เชื่อว่าหลายคนมีความฝันที่จะเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง แม้ว่าในปัจจุบันการก่อสร้างบ้านจะใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยด้านพื้นที่ ซึ่งทำให้หลายคนเลือกที่จะขยับพื้นที่สร้างบ้านออกมานอกเมืองเพราะนอกจะมีราคาถูกกว่าในเมืองแล้ว ยังมีบรรยากาศของธรรมชาติที่รายล้อมอีกด้วย
วันนี้ ในบ้าน ก็มีเรื่องราวของคุณ Hunter 2016 มาฝากกัน โดยจะมารีวิวการสร้างบ้านโมเดิร์นใต้ถุนยกสูงด้วยงบ 7 แสนบาท บนที่ดินที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ และท้องทุ่งที่สวยงามและสดชื่น จะมีขั้นตอนอะไรบ้างนั้น เราไปชมการรีวิวครั้งนี้กันได้เลยครับ
สร้างบ้านยกพื้น ที่ปลายนา ด้วยงบ 7 แสนบาท (Yellow House)
(โดยคุณ Hunter 2016)
สวัสดีครับ หลังจากที่ได้อ่าน บทความของหลายๆ ท่านมาก เพื่อหาความรู้ในด้านประสปการณ์ของแต่คนที่พบเจอมา ระหว่างการสร้างบ้านที่มีทั้งดีและร้าย ปะปนกันไป ตัวผมเองก็ได้สร้างบ้านได้สำเร็จมาแล้ว 1 หลัง และคงได้แค่หลังเดียวนี่แหละครับ เวลาที่เหลือคือผ่อนชำระเงินก้อนนั้นไปอีก 15 ปี (บ้านสร้างเสร็จเมื่อ วันที่ 28 กุมภาพัน 59 )
นับวันที่มาตั้งกระทู้ก็ปาไป 3 ปีแล้ว เพราะยังไม่มีเวลาว่างดีๆ ที่จะมานั่งลงข้อความกับรูป และอีกอย่าง 3 ปีที่ผ่านมาก็เก็บสะสมรูปถ่ายหลังจากสร้างเสร็จ ทั้งตัวบ้าน รอบๆ บ้าน รวมทั้ง วิวที่เห็นไกลๆ จากตัวบ้านด้วย
1. เหตุผลหลัก ที่สร้างบ้าน ก็คือ ครอบครัว หลังจากอยู่กันแค่ 2 คนมานาน ในหอพักแล้วก็ทำงานไปด้วย เลี้ยงแมว ไว้ 2 ตัว ก็ไม่ได้คิดอะไรมากอยู่ได้ชิวๆ ไปวัน ๆ นึง แต่เมื่อรู้ว่ากำลังจะมีลูก จึงคิดว่าควรจะเริ่มทำอะไรบ้างแล้วเพื่ออนาคตของครอบครัว
จากที่ไม่ได้อยากเป็นหนี้สินเลย (เป็นแค่หนี้ กยศ.) ก็ต้องเอาละวะ อารมณ์ผู้นำครอบครัวเข้าสิงร่างสิครับ หาทางเป็นหนี้เลย (ผมลืมบอกไปว่า ที่ดินที่ซื้อไว้ในราคา 1.5 แสนบาท 1 งาน หาไว้ตั้งแต่ภรรยาตั้งท้อง เป็นที่นา แต่ก่อนเป็นแต่ป่าหญ้าไร้คนสนใจ แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากแหล่งความเจริญของ อ.เมือง)
2. ไกลผู้คน ผู้คนส่วนมากกลัว ที่จะมาลูกบ้านตรงนี้เพราะที่รอบๆ นั้นก็ต่างมีเจ้าของกันหมดแล้ว แต่ก้ไม่มีใครปลูก ด้วยเหตุผลข้างต้นที่ผมได้บอกไปนั่นแหละครับ ส่วนภรรยาผม ขอบอกว่านางชอบมากเงียบสงบมีแต่วัวกับท้องนารอบบ้าน
