จากรีวิว จัดสวนด้วยใจรักฉบับมือสมัครเล่น แต่สวยงามสะดุดตา ราวกับจ้างมืออาชีพมาทำให้ ที่ได้ทำสวนสวยหน้าบ้านเรียบร้อยแล้ว และได้ปูพื้นปูนทิ้งไว้เพื่อเตรียมจะทำศาลา มาคราวนี้ คุณ avatayos จะมาเผยให้เห็นถึงขั้นตอนการทำ ศาลาไม้สำหรับพักผ่อน กันครับ งานนี้ใช้งบไปไม่ถึง 35,000 บาท ติดตามชมกันได้เลย
Review : DIY ศาลาไม้สำหรับพักผ่อนและแต่งสวน ในราคาไม่เกิน 35,000
(โดย avatayos)
ตอนแรกจะเทปูนหมดเลย แต่พอวางกรอบแบบแล้ว ดูๆ แล้วมันแปลกๆ
เลยทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมดีกว่า ส่วนพื้นที่ว่างอยู่ คงต้องไปซื้ออิฐมอญโบราณมาใส่เพิ่มเติมแทน
ไม้แบบไม่พอ
ก็เลยเอาไม้ที่รื้อจากศาลามาทำเป็นไม้แบบ
ที่เหลือด้านหลังไม่มีไม้แบบ
เลยเอาทรายเป็นแบบแทน
ตอนนี้กำลังคิดว่า จะปูกระเบื้องดี หรือปูไม้ดี
ชอบปูไม้มากกว่าได้อารมณ์สวน แต่ปูกระเบื้องใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ยังคิดไม่ ตก…
หลังจากรอปูแข็งตัว ผมก็เริ่มคำนวณไม้ตามแบบ
วางแผนไว้หลายแบบครับ จะมีชิงช้าให้ลูกด้วย เป็นศาลาไม้ที่นั่งเล่นได้ ไม่โดนฝน เคยคำนวณงบประมาณไว้ที่ 2.5 หมื่นบาท ก็ลองโทรไปสั่งไม้ ปรากฎว่า โครงไม้เต็ง ไม้พื้นใช้ไม้แดง คิดมา 3.2 หมื่นบาท ก็มีแอบเปลี่ยนใจ ว่า ถ้า เราทำพื้นเป็น อิฐแดง ตัดกับทรายล้าง ก็สวยเหมือนกันนะ คำนวณแล้วค่าทำไม่เกิน 5,000-6,000 บาท ถูกลงไปหมื่นกว่าๆ ก็เลยสั่งแต่ไม้โครงหลังคา มาทำงานก่อน ระหว่างที่ทำ ปรากฎภาพนี้ตอนทาสีไม้ นำไม้ไปตากให้แห้ง
เลยถึงกับต้องเปลี่ยนใจ ว่าต้องลงทุนพื้นไม้จริงเท่านั้น
แต่ขอปรับนิดหน่อยคือ ใช้ไม้เต็งทั้งหมด เพื่อ
- สีไม้จะได้เหมือนกันหมด ไม่โดด (ไม้แดง ทาสีย้อมไม้เบอร์เดียวกัน กับไม้เต็ง ผลของสีออกมาต่างกันมากครับ)
- ราคาจะถูกลง เพราะไม้เต็ง ลบ.ฟุต ละ 1000-1100 (ไสแล้ว อบแล้ว) ส่วนไม้แดง ลบ.ฟุตละ 1500-1600 บาท
ถูกลง 30% ก็ประมาณ 5 พันบาทได้ครับ
อันนี้ภาพ ไม้เต็งที่สั่งมารอบแรก
8,400 บาท เป็นเต็งลาว
ความรู้ที่ได้จากงานไม้ครั้งนี้ คือ
1. ขนาดไม้ 1 นิ้ว เท่ากับ 2 ซ.ม. ส่วน 6 นิ้ว เท่ากับ 5 นิ้วกับ 6/8 นิ้ว ไม่เท่ากับนิ้วเมตรจริงๆ น่าจะเพราะเป็นไสไม้ด้วย อันนี้ผมไม่แน่ใจ แต่มันหายไปนิด – ทำให้ผมต้องคำนวณอะไรหลายๆ อย่างใหม่ เพราะขนาดที่หายไป เมื่อรวมๆ กันหลายๆ แผ่น ก็หายเป็นนิ้วได้เหมือนกัน
