ในการออกแบบสร้างครัวปูน หลายๆ คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยากและเป็นหน้าที่ของช่างฝีมือก่อสร้าง แต่สำหรับคุณ สันต์_bt สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น ได้ลงมือสร้างครัวปูนแบบง่ายๆ ด้วยตัวเองจนสำเร็จ
ซึ่งครัวที่ปูนที่ทำเองนี้ นอกจากจะดูเนี้ยบและเรียบร้อยแล้ว ยังดูสะอาดสะอ้านและน่าใช้งานอีกด้วย จากเรื่องที่คิดว่ายากเกินความสามารถ แต่กลับทำได้ง่ายๆ แบบนี้ เขาทำได้ยังไงกันนะ? ถ้าอยากรู้อย่ารอช้า ตามไปดูกันได้เลย
อุปกรณ์หลักๆ
1. ค้อน
2. ตะปู
3. เลื่อย
4. ตลับเมตร
5. คีมมัดลวด
6. เกรียงก่อ
7. ปักเต้าดีดเส้น
8. เครื่องเจียรตัดกระเบื้อง
9. ถังปูน
10. จอบ
11. กระบะผสมปูน
ขั้นตอนในการทำ
ขั้นตอนแรกดูขนาดพื้นที่ของห้องที่เราจะทำก่อนครับ ว่ามีขนาดเท่าไร จะทำเคาน์เตอร์ยาวกี่เมตร จะจัดวางเตา วางซิงค์ไว้ตรงไหน ร่างแบบคร่าว ๆ ใส่กระดาษไว้ก่อนครับ ส่วนห้องที่ผมจะทำครัวปูนมีขนาด 3×3 เมตรครับ
ร่างแบบด้านกว้างของเคาน์เตอร์กันครับ เคาน์เตอร์ส่วนใหญ่จะมีด้านกว้าง 0.60 เมตร อย่างตัวนี้ปูท็อปเคาน์เตอร์ครัวด้วยหินแกรนิต นั่นแสดงว่าหินแกรนิตยื่นออกจากผนัง 60 เซนติเมตร ส่วนตัวด้านกว้างของเคาน์เตอร์จะลดลงมาอยู่ที่ 0.585 เมตร ฉะนั้นเราควรเทปูนกว้างไม่เกิน 0.57 เมตรครับ แต่ถ้าท็อปเคาน์เตอร์ปูด้วยกระเบื้องเราสามารถปรับเป็น 0.59 เมตรได้เลยครับ
ส่วนความสูงที่เหมาะสมอยู่ที่ 0.90 เมตร โดยวัดจากพื้นที่ปูเสร็จแล้วนะครับ หรือพูดง่าย ๆ คือถ้าก่อเคาน์เตอร์ครัวจากพื้นเดิมอยู่แล้วให้วัดความสูงขึ้นไปที่ 0.90 เมตรได้เลย แต่ถ้าต้องปูพื้นครัวใหม่ต้องหาระดับพื้นที่แน่นอนให้ได้ก่อนครับ ทีนี้มาหามุมใดมุมหนึ่งเป็นหลักความสูงกันครับ โดยวัดจากพื้นขึ้นไป 0.90 เมตร
วัดจากพื้น 90 เซนติเมตร เป็นเส้น A
วัดจากเส้น A ลงมา 2 เซนติเมตร เป็นเส้น B
วัดจากเส้น B ลงมา 2 เซนติเมตร เป็นเส้น C
วัดจากเส้น C ลงมา 6 เซนติเมตร เป็นเส้น D
วัดจากเส้น D ลงมา 1 เซนติเมตร เป็นเส้น F ครับ วัดระดับแบบนี้ทุกมุมและดีดเส้นด้วยปักเต้าไว้ครับ
เมื่อดีดเส้นไว้แล้ว เรามาทำโครงแบบกันครับ
ไม้ที่นำมาทำแนะนำให้ใช้ไม้เนื้ออ่อนนะครับ เช่น ไม้พาเลท ไม้ลัง หรือไม้นิ้ว ก็ทำได้หมดครับ เพราะง่ายต่อการตัด ตอก และรื้อด้วยครับ หลังจากเลือกไม้ได้แล้วก็นำมาแนวเส้น F ตามที่คำนวณเอาไว้โครงตัวที่ 2 ให้ทำห่างจากผนัง 50 เซนติเมตร ปูด้านบนด้วยกระเบื้องแกรนิตโต้ครับ แกรนิตโต้ถูก ๆ ราคาไม่ถึง 200 บาทต่อตารางเมตรครับ นอกจากนี้ยังมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องตัดเหมือนไม้อัด เพราะมีความกว้าง 60 เซนติเมตรอยู่แล้วสามารถนำไปใช้ได้เลยและแข็งแรงกว่าไม้อัดครับจากนั้นตัดเหล็กเส้นขนาด 