ส่วนผมไม่ต้องบอกชอบฝุดๆ ผมหลงไหลในธรรมชาติเขียวๆ ลมพัดยอดข้าว นั่งโง่ ๆ หายใจทิ้งในวันหยุด อารมณ์ประมาณ รีสอร์ตยังไงยังงั้นเลย เท่าที่วาดฝันไว้
3. ตั้งใจไว้ว่าเป็นบ้านปูนยกพื้น มีระเบียงโล่งๆ ครั้งแรกที่ให้ช่างออกแบบ อยู่ใน งบ 6 แสนบาท (ค่าเขียนแบบ 1500 เพื่อนมันไปให้เพื่อนเขียนให้อีกที) แต่เอามาจริงๆ ตอนหาช่างก่อสร้าง หาอยู่ 3 เจ้า เจ้าแรก ตีราคาเป็น 2 ชั้นเลย 8 แสนครับน้อง
แต่ถ้าจะเอาเท่านั้นลดให้ได้แต่พี่จะจัดการเรื่องวัสดุเองทุกอย่าง หน้าต่างประตู เป็น PVC อะไรแบบนั้นนะ นั่นไงเกินงบไปตั้งเยอะ (คือผมกู้มา 1.2 ล้าน แบ่งไปปิดหนี้ กยศ. ทั้ง 2 คน จัดการบัตรเครติด เก็บไว้ 1 ส่วนเพื่อเป็นทุนสำรอง เหลือ 6.5 แสนเป๊ะ โดยที่เงินนี้ไม่ได้เอาไป ซื้อแม้แต่ขนม 1 ห่อ)
ช่างคนที่ 2 เป็นคนรู้จักกัน แต่ช่างอยู่ไกล ต้องจ่ายค่าน้ำมันรถให้นะ คิดไปคิดมาผมว่าไม่คุ้มละ มาลงเอยกับช่างคนที่ 3 เป็นคนพื้นที่ มีผลงานสร้างบ้านไว้ให้หลายคน แกคิดแต่ค่าแรง ส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ แกมีพร้อมหมด สั่งให้ได้ ช่างชื่อลุงธรรณ์ (คนพะเยาครับ) และบ้านผมก็อยู่ที่พะเยา ภาคเหนือของไทยเรานี่แหละ
เริ่มที่ภาพแรกนะครับผมตั้งชื่อบ้านว่า Yellow House ความหมายตรงๆ แบบนี้เลย
เมื่อฤดูฝนที่ผ่านมาของปี 61 ปล. ภาพใช้ iPhone6 panorama mode + LR นะครับ เป็นภาพที่ตื่นเช้ามาดูถนนว่า รถจะออกไปได้ไหมเนื่องจากฝนลงอย่างหนักเมื่อคืน ดินเละ ๆ ที่ด้านขวาของภาพนั่นคือที่ถนนนะครับ ^_^
ภาพที่ 2
2 คนนี้คือเหตุผลทั้งหมดของการสร้างบ้านหลังนี้ครับ ที่ดินเละๆ กลายเป็นที่นั่งเล่นหน้าบ้าน ที่เรียนรู้ของลูกชาย โคลน ดิน หญ้า แมลง ท้องฟ้า เมฆ ฯลฯ อยู่กันแบบไม่มีรั้วนี่แหละ เพราะงบหมดแล้ว
ภาพที่ 3
แบบบ้านบนกระดาษ ที่ร่าง ๆ เอาไว้ ในที่สุดก็สามารถหาช่างที่เราโอเคได้ เอาให้ดูว่ามันออกมาในลักษณะนี้
เพื่อลดภาระการสร้างที่จอดรถ ที่ตากผ้า ที่เก็บของ ผมกับภรรยาคุยกันไว้แบบนี้ (ถามความเห็นภรรยา 555)
4
ขนาดบ้านถอดออกจากแบบที่ช่างเขียนให้มาเลย สุดท้าย พื้นที่ยกพื้น 2 เมตรนั้น กลายเป็นว่าพื้นสูง 2 เมตรจริง แต่เวลาเดินเข้าหัวจะชนคานของตัวบ้าน ที่ต้องยื่นลงมา และห้อง 3.5 x 3.5 เมตร
ดูแล้วช่างว่ามันเล็กไปนะ ผมเลยขยายเพิ่มในทุกห้องให้ยาวเป็น 4 x 3.5 เมตร พร้อมกับงบที่เพิ่มขึ้นมา 1 แสนบาท เลยต้องโทรไปรบกวนท่านแม่ ขอยืมเงินหน่อยกันเลยทีเดียว
