หนึ่งองค์ประกอบที่จะช่วยให้สวนสวยๆ ของเรา ดูสวยงามและมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ นั่นก็คือ ทางเดินในสวน ซึ่งอันที่จริงเราสามารถประดิษฐ์ได้ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องง้อช่าง ใช้เพียงงบประมาณจำนวนหนึ่ง กับแรงงานของเราเอง พร้อมด้วยขั้นตอนวิธีการทำที่ไม่ยากเกินไป
วันนี้ ในบ้าน ก็มีวิธีทำ แผ่นทางเดินคอนกรีตลายใบไม้ มาฝากกันครับ สาธิตวิธีทำโดย แป๊ะแก่ โดยงานนี้สามารถลงมือทำเองและครีเอทให้เป็นลวดลายใบไม้ตามที่เราชื่นชอบได้ ใครที่มีสวนว่างๆ แต่ยังไม่มีทางเดินสวยๆ อยู่ ลองมาดูเป็นแนวทางกันเลยครับ
DIY แผ่นทางเดินคอนกรีตลายใบไม้ เพื่อสวนสวยไม่เหมือนใคร ทำได้ด้วยสองมือของเรา
(โดย แป๊ะแก่)
เริ่มจากทำกรอบไม้
เดิมผมสั่งทำแบบเหล็ก แต่ช่างไม่ยอมทำให้ซักที คงจะเห็นเป็นงานเล็ก หลังจากรอมาเดือนเศษ ก็เลยใช้ไม้ฉำฉามาทำกรอบ ขนาดของกรอบแต่ละช่อง คือ 30 x 60 เซนติเมตร สูง 5 เซนติเมตร การยึดจะใช้สว่านเจาะนำให้มีขนาดครือ ๆ กับตะปู แล้วใช้ตะปูสอดยึดไว้
นำกระดาษถุงปูน (หรือกระดาษอื่น ๆ ที่หนา และเหนียวสักหน่อย)มาขยำ
เพื่อให้เกิดลวดลายผิวของกระดาษ วางกระดาษรองด้านใต้
หาของหนักๆ วางทับตามมุม
เพื่อป้องกันกรอบไม้เคลื่อน
เลือกใบไม้ที่มีเส้นใบเด่นชัด
เพื่อให้ลวดลายโดดเด่น และควรเลือกใบใหญ่หน่อย จะสะดวกในการแกะออก ใบเล็ก ๆ อย่าได้ใช้ หรือใบอ่อน บาง ๆ ก็อย่าใช้ เพราะใบจะเกาะกับปูนแน่น แกะยาก ผมเคยใช้ใบสัก ใบอ่อน ปรากฏว่ามันติดกับปูนแน่น จนต้องแช่น้ำแล้วใช้แปรงลวดขัดเอาใบออก
สองกรอบนี้ ผมใช้ปูน 1 ถัง ทราย 2 ถัง และหิน 2 ถัง
ปูนที่ใช้ ผมจะใช้ปูนปอร์ตแลนด์ ซึ่งที่ใช้คือปูนตราช้าง เพื่อความแข็งแกร่งของแผ่นทางเดิน
ตอนแรกผสมปูนทรายก่อน
โดยผสมปูนให้เข้ากับทราย
เรียงใบไม้คว่ำลงในกรอบตามใจชอบ
ปูนทรายผสมน้ำให้เหลวปานกลาง (ปูนทรายที่จะเททับลงบนใบไม้ในขั้นนี้ ถ้าจะใช้ทรายละเอียด หรือจะร่อนจากทรายหยาบให้ละเอียดขึ้นก็จะดี แต่ผมขี้เกียจเลยใช้ทรายหยาบ)
ใช้เกียงตักปูนทราย ค่อยๆ เทลงบนใบไม้
จากกลางใบ ค่อย ๆ ไล่ให้ทั่ว (พยายามอย่าให้ปูนเข้าใต้ใบ แต่ไม่สำเร็จหรอก) ใช้เกียงเคาะไล่ไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้เกิดฟองอากาศ
