สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังมองหาไอเดียสำหรับจัดสวน หรือมุมพักหผ่อนกันอยู่ การมีบ่อน้ำ หรือบ่อเลี้ยงปลาขนาดพอเหมาะสักบ่อ ย่อมจะช่วยเสริมให้บรรยากาศดูสวยงาม ร่มรื่น และเย็นสบายมากยิ่งขึ้น
วันนี้ ในบ้าน ก็มีไอเดียการรีวิว “บ่อปลาคาร์ป” จากคุณ Tauk มาฝากเพื่อนๆ โดยได้สร้างบ่อปลาแห่งนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็ออกมาสวยงาม แถมยังประหยัดอีกด้วย ทำให้มีมุมสวยๆ ไว้พักผ่อนใกล้ๆ บ้าน แถมยังสามารภนำปลาสวยๆ มาเลี้ยงได้เป็นอย่างดี ไปติดตามชมกันได้เลยครับ
เรื่องเล่าบ่อปลา พร้อมขั้นตอนการทำบ่อปลาคาร์ป ขนาด 3 ตัน
(โดยคุณ Tauk)
เรื่องเล่าบ่อปลา พร้อมขั้นตอนการทำบ่อปลาคาร์ป ขนาด 3 ตัน
เริ่มต้น มีพื้นที่หน้าบ้านไม่ได้ใช้งาน ขนาด 3*2 เมตร เลยคิดที่จะทำบ่อเลี้ยงปลาทอง บ่อก็ทำแบบง่ายๆ ขุดดิน ปูผ้าใบ ก่ออิฐประสานทับ ตกแต่งด้วยต้นไม้ตามใจชอบ ตั้งใจจะเลี้ยงแค่ปลาทองฮอลันดา มีแค่ปั๊มออกซิเจน เลี้ยงปลา 4-5 ตัว ก็เพียงพอ จากรูปยังไม่เรียบร้อยนะครับ
แต่คนเลี้ยงปลา มักจะเจออาการปลางอก จาก 4-5 ตัว ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะริวกิ้น จะคาร์ป ก็ดูน่าเลี้ยงไปเสียหมด จากมีแค่ปั๊มออกซิเจน ก็ดูจะไม่เพียงพอ จัดการซื้อถังกรองขนาด 120 ลิตร มาเพิ่มตามรูป ตกแต่งให้รกๆ สไตล์ ทรอปิคอล
และนี้คือผลลัพธ์ของการเลี้ยงริวกิ้น ในบ่อผ้าใบ ตัวใหญ่ โครงสร้างสวย ตัวนี้มีชื่อว่า อาซัน เพราะตัวกลมและมีสีแดงส้มเหมือนพระอาทิตย์
ความสุขในการเลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบ ก็ดูมีความสุขดี จนวันหนึ่งกลับบ้านหลังเลิกงาน บ่อที่มีน้ำเต็ม กลับหายไปเกือบหมด ปลาที่มีก็เหลืออยู่ไม่กี่ตัว เจ้าอาซัน ก็หายไปด้วย เดินดูรอบ ๆ ก็เห็นเกล็ดปลาพร้อมคราบเลือกระจัดกระจาย
ผ้าใบปูบ่อปลาก็ขาดไปหลายจุด ดูจากสภาพแล้ว คงหนีไม่พ้น คุณวรนุช ไม่แน่ใจว่าคุณเขามากี่ตัว แต่ที่แน่ ๆ ก็คงอิ่มจุกๆ เสมือนได้ไปกินบุฟเฟต์หมูกระทะ ความรู้สึกตอนนั้นเกินบรรยาย โทษใครไม่ได้ เพราะเราไม่รอบคอบเอง
ผ่านไปหลายเดือนกับบ่อปลาที่ไร้น้ำ จะซ่อมแซมบ่อผ้าใบก็กลัวจะซ้ำรอยเดิม ตัดสินใจทำบ่อใหม่ ขอเป็นบ่อคอนกรีตยกสูงจากพื้น อย่างน้อยถ้าหาก คุณวรนุช แวะเวียนมาอีก บ่อก็ไม่พัง เริ่มวางแผนภารกิจ ตัดสินใจรอให้ฝนหมด จึงเริ่มขุดดิน สภาพดินที่บ้าน เป็นดินเหนียว ถ้าปล่อยให้ดินแห้ง ขุดมือเองคงลำบาก
