การรีโนเวทบ้าน เป็นสิ่งที่จะช่วยคืนชีวิตให้กับบ้านหลังเก่าให้กับเราได้ โดยเฉพาะถ้าหากเป็นบ้านที่มีความผูกพันธ์และความทรงจำดี ๆ อย่างเช่นเรื่องราวของคุณ สมาชิกหมายเลข 5592181 ที่ได้ปรับปรุงบ้านไม้เก่าของคุณทวดให้กลายเป็นบ้านใหม่ โดยปัจจุบันเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้จาก บ้านอาภรณ์ Baan Arbhorn Riverhouse ได้อีกด้วย
โดยเจ้าของบ้านก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการรีโนเวทครั้งนี้ไว้ดังนี้…
ตั้งแต่เริ่มรีโนเวทบ้านเมื่อปีที่แล้ว ช่วงโควิดรอบแรก จนตอนนี้โควิดรอบ3 บ้านก็เสร็จสมบูรณ์ (ตามกำลังทรัพย์และเศรษฐกิจ) พวกเราตั้งชื่อบ้านนี้ว่า “บ้านอาภรณ์” ซึ่งเป็นชื่อของคุณตาครับ บ้านนี้อยู่ที่จังหวัดนนทบุรีครับ ฝั่งไทรม้า ตรงข้ามกระทรวงพานิชย์ (สนามบินน้ำ)
(รูปวันแต่งงานคุณตา-คุณยาย ที่บ้านหลังนี้ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2499)
.
ก่อนอื่นจะขอเล่าประวัติคร่าว ๆ ของบ้านหลังนี้ก่อน คุณยายเล่าว่าบ้านหลังนี้ เดิมเป็นเรือนหอของคุณทวด ตัวเรือนหลักเป็นไม้สัก แยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นจั่วสูงแบบบ้านเรือนไทย อีกส่วนเป็นจั่วเตี้ย มีช่องลมฉลุลายและบานหน้าต่างแบบบานกระทุ้ง สำหรับระบายความร้อนและรับลมจากแม่น้ำ
ต่อมาคุณทวดยกบ้านหลังนี้ให้เป็นเรือนหอของคุณตา-คุณยาย อีกทอดหนึ่ง ซึ่งท่านก็อยู่บ้านหลังนี้มาเรื่อย ๆ คุณแม่-คุณป้าของก็เกิดที่บ้านหลังนี้เช่นกัน จนเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ได้ย้ายออกไปปลูกบ้านใหม่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ในปัจจุบัน เนื่องจากความไม่สะดวกในสมัยนั้นและยังไม่มีถนนตัดผ่านหลังบ้าน
ต้องเดินทางโดยเรือ เข้าจากหน้าบ้านที่ติดแม่น้ำเป็นหลัก ทั้งครอบครัวของคุณยาย พี่ ๆ น้อง ๆ คุณยายและคุณทวด ก็ย้ายออกจากตรงนั้นไปอยู่ที่อื่นเช่นกัน
(หน้าบ้าน ก่อนและหลังรีโนเวท)
(หน้าบ้านช่วงกลางคืน)
(หน้าบ้าน ช่วงกลางวัน)
.
.
.
หลังจากที่คุณตา-คุณยาย ได้ย้ายออกมาปลูกบ้านใหม่ บ้านหลังนี้ก็ถูกทิ้งไว้หลายปี จนให้ญาติ ๆ ที่รู้จักกันไปพักอยู่บ้าง จนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 บ้านนี้ก็จมน้ำอยู่ครึ่งหลัง ร่วม ๆ 3 เดือน โชคดีที่โครงสร้างบ้านส่วนใหญ่จะเป็นไม้สัก และไม้เนื้อแข็ง ทำให้บ้านอยู่มาได้ จนถึงทุกวันนี้
(ร่องรอยคราบน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ทำสีไม้เดิมเปลี่ยนไป)
.
