คงเป็นเรื่องที่โชคดีไม่น้อย หากในการสร้างบ้านของเรานั้นได้ช่างที่มีฝีมือ มีประสบการณ์ และมีความเป็นมืออาชีพในการทำงาน เพราะนอกจากจะได้บ้านที่ตรงตามสเปคแล้ว เจ้าของบ้านและช่างงานก็มีความสุขตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ผลลัพธ์ของการสร้างบ้านไม่ได้ขึ้นอยู่กับช่างอย่างเดียว ตัวเจ้าของบ้านเองก็ต้องใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ เช่นกันครับ
เหมือนกับบ้านของคุณ เกาะร้าง ที่ ในบ้าน นำมาให้ชาวเว็บได้ชมกันในคราวนี้ เป็นบ้านสองชั้นแนวร่วมสมัยที่สวยเนี้ยบ รายละเอียดเป๊ะ เพราะได้ช่างงานที่มีคุณภาพ นอกจากนี้คุณเจ้าของบ้านเองก็ยังมีความละเอียดรอบคอบในการสั่งงานด้วย สื่อสารกับช่างได้เข้าใจตรงกันเป๊ะ จึงได้มาเป็นบ้านที่สวยถูกใจ เรามาดูกันครับ ว่าคุณเจ้าของบ้านเค้ามีเคล็ดลับอะไรบ้างในการสร้างบ้านหลังนี้
Review : ปลูกบ้านสองชั้นแนวร่วมสมัย ได้ช่างดีมีประสบการณ์ เก็บงานได้เนี้ยบ ละเอียดทุกตารางเมตร
(โดย เกาะร้าง)
บ้านนี้ ราคาตั้งอยู่ที่ 3,180,000 บาทค่ะ
ทางโครงการแถมทำเคาเตอร์ครัวให้ แล้วก็ส่วนที่เปลี่ยนจากบานเลื่อนเป็นบานเปิด ทั้งหมด 8 บาน แล้วก็ส่วนขยายห้องนอนใหญ่ กับขยายหลังคา
ส่วนงานเพิ่ม
– ปลั๊กไฟ เดินสายแลน จุดต่อทีวี จุดต่อแอร์
– กระเบื้องและสุขภัณฑ์ที่เพิ่มเกรดขึ้นไปจากที่โครงการให้
– แล้วก็สีทาภายในที่เราเพิ่มเกรด
– เปลี่ยนพื้นชั้นล่างจากกระเบื้องเป็นลามิเนต
– งานเพิ่มทางเดินรอบบ้าน เหล็กดัดและงานจุกจิกอื่นๆ
รวมค่าโอนที่ออกคนละครึ่งกับโครงการ และค่าส่วนกลางแล้วก็เป็นอีกประมาณ 300,000 บาทค่ะ
สรุปคือรวมทั้งหมดประมาณ 3,500,000 ค่ะ
จุดเริ่มต้นเมื่อต้นปีที่แล้ว
เราได้ไปลองหาดูที่ดินเปล่า กะว่าจะเอาไว้สร้างบ้านเอง หาไปเท่าไหร่ก็ไม่ถูกใจซักที เลยได้แวะเวียนไปดูบ้านจัดสรรใหม่ที่เขาติดป้ายประกาศใหญ่ๆริมถนน
ไปดูบ้านตัวอย่างแล้ว ก็เข้าไปดูตรงที่เขาก่อสร้างกันด้วยค่ะ (ยังไงต้องระวังให้ดีด้วยนะคะว่าเราควรเข้าไปแค่ไหน ที่ไม่เป็นอันตราย) เห็นแล้วก็เพลียใจใช่ย่อย ดูๆไปแล้วไม่รู้ว่าในบรรดาคนงานมากมายเหล่านั้น จะมีคนที่เป็น “ช่าง” อยู่ซักกี่คนกันแน่
เลยได้ปันใจไปดูบ้านมือสองบ้าง ได้เข้าไปดูบ้านอายุ 7 ปี ที่หมู่บ้านนึง บรรยากาศสงบ อยู่ใกล้ตลาด สวนสาธารณะ และใกล้ที่ทำงาน
พอดีหันไปเห็นที่ด้านหน้าหมู่บ้านเห็นเขากำลังก่อสร้างใหม่อยู่สองสามหลัง เลยลองถามยามดู ยามก็บอกว่า นั่นบ้านเจ้าของโครงการเขาสร้างอยู่เอง
