำหนัก 40 กิโลกรัม (ซึ่งผมทราบแต่แรก)
แต่ก็คิดว่า เวลายกมันเป็นคาน ก็น่าจะพอยกได้ สรุป ยกขึ้นแค่ 1 เมตร ไม่สามารถ คลีนแอนด์ เจิร์ก ได้ เลยต้องปรับแผน เรียกพี่ชายมาช่วย 2 คน ขอแรงเขามา 1 วันเต็มๆ ส่วนเราเตรียมงานอื่นๆ ให้พร้อมเหลือแค่ยกฝาทุกด้านประกอบ ในการประกอบมุม ผู้ชาย 3 คน สามารถยกแผ่นฝาแต่ละใบได้ ไม่หนักมากครับ แผ่นใหญ่น้ำหนักรวมๆ 130 กิโลกรัม ถูกวางเข้าที่จากการยกขึ้นตามตำแหน่ง แต่แผ่นอื่นๆ ยกจากพื้นที่บริเวณอื่นมาประกอบ น้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม
เมื่อวานแผ่นฝา เข้าที่ ก็วัดระดับให้ได้ฉาก ตรงแนว แล้วก็ยึดไว้ด้วยไม้ แบบง่ายๆ ก่อน แล้วจึงยึดแน่นอีกที เพื่อความปลอดภัย แต่แม้ยึดแน่นแล้ว ก็ยังเอาไม้มัน ยันไว้หน่อย
จากภาพที่แล้ว ผมก็เริ่มนั่งคิดใหม่
เพราะไม้ที่บิด ไม่สามารถทำให้ได้ฉาก ในส่วนของวงกบได้เลย จึงไปซื้อวงกบสำหรับ และประตูสำเร็จมา ติดตั้ง ปัญหาที่พบคือ วงกบ เขียนไว้ 80 แต่เอามาจริงๆ มีขนาด 90 ตอนแรกจะวิ่งไปเปลี่ยน แต่คิดไปคิดมา ตัดแล้วล็อกใหม่เอง ง่ายกว่า การติดตั้งวงกบ ต้องใช้ไม้สองชั้น เพื่อป้องกันการบิดตัว และให้ความแข็งแรงกับชุดประตู
ลืมเล่า ระหว่างรอยต่อของไม้ฝา แต่ละแผ่น ต้องยาแนวด้วย อะคริลิก ซึ่งตามเนื้องานต้องใช้เกรดดีสุด เพราะความร้อนในการขยายตัว
แต่ด้วยราคา สุดท้ายผมขอใช้อะคริลิก เกรดล่าง เวลาไปซื้อบอกเขาว่า สำหรับ แต๊บงาน ไม่สามารถใช้ Putty หรือ ซิลิโคนได้ เพราะ ความร้อนทำให้ไม้ฝาขยายและหดตัว วัสดุที่ใช้อุดร่องจึงต้องสามารถยืดหยุ่นตามได้
จากภาพบนๆ ที่เห็นเป็นแนวสีขาวๆ นั้นละครับ ที่อุดไว้ และยังอุดหัวน็อตอีก เพื่อความเนียน พวกนี้พอแห้งแล้ว ต้องเอากระดาษทรายขัดให้เนียนอีกทีก่อนลงสีนะครับ
หลังจากเคลียร์วงกบเรียบร้อย ก็ถึงเวลา ติดตั้งหลังคา โครงสร้างหลังคา ใช้ไม้ฝาลายไม้สัก สีปูน ที่เห็นขาวๆ บนพื้นหญ้าในรูป ส่วนที่ตั้งไว้ คือ ไม้ปิดมุมครับ
ผมก็เอาไม้มาทาสีให้เรียบร้อย จะได้ลดภาระเวลาทาสีจริงๆ อีกรอบ