ทำไปเรื่อยๆ
จนเต็มแผ่น
ผสมหินลงบนปูนทรายที่เหลือ
คลุกเคล้าให้เข้ากัน
เททับลงบนปูนทราย
ผมไม่ได้ใส่เหล็ก เพราะหมด ขี้เกียจไปซื้อใหม่ และก็คิดว่าจากส่วนผสมนี้คงแข็งแรงมากพอ การไม่ใส่เหล็กก็จะประหยัดลงแผ่นละประมาณ 10 บาท เหลือต้นทุนแผ่นละประมาณยี่สิบบาทเศษ
เทลงจนเต็มแบบพิมพ์
และพอปูนหมาด ๆ ก็ใช้เกียงปาดแต่งผิวให้เรียบ
ส่วนใหญ่ผมจะเทปูนลงแบบในช่วงเช้า พอตอนเย็น ๆ จะแกะแบบข้างออก
เนื่องจากผมใช้ไม้ฉำฉาซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน(มาก)ทำแบบ เมื่อโดนน้ำก็จะบิดงอ ดังนั้นจึงต้องแกะแบบข้างออก…. เพื่อ…
นำไม้แบบข้างมาวางเรียง แล้วเอาของหนักๆ วางทับ
เพื่อบังคับให้มันตรงเรียบในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะหล่อแบบอันต่อไป
วันรุ่งขึ้นแกะแบบออกหมด
จับหงายขึ้น
แกะใบไม้ออกจากแบบ
ขั้นตอนนี้เสียเวลามากสักหน่อย เพราะตามขอบใบจะมีปูนแทรกเข้ามา ซึ่งต้องพยายามแซะเอาปูนออก อาจต้องใช้ตะปู หรือสิ่ว หรือ ฯลฯ ช่วยในการแกะออก และขอบของแผ่นควรแต่งให้เรียบ ผมใช้ตะไบหยาบ ๆ ถูเอาส่วนเกินออก
หลังจากแกะใบไม้ออกจากแบบแล้ว และแต่งขอบให้เรียบร้อย
ลองทำดู แล้วจะรู้ว่า ควรจะใช้ใบไม้ใบใหญ่หน่อย จะง่ายขึ้น
จากรูปจะเห็นผมใช้ใบกล้วย(ใบตอง)ด้วย
เสร็จแล้วควรจะบ่ม(ผมใช้รดน้ำเอา)
เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับคอนกรีต ผมจะบ่มอยู่ไม่ต่ำกว่า 7 วัน
เมื่อบ่ม และแห้งดีแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ “ทาสี”
ผมใช้การทาสี เพราะมันง่ายกว่าวิธีอื่น โดยใช้สีน้ำทาพื้นปูน ชนิดทาภายนอก เลือกสีที่เกรดดีหน่อยแล้วกัน เพื่อความทนทาน
ตัวอย่างแผ่นทางเดินลายใบไม้ ซึ่งผมทำมาได้ประมาณปีเศษ
แผ่นตรงมุมทางเลี้ยวโค้ง… จะเห็นว่าสีที่ทายังคงดีอยู่
ซึ่งการทำแผ่นทางเดินแบบนี้ไม่ยากเลย ไม่ต้องทำโมล
การที่ผมทำแผ่นทางเดินเองนั้น วัตถุประสงค์ที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่การประหยัด
แต่อยู่ที่ความแข็งแรงที่มีมากกว่าที่เขาทำขายมาก การประหยัด และลวดลายต่าง ๆ ที่เป็นของเราเองเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา ลองทำเล่นดูนะครับ ถ้ามีปัญหาอะไรผมยินดีตอบให้ตามที่ทราบครับ ขอบคุณมาก จบครับ
ที่มา : แป๊ะแก่