หากเอ่ยถึงการออกแบบสิ่งปลูกสร้างเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองแล้ว นอกเหนือจากจะใช้ประโยชน์ทางด้านการสัญจรไปมาของผู้คน จะดีแค่ไหนหากมันช่วยเพิ่มความสวยงามและช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองด้วย
สะพานลอยแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 1970 เป็นการสร้างสะพานลอยสำหรับรถยนต์เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟใต้ดิน Seoul Station
แต่มีการปิดใช้งานไปในปี 2015 ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัยของโครงสร้างแต่แล้วก็เปิดกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้งในปี 2017 ในฐานะที่เป็นมากกว่าสะพานลอย
สะพานลอยตัวเก่านั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของการจราจรติดขัดที่มีมากขึ้นในกรุงโซล และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงโซลตั้งแต่ปี 1970
แต่ด้วยความกังวลทางด้านความปลอดภัยของผู้เชี่ยวชาญในประเทศช่วงปี 1990 จึงเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นทำการตรวจสอบเป็นระยะ
โดยในปี 2012 วิศวกรพบว่าโครงสร้างยาวกว่า 1,024 เมตรจะสามารถรองรับการจราจรที่แน่นหนาได้อีกเพียง 3 ปีเท่านั้น จนกระทั่งมีการประกาศจะทำการรื้อถอนในปี 2015
แต่ในปี 2014 นายกเทศมนตรีกรุงโซลกลับมีแผนที่มองแตกต่างออกไป
ด้วยแรงบันดาลใจจากสวนสาธารณะฮายไลน์ของนครนิวยอร์ก ที่เปลี่ยนทางรถไฟเก่าให้กลายมาเป็นพื้นที่สวนสาธารณะ
ทางนายกเทศมนตรีจึงล้มเลิกแผนรื้อถอนสะพานลอยตัวนี้และเปลี่ยนมันให้กลายมาเป็นสวนสาธารณะยกระดับเหนือพื้นดิน พร้อมตกแต่งสวนด้วยพืชพรรณเกาหลีหลากหลายชนิด
ชื่อ Seoullo 7017 จึงกลายมาเป็นชื่อของโครงการเพื่อรำลึกถึงแลนด์มาร์กเก่าแก่แห่งนี้ ที่เริ่มใช้งานในปี 1970 และปี 2017 เป็นปีเปลี่ยนแผนการใช้งานของมัน
และเพื่อเป็นตัวช่วยในการทำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นและเป็นมิตรกับคนเดินเท้ามากขึ้น
สะพานลอย Seoullo 7017 มีทางเชื่อมมากถึง 17 เส้นทาง สามารถเดินข้ามไปมาได้หลากหลายพื้นที่ภายในเมือง
ส่วนของพืชที่ใช้ตกแต่งเป็นสวนสาธารณะก็มีทั้งต้นไม้และดอกไม้มากกว่า 228 ชนิด อีกทั้งยังใช้เป็นสถานที่ในการเพาะเลี้ยงพืชเพื่อนำไปปลูกในส่วนอื่นของเมืองต่อได้อีก
แต่ถึงแม้ไอเดียของการนำสะพานลอยรถยนต์เก่ามาเป็นพื้นที่สีเขียวฟังแล้วดูดีไม่น้อย แต่กลับกันเมื่อมีการเปิดใช้งานใหม่อีกครั้งกลับได้ผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไหร่นัก
หลายคนคาดหวังว่ามันจะเป็นเหมือนกับสวนสาธารณะทั่วไป แต่กลับกันมันมีแต่พื้นที่คอนกรีตเป็นส่วนใหญ่ มีพืชสีเขียวก็จริงแต่อยู่ในกระถางเท่านั้น
และต้นไม้เหล่านี้ยังเป็นต้นเล็กๆ แต่บนสะพานต้องเจอแดดจัดตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถเดินได้สบายในช่วงฤดูร้อน
ทั้งนี้ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ คนชอบก็ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นนักท่องเที่ยวที่รู้สึกตื่นเต้นและเหมือนเป็นแลนด์มาร์กในการไปเที่ยว ส่วนคนที่ไม่ชอบก็คือคนที่ใช้งานจริง เจอแต่พื้นคอนกรีตและต้นไม้ขนาดเล็กที่อยู่ในกระถางคอนกรีต
ที่มา: mvrdv, archdaily, koreaexpose