2. ไม้เต็ง แข็งตามชนิด ทำให้งานเลื่อย เป็นไปด้วยความเหนื่อยยากมาก และผมไม่ลงทุนอุปกรณ์เลื่อยไม้ตัวใหญ่ พวกเลื่อยวงเดือน แต่ใช้เลื่อยตัวเล็ก อย่างเลื่อยจิกซอ แทน จึงทำให้ การไสไม้หนาๆ 1.5 นิ้ว เป็นไปอย่างช้ามาก คำนวณจากงานจริง 3 ชั่วโมง เลื่อยได้ประมาณ 100 นิ้วเอง (ระยะทางโดยรวม และรวมพักเครื่อง พักคน)
ถ้ารักจะทำงานไม้จริงๆ จังๆ หาโต๊ะเลื่อยดีๆ เลยดีกว่าครับ
ภาพนี้คือ ขาตั้งเลื่อยไม้ของผมเอง
ทั้งทาสี ทั้งเลื่อย 5555
หลังจากได้ไม้มา ผมก็เริ่มทาสีก่อน
เหตุที่ทาก่อน เพราะช่วงนี้ฝนตก จึงต้องการให้ไม้มี cover ป้องกันไว้ก่อน และอีกอย่างคือ ผมยังคิดไม่ตกเรื่องแบบ ภาพนี้คุณภรรยาถ่ายให้
กับอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ถ้าเป็นช่างทั่วไป จะประกอบจนเสร็จแล้วค่อยทา มันเมื่อยครับ ไปยืนทา ยกแปรง เมื่อย แต่ทาแบบนี้ สบายกว่า
อีกประการคือ ไม้ทุกด้านจะได้รับการป้องกัน ถ้าไปประกอบก่อน ไม้ที่อยู่ในมุมอับ มุมประกอบ จะไม่ได้รับการทาครับ
เมื่อทาเสร็จ ตอนแรกวางแผนไว้ว่าจะเอาเสาเก่าจากศาลา
แต่เนื่องจากเสาเก่า มีการย้อนสีแดงไว้แล้ว (สีย้อมไม้แดง) จึงน่าจะทำให้สีไม่ตรงกันที่ต้องการ แม้ว่าจะไส จะขัดออกหมดก็ตาม จึงจำใจ สั่งไม้ใหม่ มาเพิ่มอีก 4 ต้น แล้วก็ทาสี ให้เรียบร้อย พอสีแห้งดี ก็มาเซาะร่อง หัวเสาด้านล่างเพื่อตั้งเสา กับมาร์คจุดเพื่อล็อกด้วยน็อตหัวเสา
ที่หัวเสาด้านบน ก็บากเข้าไป 2 ซม. เพื่อใช้วางคานไม้
ที่เข้าไปแค่ 2 ซม. เพื่อความสวยงาม และ ไม่ให้ไม้เสาเหลือพื้นที่น้อยเกินไป
จากนั้นก็พิธีตั้งเสาเอก
ก็แค่เอา ไม้วัดระดับมาทาบ ไม่ได้ใช้ลูกดิ่ง เพราะ เสาไม้ ได้ฉากดีแล้วครับ
สรุป เสาสี่ต้น เอียงเล็กๆ ไป 1 ต้น อันเนื่องจาก เจาะรูน็อตเอียง (ผมมึนเอง 55) ไม่อยากเจาะใหม่ เพราะจะหลวม ทำให้เสาไม่แน่น
จากนั้น ก็ลองขึ้นตามแบบ ได้ภาพนี้
เป็นเสาโทริ ของญี่ปุ่นเลย
จากนั้น ก็ถอดออก มาบากร่อง เพื่อรองรับคานที่จะใช้เป็นคานหลังคา
วิธีการก็เอาไม้ 4 แผ่น มาวางให้เท่ากัน แล้วก็ ขีดเส้นเพื่อบากเป็นแนวเดียวกันทั้งหมด
เมื่อบากเรียบร้อย ก็ยกขึ้นติดตั้ง ล็อกด้วยน็อต 3 หุน ขนาด 3 นิ้ว ด้านละ 4 ตัว
