สวัสดีเพื่อนๆ ชาวเว็บ ในบ้าน ทุกคนค่ะ สำหรับคนที่เคยดูหนังจีนหรือหนังกำลังภายใน เรามักจะเคยเห็นบ้านจากภาพยนตร์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาก คือ เฟอร์นิเจอร์ และการตกแต่งที่เน้นเส้นสายและลวดลายแบบจีนใช่ไหมคะ? สำหรับวันนี้เราเองก็จะพาเพื่อนๆ ไปเปิดโลกดีไซน์การตกแต่งที่เรียกว่า จีนร่วมสมัย ตามมาชมกันได้เลย
โดยเรื่องราวในครั้งนี้ รอบรั้วชายคา จะมาเล่าถึงความเป็นมาและไอเดียในการออกแบบบ้านสไตล์นี้กัน เป็นผลลัพธ์ของการผสมผสานระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ และต่อยอดได้อีกมากมาย กลายเป็นเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครเลยล่ะค่ะ
ไอเดียข้น การตกแต่งบ้านแแนวจีนร่วมสมัย
(โดย รอบรั้วชายคา )
#ใครฆ่าประเสริฐ อิชั้นไม่รู้หรอกฮ่ะ ต้องสวมวิญญาณนักสืบโคนันในห้องบางขุนพรมทางโน่นจ้ะ แต่แหม…ดูละครเลือดข้นคนจางแล้วรู้สึกได้ว่าวัฒนธรรมจีนที่มีอิทธิพลไปทั่วโลกรวมถึงการตกแต่งบ้านด้วย ถ้ารู้จักนำเอาของใหม่มาผสมผสานกับของเก่าก็ได้เป็นไอเดียเก๋และเฉียบ รอบรั้วชายคามีไอเดียข้นกับการแต่งบ้านแนวจีนร่วมสมัยมาฝากกันค่ะ
เติมต่อแพทเทิร์นลายจีน
แพทเทิร์นลายจีนนิยมใช้เป็นลายฉลุสำหรับฉากกั้น ในปัจจุบันนำแพทเทิร์นมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบและวัสดุที่ทันสมัยมากขึ้น ดีไซเนอร์ระดับโลกอย่าง Jonathan Adler ก็นำเอาแพทเทิร์นลายจีนมาเป็นแรงบันดาลใจออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน
ลองใช้แพทเทิร์นลายจีนมาใช้เช่น การใช้ประดับผนัง การใช้โคมไฟ การใช้หมอนอิงลายแพทเทิร์นจีนก็แสดงกลิ่นอายจีนร่วมสมัยไม่มีจางไปตามกาลเวลา
Jonathan Adler ดีไซเนอร์ชาวอเมริกันนำแพทเทิร์นลายจีนมาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในคอลเลคชั่นใหม่อยู่เสมอ (ภาพจาก www.jonathanadler.com)
การใช้แพทเทิร์นลายจีนตกแต่งผนังก็ทำให้ผนังดูมีมิติขึ้น ล้อไปกับหมอนอิงลวดลายเดียวกัน
เติมความอ่อนช้อยด้วยสไตล์ Chinoiserie
การตกแต่งบ้านแบบ Chinoiserie (ชินัวเซอร์รี่) มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้วเป็นการออกแบบผสมผสานระหว่างจีนและโลกตะวันตกเข้าด้วยกัน ชาวตะวันตกนำเอาศิลปะจากจีนเช่น มังกร เจดีย์ ดอกบัว ภาพวิถีชีวิตผู้คน มาตกแต่งให้เข้ากับความเป็นยุโรปดูอ้อยช้อยและหรูหราจนมาถึงปัจจุบันการตกแต่งสไตล์ Chinoiserie ก็ยังได้รับความนิยมอยู่และมีการลดทอนรายละเอียดลงไปบ้างเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป
เตียง The Badminton Bed สไตล์ Chinoiserie ดั้งเดิม ปัจจุบันเป็นชิ้นงานล้ำค่าที่แสดงที่ Victoria and Albert Museum พิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะและดีไซน์ในกรุงลอนดอน (ภาพและข้อมูลจาก http://www.vam.ac.uk)