ก็เลยตกลงใจว่าจะซื้อบ้านมือสองนี่แหละ เพราะชอบทำเลมาก
ภาพรวมๆภายในหมู่บ้านค่ะ
แล้วฟ้าก็บันดาลให้เราเดินเข้าไปที่สำนักงานขายโดยบังเอิญ
ก่อนไปทำสัญญาซื้อบ้านมือสอง เลยทำให้รู้ความจริงว่า บ้านเจ้าของน่ะหลังเดียว ส่วนที่ข้างๆ เขาเปิดเฟสใหม่ สิบหลัง นี่มีคนซื้อเกือบหมดแล้ว เหลือสองหลัง
ก็จะไปรู้ได้ยังไง ป้ายประกาศขายยังไม่มีเลย ลองถามๆดูก็เลยรู้ว่า ก็คนในหมู่บ้านแหละที่ชวนญาติๆกันมาซื้อ จนเหลือแค่สองหลังหน้าทางสามแพร่งนี้เอง
คิดๆดูแล้วราคาก็ไม่ต่างจากบ้านมือสองมาก ได้เนื้อที่เพิ่มด้วย เลยตัดสินใจเลือกบ้านใหม่
เป็นจุดเริ่มต้น บ้านน้อยของเรา แบบฟลุ๊คๆนิดหน่อย
ถนนในหมู่บ้านค่ะ
ด้านในเฟสที่ขึ้นก่อน ทุกบ้านต้นไม้โตหมดแล้วดูร่มรื่นดี
ว่าแล้วก็มาดูแบบบ้านกัน
พี่พนักงานขายของโครงการก็เข้ามาพาเราดูบ้านที่เสร็จแล้ว
แล้วก็เลยได้กางแบบบ้านดูกัน
พี่เค้าดีมากๆ พูดจาดี ให้รายละเอียดดี แล้วก็ตรงไปตรงมา ยิ่งตอนหลังเราต้องกลับมาต่างประเทศ ก็ได้พี่เค้าที่แหละช่วยดูแลการก่อสร้างให้ตลอด
เป็นบ้านสองชั้น ที่ดิน 70 ตารางวา 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 3 ห้องโถง จอดรถได้สองคันค่ะ
ความแปลก(แต่ดีมากๆ) ของโครงการนี้อีกอย่างคือ
ถ้าโครงสร้างยังไม่ขึ้น เค้ายอมให้เปลี่ยนแปลงแบบบ้านได้บ้างเช่นย้ายประตู แนวกำแพง หรือหน้าต่าง หรือพวกตำแหน่งสุขภัณฑ์ต่างๆ
ไม่ได้คิดค่าเปลี่ยน ค่าทำแบบใหม่ คิดแค่ค่าของเท่านั้น
จะเปลี่ยนตรงไหนก็คุยกับพี่เจ้าของโครงการที่เป็นสถาปนิกหนุ่ม
บางทีเราก็เผลอคิดไปว่า แกลืมคิดค่าแรงตัวเองป่าวเนี่ย อิอิ
แบบที่เปลี่ยนส่วนนึงก็ได้มาจากกระทู้ Do&Don’t ในห้องชายคานี่แหละจ้า
– เปลี่ยนจากระเบียงด้านข้างเป็นห้องเก็บเสื้อผ้า
(มีระเบียงก็คงไม่ค่อยได้ออก แถมจะกลายเป็นที่ถ่ายหนักเบาของนกทั้งหลายอีก)
– เอาส่วนอาบน้ำชั้นล่างออก จัดใหม่ให้มีห้องซักผ้าแทน
(ไม่อยากเอาเครื่องซักผ้าไว้นอกบ้านหรือในครัว)
– จัดแนวเคาเตอร์ครัวใหม่ วางตำแหน่งประตูใหม่
ตอนซื้อของเข้าบ้านก็เดินจากรถไปเข้าทางครัวได้เลย สะดวกดีค่ะ
เนื่องจากเราเปลี่ยนจากระเบียงเป็นห้อง
หลังคาเลยต้องยื่นออกมามากกว่าเดิม ส่วนเพิ่มตรงนี้ เราคุยกับทางโครงการก่อนเซ็นสัญญาเลยไม่ได้คิดเงินเพิ่มค่ะ ^^
รูปด้านหลังบ้าง
ดูแบบ ปรับเปลี่ยนจนถูกใจแล้วก็เซ็นสัญญา
แบบสัญญาของโครงการนี้ เราว่าดีและยุติธรรมมากๆค่ะ
เพราะว่าระบุชัดเจนว่า
– ค่าโอน ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้ ค่ามิเตอร์น้ำไหน ฝ่ายใดเป็นผู้ชำระ
