ในปัจจุบัน ครัวแบบบิวท์อิน กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เนื่องจากถูกออกแบบมาให้มีขนาดพอดีกับพื้นที่ที่เราต้องการ อีกทั้งยังสามารถปรับดีไซน์ได้หลากหลาย ปรับรูปแบบให้มีความเฉพาะตัวสำหรับพื้นที่นั้นๆ แต่ข้อควรคำนึงอีกอย่างหนึ่งของครัวบิวท์อิน คือ ต้องเลือกช่างที่มีฝีมือดี และมีประสบการณ์ในด้านนี้โดยเฉพาะค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากเพื่อนๆ อยากจะทำครัวบิวท์อินแบบไม่ต้องพึ่งช่าง ก็สามารถทำได้เช่นกัน เพียงแค่อาจจะใช้เวลามากกว่าช่างทั่วไป รวมถึงอาจเก็บงานได้ไม่เนี้ยบเท่า ส่วนข้อดีในการทำเอง คือ ประหยัดงบประมาณได้ค่อนข้างเยอะ เหมือนที่คุณ หมีสร้างบ้าน Bearbuilding จะมารีวิวการทำ “บิวท์อินห้องครัว” ให้เพื่อนๆ ชมค่ะ พร้อมแล้วตามไปดูกันเลย
DIY “บิวท์อินห้องครัว” ลงมือทำเองไม่จ้างช่าง พร้อมขั้นตอนและงบประมาณแบบละเอียดยิบสุดๆ
(โดยคุณ หมีสร้างบ้าน Bearbuilding)
เล่าที่มาซักนิดนึงครับ
สวัสดีครับ หลังจากที่วุ่นวายกับการลงมือบิวท์อินห้องครัวด้วยตัวเองอยู่หลายเดือน ทั้งหาข้อมูล, วางแผน, เลือกซื้อของและลงมือทำ จนในที่สุดก็เดินทางมาถึงเป้าหมาย ตั้งใจว่าหลังจากเสร็จงานทั้งหมดจะเขียนเล่าสิ่งต่างๆ ที่เจอเพื่อแชร์ประสบการณ์การทำห้องครัวของเราไว้เป็นแรงบันดาลใจ
สำหรับคนที่อยากจะทำห้องครัวด้วยตัวเอง หรือเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ สำหรับคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำเองดีมั้ย? หรือ ตัดสินใจแล้วว่าจะลงมือเองแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน? จะต้องใช้เงินเท่าไหร่? ประเมินค่าใช้จ่ายยังไง? ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง? หาได้จากที่ไหน? กระทู้นี้อาจจะมีคำตอบหลังจากที่อ่านจบ ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่สนใจครับ
ขอออกตัวก่อนว่า “เรา” ทั้งสองคนไม่ใช่มืออาชีพสำหรับงานด้านนี้ ปกติแล้วทำงานประจำวันจันทร์-วันศุกร์ มีเวลาว่างวันเสาร์-วันอาทิตย์ ถ้าไม่ได้มีธุระไปก็จะทำงาน DIY เล็กๆ น้อยๆ เลยทำให้พอจะมีอุปกรณ์งานช่างสะสมไว้นิดหน่อย มีต้นทุนอยู่บ้างครับ ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ซะเลยทีเดียว
แต่…ในส่วนของงานปูนต้องบอกเลยว่าประสบการณ์เท่ากับ “ศูนย์” งานนี้เป็นครั้งแรก บางวิธีอาจจะไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ตามหลักงานช่างเท่าไหร่ หากสมาชิกมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสามารถ Comment แนะนำเพื่อเป็นประโยชน์กับเราทั้งสองคนและสมาชิกท่านอื่นๆ ที่สนใจอยากจะทำงานนี้ด้วยตัวเองครับ
จุดเริ่มต้นของเรื่องมันก็เริ่มจากรับโอนบ้านจากทางโครงการและย้ายเข้าอยู่แบบเสื่อผืนหมอนใบ ห้องแรกที่เราสองคนตั้งใจจะทำก็คือ “ห้องครัว” เพราะเราถือคติที่ว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” (เกี่ยวมั้ย อันนี้ก็ไม่แน่ใจเท่าไหร่) เเละเพราะเรามีงบค่อนข้างจำกัด ไม่สิต้องพูดว่า “งบหมด” ถึงจะถูกต้อง
ครั้นจะไปจ้างช่างมาทำให้ก็ไม่มีเงินก้อน พอเจอที่ราคาสู้ไหวก็ใช้วัสดุที่ไม่ค่อยทน (เข้าใจดีว่าของถูกและดีมันหายาก ซื้อล็อตเตอรี่ยังมีลุ้นมากกว่าหล่ะมั้ง) ส่วนช่างที่พอจะรู้จักก็คิวทองเหลือเกิน ต้องจองกันข้ามปี ไหนๆ ก็ไหนๆ ละ ทำเองมันซะเลยก็แล้วกัน พอเลือกทำเองก็เลยทำให้ต้องวางแผนเยอะขึ้น วางแผนให้รอบคอบที่สุด ทั้งเรื่องของวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ อุปกรณ์หรือเครื่องมือช่างที่อาจจะต้องซื้อมาเพิ่มเติม โดยสิ่งเหล่านี้หวังว่าจะเอามาใช้กับโปรเจคอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย
การตัดสินใจของเราจะใช้วิธีตั้งคำถามและตอบตัวเองเป็นข้อๆ ไปครับ (การวางแผนและการตัดสินใจจะเขียนไว้ยาวหน่อยนะครับ สำหรับท่านที่อยากรู้ขั้นตอนการลงมือทำจริงเลย ให้ข้ามไปที่ส่วนต่อไปได้เลยครับ)
คำถามที่ 1 : จ้างช่าง? หรือ ทำเอง?
