“รั้วบ้าน” เป็นองค์ประกอบหนึ่งของบ้านที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สิน เป็นหลักแบบ่งเขตแดนอย่างชัดเจน และช่วยบังสายตาเพื่อความเป็นส่วนตัวอีกด้วย และแน่นอนว่าการจะสร้างรั้วเพื่อล้อมบ้านนั้นย่อมมีราคาที่สูงตามมาแน่นอน
วันนี้ ในบ้าน จึงจะพาเพื่อนๆ ไปชมประสบการณ์ “ทำรั้วเมทัลชีทข้างบ้านด้วยตัวเอง” ของคุณ บ้านทองกวาว ที่ได้ทำรั้วที่เหมาะกับบ้านสวนโดยเฉพาะ ซึ่งให้ความปลอดภัยอย่างพอดี ใช้งบประมาณไม่สุง ทั้งยังสามารถทำได้เองทั้งหมดอีกด้วย เราไปเก็บข้อมูลไปพร้อมกันเลยครับ
แชร์ประสบการณ์ ทำรั้วเมทัลชีทข้างบ้านด้วยตัวเอง ยาว 52 เมตร สูง 2 เมตร งบไม่เกิน 20000 บาท รูปเยอะครับ
(โดยคุณ บ้านทองกวาว)
สวัสดีครับ ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวสักนิดนะครับ ผมอายุ 35 ปี เป็นพนักงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งแถวสระบุรีครับ ไม่ได้เป็นช่างหรือรับเหมาอะไรครับ แค่มีความคิดอยากประหยัดค่าใช้จ่ายในการต่อเติมบ้านครับ
เนื่องด้วยผมซื้อบ้านมือสองมา มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ และเหลืองบในการที่จะมาปรับปรุงหรือต่อเติมบ้านไม่มากครับ
จึงอยากจะปรับปรุงบ้านด้วยตัวเองในวันที่ผมหยุดงาน
ในวันนี้ผมอยากมาแชร์ประสบการณ์ การทำรั้วเมทัลชีทด้วยตัวเอง โดยประหยัดงบไปได้หลายบาทเลยครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้ไปติดต่อช่างไว้ ช่างตีราคามาที่ประมาณ 47,000 บาท ความยาวของรั้วประมาณ 52 เมตรนะครับ ผมจึงตัดสินใจที่จะทำเองเพราะคิดว่าค่าวัสดุอย่างเดียวไม่น่าจะเกิน 20,000 บาท เมื่อทำเสร็จแล้ว สำหรับผมถือว่าโอเครเลยครับ แต่ถ้าไปเทียบกับฝีมือระดับช่างคงจะเทียบยังไม่ได้ครับ
วันนี้ผมจึงอยากจะมาแชร์วิธีการรวมถึงอุปกรณ์และวัสดุที่ผมทำให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ได้รับชมและช่วยติชมกันได้นะครับ เผื่อมีท่านใดกำลังสนใจที่จะทำด้วยตัวเองอยู่ ก็สามารถดูเป็นแนวทางได้ครับ ดูในส่วนที่คิดว่าดีนะครับ ส่วนที่ไม่ได้ก็ปรับเปลี่ยนวิธีเอานะครับ
เริ่มต้นเลยนะครับ ผมทำการเคลียร์พื้นที่รั้วเก่าก่อน ซึ่งเป็นรั้วลวดหนามและมีสังกะสีเก่าๆ แปะอยู่
.
มื่อจัดการรั้วลวดหนามกับสังกะสีเก่าแล้ว ผมก็ทำการทุบเสาปูนเก่าออกโดยใช้ฆ้อนปอนด์ใหญ่ ซึ่งในตอนแรกก็คิดว่าจะขุดเสาขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนะครับ แต่เมื่อได้ข้อมูลจากคุณลุงบ้านข้างๆกันแล้วจึงทำให้ตัดสินใจทุบทิ้งดีกว่า เพราะคุณลุงบอกว่าเสาเก่านั้นสูงประมาณ 2 เมตร แต่ที่ผมเห็นโผล่พ้นดินขึ้นมานั้นแค่ประมาณ 1 เมตรเอง
.
.
จากนั้นผมก็ใช้ครีบตัดเหล็กตัดลวดเสาทิ้ง ซึ่งเสานึงจะมีอยู่ 4 เส้น นะครับ ไล่ตัดหมดทุกเสา
.