– กรณียื่นกู้ ถ้ากู้ไม่ผ่านจะคืนเงินจองและเงินมัดจำทั้งหมด
– ถ้าบ้านเสร็จล่าช้ากว่าวันโอนที่ตกลงในสัญญา จะจ่ายค่าปรับให้ผู้ซื้อวันละเท่าไหร่
– กรณีบ้านเสร็จพร้อมโอน ถ้าผู้ซื้อไม่ชำระเงินตามวันที่ระบุ จะต้องเสียค่าปรับเท่าไหร่
– การรับประกันบ้าน รับประกันกรณีไหนบ้าง กี่ปี
ตกลงเราเลยทำสัญญา เลือกบ้านหลังสุดท้ายของโครงการที่ยังไม่ขึ้นโครงสร้าง เลยเป็นที่ดินโล่งๆอย่างที่เห็นค่ะ
หลังจากตอกเข็มแล้ว ก็ถึงงานทำคานคอดินและเดินท่อกำจัดปลวก
เนื่องจากชั้นล่างคิดว่าจะปูลามิเนต ก็เลยต้องกันความชื้นกันหน่อย
ถึงการสร้างจะเป็นการวางน้ำหนักบนคานซึ่งสูงกว่าพื้นดิน 50 ซม. แต่เราก็ให้เค้าคลุมพลาสติกเพิ่ม เหนือท่อกำจัดปลวก แล้วก็ผสมกันซึมเวลาเททับหน้าพื้นสำเร็จด้วย
จะมีปัญหาเรื่องความชื้นแค่ไหน อีกปีสองปีก็คงได้รู้กันล่ะ
เทพื้นชั้นล่าง
แล้วก็เทเสา
แกะแบบเสาออกแล้วก็พันด้วยพลาสติก
ไม่ให้น้ำระเหยออกเร็วเกิน
เริ่มทำแบบคาน
ลืมบอกไปว่า พวกงานเดินท่อน้ำชั้นหนึ่งนั้น ทำก่อนเทพื้นนะคะ
ถ้าเราคิดจะเปลี่ยนตำแหน่งสุขภัณฑ์ หรือยี่ห้อของโถสุขภัณฑ์ ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีระยะของท่อไม่เท่ากัน ต้องวางแผนล่วงหน้ายาวๆหน่อยค่ะ จะได้ไม่ปวดหัวภายหลัง
เทเสาชั้นสอง
วางท่อไว้แล้วก็เทพื้นชั้นสองค่ะ
พื้นห้องน้ำและระเบียงจะเป็นแบบหล่อในที่ ส่วนพื้นห้องนอนห้องโถง ใช้แผ่นพื้นสำเร็จค่ะ
ท่อต่างๆ ที่ชั้นหนึ่ง
ท่อที่วางไว้ที่ห้องน้ำชั้นสอง
มองจากด้านล่างขึ้นไปจะเห็นเป็นท่อลอยๆแบบนี้
ใต้บันใดมีผู้มาจับจองซะแล้ว
ลองดูใต้คานมีเศษไม้แบบติดอยู่ รีบให้ช่างเอาออกด่วน
ก่อนจะเป็นรังปลวกในอนาคต
ตัดฉับมาปูหลังคากันเลย
เป็นซีแพคโมเนียสีแดงอิฐ เหมือนกับหลังอื่นๆในเฟสแรกๆ เพื่อความเป็นระเบียบของหมู่บ้าน (จริงๆแอบอยากได้สีอื่น T-T)
แล้วก็ก่อผนังจ้า
ของที่นี่ใช้อิฐมอญแบบสี่รูก่อผนังชั้นเดียวค่ะที่สำคัญคือต้องมีเสาเอ็นและคานเอ็น(เรียกงี้เปล่าน้า)ด้วย
ก่อเสร็จก็เริมฉาบบ้าง
ผลงานการฉาบภายใน
หน้าตาเริ่มเป็นบ้านขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากเดินท่อและร้อยสายไฟเรียบร้อยแล้ว
ก็ทำโครงฝ้าเตรียมติดฝ้ากันต่อ
แผ่นปิดชายคาเป็นไม้เชอร่าค่ะ
ดูผลงานการเดินสายไฟกันบ้าง
ท่อร้อยสายไฟจะเป็นท่อสีเหลือง ซึ่งสามารถดัดโค้งได้โดยใช้ความร้อนทำให้อ่อนตัวก่อนค่ะ
กรณีเดินตามมุมกำแพงจึงมีรัศมีความโค้งมาก ทำให้สายไฟไม่หักงอ ลดการขาดและหักของสายไฟ