ภาพรวมการทำงาน
สำหรับคนที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะ “จ้างช่าง” หรือ “ทำเอง” เราขออนุญาตแชร์วิธีคิดและการตัดสินใจของเราในช่วงเวลานั้นเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของท่านแบบนี้นะครับ
การจ้างช่าง หรือ การซื้อชุดครัวแบบสำเร็จรูป แน่นอนว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงกว่าการทำเอง (ในกรณีที่เลือกของดีหน่อย) ค่าใช้จ่ายพวกนี้จะมาจากค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงของช่าง (เรียกว่าค่าประสบการณ์ของช่างจะเหมาะสมกว่า) เป็นหลัก
ส่วนใหญ่แล้วค่าแรงจะคงที่ถ้า Drawing หรือ แบบของเราชัดเจน ช่างจะตีราคาเหมาง่ายมาก เผลอๆ จะต่อรองได้ด้วยเพราะเราลดเวลาทำงานของเค้า แต่สิ่งที่จะทำให้งบบานปลายมันจะมาจากตัวเราเองที่อยากได้ของนี่นั่นเพิ่มขึ้นขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้เราต้องควบคุมเอง (ย้ำเลยว่ากิเลสย่อมระงับด้วยการซื้อ) แต่ข้อดีสำหรับการจ้างช่าง คือ งานเสร็จเร็ว ไม่ต้องเหนื่อยลงแรงตัวเอง บ้านรกไม่นาน ไม่ยืดเยื้อ มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นอีกเยอะ
สำหรับเราสองคนเลือกที่จะทำเอง โดยตัดสินใจแบบไม่มีลังเลเลยซักนิด เพราะ ไม่มีตัง 555+ เอาจริงๆ ก็คือ จ้างเค้าทำต้องใช้เงินก้อน ทำเองมันทะยอยซื้อของได้เหมือนผ่อนเอา ซึ่งพอมาคิดค่าใช้จ่ายรวมๆของโปรเจคนี้ก็พบว่ามันไม่ค่อยแตกต่างนะ ถ้าเราจ้างช่างมืออาชีพมาทำให้ แต่ว่า…สิ่งที่เราได้ คือ
1. เราสามารถเลือกของที่เกรดดีขึ้นด้วยเงินที่เท่ากันซึ่งคิดว่าจะมีอายุการใช้งานที่นานขึ้นด้วย
2. เราได้ประสบการณ์ในการวางแผนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ความรู้ในการค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ได้ sense ในการแก้ปัญหาหน้างานแบบรู้สึกได้ (อันนี้ไม่แน่ใจว่ามโนไปเองรึเปล่านะ) และที่สำคัญที่สุดคือข้อที่
3. ได้อุปกรณ์ช่างเพิ่ม หาข้ออ้างซื้อของได้แล้วววววว เย้ เย แต่…สำหรับคนที่ไม่มีของเลยซักชิ้น เป็น Maker ป้ายแดง ต้องบอกว่าครั้งแรกจะเจ็บตัวนิดหน่อยนะ แต่ถ้าวางแผนดีๆ สำหรับผมถือว่าคุ้มค่า เพราะยังไงซะ อุปกรณ์บางอย่างมันจำเป็นต้องมีติดบ้านอยู่แล้ว (ที่เค้าบอกกันว่าของมันต้องใช้ เรื่องจริง!) พูดถึงข้อเสียมันก็มีนะ เรื่องสำคัญด้วย คือต้องยอมรับเลยว่าทำเองมันต้องแลกกับเวลาในชีวิตพอสมควรอยู่ ของผมนี่เกือบ 6 เดือนได้มั้ง (เฉลี่ยวันทำงานประมาณ 8 วัน/เดือน ไม่ได้ทำทุกวัน) และที่สำคัญมันเหนื่อยโคตรๆ 555+
สำหรับคนที่ใช้ความพยายามอย่างมากเพื่ออ่านจนถึงตรงนี้ ก็อยากให้ลองตัดสินใจ และเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของแต่ละทางดู ถ้าเราทำงานเดียวคงไม่คุ้มในเชิงของค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามีหลายโปรเจคก็ถือว่าน่าลงทุนนะ?
สำหรับคนที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะทำเองนั้นต้องบอกว่า “ยินดีต้อนรับสู่ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และช่วงเวลาที่วันหยุดสุดสัปดาห์จะไม่ใช่วันหยุดนอนดูทีวีหรือนั่งเล่นเกมชิวๆ อีกต่อไป (จนกว่าโปรเจคนี้จะจบลงหล่ะนะ)
คำถามที่ 2 : เริ่มต้นจากตรงไหน? จะต้องใช้เงินเท่าไหร่? ประเมินค่าใช้จ่ายยังไง?
ในมุมมองของเราสองคน สิ่งแรกที่เราจำเป็นต้องรู้ คือ ภาพรวมของห้องครัวที่เราอยากจะได้ เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกที่จะเขียนแบบ 3D ก่อน โดยใส่รายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่เราจะวัดได้และเขียนแบบในโปรแกรม Google sketchup ด้วยวิธีนี้จะทำให้เห็นภาพรวมและรายละเอียดของงานทั้งหมด รวมถึงประเมินงบประมาณคร่าวๆ ที่เราจะต้องใช้ได้ด้วย
สำหรับ Google Sketchup เป็นโปรแกรมที่ทาง Google เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีสำหรับ Version Basic ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในระดับคนทั่วไป (ในส่วนของวิธีการใช้งานโปรแกรม สามารถสืบค้นและศึกษาได้จาก YouTube ที่หลายๆ ช่องสอนการใช้งานอย่างละเอียดเอาไว้แล้วครับ ง่ายๆ แปปเดียวก็เป็นละ) ให้เวลากับโปรแกรมนิดหน่อย สำหรับเราสองคนถือว่าคุ้มค่ามากๆ เลย
พื้นที่สีส้ม คือ พื้นที่ที่เราจะใช้ในการบิวท์อินห้องครัวของเรา ขนาดที่วัดได้ประมาณ 6 ตารางเมตร ซึ่งโครงการได้เดินท่อน้ำทิ้งขนาด 2 นิ้ว ไว้ให้ (ตำแหน่งของซิงค์ล้างจานจึงถูกบังคับไว้เรียบร้อยแล้ว T-T) และด้วยพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด เราจึงกำหนดรูปแบบของ Counter ครัวเป็นรูปตัว L เว้นช่องว่างไว้ประมาณ 1 เมตร สำหรับตู้เย็น ให้อยู่ทางขวามือของซิงค์ล้างจาน (ใจจริงชอบการวางแบบ Island มากๆ แต่ทำอะไรไม่ได้ บ้านมันแคบ)
สำหรับคนที่นึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนแนะนำให้เริ่มวาง Layout ของ Counter ครัวที่เราอยากได้คร่าวๆ เป็นอันดับแรก โดยให้คำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานของสมาชิกในบ้าน ทิศทางของประตูและการระบายอากาศ ซึ่งค่อนข้างจำเป็นสำหรับห้องครัว โดยเฉพาะครัวที่วางไว้ภายในตัวบ้าน มักจะพบปัญหาเรื่องกลิ่นจากการทำอาหารแบบบ้านเรา มันจะเป็นฝันร้ายของโซฟาและผ้าม่านแบบสุดๆ
หลังจาก layout เสร็จ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการวางโครงสร้าง 3 มิติ ในขั้นตอนนี้เราแนะนำว่าอย่าเพิ่งใส่รายละเอียดของตู้ทั้งหมด เพราะเราเชื่อว่า จะมีการปรับแก้แบบอีกหลายรอบ ดังนั้นการวางโครงสร้างแบบกล่องๆ จะทำให้เราเห็นภาพรวมโดยที่เราจะเสียเวลาน้อยที่สุด พอสัดส่วนทั้งหมดเหมาะสมแล้ว
ขั้นตอนต่อไปเราจึงเริ่มใส่รายละเอียดของตู้ จำนวนชั้น หรือ รายละเอียดเกี่ยวกับฟังก์ชันการใช้งานที่เราต้องการ ในขั้นตอนนี้เราจะรู้ว่าเราจะต้องใช้ฟิตติ้งกี่แบบ จำนวนเท่าไหร่ ตำแหน่งของปล๊ักไฟ และอื่นๆ
.
