ในการถือครองที่ดิน นอกจากเอกสารถือครองที่ดินที่จะระบุตำแหน่งและขนาดของเราแล้ว ก็จะมี “หมุดหลักเขตที่ดิน” ที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่าหมุดที่ดิน ปักเอาไว้ในแต่ละมุม เพื่อกำหนดอาณาเขตของที่ดิน ซึ่งหมุดเหล่านี้จะฝังในดินเอาไว้ไม่ลึกมาก ทำให้บ่อยครั้งเกิดปัญหาหมุดหาย หรือถูกเคลื่อนย้ายผิดตำแหน่ง
เมื่อหมุดไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิม ทำให้บ่อยครั้งก็เกิดกรณีพิพาทระหว่างเจ้าของที่ดินสองผืน ที่อาจจะมีการสร้างอาคาร หรือรั้วลุกล้ำไปในที่ดินคนอื่น ซึ่งอาจจะเกิดจากความตั้งใจ หรือไม่ได้ตั้งใจ เพราะตำแหน่งของหมุดมีการคลาดเคลื่อน
ตัวอย่างของหมุดที่ดิน เรื่องเล็กๆ ที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่
เจ้าของเรื่องในครั้งนี้ ถ่ายทอดบนแฟนเพจของตัวเอง
อย่างเช่นเรื่องราวจากเพจ Ekarin Kulpakdeesingworn’s Official ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ที่ผู้รับเหมาได้สร้างรั้วลุกล้ำไปยังที่ดินติดกัน ซึ่งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นการตั้งใจสร้างลุกล้ำ หรือตำแหน่งหมุดปักผิดตั้งแต่แรก
แต่หลังจากนั้น ผู้รับเหมาก็ไม่ได้มีความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งยังทิ้งงานหนีหายไปอีก ในท้ายที่สุด เจ้าของเรื่องจึงจำเป็นจะต้องซื้อที่ดินที่สร้างเลยเข้าไปในราคาที่สูง และมีขนาดไม่มาก เพื่อเป็นการยุติปัญหา
โดยทางเพจ Ekarin Kulpakdeesingworn’s Official ได้ระบุข้อความดังนี้…
“บทเรียนราคาแพง แปลงนี้ถือว่าเป็นแปลงเล็กที่สุดเท่าที่เคยซื้อมาตลอดการทำงาน 2.9 ตรว.
เนื่องด้วยอาคารก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย เป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว จนกระทั่งแปลงด้านหลังมีการซื้อขายที่ดินกันเกิดขึ้น และผมต้องไปเซ็นเช็คชิดที่ ให้แปลงด้านหลัง (ซ้ายขวาและหลังเป็นที่ดินว่างเปล่าวันที่ผมก่อสร้าง)
ทำให้รู้ว่ารั้วของเราสร้างเกินไปที่ดินแปลงด้านหลังและด้านขวา น่าตกใจมากครับ ผู้รับเหมาที่ทำให้ ณ เวลานั้นเค้าก็สร้างบ้านขายให้ผมอยู่
ก็เลยปรึกษากันหาทางออก ทางผู้รับเหมาก็ยืนยันว่าสร้างตามหลักหมุด (3 ปีที่แล้ว) จำไม่ได้ แต่ยืนยันว่าจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วสุดท้ายผู้รับเหมาก็ได้หนี หายไปเลยโดยทิ้งงวดงานที่สร้างบ้านผมด้วยขนของหายเกลี้ยง
สุดท้ายก็ได้ให้เทศบาลปักหมุดใหม่
ทางผมก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นปักหมุดผิดหรือผู้รับเหมาสร้างผิด หรืออาจจะไม่ได้รักษาหมุดที่ดีตอนก่อสร้างให้ดี
ก็ตัดสินใจทุบรั้วตัวเองใหม่หมดแล้วก็รู้ว่าใหม่หมดไปเป็นแสนกว่า เพราะทั้งรั้ว,ท่อคอนกรีต, และถังปฏิกูล สุดท้ายก็โดนข้างเคียงร้องอีกว่า หลังคายื่นไปในที่ดินเขา ก็จ้างช่างมาตัดหลังคา อีกเป็นหมื่น ก็คิดว่าเรื่องนี้น่าจะจบแล้ว
จนกระทั่งได้จดหมายให้ระงับใช้อาคาร ก็ตกใจเหมือนเดิม โดยช่างเทศบาลบอกว่า เราร่นระยะด้านข้าง 50 เซนผ่าน แต่ด้านหลังมีแค่ 30 เซ็นไม่ผ่าน เจรจาทุกวิถีทางแล้วไม่ประสบความสำเร็จ
สุดท้ายต้องเจรจาขอซื้อที่ดินในราคาที่ถือว่าแพง แต่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่จบที่สุด โดยซื้อที่กว้างประมาณ 50 เซน ยาวตลอดแปลง รวม 2.9 ตรว.
ถือว่าเป็นประสบการณ์และบทเรียนราคาแพง การรักษาหมุด ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการก่อสร้างตั้งแต่วันแรกจะโทษใครก็ คงไม่มีประโยชน์ ถ้าหลังโฉนดเป็นชื่อเราอยู่ครับ”
หวังว่าอุทาหรณ์ในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลให้เพื่อน ๆ ได้ลองหมั่นตรวจเช็คเอกสารการถือครองที่ดิน รวมถึงตำแหน่งหมุดหลักเขตที่ดิน ว่ามีตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตเช่นกรณีนี้นะคะ