ที่นี่จะเดินท่อไปตามแนวคาน
แล้วจุดที่เป็นโคมไฟก็จะต่อจากกล่องเชื่อมสาย ร้อยเข้าท่อเฟล็กซ์(สีเงินๆ) มายังกลางห้องที่ตน.โคมไฟค่ะ
ส่วนตัวเราคิดว่าเป็นการเดินไฟที่โอเคเลย เพราะว่าเป็นระเบียบ จะซ่อมแซมก็ไล่สายก็ไม่ยาก ที่สำคัญคือช่วยให้ตอนปูฉนวนความร้อนเพิ่ม เป็นไปได้ด้วยดี ฉนวนไม่ทับสายไฟด้วยค่ะ
ช่วงที่เดินจากแนวคานนึงไปอีกแนว
เชื่อมต่อด้วยท่อเฟล็กซ์
เดินท่อเลาะตามคานของโครงหลังคา
ตามที่โครงการให้จะเป็นแผ่นสะท้อนความร้อนติดใต้แผ่นหลังคา
แต่เราเพิ่มฉนวน stay cool 6″ เข้าไปด้วย ปูตอนยังไม่ปิดฝ้าทำให้งานง่ายขึ้นเยอะเลย ซึ่งเราเองคิดว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก
เพราะเย็นกว่าบ้านอื่นที่อยู่ข้างกันอย่างรู้สึกได้จริงๆ
มาดูการเดินท่อน้ำบ้าง อันนี้ถ่ายจากใต้ห้องน้ำชั้นสองค่ะ
จริงๆก็ยังงงงว่าท่อที่ต่อขึ้นไปจากท่อโถชักโครก แล้วไปลดขนาดให้เล็กลง มันคือท่ออะไร เพราะดูจากด้านในห้องน้ำชั้นสอง ก็ไม่เห็นอะไรนะคะ ว่าจะถามช่างก็ลืม
ท่อปฏิกูลก็มาลงที่บ่อบำบัด
แล้วก็ไปออกบ่อพักท่อระบายน้ำอีกที
ในรูป ช่างชื่อน้าเขียว เป็นคนที่ขุดดินเก่งมากๆๆๆ ดินแข็งมากๆๆ แกก็ขุดได้อย่างลึก
วางท่อไฟเบอร์แล้วก็เทปูนบ่อพักท่อระบายน้ำ
แล้วก็ก่ออิฐขึ้นมาเป็นกล่องๆ
แนวท่อหลังบ้านลึกหน่อย
ก็ลงไปก่อกันข้างในหลุมเลย
จากพวกท่อๆ ก็มาดูงานฝ้ากันบ้าง
เป็นฝ้าฉาบเรียบค่ะ ช่างทำรอยเอาไว้สำหรับติดโคมฝังฝ้า
ทางโครงการให้เป็นแบบโคมซาลาเปา(ฟลูออเรสเซนต์ขดเป็นวง)
แต่เราว่ามันไม่ต่อยสว่าง เลยขอเปลี่ยนเป็นแบบนี้
คิดค่าเจาะฝ้าเพิ่ม ก็หักลบค่าโคมกันไป สรุปแล้วเราจ่ายค่าโคมเอง แล้วก็เพิ่มเงินเป็นค่าเจาะฝ้า 100 บาทต่อหลุมค่ะ
ดูฝ้าภายนอกบ้าง
เราว่าช่างชาวไทยนี่ ยิ่งกว่านักแสดงกายกรรมเปียงยางอีกนะเนี่ย แบกอุปกรณ์หนักๆ แหงนหน้ายึดฝ้า ฉาบฝ้า เดินอยู่บนคานพาดเล็กๆ ทำได้ไงเนี่ย
คานเหล็กพาดบนนั่งร้าน
ตลอดแนวหลังบ้านกับด้านข้าง
ใช้ระแนงเชอร่า ตีเป็นช่องลม 3 จุดค่ะ คือด้านทิศใต้ ด้าทิศตะวันออก แล้วก็ทิศตะวันตก
ตามที่เคยอ่านจากบทความเรื่อง ปรับปรุงบ้านจัดสรรเพื่อประหยัดพลังงาน ของคุณวิญญู วานิชศิริโรจน์
ในบทความเลือกจะเจาะช่องระบายอากาศเพียงบางจุด เพราะเชื่อว่าการเจาะช่องนะบายอากาศที่ชายคาโดยรอบ แต่ไม่เจาะช่องอากาศด้านบนนั้น อากาศจะไม่สามารถระบายออกจากใต้หลังคา เพราะความดันอากาศภายนอกกับภายในเท่ากัน เพราะเรามีช่องระบายอากาศมากเกินไปทำให้แรงกดอากาศนี้ถูกระบายออกทุกบริเวณ