หมายเหตุ
สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานเรื่องสัดส่วนต่างๆ ของห้องครัว แนะนำให้เข้า https://www.pinterest.com และค้นหาด้วย Key word ว่า “Kitchen cabinets dimensions and standart” เราก็จะได้ข้อมูลของตู้มาตรฐานที่ใช้ๆ กันอยู่ครับ หรือ เข้าไปเพื่อหาไอเดียร์รูปแบบห้องครัวก็ได้ เป็นแหล่งข้อมูลที่ค่อนข้างดีที่นึงเลย
โดยทั่วไปแล้ว ความกว้างของเคาน์เตอร์จะอยู่ที่ 60 cm. และความสูงจากพื้นถึง Top counter ที่ประมาณ 77-80 cm. จะเหมาะสมกับรูปร่างของคนไทย แต่ตอนทำจริงๆ จะลดตัวโครงสร้างหลักลงนิดหน่อยถ้าเราก่ออิฐและหล่อ Top counter เพราะอาจจะต้องเผื่อความหนาจากการปูกระเบื้องด้วย ซึ่งขนาดเล็กสุดของแผ่นแกรนิตโต้จะอยู่ที่ 60X60 cm. แต่ถ้าแผ่น Top หินก็ไม่ต้องกังวลเครื่องความกว้าง เนื่องจากตัดตามความต้องการของเราได้
หลังจากแบบ 3 มิติเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการคลี่แบบเพื่อคำนวณปริมาณไม้และแยกส่วนประกอบของตู้เป็นชิ้นๆ โดยเรามองตู้แต่ละใบแยกเป็นโมดุลย่อยๆ และใส่สีต่างๆ กันไว้เพื่อให้ง่ายต่อการแยกประเภทและป้องกันการสับสน หลังจากที่แยกเสร็จแล้วก็เอาแต่ละชิ้นส่วนมาวาง Layout บนไม้อัดที่เราวาดไว้ ขนาด 1.2 X 2.4 เมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานสำหรับไม้อัด
ในรูปจะเป็น Layout ก่อนที่เราจะปรับเปลี่ยนแบบเล็กน้อย เพราะเรากังวลเรื่องปลวกอย่างมากหลังจากที่เพื่อนบ้านเดินมาเล่าว่าชุดครัวของเค้าโดนน้องปลวกแทะซะเรียบ เล่นเอาพี่หมีและน้องหมีจิตตกอยู่ช่วงนึง แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้มากเพราะซื้อไม้มาแล้ว เลยตัดสินใจเปลี่ยนวัสดุทำเคาน์เตอร์จากไม้เป็นเคาน์เตอร์มวลเบาแทน ย้อมไม้ด้วยน้ำยากันปลวกสำหรับตู้ด้านบนแทน (หวังว่าน้องปลวกจะยังไม่มาเร็วๆนี้ T-T)
พอเสร็จขั้นตอนเหล่านี้ เราก็จะได้โมลเดลมาหนึ่งชุดที่จะบอกเราว่าต้องใช้วัสดุอะไร จำนวนกี่ชิ้น เราก็คิดออกมาเป็นค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ที่เราจะต้องใช้ เราจะได้วางแผนการใช้เงินได้ถูก วางแผนลำดับในการซื้อของก็อ้างอิงจากแบบได้ อันนี้ต้องลองจัดสรรค์กันดูตามความสะดวกของแต่ละคน (ค่าใช้จ่าย แนะนำให้ลงใน Excel ครับ แก้ไขง่าย)
สุดท้ายอย่าลืมว่ามันจะมีค่าใช้จ่ายเราเรามองไม่เห็นอยู่ด้วยนะ ซึ่งอันนี้จะต้องระวัง เช่น อุปกรณ์สิ้นเปลือง (สี ตะปูเกลียว กระดาษทราย กาว ปูนสำหรับเครื่องมือช่างที่ต้องซื้อเพิ่ม จะซื้ออะไร ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบครัวและหน้างานของแต่ละคน ประเมินเอาจากแบบนั่นแหละครับ
หลังจากออกแบบอยู่สักพัก สุดท้ายแบบห้องครัวของเราก็ลงตัวซักที ในส่วนของการเขียนแบบ เราใช้เวลาอยู่นานพอสมควรเลย แต่ข้อดีก็คือเรารู้ว่าจะเริ่มงานได้จากตรงไหนก่อน มีปัญหาส่วนไหนที่เราอาจจะต้องเจอ แล้วก็ได้วิธีจัดการปัญหาก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง ถ้าจะให้เขียนก็คงจะไม่จบง่ายๆ แต่สิ่งนึ่งที่บอกได้เลย คือ แบบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ทำงานง่ายขึ้นเยอะ
สรุปสั้นๆ : เขียนแบบให้ละเอียด ชัดเจน จะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น
คำถามที่ 3 : ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง? หาได้จากที่ไหน?