เมื่อเคลียร์พื้นที่เสร็จ ถัดมาผมเริ่มทำการวางแนวเส้นเอ็น เพื่อใช้เป็นแนวในการขุดหลุมเสาและใช้หาความลึกของหลุมที่เราขุดด้วยครับ
โดยการหาความลึกของหลุมนั้นผมจะวัดระยะจากก้นหลุมถึงเส้นเอ็นที่ระยะเดียวกันทุกหลุม เพื่อจะทำให้ความสูงของเสาอยู่ระดับเดียวกันนะครับ
.
.
.
.
ผมเริ่มขุดหลุมครับ ห่างกันระหว่างหลุมประมาณ 2.5 เมตร โดยใช้จอบและเสียมที่มีครับ ซึ่งทำให้ผมเสียเวลาในการขุดหลุมไปประมาณ 2 วันได้ครับ ทั้งหมด 18 หลุม ผมก็จะขุดตามแนวเส้นเอ็นที่ผมวางไว้ครับ ส่วนความกว้างของหลุม ผมจะอ้างอิงมาจาก ความกว้างของฐานเสาโดยวัดแนวทแยง ผมจะพยายามขุดหลุมให้กว้างกว่าฐานเสา เพื่อเวลานำเสาลงไปง่ายๆและสามารถปรับระยะแนวได้ง่ายด้วยครับ
.
.
จากนั้นผมเทปูนคอนกรีตที่ก้นหลุมก่อนครับ โดยผสม ปูน ทราย หิน ในอัตราส่วน 1:2:4 เพื่อเป็นการปรับระดับพื้นก้นหลุม โดยจะวัดระยะจากปูนคอนกรีตที่เทถึงเส้นเอ็นให้เท่ากันทุกหลุม
.
นำเสาลงหลุม ขั้นตอนนี้ต้องมีผู้ช่วยอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป เมื่อเอาเสาลงหลุมแล้วผมจะยึดแนวเส้นเอ็นเป็นหลัก โดยให้หลังเสาเสมอเส้นเอ็นของเราทุกต้นครับ
.
ส่วนเรื่องความตรงของเสาให้ใช้หลักการของลูกดิ่งนะครับ แต่ผมใช้ขวดน้ำเหลือใช้มาทำเป็นลูกดิ่งครับ วัดระยะตั้งแต่หัวเสาด้านบนลงมาด้านล่าง และจะวัดทั้ง 2 แกน ไขว่กันนะครับ หรือทั้ง แกน x-yนั่นเอง สามารถดูวีดีโอได้จากลิ้งนะครับ https://youtu.be/zYQQPdgJles
.
.
.
.
เมื่อปรับทั้งแนวเสาได้แล้ว และความตรงของเสาได้แล้ว ผมก็จะผสมปูนคอนกรีต ในอัตราส่วนเท่าเดิม 1 : 2 : 4 เทที่หลุมเพื่อเป็นการยึดเสาของเราครับ ซึ่งแนะนำให้เทให้เต็มหลุดได้จะยิ่งดีนะครับ แต่ผมเทไปประมาณครึ่งหลุมแล้วกลบทับด้วยดินอีกทีครับ
.
.
มาถึงตอนนี้ผมสามารถที่จะตั้งเสาได้ครบทั้งหมดแล้วครับ ทั้งหมด 18 ต้น ห่างกันประมาณต้นละ 2.5 เมตรโดยประมาณ ซึ่งผมใช้เวลามาถึงจะนี้ ประมาณ 4 วัน ครับ เป็นเวลาในวันหยุดนะครับ
หลังจากได้เสาครบแล้ว ผมได้ทำการไปซึ้อ แปกัลวาไนท์ และแผ่นเมทัลชีทมาครับ
.
.
.
.
.
ทำการยึดแปกัลวาไนท์กับเสาปูนของเรา โดยทำการเจาะเสาปูน 3 ตำแหน่ง หัว กลาง และล่าง และเจาะรูแปกัลวาไนท์ให้ตรงกับเสาปูน จากนั้นยึดด้วย โบลท์ขันน๊อตอัดให้แน่ครับ ต้องบอกก่อนนะครับว่า เสาปูนที่ผมซื้อมานั้นความจริงเขามีรูมาให้ แต่มันไม่ทะลุ และอีกอย่างมีขนาดรูที่เล็กกว่าขนาดโบลท์ที่ผมใช้ครับผมจึงต้องทำการเจาะเพิ่ม
.
ตอนนี้ผมก็ได้แป สำหรับเอาไว้ยึดแผ่นเมทัลชีทแล้วครับ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็กินเวลาไปเต็ม 1 วันเลยนะครับ
.
.
.
.