เท่าที่จำได้คือคุณตาพามาเล่นน้ำ แล้วก็ขี่ท่อนซุงที่คุณตาเก็บไว้ใต้ถุนบ้าน คุณตาเล่าว่าเก็บจากเรือที่ลากซุงสมัยก่อน แล้วจะมีท่อนซุงบางส่วนที่หลุดออกมาจากแพที่ลากจูงตามน้ำมา นี่คือสิ่งเดียวที่จำได้ แล้วก็แทบจะลืมบ้านหลังนี้ไปเลยจากความทรงจำ
จนมีอยู่วันนึงที่ไปทานก๋วยเตี๋ยวกับคุณแม่ เป็นร้านฝั่งตรงข้ามบ้าน ก็เลยคุยกันถึงบ้านนี้ ซึ่งตอนนั้นยังนึกไม่ออกเลยว่าอยู่ตรงไหน แค่จำได้ว่ามีบ้านหลังนี้อยู่ริมแม่น้ำ แล้วนึกสนุกชวนกันนั่งเรือเข้ามา เพราะคุณแม่บอกว่าตอนนี้ที่บ้านให้คนขับเรือหางยาวข้ามฝากไปอยู่ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็กลัวจะไม่มีใครดูแล ตอนแรกก็คิดว่าจะแค่เข้ามาดูเฉย ๆ เพราะจำไม่ได้เลยว่าบ้านนี้หน้าตาเป็นอย่างไร
(สะพานไม้หน้าบ้าน วันแรกที่เข้ามาดูบ้าน)
(จ้างคนงานมาตัดหญ้าหน้าบ้าน เยอะมาก ๆ ต้องรีบทำช่วงน้ำลง แข่งกับเวลาสุด ๆ)
วันแรกที่นั่งเรือเข้ามา ด้วยความทุลักทุเล และสะพานไม้ที่ชำรุดหน้าบ้าน บางช่วงถึงกับต้องค่อย ๆ คลานเข้ามา เพราะกลัวจะตกน้ำไป นึกย้อนไปก็ขำ วันนั้นแว่บแรกคิดในใจว่า ไม่น่าหาเรื่องเข้ามาเลย แต่พอมาถึงตัวบ้าน เปิดเข้ามาเจอรูปคุณตา ลายช่องลมฉลุ และส่วนต่าง ๆ ของบ้านที่ยังคงสภาพดีอยู่มาก
ทำให้ต้องคิดเสียดายอยู่ในใจ ว่าทำไมปล่อยให้บ้านสวย ๆ แบบนี้ปิดไว้เป็นสิบ ๆ ปี อีกทั้งวิวริมแม่น้ำหน้าบ้าน ที่ชวนให้อยากนั่งมองตลอดเวลา
จากวันนั้นก็อีกเกือบปี ที่กลับมานั่งคิดนอนคิด ว่าจะทำอย่างไรกับบ้านนี้ดี ด้วยความที่บ้านไม่มีคนอยู่มานาน น้ำประปาถูกตัดไปนานแล้ว (คนขับเรือที่เฝ้าบ้าน จะรองน้ำฝนไว้ใช้) แต่ยังโชคดีที่ยังมีไฟฟ้าอยู่ คิดแล้วคิดอีก จนเกือบเลิกล้มความตั้งใจ ทั้งเรื่องเงินที่จะเอามารีโนเวทและดีดบ้าน อีกทั้งระบบน้ำที่ต้องขอเดินท่อเข้ามาผ่านที่ของเพื่อนบ้าน
(ในบ้านวันแรกที่เข้ามาที่บ้าน ทั้งฝุ่น ทั้งหยากไย่และรอยน้ำท่วม)
.
.
.
ในที่สุดด้วยความที่มีเพื่อนบ้านที่น่ารักและรู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยคุณตา-คุณยาย คุณแม่ก็ไปคุยจนได้ขอเดินท่อน้ำประปาเข้ามา อีกเรื่องคือการขอผ่านที่ดินของเจ้าของใหม่ ที่คุณตา-คุณยาย ได้ขายที่หลังบ้านไปแล้ว จะเหลือแค่ตัวบ้านที่อยู่บนน้ำเท่านั้นที่ยังถือครองกรรมสิทธิ์อยู่
ด้วยความอนุเคราะห์ของเจ้าของที่ใหม่ ที่ท่านก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับที่ผืนนี้ ก็อนุญาติให้เราผ่านที่เข้ามาทำการรีโนเวทบ้านได้ เพราะของที่ต้องใช้มีทั้ง หิน ทราย เสาเข็ม เสาบ้าน ไม้และวัสดุต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งถ้าให้ขนมาทางเรือนั้นก็คงจะลำบาก และมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามไปด้วย
(วัสดุมาส่ง เตรียมรีโนเวท แต่ติดช่วงโควิด ช่างมาไม่ได้อยู่ดี)
.
ขั้นตอนต่อไปคือการหาช่างมาดีดบ้านและเปลี่ยนเสาไม้ทั้งหมด ให้เป็นเสาปูน ช่วงนี้ก็หาและคุยกับช่างอยู่หลายเจ้ามาก ๆ จนได้ทีมงานช่างธนกร แต่ก็มีปัญหาช่วงโควิดรอบแรก เดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้
เลยต้องรออยู่หลายเดือน แต่ในที่สุดทีมช่างก็เข้ามา และใช้เวลาส่วนนี้ประมาณ 1 เดือนเต็ม ๆ สำหรับการดีดบ้านส่วนที่ทรุด และเปลี่ยนจากเสาไม้เป็นเสาปูนทั้งหมด รวมถึงทำชานหลังบ้านสำหรับวางแทงค์น้ำและชานหน้าบ้าน
(ช่างเริ่มดีดบ้านและเปลี่ยนเสาไม้เป็นเสาปูน)
.