ขั้นตอนต่อไป คือการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ สำหรับคนที่ตัดสินใจใช้ไม้ แนะนำให้ไปที่ “บางโพ” เลยครับ แหล่งรวมวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานไม้แหล่งใหญ่อันดับต้นๆของประเทศ ไม้จริง ไม้อัด ไม้เทียม ไม้ประสาน ไม้แปรรูป ไม้เสา ไม้กลึง มีเยอะแยะไปหมด เล่นเอาเลือกกันไม่ถูก ส่วนเราสองคนเราเลือกใช้ “ไม้ประสานยางพารา” ความหนา 16 มิลลิเมตร
อันที่จริงแล้วชอบลายของไม้สนฟินแลนด์มากกว่า แต่ความแข็งแรงของไม้สนสู้ไม้ยางพาราไม่ได้ โดนอะไรนิดหน่อยก็บุบ บอบบางเกินไป รู้สึกว่าทำงานด้วยลำบาก เทียบกับไม้ยางพาราแข็งกว่า เหนียวกว่า จะไม่ค่อยมีปัญหาตอนยึดสกรูเหมือนไม้สนที่เกลียวหวานง่ายกว่า ถอดเค้า-ถอกออกบ่อยๆ ไม่ได้
สุดท้ายเลยต้องตัดใจเลือกไม้ยางพาราเพราะเน้นการใช้งานเป็นหลัก พวกวัสดุประเภทไม้ต้องทำใจเรื่องการโก่งงอ-บิดตัว จากความชื้นด้วยนะครับ มันเป็นธรรมชาติของไม้จริง ต้องทำความเข้าใจเค้านิดนึง
(สาเหตุที่ไม่เลือกไม้อัดทั้งที่ราคาถูกกว่าบิดตัวน้อยกว่า เพราะว่า ไม่เคยทำสีไม้อัด ลองศึกษาการทำสีแบบ High glossy แล้วคิดว่าคงจะใช้เวลาทำนานเกินไปเลยตัดทิ้ง อีกอย่างชอบลายไม้ธรรมชาติมากกว่าด้วยครับ ที่เหลือก็ไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอา)
อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือ น้ำยากันปลวก, สีสำหรับเคลือบผิวไม้และอุปกรณ์ตัด-เจาะ (เลื่อย-ดอกสว่าน) อุปกรณ์ขัด (กระดาษทราย/ตัวจับ) อุปกรณ์ยึด (น็อต/ตะปู) และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แนะนำว่าให้วางแผนในการซื้อของดีๆ จะได้ไม่ต้องเดินทางหลายรอบ อย่าลืม! อุปกรณ์ Safety ซึ่งสำคัญมากๆ เงินหาเมื่อไหร่ก็ได้แต่ร่างกายไม่มีอะไหล่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นห้ามงกในเรื่องนี้นะ
สำหรับคนที่ไม่มีรถกระบะจะซื้อไม้ได้มั้ย คำตอบคือ “ได้ครับ” เพราะร้านค้าส่วนใหญ่ที่นี่มีบริการรับตัดด้วย แต่เรื่องของค่าใช้จ่ายอาจจะต้องพูดคุยกับเจ้าของร้านเอง เค้าคิดเป็นราคาต่อการตัด 1 ครั้งนะ เริ่มที่ 20-100 บาท อันนี้แล้วแต่สกิลการต่อรองของแต่ละคน ส่วนผมซื้อเลื่อยวงเดือนแล้วเอาใส่รถมาตัดที่บ้านเอง
โดยปกติแล้วเราจะไปซื้อที่ร้านเดิมตลอด เหมือนเป็นร้านประจำไปแล้ว เฮียเจ้าของร้านใจดี ถ้าซื้อน้อยๆ ไว้ทำงาน DIY ไม่อยากซื้อเต็มแผ่นให้มีเศษเหลือ แกก็มีแบ่งขายนะ ถ้าไม่มีความรู้เรื่องระบบสีก็ถามได้เลย ซื้อของแล้วฝากรถไว้ครึ่งวันแกก็ไม่ว่า (แจ้งแกนิดนึง) ร้านอยู่เกือบสุดซอย
บอกก่อนเลยว่าเราสองคนไม่ได้ส่วนแบ่งจากการขายของนะ แกไม่น่าจะจำเราได้ด้วยซ้ำเพราะซื้อน้อย นานๆที แต่รู้สึกว่าอะไรที่ดีๆ ก็อยากส่งต่อ สุดท้ายก็คืออยากให้ลองคุยดูหลายๆ ร้านก่อนตัดสินใจ ราคาไม่ห่างกันมากหรอก (เราซื้อน้อย) แต่การบริการบอกเลยว่าแต่ละร้านไม่เหมือนกัน
ตรงนี้สำคัญ! สิ่งที่ต้องระวังในการเลือกของที่บางโพ คือ “การจอดรถ” เนื่องจากที่นี่เป็นถนนที่เปิดให้เดินรถได้ทางเดียว และจะกำหนดการจอดแต่ละฝั่งตามวันคู่/คี่ เพราะฉะนั้นต้องสังเกตป้ายให้ดีก่อนจอด วันนี้วันที่เท่าไหร่ ให้จอดฝั่งซ้ายหรือขวา มีสตินิดนึง มิฉะนั้นอาจจะเจอใบสั่งของคุณพี่ตำรวจได้ รู้สึกว่าเค้าตรวจตลอดทั้งวันนะเพราะที่นี่รถเข้าออกค่อนข้างเยอะ
ส่วนเครื่องมือช่าง จะเลือกใช้ Hand tool หรือ Power tool อันนี้ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละท่าน ถ้าไม่มีพื้นฐานจริงๆ ก็ถามคนขายได้ว่าใช้ยังไง หรือ ลองดูรีวิวและการเลือกซื้อเครื่องไม้เครื่องมือใน Youtube ก่อนตัดสินใจซื้อก็ได้ครับ ของ Me plus chanel ก็อธิบายไว้เข้าใจง่ายเลยครับ หรือของ Thaicarpenter ก็ครอบคลุมเครื่องมือพื้นฐานดี (ที่เอ่ยมาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียนะและต้องขออภัยที่อ้างชื่อ หากไม่เหมาะสมแจ้งลบได้เลยนะครับ)
แต่ถ้าจะให้แนะนำก็มี
1. เลื่อยวงเดือน (ของผมเลือก 4 นิ้ว เพียงพอต่อการใช้งานของผมละ น้ำหนังเบา เสียงเบากว่าตัวใหญ่ ตัดช้าๆ ไม่รีบร้อน)
2. สว่านไฟฟ้า อุปกรณ์สองชิ้นนี้สำคัญสุดสำหรับความคิดผม ส่วนพวก Clamp ช่วยจับ ฉาก อันนี้ก็สำคัญ ติดบ้านไว้ไม่เสียหาย สะดวกมากเวลาทำงานคนเดียว ส่วนเครื่องขัด อันนี้จะช่วยเรื่องของการลดระยะเวลาทำงาน ไม่มีก็ยังทำงานได้ หรือถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ค่อยแวะห้างตระกูล Home ทั้งหลายทีหลังก็ได้ครับ พนักงานพร้อมขายพร้อมอธิบาย
หลังจากเขียนแบบและซื้อของเสร็จแล้ว ถึงเวลาลงมือจริงได้แล้วสิ เริ่มงานได้
เริ่มต้นเลยก็จะเป็นการเตรียมพื้นที่ การวัดหน้างานจริงและการขีดเส้นบอกระยะให้ชัดเจน จากนั้นก็จับฉากให้ดี จะได้ไม่ลำบากในการเก็บงานทีหลัง (พอดีที่บ้านแดดร้อนเลยต้องกางม่านหน่อย)
.