การที่เรามีช่องเปิดบางด้าน เมื่อลมปะทะ ความเร็วลมลมจะเปลี่ยนเป็นแรงกดอากาศบวก ที่ด้านนั้น ส่วนอากาศภายในหลังคาเป็นอากาศนิ่ง จึงมีแรงดันต่ำกว่าภายนอก อากาศภายนอกด้านแรดกดอากาศสูงก็จะพยายามดันตัวเข้ามาแทนที่อากาศใต้หลังคา ส่วนด้านที่ลมไม่ปะทะจะเป็นแรงกดอากาศต่ำ จึงเกิดการไหลของอากาศใต้หลังคาได้อย่างดี
หลักการนี้เราก็ไม่ใช่ผู้เชียวชาญที่จะบอกได้ว่าถูกผิดอย่างไร แต่เราลองอ่านดูแล้วก็คิดว่าน่าจะจริงตามนั้น ก็เลยเลือกที่จะมีช่องอากาศแค่บางจุด ที่ด้านสามด้านของบ้านค่ะ
ฝ้าาเสร็จไปแถบนึงละ
พระอาทิตย์ตกหลังบ้าน แล้วก็หมดไปอีกวัน (ลืมบอกไป บ้านหันด้านตะวันออกจ้า)
เช้าวันใหม่
จักรยานใครจอดหน้าบ้านคุ้นๆ อ๋อ ของท่านพี่สถาปนิกเจ้าของโครงการนั่นเอง
ขึ้นมาก็เห็นเฮียแกกำลังมุดฝ้าดึงท่อระบายอากาศอยู่
ไม่กลัวตกเหรอพี่
อันนี้เป็นท่อจากพัดลมดูดอากาศที่ติดในห้องน้ำในห้องนอนใหญ่ค่ะ
พี่ท่านออกแบบใหม่ให้ใช้โครงเหล็กกล่อง ส่วนที่ยึดกับพัดลมก็รองด้วยแผ่นยางก่อนแล้วค่อยยึดกับหน้าพัดลม
ซึ่งวิธีนี้ทำให้พดลมเสียงเงียบมากๆ มากกว่าแบบที่ยึดด้วยโครงไม้แล้วยึดกับฝ้าอีกทีตามคำแนะนำของผู้ผลิต ขนาดเปิดแล้วต้องเงี่ยหูฟังว่าพัดลมทำงานหรือยัง
น้าหวาดเป็นช่างของโครงการ ตัวแกเล็กมากขนาดลอดช่องเหล็กนั้นได้ ถ้าเราขึ้นไป สงสัยจะค้างอยู่อย่างนั้น ติดพุง 555
ส่วนโถงบันไดที่หลายๆบ้านมักจะติดโคมไฟสวยๆ แต่เราติดพัดลมดูด
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะบทความของคุณวิญญูท่านเดิมนั่นล่ะค่ะ เพราะโถงบันไดอยู่ด้านทิศใต้ มีแสงผ่านมาทางบล็อกแก้ว น่าจะมีความร้อนสะสมมาก ความร้อนที่ลอยขึ้นสูง ก็จะให้เจ้าพัดลมนี้แหละช่วยดูดออกไป เพิ่มการไหลเวียนอากาศในบ้าน และใต้หลังคา
ส่วนการทำงานของพัดลมก็คุมด้วยตัวตั้งเวลาเปิดปิดอีกทีค่ะ
เตรียมสายไฟ ไว้ให้ประตูรั้วรีโมทด้วย
คิดว่าต่อไปคงได้ติดแน่ เพราะความขี้เกียจครอบงำ ฮ่าๆ
และแล้วสายไฟทั้งหลายแหล่ก็มารวมกันที่จุดที่ติดตู้เบรกเกอร์
ช่างไฟแกจำได้ไงนะว่าเส้นไหนไปห้องไหนมั่ง
เมื่อติดตู้ไฟเข้าไปก็จะเป็นแบบนี้
ใช้อุปกรณ์ของสแควร์ดีค่ะ ตัวเมนเบรกเกอรืใช้ตัวที่กันไฟดูดไฟรั่ว (RCD) แล้วก็ติดตัวกันไฟกระชากจากฟ้าผ่าด้วย ก็ไม่รู้ว่าจะกันได้แค่ไหน
งานโครงสร้าง งานน้ำไฟ ก็เสร็จไปบ้างแล้ว ทีนี้ก็เป็นคราวของ กระเบื้อง บ้าง
เนื่องจากเราอยู่ต่างประเทศ ไปดูงานเองไม่ได้ เลยต้องใช้วิธีไปเลือกกระเบื้องไว้ก่อน (รวมทั้งแบบสำรองกรณีกระเบื้องที่เราเลือกไว้หมด)