พวกนี้ต้องทาสองรอบเป็นอย่างต่ำ ไม่งั้นสีไม่เนียนครับ เวลาติดตั้ง ตามมาตรฐานบอกว่า เหลือโชว์แผ่นไม้เพียง 10 ซม. ดังนั้นจะมีระยะซ้อนเกล็ดค่อนข้างมาก ก็จะช่วยให้น้ำไม่ไหลย้อนขึ้น แต่เพื่อความปลอดภัย ก็ควรต้องยิงอะคริลิก ปิดระหว่างร่องเกล็ดด้วย (ภาพต่อๆ ไป จะเห็นหลังคาสีขาว นั้นคือ อะคริลิก)
สิ่งหนึ่งที่ช่างหลายคนไม่รู้ และผมเห็นบ่อยๆ เวลาเห็นฝาบ้านที่ใช้ไม้เทียมเหล่านี้ คือ การไม่ซ่อนหัวน็อตครับ ตามคู่มือ บอกว่า ให้ติดตั้งหัวน็อตในตำแหน่งที่ซ้อนเกล็ด ซึ่งหมายถึง จะไม่มีหัวน็อตโชว์เลย นอกจากไม่มีหัวน็อตแล้ว ยังหมายถึง น้ำไม่สามารถซึมตามร่องน็อตได้ด้วย เมื่อติดตั้งหลังคาเรียบร้อย (ขออภัยไม่มีภาพให้ชม) ผมก็เอาไม้ปิดมุม มาติดที่ขอบเพื่อให้สวยงาม ตามภาพ
จากนั้นก็มาติดตั้งประตู อันนี้งานศิลป์ ของแท้ครับ
การใช้สิ่ว เป็นศิลปะอย่างมาก แรง ค่อน ส่งผลต่อผิวไม้ ผมเซาะร่อง สำหรับติดบานพับไป 6 ร่อง เรียกว่า ร่องสุดท้าย สวยงามและตรงได้ฉาก เหมาะสมที่สุด 555
จากนั้นก็ทาสีประตูเป็นสีขาว วงกบสีขาว ทาสีผนังแต่ละด้านเก็บงานให้เรียบร้อย ก่อนติดไม้ปิดมุม ติดไม้ปิดมุมแล้วก็ ทาสีขาวทับ ปิดหัวน็อตให้เนียนๆ ถึงจุดนี้ ก็ได้ห้องเก็บของตามภาพครับ
สีหลังคาจริงๆ ต้องเป็นสีแบบไม้เชิงชาย (ไม้ปิดขอบล่างสุดของหลังคาที่เห็นเป็นสีเข้ม)
แต่เห็นในภาพเป็นสีขาว เพราะผมยังไม่ได้ทาสีหลังคารอบสุดท้าย สีขาวคือ อะคริลิกครับ
ห้องเก็บของ ของผมตามภาพเกือบเสร็จ 100%
ยังเหลืองานเดินสายไฟ ระบบไฟในห้อง (ลืมเล่า อย่าลืมเจาะรูปไว้ลอดสายไฟเข้าไปในห้องเก็บของด้วยนะครับ) และปูกระเบื้องในห้องเก็บของ เพื่อป้องกันความชื้น แม้จะตากแดดทั้งวัน แต่เท่าที่ลองเอาของบางอย่างไปวาง เนื่องจากเป็นพื้นปูนเปลือย จึงมีความชื้นอยู่พอควร ซึ่งอันตรายต่อการเก็บของ
และที่ต้องใส่ใจอีกอย่างคือ การระบายอากาศ ผมได้เจาะช่องเล็กๆ ไว้ด้านใน บริเวณด้านล่าง เพื่อให้อากาศจากด้านล่างที่เย็นกว่า ขึ้นไปด้านบนหลังคาน ซึ่งบริเวณหลังคามีการเว้นร่องให้ระบาย เหมือนหลังคาบ้านครับ
ส่วนไม้ที่เหลือ ก็จะเอามาทำชั้นวางของภายใน
หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่อยากมี Shed นะครับ
ที่มา : avatayos