เพราะว่าไม่อยากตัดบัวพื้น ไม่รู้จะตัดยังไง กลัวตัดไม่สวย เลยเลือกที่จะหั่นเคาน์เตอร์มวลเบาส่วนที่เป็นฐานเพื่อหลบส่วนนี้แทน ซึ่งคิดว่าง่ายกว่า อีกอย่างบัวพื้นของเราเป็นไม้เทียมเลยไม่กลัวว่าปลวกจะแทะตรงนี้เท่าไหร่
ส่วนวิธีการตัดก็ง่ายๆ คือวัดจากขอบเข้าไปในตัวก้อนอิฐมวลเบาประมาณ 12 mm. ใช้ฉากวัดแล้วขีดนำร่องไว้ก่อนจะได้ตัดตรงๆ หน่อย จากนั้นก็ใช้ใบเลื่อยตัดเหล็ก ค่อยๆ ตัดไปเรื่อยๆ ตามความสูงของบัวพื้นประมาณ 12 cm. หลังจากนั้นก็เอาแผ่นเคาน์เตอร์ที่ได้ไปลองเทียบกับผนัง จะเห็นว่าใส่ได้พอดีเลย
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้หลังจากตั้งฐานเคาน์เตอร์มวลเบา คือ การวัดระดับน้ำเพื่อดูว่าฐานที่เราตั้งเอียงหรือเปล่า จุดสังเกตก็ คือ ถ้าฟองน้ำอยู่ตรงกลางระหว่างขีดที่ 1 และ 2 ก็แปลว่าได้ระดับพอดี ไม่เอียงซ้ายหรือเอียงขวา ลองปรับๆ ยกๆ ดู เดี๋ยวก็ได้ครับ ไม่ยาก
ส่วนใครอยากใช้การก่ออิฐแดงหรืออิฐมวลเบา ก็ใช้วิธีดิ่งด้วยลูกดิ่ง หรือ วัดระดับน้ำเป็นระยะๆ ก็ช่วยได้เยอะ (ถ้าไม่ใช้ เดี๋ยวก่อเสร็จแล้วเอียงเป็นหอเอนปิซา จะหาว่าไม่เตือน)
.
ถ้าใครตัดสินใจที่จะใช้เคาน์เตอร์มวลเบาจริงๆ ในตอนที่ไปซื้ออยากให้ตรวจรับให้ละเอียดหน่อย เพราะ เราเจองานซ่อม 1 ชิ้น ที่เกิดจากการเอาปูนมาปิดทับรอยกระเทาะ ทำให้ระดับของเสาไม่เท่ากัน ผิดจากขนาดมาตรฐานไป 1.5 cm.
พอวางระดับน้ำระหว่างแผ่นฐานสองแผ่นเลยเอียงแบบชัดเจนแล้วต้องมาตัดออกทีหลัง แล้วเนื้อของวัสดุใหม่และวัสดุเดิมไม่เหมือนกัน ตัวที่เอามาปิดซ่อมเป็นปูนทั่วไปซึ่งแข็งกว่ามากๆ ทำให้การตัดค่อนข้างลำบากและใช้เวลานานมาก จริงๆ แล้ววัสดุตัวนี้ต้องพรุนตัวทั้งก้อน ถ้าบริเวณไหนเรียบผิดปกติแบบผิวปูนหล่อหรือฉาบมาก็ขอเปลี่ยนเลย เพื่อความสบายใจ
หลังจากทุกอย่างเรียบร้อยแล้วขั้นตอนต่อไปคือการผสมปูนและเริ่มติดตั้ง ปูนที่เราใช้เป็นปูนชนิดพิเศษจากโรงงานสำหรับติดตั้งเคาน์เตอร์มวลเบาโดยเฉพาะ (เค้าว่ามาแบบนี้) สำหรับสัดส่วนน้ำที่ใช้ผสมก็ดูได้จากข้างถุงได้เลย ใส่ปูนใส่น้ำแล้วก็คน เป็นอันจบขั้นตอน จากรูปจะเห็นได้ว่าเราปูอิฐมวลเบาลงบนแผ่นกระเบื้องโดยตรง ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะต้องผ่ากระเบื้องและกะเทาะออกให้เห็นพื้นปูนด้านล่างให้หมด
การติดลงบนกระเบื้องโดยตรงอาจจะส่งผลต่อความแข็งแรงในการยึดเกาะในอนาคต (แต่เราก็สอบถามไปทางผู้ผลิตแล้ว ทางบริษัทยืนยันว่าสามารถปูลงบนแผ่นกระเบื้องได้ แต่การยึดเกาะอาจจะน้อยกว่าตามที่ได้บอกไว้ข้างต้น ก็เลยลองเสี่ยงดู เพราะไม่อยากผ่ากระเบื้องปูพื้น ด้วยความเป็นมือใหม่ กลัวมันจะลามไปทั้งบ้าน)
.
หลังจากวางแผ่นฐานเสร็จ อย่าลืมยึดส่วนของขอบฐานด้านบนกับผนังด้วยแผ่นเหล็กรู (ไม่รู้ภาษาช่างเรียกอะไร เค้าใช้สำหรับติดตั้งอิฐมวลเบา) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในการยึดเกาะอีกชั้นนึง หาซื้อได้ตามห้างตระกูล Home ทั่วไป
หลังจากฐานเคาน์เตอร์เสร็จขั้นตอนต่อไปก็เป็นการทำ Top เคาน์เตอร์ วิธีการก็ไม่ยากแค่ยกแผ่นเคาน์เตอร์ ป้ายด้วยปูนแล้วแปะลงไป แต่ส่วนที่ยากคือส่วนของการเจาะช่องสำหรับใส่ซิงค์ล้างจาน ซึ่งตัวท็อปสำหรับซิงค์ล้างจานจะเป็นท็อปชนิดพิเศษที่เสริมเหล็กบริเวณขอบมากกว่าแผ่นแบบปกติเพื่อความแข็งแรง เพราะฉะนั้นเวลาจะซื้อต้องวางแผนให้ดี เดี๋ยวจะสั่ง Top ผิดประเภท (ราคาแบบแผ่นปกติและซิงค์ต่างกันพอสมควร)
การเจาะแผ่น Top เริ่มต้นด้วยการวัดขนาดของฐานซิงค์สแตนเลส จากนั้นนำมาวาดลงบนแผ่น Top อิฐมวลเบาโดยพยายามให้จุดศูนย์กลางของตัวซิงค์สแตนเลสอยู่ตรงตำแหน่ง Center line ของแผ่น (จะเยื้องซ้าย หรือ ขวา ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของเรา) แต่ควรเว้นขอบให้เหลือประมาณด้านละ 5 cm.