และนี้คือผลลัพธ์ของความพยายาม
ขั้นตอนการทำก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก
Day 1 ขุดดิน พอหมดหน้าฝน ก็เริ่มภารกิจ ขุดไปบ่นไป หลังก็ปวด มือก็แตก ทำไงได้ อยากมี วิดีโอคลิป ทำบ่อปลา ใน YouTube
Day 2 ปรับพื้นด้วยทราย เทคอนกรีตรองพื้น คอนกรีต 1:3:5 ทำไปพร้อมกับปาดน้ำตา เข้าใจชีวิตแรงงานถึงความยากและความเหน็ดเหนื่อย
Day 3 วางท่อ วางเหล็กสาน เทพื้น คอนกรีต 1:2:4
Day 4 ก่อผนังด้านนอก เทคอนกรีตระหว่างผนังกับดิน ด้วยความที่เป็นคนละเอียด ชอบความสมบูรณ์แบบ ก่ออิฐไปก็วัดระดับไป เป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย เหมือนได้ทบทวนและบำบัดจิตไปในตัว
Day 5 ก่อผนังด้านใน และเทคอนกรีตระหว่างผนัง
Day 6 ก่อบ่อกรอง จับเซี้ยม ฉาบผนัง หลังจากมีอาการปวดหลัง ก็หยุดพักไปสองอาทิตย์ มีอาการพูดกับตัวเองตลอดเวลา “จ้างเขา หรือ ทำเอง” ตัดสินใจ ทำๆ ให้มันจบ ถึงตอนนี้ใครคิดจะทำบ่อปลาเอง เปลี่ยนใจยังทันนะครับ
Day 7 ทากันซึม ทาสี งานที่ง่ายสุดในการทำบ่อปลา ฉาบไม่เรียบ ก่อไม่ตรง ทาสีดำๆเข้มๆ ช่วยพรางตาให้งานออกมาสวยงามได้
หลังจากนั้นก็เติมน้ำให้เต็ม ปกติไม่ทากันซึม ก็จะแช่บ่อด้วย น้ำส้มสายชู แล้ววัดค่า PH ด้วยกระดาษลิตมัส แต่ครั้งนี้ทากันซึม อ่านคู่มือเขาบอกว่า อย่าให้โดนกรด จึงตัดสินใจ ไม่แช่บ่อด้วยน้ำส้มสายชู แช่น้ำประปาไปหนึ่งอาทิตย์ วัดค่า PH ได้ประมาณ 7 พอเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของปลา
รายการของและราคา
วิดิโอ ขั้นตอนการทำโดยละเอียด
วิดีโอ ขั้นตอนการทำด้วยโปรแกรม SketchUp For Web
หวังว่ากระทู้นี้จะมีประโยชน์สำหรับคนอยากทำบ่อปลานะครับ ถ้ามีเงินก็จ้างเขาเถอะครับ ฮ่า ๆ ถ้าอยากทำเองเพื่อ ชาเลนจ์ตัวเอง ก็ขอให้สนุกกับการทำนะครับ ระบบกรองผมใช้ ช่อง 1 แปรงพู่ ช่อง 2-3 ฟิลเตอร์เมท ช่อง 4 หลอด UV
ถ้าใครกังวลเรื่องทรุด จากประสบการณ์ทำบ่อมาหลายที่ การผูกเหล็กแบบตอม่อช่วยได้นะครับ ถามว่าทรุดไหม มันทรุดแน่นอนครับ แต่มันทรุดลงพร้อมกันทั้งบ่อ แนะนำทำให้สูงกว่าระดับที่ต้องการสัก 5 เซน บ่อบ้านเราเอง พังไปก็ซ่อมไปครับ
ที่มา : Tauk .