การตกแต่งแบบ Chinoiserie เมื่อนำมาใช้คู่กับสีเหลืองทองสร้างความหรูหราระยิบระยับ
ฟ้า-ขาว บันดาลใจ
เครื่องลายครามสีฟ้าขาวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ชาวจีนวาดเป็นลวดลายธรรมชาติ สัตว์และสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นมงคล ในปัจจุบันก็ยังเป็นงานดีไซน์คลาสสิกและสามารถประยุกต์ให้เข้ากับสไตล์ของแต่ละบ้านได้ มาดูตัวอย่างกันค่ะ
นำแจกันลายฟ้า-ขาวมาใส่ดอกไม้สีสันต่างๆ
เครื่องลายครามวางให้ดูมีเรื่องราวก็กลายเป็นมุมสร้างแรงบันดาลใจ จานเซรามิกฟ้า-ขาวจากที่ต่างกันมาประดับตกแต่งผนังเหมือนเป็นงานศิลปะ
เพิ่มความเป็นมงคล
ชาวจีนเชื่อว่าสีแดงสื่อถึงความโชคดีและความสุข ในทางจิตวิทยาสีแดงมีพลังบวกในเรื่องของอำนาจ ความแน่วแน่ และความคิดสร้างสรรค์ ลองเลือกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในโทนสีแดงสักชิ้นเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับห้อง การใช้สัดส่วนของสีแดงให้พอดีห้องโทนสีขาวจะไม่ทำให้บรรยากาศของห้องโดยรวมดูอึดอัดไปด้วย
ห้องโทนสีน้ำตาลแดง เพิ่มความโปร่งด้วยบล็อกแก้ว สร้างบรรยากาศแนวจีนร่วมสมัย
นอกจากนี้แล้วสัตว์หลายตัวก็ถือว่าเป็นสัญลักษณ์นำโชคอย่างเช่น ม้าหมายถึงความคล่องแคล่วว่องไว มังกรแสดงถึงอำนาจ รวมถึงต้นไม้มงคลเช่น ไม้ไผ่หมายถึงความเข้มแข็งและทระนง เดี๋ยวนี้มีภาพเขียนแนวทันสมัยให้เลือกมากมายสามารถนำมาใช้ตกแต่งห้องได้สำหรับคนที่ไม่อยากให้การแต่งห้องดูเป็นจีนคลาสสิกมากเกินไป
ปลาทองหมายถึงการมีเงินทองล้นหลาม
การแทรกห้องไม้ไผ่ไว้ใจกลางห้อง สร้างบรรยากาศให้ดูสงบและผ่อนคลาย
เฟอร์นิเจอร์ฝังใจ
เราเคยเห็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ฝังมุกจนจำฝังใจมาตั้งแต่รุ่นอากงอาม่า บางคนรู้สึกว่าเชยจัง เดี๋ยวก่อน…อย่าเพิ่งคิดแบบนั้น ของเก่าแบบนี้หายากและยังมีขั้นตอนการทำที่เน้นรายละเอียดทั้งนั้น เป็นงานฝีมือควรค่าแก่การเก็บไว้ถึงลูกหลาน เมื่อมาถึงรุ่นใหม่ก็จัดวางน้อยชิ้น ไม่ต้องใช้ครบเชตเหมือนเมื่อก่อนก็ได้
เฟอร์นิเจอร์มุกมีเอกลักษณ์ที่การแกะสลักไม้ และการฝังมุก ลงสีรัก การทำโดยช่างฝีมือ
ใครว่าเฟอร์นิเจอร์มุกดูเชย อย่างห้องนี้โต๊ะและเก้าอี้มุกตัวเก่าเข้ากันได้ดีสไตล์ลอฟท์ดูดิบและเท่ผสมผสาน
อดีตและปัจจุบันมาเจอกันได้ด้วยการตกแต่งแนวจีนร่วมสมัย หวังว่าคงมีสักไอเดียที่ถูกใจเพื่อนๆ นะคะ สุดท้ายนี้ ขอแว่บเข้าไปซอยนี้หน่อย อยากรู้เรื่องบ้านมาถามห้องชายคาได้ ส่วนใครฆ่าประเสิร์ฐนั้นใครรู้ช่วยบอกที…อึนมาหลาย ep. แล้ว สวัสดีค่ะ
ที่มา : รอบรั้วชายคา .