แล้วก็เขียนแบบปูกระเบื้อง เอาไว้ให้ช่างปูตามแบบเลย แบบแรกนี่เป็นห้องครัวค่ะ
ปล. ใช้กูเกิ้ลสเกชอัพ ค่ะ
ห้องน้ำชั้น 1
ห้องน้ำชั้น 2
ห้องน้ำห้องนอนใหญ่
ลานซักล้างหลังบ้าน
ที่จอดรถและชานหน้าบ้าน
ทีนี้มาดูของจริงบ้างค่ะ
กระเบื้องมีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
เดินขอบลานจอดรถ
ลานซักล้างหลังบ้าน
ให้ทางโครงการทำทางเดินรอบบ้านเพิ่ม
คิดมาตารางเมตรละ 350 ไม่รวมค่ากระเบื้องค่ะ แล้วก็ทำขอบปูนด้วย
มาดูห้องน้ำห้องนอนใหญ่บ้าง
ก็อกผสมเทอร์โมสตัทแบบควบคุมอุณหภูมิได้ หอบมาจากญี่ปุ่น ของ TOTO ค่ะ
พี่ชายถามว่าถ้ามันเสียจะซ่อมไง อืม นั่นสิ ในอนาคตอาจจะมีขายในไทยก็ได้มั้ง (ปลอบใจตัวเอง)
ท๊อปหินเป็นลายเขียวบราซิลค่ะ
หินเม็ดใหญ่แบบตัวนี้ จะมีข้อเสียที่เวลาเจียร หินอาจจะหลุดออกมาเป็นก้อนๆ ทำให้ขอบเคาเตอร์อาจจะมีสะดุดบ้าง แต่เราก็ถือว่าโอเคค่ะ ก็ชอบลายนี้นี่นา
ส่วนห้องน้ำรวมชั้นสอง
ก็เน้นแบบเรียบๆเหมือนเดิมแต่เพิ่มสีสันด้วยกระเบื้องสีเหลืองสด
ติดเครื่องทำน้ำอุ่นด้วย
เลือกไว้ที่ 4500W จ้า
มาที่ห้องน้ำชั้นหนึ่ง (น่าจะเป็นส่วนที่น่าอวดสุดละ ฮ่าๆ)
ปูกระเบื้องลายไม้ เป็นแกรนิตโต้ค่ะ ผิวไม่ถึงกับหยาบมาก แต่ก็ไม่ลื่น
ติดวงกบประตูและช่องลมไม้ด้านบน
ใช้ตะปูคอนกรีตติดไม้คอนวูดหน้าสามนิ้วเข้ากับกำแพง และทาสีรองพื้นวงกบไม้จริง
พ่นสีขาวและเดินบัวเพดานและคิ้วที่รอยต่อต่างๆ
เดินขอบรอบบล๊อกแก้วด้วย
สีทาไม้คอนวูดเราเลือกใช้พวกสีทาภายนอกเกรดสูงๆหน่อย เพราะคิดว่าน่าจะทนน้ำได้ดีค่ะ
ส่วนสีที่พ่นไม้ก็เป็นสีพ่นอุตสาหกรรมของ TOA บัวพื้นเป็นบัว uPVC สีขาว ยึดด้วยกาวตะปูค่ะ ติดบานเฟี้ยมไม้ เคลือบยูริเทนจ้า
ถ่ายตอนกลางคืนบ้าง
ในห้องส้วมอาจจะแคบนิดนึง
แต่ก็ยังกว้างกว่าห้องน้ำอยู่ญี่ปุ่นเยอะ
ถ่ายมุมเงยบ้าง
ทีนี้ก็เป็นห้องครัว ที่ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า
เพื่อที่จะได้เดินปลั๊กไฟไปยังจุดที่เราจะวางเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆได้
โดยไม่ต้องมาทุบกันอีกทีหลัง โดยเฉพาะกรณีที่เราจะติดเครื่องกรองน้ำที่ต้องต่อไฟไว้ใต้เคาเตอร์ หรือจะติดเตาเอบไฟฟ้าค่ะ
วางตำแหน่งในกระดาศ แล้วก็กำหนดกตำแหน่งปลั๊ก
แล้วก็วาดในเสก็ชอัพเจ้าเก่าค่ะ
แบบข้างล่างเป็นแบบตัดหินเคาเตอร์ ระบุให้ต่อหินตรงใกล้ๆเตาแก๊ส รอยต่อจะได้เล็กหน่อยค่ะ
เริ่มจากเทเคาเตอร์ครัว
ตรงช่องที่เว้นต้องเอาทรายมาใส่ให้เต็มกันปูนดันเข้ามา