จากนั้นใช้สว่านเจาะรูบริเวณมุมทั้ง 4 มุม เพื่อใช้สำหรับสอดใบเลื่อยตัดเหล็ก ที่เหลือก็แค่ใช้ความอึดถึกทน หั่นหั่นหั่น ไปเรื่อยๆ จนทะลุถึงกันทั้ง 4 ด้าน ในขั้นตอนนี้ต้องใช้ความใจเย็นเป็นอย่างมาก หากเร่งรีบจนเกินไปจะทำให้แผ่น Top ซิงค์หักได้ แปลว่าเราต้องเสียตังค์ซื้อแผ่น Top อันใหม่
ยึดแผ่น Top และส่วนฐานเคาท์เตอร์ด้วยปูนเชื่อม เคาะเบาๆด้วยค้อนยางเพื่อให้แผ่นมวลเบาเชื่อมกัน
เก็บรายละเอียดกันหน่อย
.
ต่อไปเป็นขั้นตอนการกรุผนังเคาน์เตอร์ เนื่องจากเรามีเศษอลูมิเนียมคอมโพสิตอยู่นิดหน่อยจึงเอามาลองใช้กับงานนี้เพื่อประหยัดงบซื้อกระเบื้อง (แม่ไปได้มาจากไหนก็ไม่รู้) ใช้กาวตะปูเป็นตัวช่วยยึดเกาะและใช้ตะปูเกลียวยึดทั้ง 4 มุมอีกครั้ง
กว่างานเคาน์เตอร์จะจบก็ใช้เวลาร่วม 2 เดือน มีเวลาว่างแค่ เสาร์-อาทิตย์ ค่อยๆทำไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะรีบจบงานนี้ให้ไวที่สุดเพราะฝุ่นเยอะมาก
งานโครงสร้างเคาน์เตอร์ปูนจบไปบางส่วน ต่อไปก็เริ่มเข้างานไม้แล้วจ้า
แล้วก็ถึงเวลาของงานไม้ซะที ซึ่งเป็นงานถนัดกว่าสำหรับเราสองคน สาเหตุที่เลือกไม้ยางพาราประสานเป็นเพราะว่าเป็นไม้ที่มีผิวค่อนข้างสวย พื้นผิวหน้าเรียบมาจากโรงงานเลยไม่ต้องวุ่นวายกับการเก็บผิวมากนัก แค่ขัดด้วยกระดาษทรายก็ทำสีผิวต่อได้เลยทันที (ถ้ามีเครื่องขัดจะเป็นอะไรที่ฟินมาก แต่ถ้าไม่มีเครื่องมือก็ถือว่าเป็นการเล่นกล้ามไปในตัวก็แล้วกัน)
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า Drawing ที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ในขั้นตอนนี้ไม่ค่อยวุ่นวายมากสำหรับผม กางกระดาษที่วาด Layout แล้วตัดตามอย่างเดียวไม่ต้องคิดอะไรมาก ใช้ตลับเมตรวัดขนาดหัว-ท้าย โดยอย่าลืมเผื่อความหนาของใบเลื่อยด้วย จะตัดในเส้นหรือนอกเส้นก็ต้องใช้รูปแบบเดียวกันให้ตลอด
การตัดไม้ไม่เหมือนการใช้กรรไกรตัดกระดาษ เนื้อไม้ตรงส่วนที่เป็นรอยตัดจะหายไปเท่าๆกับความหนาใบเลื่อย ต้องกำหนดวิธีตัดของตัวเองให้ดี ไม่เช่นนั้นขนาดของชิ้นงานไม้ที่ได้จะผิดจากแบบ จากนั้นวางไม้บรรทัดเป็นรั้วซอย (ถ้าไม่มีก็ใช้ขอบของแผ่นไม้แทน) ล็อคด้วย Clamp ยึดกันเลื่อน
ขณะที่ตัดก็ค่อยๆ ดันเลื่อยวงเดือนช้าๆ การเดินเลื่อยที่เร็วเกินไปอาจทำให้ไม้แตกได้ ใจเย็นนิดนึงจะได้ไม่ต้องเสียเวลาซ่อมงาน (ถ้าใช้ในเลื่อยฟันถี่ๆ จะดีกว่าใบหยาบสำหรับงานแบบนี้) สำหรับคนที่ตัดไม้อัด ช่างหลายๆ คนทั้งไทยและเทศแนะนำว่าให้แปะกระดาษกาวบนแนวตัดก่อน (หน้า-หลัง) รอยได้ที่ได้จะไม่เป็นเสี้ยนไม้เล็กๆ ผมเคยลองแล้วก็ได้ผลดีอยู่ครับ
เมื่อได้ชิ้นส่วนครบตามต้องการ ขั้นตอนต่อไป คือ การประกอบตู้ เราสองคนเลือกใช้ตะปูเกลียวความยาว 1.5 นิ้ว หัวน็อตเบอร์ 7 ในการยึดไม้แต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน ก่อนที่จะไขน๊อตผมเจาะนำด้วยดอกสว่าน 3 mm.ก่อน เพื่อช่วยลดการแตกของไม้ซึ่งส่วนใหญ่จะแตกตรงแนวขวางของลายไม้ และอีกเหตุผลนึงคือ ผมหาซื้อตะปูเกลียวหยาบสำหรับยึดไม้ไม่ได้ เลยจำเป็นต้องซื้อแบบละเอียดมาแทน ตะปูเกลียวละเอียดมันไม่ค่อยดูดไม้ รูเจาะนำจะช่วยตรงนี้ (เคยใช้เบอร์ 8 แล้วไม้แตก ไม่รู้เกี่ยวมั้ย อาจจะปรับทอร์กของสว่านเยอะไปก็ได้)
สำหรับคนที่ใช้ไม้ยางพาราประสาน ควรวาง Layout ของการตัดให้ด้านที่ยาวที่สุดของชิ้นงานอยู่ขนานกับแนวลายไม้ เพราะไม้ชนิดนี้เกิดจากการต่อกันด้วยกาว การรับแรงตามแนวขวางค่อนข้างแย่ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานที่ไม้จะต้องรับแรงตามขวาง
ประกอบตู้เสร็จขั้นตอนต่อไปคือการขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวเรียบ จากนั้นก็เคลือบกันปลวก 2-3 รอบ ทิ้งไว้ให้ครบ 24 ชั่วโมงแล้วค่อยเอาไปเคลือบผิวหรือทำสีต่อ (น้ำยาเหม็นโคตร) ถ้าชอบสีธรรมชาติของยางพาราก็เอาไปเคลือบได้เลย หลังจากเคลือบเสร็จไม้จะมีสีอมเหลืองนิดหน่อย
