คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจแบบผิดๆ เกี่ยวกับ อาหารแช่แข็ง เช่น อาหารแช่แข็งมีความสดใหม่น้อยกว่าอาหารทั่วไป มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่าอาหารสด และมีระยะเวลาการเก็บรักษาน้อยกว่าอาหารสด ซึ่งทั้งหมดนี้ สร้างความเข้าใจแบบผิดๆ ให้กับใครหลายคนมาอย่างยาวนาน
และวันนี้ ในบ้าน จะขอพาทุกคนไปสำรวจ 10 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ ‘อาหารแช่แข็ง’ ที่ใครต่อใครบอกว่ามันไม่ดี แต่ที่จริงแล้วมันมีประโยชน์กับเรามากกว่าที่คิด ใครอยากรู้ว่าจะมีความเชื่ออะไรบ้าง เราไปชมกันเลยค่ะ
1. ผักและผลไม้แช่แข็งมีสารอาหารน้อยกว่าผักสด
นั่นเป็นความเชื่อแบบผิด เพราะผักผลไม้แช่แข็งจะผ่านกระบวนการที่ทำให้มันสุกและสดจนถึงขีดสุด จากนั้นก็นำไปแช่แข็งราว 6-10 ชั่วโมง ซึ่งผักและผลไม้เหล่านั้นจะยังคงให้คุณค่าทางโภชนาการมากกว่าหรือเท่ากับผลไม้สด และมันจะยังคงสดใหม่อยู่เสมอตราบเท่าที่เรายังไม่ได้เปิดถุงและนำมันออกมาปรุงอาหาร
2. การนำอาหารแช่แข็งที่ละลายแล้วกลับไปแช่ซ้ำเป็นเรื่องอันตราย
อันที่จริงแล้ว หากเรานำอาหารแช่แข็งออกมาละลายที่เคาน์เตอร์ครัว หรือบนโต๊ะ และนำกลับไปแช่แข็งใหม่ เชื้อแบคทีเรียอาจจะเข้าไปในอาหารและเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่หากเราละลายน้ำแข็งในช่องแช่เย็นธรรมดา และนำวัตถุดิบที่เหลือกลับไปแช่ในช่องฟรีซใหม่ อาหารแช่แข็งของเราจะไม่เป็นอันตราย แต่คุณภาพความอร่อยนั้นก็อาจจะลดลงบ้างนะ
3. อาหารแช่แข็งมีโซเดียมสูง
ปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตอาหารแช่แข็งหลายเจ้าเริ่มหันมาให้ความสนใจด้านสุขภาพของผู้บริโภคมากขึ้น โดยการลดโซเดียมในอาหารแช่แข็งลง ไม่ว่าจะเป็นเกลือ หรือโซเดียมคลอไรด์ หากเราลองอ่านฉลากข้างถุงอาหารแช่แข็ง จะพบว่าปริมาณของโซเดียมลดน้อยลงมากจริงๆ ค่ะ
4. ห้ามแช่แข็งนมหรือไข่
อันที่จริงแล้วนมและไข่สามารถนำไปแช่แข็งได้ เช่น นมกล่อง หรือไข่ขาวที่เราไม่ได้ใช้ (ไข่ขาวเมื่อนำไปแช่จะมีคุณภาพดีกว่าไข่แดง) ถึงแม้ว่ารสชาติอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ยังคงคุณค่าทางอาหารและความปลอดภัยไว้เหมือนเดิม
5. ละลายของแช่แข็งในเคาน์เตอร์ครัวเป็นเรื่องที่ปลอดภัย
การนำของแช่แข็งไปละลายในเคาน์เตอร์ครัวเป็นการกระทำที่ผิดอย่างร้ายแรง เพราะอาหารแช่แข็งที่นำไปละลายทิ้งไว้ในอุณภูมิห้องเป็นเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง จะทำให้แบคทีเรียโดยรอบเจริญเติบโตและสะสมเข้าไปในอาหารของเราได้ ซึ่งนั่นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเรามากเลยล่ะค่ะ
6. ละลายอาหารในน้ำร้อนจะทำให้อาหารนั้นปลอดภัยและสะอาด
การนำอาหารแช่แข็งไปละลายในน้ำร้อนก็ถือว่าเป็นข้อห้ามเช่นกัน เนื่องจากอาหารที่นำไปแช่ในน้ำร้อนจะมีความอ่อนตัวไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งที่โดนน้ำร้อนมากกว่าอาจจะอ่อนตัวลงและพร้อมนำไปปรุงรสชาติได้ทันที แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะยังมีน้ำแข็งจับตัวอยู่ และถ้าเรานำมันไปใส่ในน้ำมันร้อนๆ อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของเราได้ ทางที่ดีควรละลายในน้ำเย็นและหมั่นเปลี่ยนน้ำทุกชั่วโมงจะปลอดภัยกว่านะคะ
7. อาหารที่อยู่ในหีบห่อสามารถนำไปแช่เย็นได้ทันที
หีบห่อที่ใช้บรรจุอาหารส่วนใหญ่จะมีรูระบายอากาศขนาดเล็ก ซึ่งเป็นจุดที่แบคทีเรียสามารถเข้าไปสะสมอยู่ภายในได้ และยิ่งถ้าเรานำไปแช่เย็น แบคทีเรียเหล่านั้นก็จะเจริญเติบโตขึ้นอีกเท่าตัว หากจำเป็นจริงๆ เราขอแนะนำให้หาถุงหรือกล่องมาห่อซ้ำอีกรอบ รีดอากาศออกให้หมดเท่าที่จะทำได้ เพียงเท่านี้แบคทีเรียก็จะไม่เข้าไปรบกวนอาหารของเราแล้วค่ะ
8. อาหารแช่แข็งมีความสมดุลทางคุณค่าโภชนาการ
อาหารแช่แข็งอาจจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ทว่าก็ไม่ทั้งหมด หากทานแต่อาหารแช่แข็งตลอดเป็นประจำทุกมื้อ อาจทำให้เราขาดสารอาหารได้ ทางที่ดีควรเพิ่มวัตถุดิบอื่นๆ เข้าไป เพื่อสร้างความสมดุลทางโภชนาการ เช่น สมมติว่าเราจะทำเมนูอาหารเช้าเพื่อสุขภาพ วัตถุดิบที่นำมาใช้อาจจะผสมผสานระหว่างอาหารสดและอาหารแช่แข็ง เช่น เมนูแพนเค้กโยเกิร์ตผลไม้ เราก็นำแผ่นแป้งแพนเค้กปรุงสด โยเกิร์ตกระป๋อง และผลไม้แช่แข็งมาปรุงแต่งเข้าด้วยกัน เท่านี้เราก็จะได้คุณค่าทางโภชนาการจากทั้งอาหารสดและอาหารแช่แข็ง สร้างความสมดุลในแต่ละมื้อได้แล้วค่ะ
9. อาหารใกล้หมดอายุไม่ควรนำไปแช่แข็ง
อาหารลดราคาส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ใกล้วันหมดอายุแล้วทั้งนั้น หลายคนมักจะรีบรับประทานทันที แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถนำมันไปแช่แข็งเพื่อเก็บรักษาต่อได้ โดยที่ยังมีความปลอดภัยในการบริโภค แต่ทว่าคุณภาพของวัตถุดิบหรืออาหารเหล่านั้นอาจจะลดลง ยังไงจะให้ดีที่สุด ก็ควรรีบทานให้หมดเสียจะดีกว่านะ
ที่มา : rd