ลงมือสิครับ ถมที่มาได้ 10 กว่าเดือนผ่านฝนมาแล้ว ดินแน่นแล้ว ไฟฟ้า ขอพ่วงไฟจากบ้านหลังสุดท้ายที่เห็นไกลลิบๆ หลังรถสีขาว
เจาะน้ำใต้ผิวดินตรงมุมของที่ดิน มาเพื่อใช้สร้างบ้าน โดนค่าเจาะรวมอุปกรณ์ 7,000 บาท ไม่เจอน้ำไม่ต้องจ่าย 5,000 ค่าปั๊มน้ำแบบถังกลม
ระหว่างนี้วนเวียนไปมาก็ หอพัก บ้านต่างอำเภอ(ภรรยาลาคลอดไปอยู่กับยาย) ทีทำงาน และก็ที่ก่อสร้าง
ภาพที่ 6
ผ่านเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไปเลยนะครับ เพราะทุกคนคงอ่านเจอกันมาบ่อยแล้ว ภาพนี้เป็นตัวบ้านชั้นบน ที่ใช้อยู่อาศัยเลยครับ แผ่นสำเร็จรูปตามขนาดของบ้านเลย ช่างสั่งไป เอามาลงให้ เชื่อมเหล็กติดกันเรียบร้อย รอการเททับ
คือลุงธรรณ์ ช่างที่รับเหมานี่ ผมให้ใจเลยครับ แกซื่อตรงมาก แถมมีประสบการณ์ มืออาชีพมาก ๆ หลังจากนั้นมาผม จ่ายเงินให้แกอย่างเดียวเลย
ภาพที่ 7
ห้องครัวผมเน้นเลย ที่ล้างจานต้องโดนแสงส่องถึง กลัวขึ้นรา และที่สำคัญ ปลั๊กไฟ ในห้องครัวนี้ มีอยู่ครบทุกมุมเลย เพราะไม่อยากโยงสายลากพ่วง ซึ่งผมไม่ชอบเลย รกดูไม่สวยงาม แถมอันตราย แพลนต่างๆ จึงต้องคิดไว้ให้หมดเช่นที่วางเตาแก๊ส ก็ต้องติดที่ดูดควันไปเลยทีเดียว
เพราะหากมาทำทีหลังคงยุ่งยากกว่าเดิม และเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยแน่ๆ ฝาซิ้งค์ เป็นพลาสติก(ราคาถูกสุดละ)แต่มันทำความสะอาดง่ายดีนะ ที่วางถังแก๊สก็อยู่ในซิ้งค์เลย เพื่อความสวยงาม เตาแก๊สแบบฝัง+ที่ดูดควัน จัดมายกชุดเลย จาก Home Pro ราคา 1.1 หมื่นบาท ที่ล้างจาน 2 หลุมพร้อมที่วางจาน (ผมจำราคาไม่ได้)
ภาพที่ 8
ห้องนอนอยู่ทิศตะวันออก เพื่อรับแสงเช้าและหนีแสงยามบ่าย เพราะถ้าห้องอยู่ทางตะวันตก แดดตอนบ่ายจะแรงมากๆ ในห้องก็จะร้อนน่าดูเนื่องจากสะสมความร้อนไว้ แต่ผมก็แก้ปัญหาโดยการติดพัดลมดูดอากาศ+สวิทที่ผนังของทุกห้อง
ส่วนห้องนั่งเล่นจะเป็นพัดลมที่มีขนาดตัวใหญ่หน่อย ในความคิดผมนะ เรื่องนี้โคตรสำคัญเลยสำหรับการถ่ายเทอากาศของภายในบ้าน เสียงอาจจะดังหน่อยตอนเปิด แต่ก็อยู่ในกรณีที่รับได้ เดินสายไฟเผื่อติดแอร์ในอนาคตด้วยเรียบร้อย
ภาพที่ 9
ช่องที่ฝาผนังคือเว้นเอาไว้สำหรับติดตั้งพัดลมดูดอากาศออกนะครับ เดินปลั๊กไฟไว้รอเลยทีเดียว หลังคาเป็นเมทัลชีท แบบหนา+ฉนวนกันความร้อน เพื่อความประหยัดงบครับ อีกอย่างผมว่ามันเร็วดี ประหยัดได้หลายอย่างเลย รวมถึงตัวบ้านไม่รับน้ำหนักมากด้วย เสียงดังเวลาฝนตก ผมก็รับได้อีกนั่นแหละ
