เพื่อนๆ คนไหนที่ชื่นชอบ บ้านกลางพื้นที่ธรรมชาติ ต้องห้ามพลาดบ้านตัวอย่างหลังนี้ค่ะ ซึ่งบ้านที่เราเลือกมานั้นเป็นผลงานจาก Searl Lamaster Howe Architects และมีดีไซน์ที่เหมาะกับผู้ที่อยากหลีกหนีความวุ่นวายจากในเมือง เพื่อออกมาสูดอากาศท่ามกลางธรรมชาติ ไปชมกันเลยค่ะ
การออกแบบภายนอกเป็นบ้านไม้สไตล์โมเดิร์นรัสติก ที่ถูกตั้งบนเนินเขาทางรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยวัสดุไม้ที่เลือกใช้มีโทนสีเข้มอ่อนแตกต่างกันไป ทำให้ตัวบ้านดูมีความทันสมัย แต่ไม่ขัดกับบรรยากาศธรรมชาติรอบๆ นอกจากนั้นแล้ว การเลือกใช้วัสดุกระจกใส ก็ช่วยลดทอนความทึบมืดจากแผ่นได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว
บรรยากาศภายใน
พื้นที่ภายในมีความอบอุ่นไม่แพ้ภายนอก โดยเน้นวัสดุจากไม้เช่นเดียวกัน ซึ่งให้บรรยากาศแบบรัสติก คือ เน้นโชว์ผิวธรรมชาติของวัสดุเป็นหลัก แถมยังเข้ากันดีกับของตกแต่ง รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์หนังสุดคลาสสิกอีกด้วย
นอกจากนี้ การเปิดช่องแสงด้วยหน้าต่างกระจกทรงสี่เหลี่ยม ยังช่วยให้บ้านดูทันสมัยตามแบบฉบับโมเดิร์นอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานความทันสมัยในแบบโมเดิร์นและความดั้งเดิมอบอุ่นในแบบรัสติกได้อย่างลงตัว
ห้องครัว & โซนที่นั่งแบบบาร์
เนื่องจากตัวบ้านถูกวางไว้บนเนินเขา จึงทำให้เกิดระดับที่แตกต่างกัน และถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้ โดยพื้นที่บริเวณครัวถูกวางไว้ชั้นสูงกว่า ห้องนั่งเล่น เพื่อให้มองเห็นวิวจากด้านบน และเพลิดเพลินไปกับการทำกับข้าว หรือนั่งรับประทานอาหารมื้อพิเศษกับคนในครอบครัว
ห้องนอน
ห้องนอนมาสเตอร์ถูกตกแต่งเรียบง่าย ไม่หวือหวา ดูแล้วอบอุ่นเช่นเดียวกับห้องอื่นๆ ส่วนห้องนอนถัดมามีความน่าสนใจ เพราะออกแบบให้เป็นห้องเตียงสองชั้น เหมาะสำหรับแขกมาพัก หรือให้เด็กๆ ตัวเล็กๆ นอนด้วยกันก็ยังได้
.
.
ห้องน้ำดีไซน์รัสติก
ในส่วนของห้องน้ำมีความโปร่งโล่ง สบายตา ให้บรรยากาศที่ผ่อนคลาย โดยมีบานหน้าต่างขนาดใหญ่ที่ช่วยให้แสงธรรมชาติเข้ามาเต็มที่ เหมาะสำหรับการนอนแช่น้ำร้อนในช่วงหน้าหนาวเป็นอย่างยิ่ง
นอกเหนือจากมุมอ่างอาบน้ำแล้ว ยังมีพื้นที่อาบแบบฝักบัว สำหรับความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งมุมนี้มีการใช้แสงจากธรรมชาติจากการเจาะช่องแสงด้านฝ้าเพดานอีกด้วย
รายละเอียดอื่นๆ
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บ้านดูไม่อึดอัดมืดทึบ รวมทั้งมีบรรยากาศผ่อนคลาย คือ การใช้บานกระจกขนาดใหญ่แทนการก่อผนังทึบ ซึ่งแน่นอนว่าช่วยให้มองเห็นวิวทิวทัศน์รอบๆ เช่นเดียวกับมุมนั่งเล่นสุดชิลด้านล่างนี้
บางครั้งการเลือกใช้ระแนงแบบโปร่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นหนาเท่ากัน แต่อาจดีไซน์ให้ดูมีลูกเล่น เช่น บริเวณทางเดินตรงนี้ เพื่อช่วยให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่าง และเพิ่มเงาสะท้อนของแสงอย่างสวยงามลงตัว
ที่มา : contemporist
.