จากนั้นก็เอาคานไม้ 4 เมตร มาวาง แล้วขีดเส้น เพื่อตัดเข้าร่อง ค่อยๆ ทำทีละแผ่น โดยความลึกในการบาก จะลดระดับกันไป
ถึงเมื่อวานนี้ ใช้เวลาไป 1 เดือนเต็มๆ
หมดเงินไปแล้วประมาณ 13,000 บาท ยังเหลือไม้หน้า 6 นิ้ว หนา 1 นิ้ว ยาว 3 เมตร อีก 6 แผ่น (เกิดจากผมเปลี่ยนแบบ แต่เอาไม้มาทำไม้พื้นต่อได้) และไม้ระแนง 1*1 นิ้ว ยาว 4 เมตร อีก 16 เส้น (ตั้งแต่ว่าจะทำเป็นระแนง ไม่ใส่หลังคา เพราะจะทำพื้นเป็นทรายล้างกับกระเบื้อง)
จากรูปจะเห็นสีไม่เสมอ
เนื่องจาก พอติดตั้งเสร็จ ก็ต้องตกแต่งสีอีกรอบ จึงโป้วบางส่วนที่ไม่สวย ให้เรียบ เมื่อโป้วแล้ว รอให้แห้งประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ขัดออกด้วยกระดาษทรายได้ แต่เมื่อวาน ฝนลงเสียก่อน เลยยังไม่ได้ทำ
นอกจากนี้ 1 เดือนที่ผ่านมา ผมยังซื้ออิฐมอญโบราณมาเพิ่ม
เพื่อปูให้ชนกับพื้นปูนที่เทไว้ (แต่ยังไม่ได้ตัดเพื่อวางให้เข้าร่อง) และซื้อ ต้นไทรเกาหลี มาลงเพิ่มตามแนวรั่วครับ (ภาพย้อนนิดนะครับ)
แล้วก็มีการเดินไฟ
เดินไฟไว้สำหรับติดตั้งโคมไฟในสวน กับไฟที่เดินไปห้องเก็บของ (Shed) ในอนาคต) รวมถึงทาสีกำแพงจากรอยน้ำท่วมให้หมดไปด้วย
ลงต้นไทรเกาหลี ต้นละ 120 บาท
ไม่ได้วิ่งไปซื้อถึง คลอง 15 แต่ซื้อแถวบ้าน ราคาแพงกว่า แต่คุ้มค่าน้ำมัน ส่วนตู้ไฟ ไว้ใส่เบรกเกอร์ ตัวตั้งเวลาเปิดปิดไฟในสวน
อันนี้ภาพรวมๆ ตอนนี้ครับ
ส่วนผ้าพลาสติกสีฟ้า ไว้คลุมต่างๆ กันฝนครับ บางทีก็ไว้กันแดด
ส่วนงานที่เหลือคือ ลงพื้นไม้
ซึ่งจะวาง ตง ขนาด 3 นิ้ว หนา 1.5 ล็อกกับพื้นปูนด้วยตะปู หลักการเดียวกับปูพื้นบ้านทั่วไป แล้วคลุมด้วยแผ่นพลาสติกกันชื้น อีกทีหนึ่ง เพื่อกันไอชื้นจากปูน
ส่วนเสาปูน ที่ทำแบบนี้ เพราะกันชื้น แล้วเสาเน่า (เหมือนศาลาเก่า) ดังนั้นจึงต้องปิดเสาปูนด้วย ไม้อีกชั้นหนึ่งครับ ก็จะสวยงาม
ส่วนหลังคา จะปูด้วย กระเบื้องลอนเล็ก อาจสวยน้อยลง แต่ได้ประโยชน์มากกว่าคือ ป้องกันฝน และให้ร่มเงาได้ดี
มาเล่าเรื่องเปลี่ยนแบบครับ
ตอนแรก จะทำแบบนี้ (ขอบคุณเจ้าของภาพด้วย ไม่รู้ที่มา)
คือ ไม้คาน 4 เมตร จะเป็นตัวคานรับไม้คานหลังคา
แต่ ดูทิศลมแล้ว ถ้าวางคานแบบนี้ หลังคาจะหันอีกแบบหนึ่ง ถ้าจะให้หันแบบปกติ ต้องหาคานมาวางอีกชั้น เป็น 3 ชั้นเลย ผนวกกับไปเจอภาพนี้ (ขอขอบคุณเจ้าของผลงานอีกทีครับ)
