ในสมัยก่อน รูปแบบของงานสถาปัตยกรรมจากที่ต่างๆ ของโลก ล้วนมีรากฐานมาจากศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ และเมื่อกาลเวลาผ่านไป การสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ของมนุษย์เราได้พัฒนาขึ้น รูปแบบงานสถาปัตยกรรมก็มีการผสมผสานจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์อีกแบบที่ทั้งสวยงามและน่าจดจำ
ดังเช่น “บ้านวิชาเยนทร์” หรือ บ้านหลวงรับราชทูต ที่ถูกก่อสร้างขึ้นในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นครองราชย์ มีการตกแต่งด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) ที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทยดั้งเดิม ซึ่งในปัจจุบันนี้เหลือเพียงแต่ซากอาคารและเปิดเป็นโบราณสถานให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้ ตั้งอยู่หัวหิน จังหวัดลพบุรีครับ
แต่เดิม บ้านวิชาเยนทร์หรือ บ้านหลวงรับราชทูตนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับรองเอกอัครราชทูตจากฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเป็นทูตจากฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรี
ต่อมาก็มีชาวกรีกนามว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้เข้ามารับราชการและได้รับความดีความชอบ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นถึง “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” พร้อมทั้งได้รับพระราชทานที่พักอาศัย ซึ่งก็คือบ้านหลวงรับราชทูตแห่งนี้นั่นเอง
อาคารของบ้านหลวงรับราชทูตเป็นอาคารที่สร้างด้วยอิฐ ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา มีกำแพงล้อมโดยรอบ และแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ทิศตะวันตก, ส่วนกลาง และทิศตะวันออก
ทางทิศตะวันตก จะประกอบไปด้วยกลุ่มอาคาร ได้แก่ ตึกสองชั้นหลังใหญ่ ก่อด้วยอิฐและอาคารชั้นเดียวแคบยาว พร้อมซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ที่แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมแบบยุโรป โดยเฉพาะหน้าต่างและซุ้มประตู เป็นศิลปะแบบสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance)
สำหรับพื้นที่ส่วนกลางของบ้านหลวงวิชาเยนทร์ ถูกสันนิษฐานว่าเป็นหอระฆังและโบสถ์ คริสตศาสนา โบสถ์เหล่านี้ถือกันว่าเป็นโบสถ์คริสต์หลังแรกของโลก ที่มีการตกแต่งด้วยลักษณะของโบสถ์ทางพระพุทธศาสนา
ส่วนทางด้านทิศตะวันออก มีอาคารใหญ่ 2 ชั้น บันไดขึ้นด้านหน้า เป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ตกแต่งในลักษณะเดียวกันกับตัวอาคารทางด้านทิศตะวันตก
หากเพื่อนๆ ชาวเว็บสนใจอยากไปเยี่ยมชมหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานศิลปากรที่ 4 ลพบุรี โทร. 0-3641-2510, และ 0-3641-3779
ข้อมูลการติดต่อ
ที่อยู่: ถนนวิชาเยนทร์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
วันพุธ – วันอาทิตย์
07.00 – 17.00
.