.
งานแรกคือการดีดบ้านส่วนที่ทรุดและปรับระดับให้เท่ากันทุกส่วน รวมถึงเปลี่ยนจากเสาไม้เป็นเสาปูน รวม ๆ ทั้งหมดเกือบ 50 ต้น ปัญหาและอุปสรรคหลัก ๆ คือดินเลนโคลนใต้บ้านและช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งมีผลต่อการทำงานมาก ต่างจากการดีดบ้านบนดิน แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดีครับ
(ช่างกำลังทำชานหน้าบ้านและหลังบ้าน)
.
.
.
.
งานต่อมาคือการซ่อมสะพานไม้หน้าบ้าน ที่ยาวถึง 60 กว่าเมตร จากชานหน้าบ้านยาวไปถึงบันไดลงแม่น้ำด้านหน้า สำหรับขึ้นลงเรือ ด้วยความที่เสาไม้เก่ายังดีอยู่ แต่เป็นเสาเดี่ยว และปัจจุบันกรมเจ้าท่าห้ามปักเสาใด ๆ รุกล้ำลงไปในส่วนของแม่น้ำ
ทำให้ต้องซ่อมโดยยังคงของรูปแบบเสาเดี่ยว แต่เสริมคานใหม่และใช้ไม้ใหม่เกือบทั้งหมดมาทำพื้น ขับรถไปหาไม้เก่าหลายที่มาก ๆ มาได้ไม้เก่าที่เค้ารื้อมาจากบ้านเก่า ขายยกหลัง แถว ๆ แยกบางพลู แต่ก็ยังไม่พอ เพราะสะพานค่อนข้างยาวมาก ต้องหาที่ซื้อขายไม้เก่าอีก 2-3 ที่
กว่าจะได้ไม้ครบทุกส่วน ก็หาอยู่หลายวัน การซ่อมส่วนนีทีมช่างใช้เวลาอีกประมาณ 1 อาทิตย์
(ซ่อมสะพานเสร็จก่อนหน้าน้ำปีที่แล้วพอดี น้ำขึ้นถึงชานหน้าบ้านเลย)
.
.
.
เสร็จจากโครงสร้างหลัก ยังมีส่วนโครงสร้างรองที่รอการซ่อมแซมอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น พื้นไม้ในครัว ฝาบ้านบางจุดที่เสียหายจากน้ำท่วม รางน้ำฝนบางจุดที่รั่วลงมา จนทำให้พื้นไม้สึกกร่อน รวมถึงห้องน้ำที่ต้องเปลี่ยนสุขภัณฑ์ใหม่ทั้งหมด
แต่ยังโชคดีที่ในส่วนของห้องน้ำนั้นเป็นปูน ทำแยกออกมาจากตัวบ้าน โครงสร้างยังแข็งแรงดีมาก รวมถึงกระเบื้องในห้องน้ำ ที่ไม่มีหลุดร่อนสักแผ่น ช่างสมัยก่อนนี่ฝีมือเยี่ยมจริง ๆ
(เริ่มทำห้องน้ำ โดยยังเก็บกระเบื้องเก่าไว้ทั้งหมด ทั้งพื้นและผนังห้องน้ำ)
.
.
.
ส่วนของห้องน้ำก็ทาสีฝ้าและผนังใหม่ (ทำเองครับ สนุกดี ประหยัดงบด้วย) ให้ช่างมาทุบอ่างน้ำอันเก่าออก แล้วทำเป็นเค้าเตอร์อ่างล้างหน้าขึ้นมา เปลี่ยนโถสุขภัณฑ์ใหม่ ฉาบผนังที่มีรูของอิฐบล็อคตรงด้านที่ติดกับห้องครัว รวมถึงเดินท่อประปาใหม่ภายนอกเข้าตามจุดต่างๆ ส่วนนี้ใช้เวลาประมาณ 3 วันครับ
ต่อมาคือการเดินสายไฟใหม่ทั้งบ้าน ซึ่งของเก่าคือเดินสายไฟเปลือยและตีกิ๊บไว้ ซึ่งช่างไฟไม่นำให้เดินแบบนี้ในปัจจุบัน เลยต้องเปลี่ยนเป็นเดินสายไฟแบบร้อยท่อ ส่วนนี้ใช้เวลาหลายวัน ทั้งจากโควิดและทั้งจากคิวช่างด้วย
หลังจากเดินสายไฟเสร็จ ก็ต้องมาทาสีน้ำตาลทับท่อสายไฟ ให้ท่อกลมกลืนไปกับสีของบ้านไม้ เนื่องจากท่อเป็นสีขาว ซึ่งตัดกับตัวบ้านที่เป็นไม้มากถ้าไม่ทาสีทับ ส่วนนี้ก็ทาเองอีกเช่นเคย (สกิลการทาสีตอนนี้คืออัพเลเวลมาก)
.