ภาพที่ 10
ระเบียงหน้าบ้านต่างจากแบบจริงไปนิดนึงเพราะทำที่นั่งที่หน้าบ้านเพิ่มเติม 2 ด้าน เอาไว้นั่งชิวกินลมหนาว(แต่พอฤดูหนาวไม่นั่งเพราะมันหนาวมาก)
ปลั๊กไฟด้านนอกตัวบ้าน จัดไป 2 จุด เพราะไม่อยากลากสายพ่วงจากในบ้านออกมาด้านนอกเวลาจะใช้งานอะไร และ ที่สำคัญผมเดินสายไฟแบบฝังในผนัง ไหนๆ ก็ฝังท่อเดินสายไฟมาแล้ว เหมือนยิงปืนนัดเดียว ได้นก 2 ตัว ทุกจุดหากเป็นไปได้ก็จะวางปลั๊กไฟไว้ทั้ง 2 ด้านเลย
ภาพที่ 11
ใกล้สำเร็จแล้ว ช่างทำงานละเอียดมาก และผมก็ไม่รีบด้วย ผนังทาสีรองพื้น ปลั๊กไฟ TV ติดผนัง+จุดเชื่อมต่อสายอากาศ TV Digital (เดินสายไว้พร้อมกับสายไฟและเอาเสาก้างปลาไปไว้ที่หลังห้องครัว) ผมซ่อนไว้หลัง TV หมดเลย สายจะได้ไม่รกรุงรัง
หน้าต่างจากขอบพลาสติก เป็น อลูมีเนียมแบบบานเลื่อน 8 จุด รอบบ้าน + ประตูกระจกแบบสวิงเข้าออกทั้งบาน (ขนาด1.20 เมตร) โดนไป 45,000 บาท รวมถึงมุ้งลวดในห้องน้ำ
ภาพที่ 12
ห้องน้ำ ก็แบ่งโซนแห้ง-เปียก เป็นห้องเล็ก ๆ แต่ค่าใช้จ่ายนี่บอกได้ว่าไม่เล็กเลย มันแพงกว่าทุกห้องในบ้านครับ ของทุกอย่างในนี้ สอยมาจาก HomePro
เหตุผลเพราะว่าของเขาการันตีคุณภาพ ราคาของข้างนอกก็ถูกกว่ากันไม่กี่บาท ปูพื้นทั้งบ้าน ห้องน้ำทั้งหมด
***เคล็ดลับคือ หากเราซื้อถึงยอดที่เขาจะลดแล้วใช้ซื้อครั้งต่อไปได้ หรือสะสมแต้มมาซื้อได้ ผมก็ซื้อให้ถึงแล้วให้เขาตัดบิล+ได้ส่วนลด เอามาลดบิลถัดไปทีเดียวเลย (ภรรยาผมเธอคำนวนให้ ช่างฉลาดล้ำ) ผู้ชายต้องยอมเรื่องแบบนี้ครับ 555
ที่จริงว่าพื้นที่ปูด้านข้างพอแล้วแต่กระเบื้องมันเหลือเลยปูขึ้นไปอีกแผ่นนึงจนต้องตัดเว้นว่างที่ติดพัดลมและช่องระบาย ความสวยสะดุดเลยตรงนี้ผมพลาดเองตอนนี้สายไฟตรงนั้นเก็บใส่กล่องเรียบร้อยแล้ว
ภาพที่ 13
เบอร์สีของบ้าน ต้องเอามาจากในเว็บ คือเหลืองมันอธิบายไม่ได้ครับ ถ่ายรูปมาให้ช่างดูสีมันก็เพี้ยนอยู่ดี ในแคตตาล๊อกที่ช่างเอามาให้ดูก้ไม่มีที่เราคิดไว้ เปิดเว็บดูถ่ายรูปมาให้เลย ง่ายดี เป็นของ Beger รหัสสี ก็ตามภาพครับ
ภาพที่ 14
โทนสี ผมเอาง่ายๆ ที่ดูสบายตา เหลืองตัดกับดำสวย แต่บ้านกลางทุ่งตัดกับขาว เป็นสีที่สามารถตัดได้กับหลาย ๆ สีของธรรมชาติ เขียวท้องนา ฟ้าของท้องฟ้า ฟ้าแดงๆ ตอนเย็น ก็ตัดได้ นี่เป็นเหตุผลหลักๆ ที่เลือกสีเหลืองสำหรับผมเลยครับ ฝ้าหลังคารอบบ้านก็มีปล่องระบายอากาศเล็กๆ ไว้ อันนี้ช่างเขาทำให้และแนะนำมา