ก่ออิฐใต้เคาเตอร์กั้นเป็นกำแพงแล้วฉาบ
ตรงขอบที่เจาะช่องซิงค์และเตาแก๊สต้องใส่เหล็กไว้ด้วย
เพราะเหลือขอบไม่มาก อันนี้ลองทดสอบขึ้นไปยืนๆดีก็ไม่เป็นไรแฮะ
เมื่อติดกระเบื้อง ท๊อปหิน และอุปกรณ์
เสร็จก็ออกมาเป็นแบบนี้จ้า
ซิงค์เป็นแบบฝังใต้เคาเตอร์ค่ะ
ซิงค์ตัวนี้ต้องนำมาเจาะรูใส่ก๊อกเอง ก็เลยได้ซื้อสว่านเจาะสแตนเลสไปสองตัว
ก็อกของ VRH ชอบตรงที่มีสายฝักบัวให้ด้วย ตอนล้างหม้อหรือของใหญ่ๆน่าจะสะดวกดี
ก็อกเล็กข้างๆเป็นก็อกเครื่องกรองน้ำค่ะ
ท๊อปหินเป็นลายคาร์เมนบราวน์ สั่งร้านหินให้เจียร์น้ำเลยออกมาเป็นขอบเงาวับ จากเดิมที่โครงการให้เป็นแบบเจียรมือ ก็จ่ายเพิ่มกันไป
เตาแก๊สเป็นแบบจุดไฟด้วยแบตเตอรี่ เพราะเรากลัวแบบที่เสียบปลั๊ก กลัวเรื่องไฟช๊อตน่ะค่ะ
เครื่องดูดควันหาได้แรงสุดแถวนี้ได้แค่ 1000 ลบ.ต่อชั่วโมง
อยากได้ตัวแรงกว่านี้เหมือนกัน แต่ไม่มีเวลาไปหาที่กรุงเทพก็เลยเอาอันนี้ละกันเนาะ
ตรงมุมนี่เราติดวาล์วแก๊สเอาไว้
กะว่าจะวางถังแก๊สไว้นอกบ้านติดเซฟตี้วาล์ว แล้วก็เปิดปิดจากวาล์ในบ้านนี้เป็นหลัก ว่าจะติดพวกเครื่องตรวจจับแก๊สรั่วไว้ในบ้านด้วย
วาล์วชุดนี้ไปให้ร้านแก๊สทำให้ค่ะ เป็นท่อทองแดง ข้อต่อทองเหลือง
ตัววาล์วนี่ที่ร้านแก๊สบอกว่าเป็นวาล์วใช้กับแก๊ส ปกติใช้เดินตามหอพัก
ก็ต้องลองดูว่าจะเป็นยังไงต่อไป
ว่าแล้วก็ลืมส่วนชานหน้าบ้าน
เรายกเลิกม้านั่งคอนกรีตที่โครงการจะทำให้ แล้วเปลี่ยนจากปูกระเบื้องเป็นปูไม้ไฟเบอร์ซีเมต์แทนค่ะ
ก่อนอื่นก็ต้องขัดมันพื้น
ยึดไม้พื้นสมาร์ทวูดด้วยพุกและสกรู
ทาด้วยสีโรเทนเบิร์กสำหรับทาพื้นไม้ไฟเบอร์ซีเมนต์ ใช้สีวอลนัทด้านค่ะ แล้วก็ทำทรายล้างรอบๆเป็นอันเสร็จ
ไม่มีรูปตอนเช็ดถูดีๆเล้ย ต้องขออภัยด้วยนะคะ
มาถึงรั้ว
อันนี้ก็ขอโครงการเปลี่ยนแบบรั้วตายติดไม้รั้วสมาร์ทวูดหน้า 4″ หนา 16 มม. แล้วก็ทาสีวอลนัทด้าน ตัวที่ใช้ทาพื้นหน้าบ้านนั่นเลยค่ะ
ด้านหลังใช้เหล็กรางและเหล็กฉากค่ะ
มองไกลๆ เหมือนจะแนบเนียนว่าเป็นไม้จริง
(เข้าข้างตัวเองอีกละ ฮ่าๆ)
ประตูรั้วก็เปลี่ยนแบบอีก
อันนี้ใช้ไม้เต็งค่ะ ใช้ไม้เทียมกลัวว่าจะหนักเกิน
ล้อสแตนเลสนี้ อุตสาห์ไปซื้อถึงกรุงเทพ
ตอนหลังเพิ่งมารู้ว่า ร้านใกล้ๆในจังหวัดเราก็มี โฮๆ ทางโครงการคิดค่ารางสแตนเลสเพิ่มจากรางเหล็กสเป็กเดิม 3500 บาทค่ะ
งานไม้ประตูรั้วนี่ได้แรงยุจากชาวชายคา ทำให้อยากลองทำเองดู
