บ้านหลายๆ หลังอาจจะมีพื้นที่ว่างตรงบริเวณหลังบ้าน ซึ่งอาจจะคับแคบเกินไปจนใช้ประโยชน์อะไรแทบจะไม่ได้ แต่เชื่อเถอะว่าหากเรามีไอเดียและการวางแผนที่ดีแล้วล่ะก็ ถึงแม้พื้นที่จะแคบซักแค่ไหน เราก็สามารถทำอะไรสักอย่างกับมันได้
เหมือนอย่างรีวิวที่ ในบ้าน นำมาให้ชมกันในคราวนี้ครับ เป็นการต่อเติมพื้นที่หลังบ้านขนาดสุดคับแคบเพียง 3 x 4 เมตรให้กลายเป็นห้องครัวที่สวยงามและน่าใช้งาน ซึ่งทางเจ้าของ คุณ สมาชิกหมายเลข 2438730 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม จะมาแบ่งปันขั้นตอนการทำเป็นแนวทางสำหรับคนที่สนใจ ลองไปรับชมกันได้เลยครับ
มาดูการต่อเติมหลังบ้านที่พื้นที่คับแคบ 3×4 เมตร
(โดย คุณสมาชิกหมายเลข 2438730)
พอดีมีพื้นที่หลังบ้านว่าง ๆ แคบ ๆ ขนาด 3×4 เมตร เลยถือโอกาสต่อเติมครัว มาดูกันนะครับว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
จากนั้นก็เริ่มออกแบบอย่างที่ต้องการ โดยหาไอเดียจากเว็บไซต์ หนังสือ และแคตตาล็อกต่าง ๆ แล้วลองมาลง sketch up ดู หน้าตาที่อยากได้ก็ออกมาประมาณนี้ครับ
เนื่องจากพยายามศึกษาปัญหาเรื่องการทรุดตัวของการต่อเติมบ้าน มาหลายเว็บไซต์จึงได้ข้อสรุปว่าทำยังไงก็ทรุด แตกต่างกันที่จะเกิดช้าหรือเกิดขึ้นเร็วเท่านั้นครับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก สภาพพื้นดินของตัวบ้าน และอีกหลาย ๆ ปัจจัย ผมก็เลยจึงใช้แต่วัสดุเบา ๆ เท่าที่จะทำได้ โดยตั้งเสา 4 ต้นแยกตัวออกมาไม่อิงกับตัวบ้าน โดยวาง plate เหล็กบนพื้นปูนเดิมแล้วตั้งเสาตามรูปครับ
ส่วนเรื่องหลังคาผมเลือกเมทัล ชีทแบบมีฉนวน แต่การปูหลังคานั้นต้องขออนุญาตเพื่อนบ้านก่อน เพราะต้องขอถอดชิ้นส่วนหลังคาที่เป็นตัวปิดจบปลายออก เพื่อเอารอนหลังคาของเราไปปูทับ ไม่ให้เกิดการรั่วระหว่างรอยต่อหลังคาครับ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเลยครับ ผมย้ำกับช่างเสมอว่าห้ามทำหลังคาเพื่อนบ้านเลอะเด็ดขาด เลยสั่งให้ทำความสะอาดด้วย ผมคิดว่าต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านไว้ก่อนครับ (จริง ๆ ผมซื้อขนมไปฝากเพื่อนบ้านด้วย เพราะกลัวเขารำคาญเรา) ส่วนการเชื่อมก็ต้องระวังอย่าไปกระเด็นใส่เพื่อนบ้าน (ต้องควบคุมเอง เผลอเป็นไม่ได้) ต้องหากระดาษมาบัง ไม่ให้กระเด็นไปยังฝั่งของเขา
จากนั้นเชื่อมเหล็กทำแนวบังตา ผมไม่รู้จะออกแบบอย่างไรจึงหาตามเว็บไซต์ แล้วให้ช่างดูว่าอยากได้ประมาณนี้ ทำได้ไหม ? สรุปว่าทำได้ แล้วหน้าตาก็ออกมาประมาณนี้ครับ
ต่อไปก็ส่วนที่เป็นครัวปูน ผมออกแบบโดยเลือกขนาดจากบานซิงก์ ใช้ทั้งหมด 4 บานประกอบด้วยใต้ซิงก์คู่ ใต้ซิงค์เดี่ยว ใต้เตา และบานถังแก๊ส แต่ขนาดมีแบบแล้วนะช่างก็ยังทำพลาดอยู่ ไม่เหลือระยะวางถังพักน้ำและเลื่อนออกไปจากแบบสรุปต้องแก้ใหม่ ดีนะยังไม่ได้ทำไปมากกว่านี้
ระหว่างนั้นก็ใส่ไม้ระแนง ตอนแรกบอกช่างว่าเอาไซส์ 4 นิ้ว แต่ช่างดันไปซื้อ 8 นิ้วมาซะงั้น แต่เอาเหอะ…ยังไงฝนก็สาดเหมือนกัน (ถ้าตกแรง ๆ ) ก็เลยคิดว่าถ้าแผ่นใหญ่จำนวนช่องห่างระหว่างแผ่นจะน้อยลง ฝนน่าจะสาดเข้ามายากกว่า แต่ก็กลัวร้อนแล้วก็กลัวมืดด้วย พอคิดไป-คิดมา คิดไม่ตก ยังดูขัดหูขัดตาอยู่ แต่ก็เออออเอาตามช่างไป เสร็จแล้วจะเอายังไงก็ค่อยมาว่ากันอีกที ต่อไปก็วางระบบท่อน้ำทิ้ง ออกแบบไว้ 3 จุดคือ