3 หุนมาเสียบ โดยตัดที่ความยาว 60 เซนติเมตรครับ เจาะระหว่างกลางขึ้นมาจากแบบ 3 เซนติเมตรโดยเว้นระยะห่างที่ 20 เซนติเมตร เว้นช่องไว้สำหรับก่อซิงค์ล้างจานครับวางเหล็กตัวขวาง 3 เส้นครับแล้วมัดลวดให้แน่นหนาและกั้นไม้แบบ โดยตอกตะปูและมัดลวดยึดไว้กับเหล็กเส้นครับ ก่อนเทปูนควรค้ำกลางใต้กระเบื้องด้วยนะครับ แล้วก็ผสมปูนมาเทให้เสมอกับเส้น C ซึ่งตอนเทใช้เหล็กจิ้ม ๆ หรือใช้วิธีเคาะใต้กระเบื้อง เพื่อไล่ฟองอากาศออกไปด้วยนะครับ จากนั้นทิ้งไว้สัก 3-4 วันค่อยรื้อออกครับ แต่ในระหว่างนี้ก็ควรรดน้ำบ่มคอนกรีตทุกวันด้วยนะครับ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ รื้อออกทีละแผ่นครับ ซึ่งแกรนิตโต้มีข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือเคาะ 2-3 ทีก็หลุดครับ แต่รื้อออกแล้วก็ค้ำเคาน์เตอร์จนกว่าจะก่ออิฐด้วยนะครับ และที่สำคัญคือใต้เคาน์เตอร์จะเรียบมาก เรียกว่าเรียบจนเป็นเงาเลยครับ รื้อแล้วมาก่ออิฐกันครับ เริ่มจากแบ่งออกเป็นช่องต่าง ๆ พื้นใต้เคาน์เตอร์มี 2 แบบครับ เมื่อเปิดบานพับแล้วพื้นจะต่ำลงไปกับแบบเปิดบานแล้วพื้นจะเสมอวงกบ ซึ่งตัวนี้เป็นแบบพื้นเสมอวงกบเลยต้องเทปูนขึ้นมาครับจัดการปูกระเบื้องใต้เคาน์เตอร์ก่อนครับ ไม่อย่างนั้นจะทำงานลำบาก ตัวนี้บานพับเป็นแบบยึดติดทีหลังต้องก่อและปูกระเบื้องเป็นกรอบไว้ให้ได้ขนาดที่พอดีกับบานพับนะครับแล้วก็เริ่มติดหินแกรนิตให้เสมอกับเส้น B นะครับ งานหินแกรนิตแนะนำให้ติดต่อช่างมาทำดีกว่าครับ เพราะหินหนักและราคาแพง ถ้าเกิดเสียหายขึ้นมาจะไม่คุ้มครับ เสร็จแล้วยาแนว ติดอ่าง ติดบานได้เลยครับ
สุดท้ายฝากสิ่งที่เราควรดูเมื่อจ้างช่างมาทำครับ
– การปูผนังที่ทาสีแล้วต้องทำการลอกสีหรือสกัดปูนก่อนปูทุกครั้งนะครับ เพราะสียึดตัวมันกับปูนได้แต่ไม่สามารถรับน้ำหนักกระเบื้องได้นะครับ
– ส่วนการปูหน้าบานต้องแบ่งความสูงระหว่างบานให้ใกล้เคียงเพื่อความสวยงาม
– การปูจบด้วยคิ้ว กระเบื้องต้องไม่ต่ำหรือสูงกว่าคิ้ว ต้องอยู่เสมอคิ้วครับ
– การจบมุมด้วยการเจียร 45 องศาต้องไม่บิ่นครับ
– การตัดกระเบื้อง ขอบต้องเจียรด้วยใบเจียรกระจกถึงจะเรียบ ถ้าตัดอย่างเดียวไม่เจียร ขอบที่ตัดจะบิ่นเป็นลักษณะฟันปลา
– การยาแนว ต้องเลือกสีที่ใกล้เคียงโดยดูจากขอบกระเบื้องนะครับ ไม่ใช่ตัวกระเบื้อง เช่นตัวนี้กระเบื้องสีครีมแต่ขอบออกขาว ใช้ยาแนวสีขาวถึงจะดูกลมกลืน แต่ถ้าใช้สีครีมจะเห็นเป็นเส้นยาแนวครับ การปูพื้นชนผนังที่ไม่มีบัวปิด เช่น พื้นห้องน้ำ กระเบื้องต้องชิดผนัง เสามุม ไม่ล้มเข้าหรือออก โดยสังเกตได้จากเมื่อปูกระเบื้องแล้ว ขนาดของแผ่นล่างสุดและบนสุดต้องเท่ากันครับ
หลัก ๆ ก็ประมาณนี้ครับ ถ้ามีอะไรบกพร่องก็บอกช่างให้แก้ไขเลยครับ
ที่มา : สันต์_bt