ภาพที่ 15
ขั้นตอนปูพื้นบ้านโดนมาจาก HomePro ครับ สอยของที่เขาจัดโปรเช่นเคย กระเบื้องไม่เสียสักแผ่น (ส่งให้พรีแบบข้ามจังหวัดด้วย ผมซื้อรวมทีเดียว)
เลือกสีที่ดูเปื้อนยากหน่อย ได้ลายไม้มามันดูกลมกลืนกับสีกันเปื้อนในตัวบ้านด้วย ส่งผลถึงการเลือกสีผ้าม่าน ตัดสองสี คือเหลืองอ่อนตัดกับสีน้ำตาล
แค่นี้ก็ดูลงตัวแล้วครับหลาย ๆท่านอาจจะเลือกสีฉูดฉาดตามความชอบแต่ผมเลือกความลงตัวและเข้ากันได้ดีของสีมากกว่าครับ
ภาพที่ 16
ห้องครัว เรียบร้อยพร้อมใช้งาน ทำท่อระบายน้ำเครื่องซักผ้าไว้ตรงมุม พร้อมกับก๊อกน้ำ
ภาพที่ 17
ห้องนั่งเล่นพร้อม
ภาพที่ 18
ห้องนอนด้านหน้าบ้าน เห็นนอกหน้าต่างเป็นระเบียง
ภาพที่ 19
บ้านเสร็จในช่วงฤดูฝน มีพายุพัด ถือเป็นการทดสอบการรั่วหรือจุดปัญหา ตรงนี้คือผมต้องเจาะรูระบายขอบหน้าต่าง(จุดที่เป็นสันรางล้อของหน้าต่าง) เพื่อช่วยระบายให้ไวขึ้น เพราะลมพัดแรงอัดเข้ามา น้ำบนพื้นตามภาพ เรียบร้อยหมดปัญหา
ภาพที่ 20
ไม้ประตูขยายตัว ปิดยาก เป็นโอกาสดีในการแก้ไข ถอดมาทั้งบาน ลุงธรรณ์ เอาเครื่องมาใสไม้ออก ด้านบน+ด้านข้าง ปรับแต่งกันจนพอดี ประตูบานไม่แพงจาก HP ขอบประตู ช่างธรรณ์ จัดให้ สีทาขอบประตูก็ไม่ต้องซื้อ ใจดีมาก
ภาพที่ 21
ใต้ถุนบ้าน จอดรถสบาย ๆ ตากผ้าสบาย ๆ น้ำที่เห็นนั่นคือฝนสาดเข้ามา
ภาพที่ 22
The Final ในที่สุดก็เสร็จ
.
ราละเอียดค่าใช้จ่ายช่วงนั้นผมทำบัญชีไว้ยิบเลยครับ เพื่อจะได้รู้ทุนที่แท้จริง
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในการสร้างบ้าน คือ
1. การรับเหมา ดีกว่าการจ้างรายวันครับ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละช่างด้วย) ซึ่งการจ้างรายวันนี้ มันทำให้ทุนของเราไม่แน่นอน เพราะงานช้าเงินก็ออกไปมาก ยิ่งวัฒนธรรมทางเหนือ ทำงานเสร็จเย็นต้องเลี่ยงเหล้าเลี้ยงข้าวอีก มื้อนึงหมดเกือบพันแน่นอน ซึ่งเงินเหล่านั้นหมายถึงบ้านเรา
2. ถ้าเป็นญาติกัน ก็พาลจะเสียความรู้สึกไปเลย ทำงานไม่เต็มที่แต่เบิกค่าแรงเต็ม จะว่าก็ติดในใจอย่างที่รู้กัน ติงานก็ยากบอกให้แก้ไขก็จะว่าเรานี่เรื่องมากอีก ไม่ควรครับ(ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลเช่นกัน)
