ช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้นเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องของการสร้างสรรค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านโมเดล งานปั้นต่างๆ จนไปถึงการสร้างบ้านก็มีกันมาแล้ว
หากมาในมุมของอุตสหกรรมด้านอาหารกันบ้าง เครื่องพิมพ์ 3 มิติก็ถูกนำมาใช้สร้างเนื้อทดแทนด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันก็กำลังอยู่ในช่วงทดลองทดสอบกันอย่างต่อเนื่อง และจะนำไปใช้เป็นเนื้อทดแทนในร้านอาหารต่างๆ ในอนาคต
ด้วยแนวทางการรับประทานอาหารที่หลากหลายของคน ทางบริษัทผลิตเนื้อทางเลือกจากอิสราเอล Redefine Meat จึงได้พัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติออกมาเพื่อตอบสนองของคนที่ไม่อยากทานเนื้อสัตว์จริงๆ แต่ยังอยากสัมผัสความเป็นเนื้อสัตว์อยู่…
นาย Eshchar Ben-Shitrit ประธานบริษัทกล่าวว่า กำลังเร่งผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถผลิตเนื้อทางเลือกจากพืชประมาณ 250 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อส่งไปตามร้านอาหารทดแทนความต้องการเนื้อวัวที่สูงขึ้น
นอกจากนั้นแล้วทางบริษัทระบุว่า วัวจำนวนหนึ่งพันล้านตัวจะถูกนำไปเป็นอาหารจากความต้องการเนื้อสัตว์ของมนุษย์ และการเลี้ยงวัวเนื้อเหล่านี้จะต้องใช้น้ำสะอาดเลี้ยงมากกว่าจำนวนมนุษย์ทั้งโลกต้องการเสียอีก
การปศุสัตว์วัวเนื้อนั้นจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ที่กำลังใช้งานทั่วโลก และมีความต้องการอาหารมากพอที่จะนำไปส่งต่อให้กับคนอีกหลายพันล้านทั่วโลก
แล้วคุณภาพของเนื้อทดแทนจากพืชเหล่านี้จะมีรสชาติเป็นอย่างไรล่ะ? ทางบริษัทให้สัญญาว่าผลิตภัณฑ์เนื้อ 3 มิติจะมีรสชาติเหมือนของจริง รวมถึงเนื้อสัมผัสและรูปร่างของสเต็กเนื้อสัตว์โดยปราศจากเนื้อสัตว์ของจริง
ส่วนผสมหลักของเนื้อทางเลือกนี้จะทำมาจากโปรตีนถั่วเหลืองและถั่วลันเตา ไขมันมะพร้าวและน้ำมันดอกทานตะวัน และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่มีเนื้อสัตว์
บริษัท Redefine Meat อธิบายว่าเทคโนโลยีของพวกเขาเป็นในลักษณะการสร้างแบบจำลองเนื้อสัตว์ 3 มิติ ตามสูตรอาหารและเทคโนโลยีการพิมพ์แบบอาหาร เพื่อสร้าง ‘เนื้อ’ ประเภทใหม่ที่มีความซับซ้อนด้วยวิธีที่คุ้มค่าและสามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้
นอกจากนั้นแล้วพวกเขายังมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เนื้อทดแทน จะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้มากถึง 95% ดีกว่าและมากกว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จะทำได้
ทางบริษัทเองหวังว่าจะได้เปิดตัวเนื้อสเต็กทดแทนในร้านอาหารระดับสูงทั้งในอิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนีภายในปลายปีนี้ และจะขยายขอบเขตการจำหน่ายส่งออกไปในประเทศอื่นๆ ตามไปในภายหลัง
ที่มา: redefinemeat, businessinsider, unilad