แต่สำหรับเราสองอยากคนอยากได้ตู้ไม้สีน้ำตาลเข้ม เลยต้องย้อมสีก่อน 2 รอบ ด้วยสีย้อมไม้ (สีประดู่) เพื่อให้ได้สีตามต้องการก่อนที่จะลงแลคเกอร์เป็นขั้นตอนต่อไป (สำหรับคนที่ไม่มีปั้มลมสามารถใช้แปรงทาสีทาได้เลย ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องซื้อปั๊มลมมาเพื่องานนี้ อันนี้สมบัติเก่าจ้า)
ขอแนะนำในเรื่องของงานสีนิดหน่อย สีเคลือบที่ขายในท้องตลาดมีหลากหลายประเภท เช่น ใช้ภายนอก-ภายใน บางชนิดสามารถเปิดขวดแล้วใช้ได้เลย แต่บางชนิดต้องผสมให้ได้ตามสัดส่วนของแต่ละผู้ผลิตที่ได้กำหนดไว้ก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้
เพราะฉะนั้นควรอ่านคู่มือให้เข้าใจก่อนลงมือทำ และในครั้งแรกไม่ควรผสมสีทีเดียวหมด เพราะจะทำให้สีแห้งและเราทาสีไม่ทัน ลองผสมดูทีละน้อยแล้วกะปริมาณใหม่ในครั้งต่อไป สีส่วนใหญ่ผสมแล้วจะเก็บได้ไม่นาน เหลือคือทิ้งเลย
ตัดสินใจอยู่นานเรื่องวัสดุท็อปเคาน์เตอร์ คิดในใจว่าเคาน์เตอร์ของเราต้องสวยหรูและดูแพง (ลงทุนลงแรงไปเยอะ ก็อยากให้ออกมาสวย) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เหมาะสมกับเคาน์เตอร์เราเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากแผ่นแกรนิตสีดำเกรดเอเท่านั้นเค้าว่ากันว่าเกรดดีๆ น้ำจะซึมได้น้อย
แต่พอดูราคาแล้วก็ตัดสินใจได้ว่าแกรนิตโต้ 60 X 60 ก็ใช้ได้นะ (ตอนแรกสุดๆตั้งใจจะใช้ผิวท็อปเป็นไม้แล้วเคลือบด้วยเรซิ่นเอา แต่ว่าไม่อยากมาปวดหัวทีหลังกับการดูแลรักษา เลยหันมาสนใจวัสดุจำพวกหินเพื่อให้สามารถรับงานหนักๆได้ สับ โขลก ทุบ เป็นวิธีพื้นฐานของการทำอาหารไทยต้องพิจารณาส่วนนี้ร่วมด้วย)
นื่องจากว่าไม่เคยปูกระเบื้องมาก่อนก็เลยตัดสินใจจ้างช่างมาปูให้ ใจไม่กล้าพอเลยทำให้เสียใจจนถึงทุกวันนี้ เรื่องของเรื่องคือ ในส่วนรอยต่อตรงขอบเล็กๆ ของซิงค์ที่ยาวเกิน 70 cm แล้วต้องต่อด้วยกระเบื้องชิ้นเล็กๆ ช่างก็ตัดมาแปะ แต่ว่าช่างปูกระเบื้องไม่ได้ระนาบนี่สิ กลายเป็นรอบบุ๋มลงไป ตอนไปเจอก็แก้อะไรไม่ได้เเล้ว ปูนเซ็ตตัวไปแล้ว สุดท้ายก็ได้แต่ทำใจ
การติดตั้งตู้ลอย โดยปกติแล้วเห็นช่างมืออาชีพใช้อยู่ 2 วิธี คือ
1.ฝังพุกตะกั่วหรือพุกไม้แล้วยึดด้วยสกรู
2.ติดตั้งด้วยอุปกรณ์สำหรับแขวนตู้ (ไม่แน่ใจว่าศัพท์ภาษาช่างเรียกว่าอะไร)
ซึ่ง 2 วิธีนี้จะปกปิดตำแหน่งติดตั้งได้เนียนเสมือนว่าตู้ลอยได้จริงๆ โดยไม่ต้องใช้ฐานเพื่อรองรับให้ดูเกะกะ แต่สำหรับเราสองคนไม่รู้เทคนิคในการติดตั้ง เลยใช้วิธีดิบๆ บ้านๆ ด้วยการเจาะด้วยสว่านเบอร์ 10 ทั้ง 4 มุมของตู้ แล้วยกขึ้นทาบกับผนังเพื่อมาร์กจุดเจาะ
จากนั้นฝังพุกเหล็กกับผนัง ขันน็อตเพื่อให้ส่วนที่เป็นเกลียวตัวผู้ยืดออกมา ยกตู้ใส่แล้วปิดด้วยน๊อตตัวเมียในขั้นตอนสุดท้าย น็อตส่วนที่เหลือก็ใช้หินเจีย เจียรออก ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราเห็นหัวน๊อตโผล่ในตู้ไม่สวยงาม แต่เราสองคนไม่ซีเรียสเท่าไหร่เพราะสุดท้ายแล้วจะมีประตูปิดอีกครั้งหนึ่งมองไม่เห็นหัวน็อตอยู่แล้ว
หลังจากตู้ลอยเสร็จ คิวต่อไปก็เป็นชั้นลอยไมโครเวฟที่ฟิวชั่นกับชั้นวางจานเหล็ก ราคา 1800 บาทจากห้างสีฟ้าแถวบางนา เราสองคนชอบการออกแบบ Fitting และชั้นวางต่างๆ ของห้างนี้มาก แต่ไม่อยากซื้อมาทั้งเซ็ตเพราะไม่เข้ากับ Concept ของเรา เลยเลือกซื้อเฉพาะอุปกรณ์ที่ชอบแล้วจำวิธีการติดตั้งมาออกแบบและปรับใช้กับตู้เราทีหลัง บางตำแหน่งอาจจะต้องเจาะเพิ่ม หรือ ปรับแก้บ้างเล็กน้อยเพราะว่ามันถูกออกแบบมาค่อนข้างเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงมากนัก ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สนุกขั้นตอนนึง (ต้องมาลุ้นว่าที่ซื้อมาจะใช้ได้ไหม)
.