3. การทำงานต้องชัดเจน รู้ถึงฝีมือของช่างด้วยว่าช่างถนัดแนวไหน ไม่ใช่อยากได้บ้านสไตล์ที่มีส่วนโค้งเยอะ ช่างก็ต้องเหมาะกับงานนั้นด้วย เพราะหากเขาไม่ชำนาญ ก็ต้องมาปวดใจทีหลังกับคำว่า ” รู้งี้ ”
4. ห้ามใจตัวเองให้มาก ต้องมั่นคง ไม่ใช่ระหว่างสร้างบ้านเดี๋ยวก็เพิ่มนั่นนี่เข้าไปมากมาย จนผู้รับเหมาถอนหายใจเฮือกใหญ่ๆ
5. ไว้ใจช่าง เรื่องการซื้อของ ช่างซื้อได้ถูกกว่าเราไปซื้อเองมาก อิฐ หิน ทราย ปูน งี้ ลดค่าใช้จ่ายได้พอสมควรครับ เพราะบางคนกำเงินเองทั้งหมด อยากได้อะไรบอกจะไปซื้อให้ แบบนี้บางทีใบเลื่อยใบเดียวทั้งที่ช่างมีแต่เขาไม่เอามาซะ กลายเป็นอุปกรณ์เหล่านี้เราต้องใช้เงินเราซื้อเองทั้งหมด ซื้อใจกันครับ (ขึ้นอยู่กับช่างครับ) เทียวไปซื้อเองทีละอย่าง เสียเวลา เสียค่าน้ำมัน ร้อนเหนื่อยเปล่าๆ
ภาพที่ 24 เด็กน้อยครับ
ภาพที่ 25 บันไดขึ้นบ้าน จอดรถแล้วลอดใต้ถุนมาขึ้นบันไดได้เลย ไม่มีเปียกฝน
ภาพที่ 26 ทิศตะวันตก โดนแดดเต็ม ๆ โดนฝนสาดเต็ม ๆ ครับด้านนี้ รอบบ้านยังเป็นดินเปล่า ๆ ฝนทีนึงเดินไม่ได้เลยทีเดียว
ภาพที่ 27 ที่ข้างบ้านได้บรรยากาศลูกทุ่งมาก เลี้ยงวัว สุดแปลงตรงนั้นเป็นร่องน้ำสาธารณะสำหรับทำนา
ภาพที่ 28 เข้าสู่ฤดูฝน ภาพนี้ มีทั้งดวงจันทร์ + ดวงอาทิตย์ ในภาพเดียวกัน ตะวันลับขอบฟ้าที่ดอยหลวงพะเยาครับ
ภาพที่ 29 ฝนลงเม็ด ถ่ายจากระเบียงบ้าน
ภาพที่ 30 ปีนั้นน้ำท่วมนากันเลยทีเดียวครับ 4 แยกหลักก็ท่วมด้วย แต่บ้านผมสูงกว่าระดับน้ำพอดี มิดยอดข้าวเลยทีเดียว
ภาพที่ 31 ก็จะได้วิวประมาณนี้ครับ
ภาพที่ 32 ปัจจุบัน ทำรั้วแล้ว เน้นโปร่ง โลกสบาย ที่สำคัญรั้วแบบนี้ ราคาไม่แพงด้วยครับ 30,000 ระยะ 100 เมตร + ประตู
ภาพที่ 33 ช่วงนาทีทองของตอนเย็นในฤดูฝนเลยล่ะครับ
.
ภาพที่ 34 บางค่ำคืนก็จะออกมาถ่ายรูปฝนดาวตกเก็บไว้บ้างครับ
.
.
ภาพที่ 35 ฤดูหนาว
ภาพที่ 36 สุดท้าย
การสร้างบ้านมันก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตครอบครัว ถึงแม้สร้างไว้หลังใหญ่แค่ไหน ราคาเท่าไร แทบไม่มีความหมายหากไม่ได้อยู่อาศัย หากยังยุ่งกับธุระของตัวเองจนลืมเวลาให้ครอบครัว
ท้ายสุดมันก็ไม่ได้มีความหมายเท่ากับการที่ผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น ที่จะมีความสุขหรือเปล่า ผมเชื่อมั่นได้เลยว่าความสุขมันเริ่มจากข้างใน ในทัศคติที่มอง การแสดงออกมาของตัวตนมันก็จะส่งผลถึงตัวบ้านด้วยเช่นกัน
ที่มา : Hunter 2016 .