.
(คุณยายแอบมาดูช่างติดไฟ)
พูดถึงเรื่องทาสี ก็มาต่อที่การทาสีผนัง ซึ่งส่วนนี้ผมก็ทำเองอีกเช่นเคย บางส่วนก็ต้องขัดคราบฝุ่นที่ติดมานานด้วยแปรงทองเหลือง บางส่วนที่ไม่สามารถขัดได้ก็ใช้ผ้าเช็ด เป็นงานที่เหนื่อยมากที่สุด เพราะถ้าไม่ทำความสะอาดก่อน ก็ทาสีไม่ได้
งานส่วนนี้เลยค่อย ๆ ทำมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้ก็ยังทาไม่ครบ ปล่อยให้เห็นร่องรอยความเก่าบ้าง ส่วนการทาสีพื้นบ้าน อันนี้ต้องยอมจ้างช่างครับ เพราะต้องกัดสีเก่า ลงน้ำยาหลายอย่าง เกินความสามารถผมไปจริง ๆ
.
.
.
.
ส่วนที่สนุกที่สุดสำหรับผม ในการทำบ้านคือการซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านครับ (แต่ไม่สนุกตอนจ่ายเงิน) เห็นตัวไหนก็สวยไปหมด แต่บางตัวก็ไม่เข้ากับบ้าน รวมถึงพวกโคมไฟ อย่างแชนเดอเรีย หรือโคมระย้าต่าง ๆ เดินหาที่จตุจักรแทบทุกอาทิตย์ ไปตามร้านขายของเก่า นั่งดูใน IG และ Facebook ที่เค้าโพสต์ขายของเก่า
บางตัวก็ซื้อไม่ทัน บางตัวก็ต้องหาแบบมาสั่งร้านทำ อย่างพวกเฟอร์นิเจอร์หวาย ก็ได้โรงงานจากที่โคราช ที่ส่งแบบไปให้เค้าทำ จนตอนนี้เต็มบ้านไปหมดแล้ว
.
.
ในที่สุดก็ถึงวันทำบุญบ้านครับ วันที่ 6 เมษายน 2564 ที่เลือกวันนี้เพราะเป็นวันครบรอบวันเสียชีวิตของคุณตาด้วย เลยเลือกวันนี้รวม 2 งานเลย และป้ายชื่อบ้านก็เสร็จทันวันงาน โดยตั้งชื่อบ้านนี้ว่า “บ้านอาภรณ์” ซึ่งเป็นชื่อของคุณตา เพื่อเป็นสิริมงคลและระลึกถึงท่านทุกครั้งที่มาบ้านนี้
.
.
.
.
.
.
.
.
1 ปีกว่า ๆ กับการเข้ามารีโนเวทบ้านของบรรพบุรุษ ที่สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกท่าน ให้คงอยู่ได้อย่างสวยงามต่อไป พวกเราผ่านอะไรมาเยอะมากทั้งสุขและทุกข์ ทั้งความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทั้งเงินและเวลาที่เสียไป แต่ความสุขที่ได้นั้นยิ่งใหญ่สำหรับผมมาก
คุณแม่บอกกับผมว่าท่านรักบ้านหลังนี้มาก เพราะแม่เกิดที่นี่โตที่นี่ คุณแม่เคยทะเลาะกับคุณยายเรื่องจะขายบ้านหลังนี้ จนสุดท้ายคุณยายก็ยอมไม่ขาย คุณยายก็คงแอบดีใจที่ผมเข้ามาทำให้ครอบครัว คุณยายตามมาดูตอนรีโนเวทบ้านหลายครั้ง รวมถึงวันปีใหม่ที่ผ่านมา ที่ครอบครัวเราได้เข้ามารวมตัวกันฉลองปีใหม่ที่บ้านหลังนี้ แต่ตอนนั้นบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี
.
ตอนนี้คุณยายเพิ่งจากพวกเราไป เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เสียดายมาก ๆ ที่ท่านไม่ทันได้เห็น “บ้านอาภรณ์” กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยตาของท่านเอง แต่รู้ว่าท่านจะต้องรับรู้ด้วยจิตของท่านและดีใจที่เห็นลูกหลานของท่าน ได้ช่วยกันรักษาสมบัติของบรรพบุรุษหลังนี้ ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ดูและอาศัยต่อไป
.
.
.
.
ที่มา: สมาชิกหมายเลข 5592181
Facebook: บ้านอาภรณ์ Baan Arbhorn Riverhouse