ติดตั้งชั้นลอยด้วยพุกเหล็กเหมือนเดิม โชว์หัวน๊อตนิดหน่อยดู Loft ดี (ไม่ได้ตั้งใจทำให้เป็น Loft หรอกแต่หัวเจียร์เข้าไม่ได้ต่างหาก นึกแล้วก็ขำตัวเอง)
เนื่องจากพื้นที่ด้านข้างเคาน์เตอร์ครัวด้านซ้าย มีช่องว่างประมาณ 15-20 cm ทำให้ต้องหาอะไรมาใส่เพื่อรองรับแผ่นกระเบื้องแกรนิตโต้ที่ปูเกินมาและต้องการให้มีพื้นที่ใช้สอยสูงสุด เลยตัดสินใจทำตู้ที่เป็นลิ้นชักเลื่อนเข้าออกได้
โดยการทำกล่องสี่เหลี่ยมเป็นเฟรมนอกและติดตั้ง Fitting ลิ้นชักแบบรางสไลด์ เพื่อให้สามารถเลื่อนเข้าออกได้ สำหรับคนที่ชอบฟังชันก์แบบนี้ แนะนำให้ติดตั้ง Fitting ด้านบนแทนเพราะเราพบปัญหาว่าเมื่อใช้งานไปได้สักพักหนึ่ง ลิ้นชักจะเกิดการฝืดทำให้เลื่อนลิ้นชักออกมาได้ไม่สุด (อาจจะมาจากไม้บวม หรือ Fitting รับน้ำหนักมากเกินไป)
.
งานโครงสร้างเสร็จก็เริ่มงานปูกระเบื้องผนังตามเลยทันที เพราะเป็นงานที่ไม่ได้ใช้เสียงดังสามารถทำกลางคืนหลังเลิกงานได้ โดยการปูกระเบื้องเราตัดสินใจใช้กาวเซรามิคในการติดแทนที่จะใช้ปูนเพราะคิดว่ากระเบื้องผนังไม่จำเป็นต้องรับแรงมากและเราไม่อยากให้บ้านเลอะเพราะปูกระเบื้องไม่เป็น
วิธีนี้เราไม่ยืนยันถึงประสิทธิภาพการยึดติดเพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน มันเหมือนเป็นการทดลองของเราสองคนมากกว่า แต่หลังจากใช้งานมาประมาณ 6 เดือนก็ยังไม่เกิดปัญหาอะไร แต่มีข้อระวังนิดหน่อย เนื่องจากกระเบื้องที่เราใช้เป็นแบบบาง ทำให้แตกหักได้ง่าย ในขั้นตอนการติดตั้งไม่ควรให้เหลือพื้นที่ช่องว่างใต้กระเบื้อง เพราะ หากเกิดการกระแทกจะเกิดการแตกหักได้ง่าย
.
หลังจากปูกระเบื้องเสร็จก็ยาแนวด้วยปูนยาแนวสีดำ ห้องครัวเป็นห้องที่ค่อนข้างจะถูกใช้งานหนัก การใช้ยาแนวสีอ่อนจะทำให้เกิดตำหนิหรือคราบฝังลึกได้ง่ายในอนาคต
ส่วนของการติดตั้งบานประตูและลิ้นชักด้านใต้เคาน์เตอร์ ควรเลือกฟิตติ้งให้เหมาะกับแต่ละประเภทของการรับน้ำหนัก สำหรับห้องครัวของเรา ลิ้นชักที่มีขนาดใหญ่จะใช้ฟิตติ้งรางสไลด์แบบมีฐานรองรับด้านล่าง (จำชื่อไม่ได้) ซึ่งคู่มือเคลมว่าสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 70 กิโลกรัม/ตัว ส่วนลิ้นชักขนาดเล็กจะเลือกใช้รางสไลด์แบบทั่วไปซึ่งมีราคาถูกกว่า (งกตลอด)
หลังจากติดตั้งตัวลิ้นชักเสร็จ ขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นการติดตั้งบานประตูเคาน์เตอร์ ในขั้นตอนนี้เราต้องการให้บานประตูลอยสูงจากพื้นประมาณ 1.5 cm เพื่อป้องกันการขูดกับพื้นกระเบื้องตอนใช้งาน อีกเหตุผลก็คือ ตัวบานประตูมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้ตอนดึงลิ้นชักออกมาสุดจะเกิดการถ่วงน้ำหนักตรงปลาย เลยต้องเผื่อระยะตกไว้
และในขั้นตอนการติดตั้งเราจะใช้ไม้ยางพาราประสานรองพื้นก่อนทำการยึดน็อตของตัวลิ้นชักและบานประตู ทำให้หลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว บานประตูมีระนาบใกล้เคียงกันสวยงาม
และแล้วครัวของเราก็เสร็จสิ้นประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นงานเล็กๆน้อยๆ เช่น การยิงซิลิโคนเพื่อปิดช่องว่างต่างๆ เพื่อกันน้ำกันซึม งานเก็บสี เก็บรอยขูดขีด ซึ่งก็ไม่มีรายละเอียดอะไรมาก
ในที่สุดก็เสร็จแล้ว ครัวที่ใช้เวลาในการวางแผนและทำงานถึง 6 เดือน มาดูกันว่าผลของการดันทุรังจะออกมาเป็นแบบไหน ฟังก์ชั่นไหนน่าสนใจบ้าง ไปดูกัน
.
.
*** อัพเดทค่าค่าลงทะเบียนสำหรับคอร์สนี้ (ค่าใช้จ่าย)
สุดท้ายแล้วต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่สนใจ และพยายามอ่านกันจนจบ ภาษาจะเวิ่นเว้อซะเยอะ ต้องขออภัยจริงๆ อะไรที่เจอแล้วรู้สึกว่าเป็นปัญหาก็อยากจะบอกไว้ก่อน เผื่อมีคนสนใจทำห้องครัวเองจะได้มีข้อมูลเอาไปปรับใช้ได้
สำหรับโปรเจคต่อไปตั้งใจจะลุยห้องทำงานต่อเลย ตอนนี้เริ่มมาได้ 20 เปอร์เซ็นละ ถ้าเสร็จแล้วจะมาแชร์ให้ชมนะครับ ใครที่มีข้อแนะนำดีๆ เชิญแนะนำและติชมได้เลย ทางเรายินดีรับฟังเพื่อนำมาปรับกับงานอื่นๆของเราในอนาคตครับ
ส่วนใครที่อยากพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีอีกหนึ่งช่องทางที่แฟนเพจของเราครับ
ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่เลย 555+
ขอให้สนุกกับการแต่งบ้านครับ
ขอบคุณครับ
หมีสร้างบ้าน
ที่มา : สมาชิกหมายเลข 4682278
Facebook Page : หมีสร้างบ้าน Bearbuilding .