วันถัดมาผมเริ่มทำการติดตั้งแผ่นเมทัลชีท โดยการติดตั้งก็ไม่ยากครับ จะยากตรงที่เราจะทำอย่างไรให้ได้ระดับ ซึ่งผมก็ใช้วิธีการลูกดิ่งเหมือนเดิมครับ โดยการติดตั้งแผ่นแรกให้ได้ระดับก่อน และแผ่นต่อๆไปก็ยึดระดับจากแผ่นก่อนหน้า โดยจะยึดระดับด้านบนเป็นหลักครับ ส่วนด้านล่างนั้นไม่สนใจครับ จะมีช่องว่างก็ไม่เป็นไรครับ เพราะความตั้งใจก็ไม่อยากให้แผ่นเมทัลชีทติดกับดินอยู่แล้วครับ เราค่อยเอาปูนหรือหินมาปิดช่องว่างที่หลังอีกทีได้
มาถึงตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมสักนิดนะครับว่า สีเขียวของเมทัลชีทที่เป็นนั้นไม่ได้อยู่ในส่วนของบ้านเรานะครับ จะอยู่ในส่วนของบ้านที่ติดกับเราหรือด้านนอกบ้านนั่นเอง ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ผมไม่ทราบครับ ว่าสีเมทัลชีทนั้นมีสีด้านเดียว หรือว่าเราสามารถสั่งให้มีสีทั้ง 2 ฝั่งได้หรือป่าว แต่ความตั้งใจจริงผมก็อยากให้สีเขียวอยู่ภายในบ้านเราครับ
แต่ไม่เป็นไรครับผมคิดสะว่าอย่างน้อยผมได้เรื่องความหนาของเมทัลชีทมาครับ เพราะแบบที่ผมซื้อมานั้นมีความหนาประมาณ 0.3มิล แต่ถ้าเป็นแบบอลูซิงค์ธรรมดาจะหนาแค่ 0.1 มิล และอีก1เรื่องคือสีอีกฝั่งของเรานั้นจะเป็นสีออกเทาๆ ไม่ไช่เป็นเหมือน สังกะสี ซึ่งผลดีก็คือมันจะไม่สะท้อนแสงเท่าสีแบบอลูซิงค์ธรรมดาครับ
.
แต่ถ้าเราไม่ซีเรียสเรื่องของสี ความหนา หรือเรื่องการสะท้อนแสง ผมแนะนำว่าเอาแบบ อลูซิงค์ธรรมดาหนา 0.1 มิลแบบในรูปข้างบน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของแผ่นเมทัลซีทไปได้อีกครึ่งนึงเลยครับ
.
สุดท้ายนะครับ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้เสา ผมได้เอาเสาเก่าที่ผมทุบทิ้งไปมาทำเป็นเสาค้ำยัน โดยผมจะเอาเหล็กเส้นยาวประมาณ 1 เมตร ตอกลงไปในดินให้ลึกที่สุด จากนั้นก็เอาเสาเก่ามายึดกับเหล็กเส้นนั้นจากนั้นก็เทปูนทับอีกทีตามรูปครับ จะทำ1เสาเว้น 2 เสาครับไม่ได้ทำทุกเสา อาจจะดูไม่สวยงาม สบายตาเท่าไรนะครับ สำหรับคนที่ต้องการความเรียบร้อยก็ไม่แนะนำวิธีนี้นะครับ ควรหาวิธีอื่นก็จะดีกว่าครับ
.
.
ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับ รั้วเมทัลชีททำเอง จากคนไม่มีประสบการณ์มาก่อน เพื่อนๆพี่ๆ น้องๆ ท่านใด สนใจทำก้ดูเป็นแนวทางได้ เลือกเฉพาะส่วนที่คิดว่าดีและถูกต้องไปนะครับ แต่ถ้าใครมีงบประมาณที่เพียงพอผมแนะนำจ้างช่างมืออาชีพจะดีที่สุดนะครับ เพราะเราจะไม่ต้องมาเสียเวลา และจะได้งานที่เนียบกว่าอย่างแน่นอนครับ แต่ก็ควรเลือกช่างที่ดีและไว้ใจได้นะครับ
สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามรูปเลยครับ
อย่างที่บอกนะครับ ภ้าไม่ซีเรียสเรื่องของสี ความหนาแผ่นเมทัลชีท และการสะท้อนแสง เลือกแผ่นเมทัลชีทแบบธรรมดา จะเซฟเงินไปได้อีกครึ่งของราคาแผ่นเมทัลชีทเลยนะครับ
ชมคลิปวิดีโอ
ที่มา : บ้านทองกวาว
Youtube Channel : BHAN THONG KWAO บ้านทองกวาว .