ก็เห็นชิงช้า เคยสัญญากับลูกไว้ ก็เลยอยากทำบ้าง
คำนวณแล้ว ต้องเปลี่ยนแนวคานมาเป็นแนว 3 เมตร ตามภาพปัจจุบัน เพื่อรองรับการ ผูกเชือก แขวนชิงช้า เลยเปลี่ยนมาเป็นแบบปัจจุบันครับ ทั้งนี้ตามแบบ ต้องเสริมคานด้วย อีก 2 เส้น ตามแนวด้านหน้า และด้านหลัง เพื่อความแข็งแรง
สรุปค่าใช้จ่าย
ไม้รอบแรก
1. ไม้เต็งลาว หน้า 6 หนา 1 นิ้ว ยาว 3 เมตร รวม 6 แผ่น
2. ไม้เต็งลาว หน้า 6 หนา 1.5 นิ้ว ยาว 3 เมตร รวม 4 แผ่น
4. ไม้เต็งลาว หน้า 6 หนา 1 นิ้ว ยาว 4 เมตร รวม 2 แผ่น
5. ไม้เต็งลาว หน้า 1 หนา 1 นิ้ว ยาว 4 เมตร รวม 16 เส้น
รวมค่าขนส่ง 8,400 บาท
ไม้รอบสอง
1. ไม้เต็งลาว หน้า 4 หนา 4 นิ้ว ยาว 2 เมตร รวม 4 ต้น
2. ไม้เต็งลาว หน้า 6 หนา 1.5 นิ้ว ยาว 4 เมตร รวม 2 แผ่น
รวม 5,100 บาท (ไปรับเอง)
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
- ค่าสี TOA ย้อมไม้ สีมะฮอกานี 1/4 แกลลอน 1 ถึง และ 1 แกลลอน 1 ถัง ประมาณ 1,500 บาท
- ค่า Wood Filler สำหรับโป้วไม้ 380 บาท (ประมาณ)
- ค่าน็อตหัวเสา 5 นิ้ว อันละ 9 บาท
- ค่าน็อต 3 นิ้ว พร้อมแหวน และตัวเมีย ชุดละ 10-12 บาท ซื้อทั้งหมด 16 ชุด
- ค่ากระดาษทราย หมดไปแล้ว 2 แผ่น แผ่นละ 7 บาท
- ค่าทินเนอร์ เบอร์ 21 จำราคาไม่ได้
- ค่าทินเนอร์ ทั่วไป (ไว้ล้างแปรง) มีของเก่าเก็บอยู่
เหลือต้องสั่งไม้อีกประมาณ 15,000 บาท เพื่อนำมาทำพื้นและตง
ส่วนขั้นตอนการทาสี ผมไม่ได้ใช้สีรอง เพราะต้องการทาสีทั้งหมด 3 รอบ ความจริง สีรองพื้นสำหรับย้อมไม้ ก็คือ สีเดียวกับที่มีเนื้อสี แต่เป็นสีไส การทาสีไม้ให้ทน ควรทา 3 รอบขึ้นไป และผมก็ต้องการย้อมสีเกิน 3 รอบ จึงซื้อขนาดแกลลอนใหญ่ 1 แกลลอน์ไปเลย ตอนแรกซื้อแกลลอนเล็กก่อน เพื่อลองสีครับ ว่าชอบไหม ถ้าไม่ชอบ ก็เปลี่ยน ก็เปลืองไม่กี่ร้อย พอเอามาลองทาแล้วชอบ ก็เลยจัดแกลลอนใหญ่ครับ
1 แกลลอน์มี 4 กระป๋องเล็ก
1 กระป๋องเล็กทาได้ประมาณ 12 ตารางเมตร
จากงานทั้งหมดที่เห็น ผมใช้ไปแล้ว 1.7 กระป๋องเล็กครับ ยังเหลือทาทับอีก 1 รอบ น่าจะใช้เกือบกระป๋องเล็ก และงานพื้นไม้ทั้งหมดอีก คาดว่า สีหมดพอดีกับงานที่ต้องการครับ
ภาพเบื้องหลังอีกภาพ
คุณภรรยาถ่ายให้ มาเห็นแล้วก็แซวทีหลัง ว่า ทำงานจนหน้ามืดเลย
ที่มา : avatayos