1. ท่อจากรางระบายน้ำฝน
2. ท่อจากซิงก์ล้าง
3. ท่อจากเครื่องซักผ้า
รวมกัน 3 เส้นในบ่อเดียว
ต่อไปเป็นการเลือกกระเบื้อง อันนี้ยากสุด ๆ เพราะต้องเลือกให้แฟนชอบด้วย ซึ่งมันลงตัวยากมากที่จะเอาความชอบของ 2 คนมารวมกัน
สุดท้ายเลยลองเอามาวางใน Sketch up ดูก่อนประมาณนี้
เนื่องจากตอนออกแบบไม่ได้วัดขนาดกระเบื้อง แบบว่าเดา ๆ เอาเพราะลืมวัดขนาด แล้วขี้เกียจไปที่ร้านใหม่ พอซื้อมาจริงคำนวณระยะพลาดไปหน่อย เลยต้องแก้แบบกันสด ๆ หน้างานนิดหน่อยตรงตำแหน่งเตาแก๊สครับ
ส่วนกระเบื้องพื้นใต้ซิงก์ก็สื่อสารพลาดไปหน่อย โดยบอกช่างไปว่าข้างใต้ไม่ซีเรียสมากถ้าไม่พอก็เอาเศษกระเบื้องเหลือ ๆ แปะเอาก็ได้ แต่พอเห็นช่างปูแนวลายไม้ของกระเบื้องไม่เป็นแนวเดียวกัน ผมก็ต่อว่าช่างว่าทำไมไม่ปูแนวเดียวกัน ช่างตอบว่าก็บอกว่าไม่ซีเรียสหนิ T_T จบเลยแล้วก็สั่งแก้ครับ เฮ้อ…
จากนั้นก็ปูกระเบื้องพื้นรวมที่ฝาบ่อพัก แต่เหลือส่วนระบบน้ำไว้สุดท้าย
มาถึงส่วนสำคัญที่สุดอีกอันคือ ระบบน้ำประปา อันดับแรกคือการเลือกถังพักน้ำ เนื่องจากพื้นที่มันแคบมาก ผมเลยต้องเลือกถังแบบผอมสูง ตอนแรกผมอยากได้ถังพลาสติก แต่หาแบบทรงผอมสูงที่ต้องการไม่ได้ เลยมาจบที่ถังสเตนเลสขนาด 1,250 ลิตรตามพื้นที่ที่เหลือส่วนระบบท่อส่งน้ำนั้นผมเลือกต่อน้ำ 2 ระบบคือ แบบปั๊มน้ำกับใช้น้ำประปา โดยผมติดก๊อกเตี้ยไว้ที่ตัวถังอีกจุด เผื่อไว้ในกรณีที่ระบบปั๊มน้ำและน้ำประปาใช้ไม่ได้ทั้ง 2 อย่าง
หาวงจรต่อน้ำประปาได้ทั่วไปตามเว็บไซต์ต่าง ๆ อีกเช่นเคยครับ แต่ผมจะต่อ สต็อป วาวล์ เพิ่มทุกตัว เพื่อใช้ซ่อมเปลี่ยน เช็ก วาวล์ และปั๊มในอนาคตด้วย
ผมเลือกปั๊มน้ำฮิตาชิ 350 วัตต์ แรงดันคงที่สำหรับบ้าน 3 ชั้น เนื่องด้วยโปรโมชั่นลดราคาล่อใจ
ตอนแรกก็ศึกษาในเว็บไซต์ว่า ปั๊มแรงไปจะมีปัญหาตามข้อต่อหรือตามเกลียวสายชำระต่าง ๆ หรือเปล่า แต่พอศึกษาดี ๆ แล้วสเปคของตัวปั๊มทำแรงดันสูงสุดได้ที่ 2.6 บาร์ ซึ่งเกรดท่อประปาในตัวอาคารใช้แบบกลาง ๆ คือเกรด 8.5 ดังนั้นเรื่องท่อแตกเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนเรื่องวาวล์และเกลียวสายชำระต่าง ๆ ของโครงการผมถอดเปลี่ยนใหม่หมดเลย เพราะใช้เป็นแบบเหล็กบางชุบโครมเมี่ยม ถ้าในอนาคตเกิดผุหักคาเกลียวก็จบเห่กัน ผมเลยเปลี่ยนเป็นวาวล์เกลียวท่อทุกตัว ส่วนเรื่องข้อต่อท่อประปาจะรั่วหรือไม่นั้น ผมไม่สามารถคาดเดาได้เลยคิดแค่ว่า ถ้าเดิมต่อไว้ห่วยจะใช้ปั๊มแรงน้อยหรือแรงมาก ก็หลุดเหมือนกันละหน่า
ขั้นตอนสุดท้ายประกอบบานตู้ สาเหตุที่ผมเลือกของ King เนื่องจากมันมีแบบบานทึบ (ไม่มีมุ้งลวด) เพราะบ้านหลังเดิมจิ้งจกชอบไปซุกตามร่องมุ้งลวดของบานประตู ที่เหลือก็ทาสีเก็บรายละเอียดและทำความสะอาด ทำการทดสอบระบบหมดแล้วครับครัวจิ๋วอันแสนคับแคบของผม เป็นการผสมผสานศิลปะมั่ว ๆ เลยออกมาแบบขัด ๆ ตาตามนั้นแหละครับ หวังว่าพอจะเป็นไอเดียสำหรับคนที่มีพื้นที่หลังบ้านคับแคบพอ ๆ กันนะครับ
หวังว่าคงจะพอได้ไอเดียเป็นแนวทางกันบ้างเนอะ ใครที่มีพื้นที่ว่างๆ อยู่ และกำลังต้องการครัวใหม่ สามารถนำไอเดียไปประยุกต์ใช้กันได้เลยนะครับ