จึงรู้ว่า งานไม้เป็นอะไรที่เหนื่อยม๊ากมาก สั่งไม้มา ไม้ก็ไม่เท่ากัน ไสมาแล้วแต่ก็ต้องเอามาขัดด้วยเครื่องเจียรมืออีก แล้วก็ต้องขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 100 ตามด้วยเบอร์ 320 ทาน้ำยารองพื้นแล้วก็ต้องขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 320 ทุกครั้ง
ไม้เต็งสั่งมาหน้า 4 นิ้ว เหลือสามนิ้วครึ่งมั่ง สามนิ้วหน่อยๆ มั่ง เฮ้อ
ทาสีโรเทนเบิร์ก Wood stain สูตรน้ำ สีวอลนัทด้าน ทาสามรอบออกมาได้แบบนี้ค่ะ
ตอนยึดใช้วิธี เจาะรูที่เหล็กก่อน แล้วยิงสกรูสแตนเลสหัวกลมผ่านรูเหล็กไปยึดไม้
ยิงจากด้านหลังเลยไม่ต้องเก็บสีไม้ด้านหน้าอีกค่ะ
พอลองติดดูแล้วปรากฏว่าสีไม้ที่ประตูเลื่อน อ่อนกว่าสีไม้เทียมข้างๆเยอะเลย เลยได้ไปซื้อสีย้อมไม้สีโอ๊คมาทาทับอีกรอบ
งานนี้ ขอบอกว่าเหนื่อยโฮกๆ ค่ะ ดีที่น้าช่างที่ทำสีไม้คอยช่วย คอยแก้ให้ตลอด แต่ก็ภูมิใจที่ได้มีส่วนออกแรงในการสร้างบ้านของตัวเองเนาะ (แต่จะให้ทำสีงานไม้เองอีกคงไม่ไหวแล้วจ้า จ้างช่างโลด)
วกมาดูในบ้านบ้าง หน้าต่างทิศใต้ด้านนี้ขอเปลี่ยนจากบานเลื่อนเป็นบานเปิดค่ะ เพื่อจะได้รับลมเล็มๆ
เป็นวงกบอลูมิเนียมอบขาว เนื่องจากบานค่อนข้างใหญ่ ทำให้มือจับดูโงนเงนเวลาดึงปิด ตอนล๊อกก็ดูเหมือนจะงัดได้ง่ายๆ คงต้องหาทางแก้ต่อไป
เป็นบานพับฟริกชั่น
แบบเปิดได้ 89 องศาค่ะ
ประตูไม้สักที่โครงการมีอยู่เดิม แต่เราขอให้ทำสีขาวแทน
แล้วก็พบว่า เป็นความคิดที่….ผิด…อ่ะค่ะ ไม้สักทำสียากมาก มันจะมียางเหลืองๆออกมาที่ผิวนอก แม้จะพ่นห้ารอบแล้ว ก็ไม่หายก็เลยเลยตามเลยค่ะ
อันนี้เพิ่งรู้ว่า เวลาติดประตู เขาจะมีช่างประตูมาลองติด แล้วก็ทำการดัดประตู ไส แล้วก็ตั้งบาน จนกว่าจะเปิดปิดได้ดี ถึงค่อยได้ถอดออกไปทำสี
ธรรมชาติของไม้มีการยืดหดตัวอีก งานไม้นี่ไม่งายเลยจริงๆ
ช่างมาติดกระจกหน้าบ้าน
ลูกบิดเป็นเขาควายเหลืองรมดำทั้งบ้าน
บานนี้เป็นประตูบานไฟเบอร์ค่ะ เป็นประตูด้านหลังบ้านกับข้างบ้าน ฝนสาดได้ โดนแดดตรงๆด้วย เลยใช้บานไม้ไม่ได้
และแล้วพื้นบันไดและปาร์เก้ชั้นสองก็ลงยูริเทนเคมเกลซได้ครบสามรอบ
ออกมาเงาวับเลยทีเดียว
มองจากข้างบนบ้าง
โถงบันไดมองไปเจอพัดลมดูด
พาชมห้องนอนเล็ก
อันนี้ตอนเคลือบรอบแรกค่ะ
ห้องนอนเล็กสอง
รางม่านเป็นรางคู่ ติดตั้งเองอีกแล้ว
โถงชั้นสอง
ประตูเข้าห้องนอนจ้า
ราวม่านห้องโถง
เป็นแบบโชว์รางสีทองเหลืองรมดำอีกแล้ว
ในห้องนอนใหญ่จ้า
ตรงเสาที่เด่กลางห้อง ว่าจะกั้นเป็นห้องเก็บเสื้อผ้าน่ะค่ะ
คงจะได้ทำตอนย้ายเข้ามาโน่นเลย ^^
ทาสีภายนอกรอบสอง
ค่อยดูดีขึ้นหน่อย
ด้านข้างบ้าง
ล้างทรายล้างแล้ว
เตรียมลงน้ำยาเคลือบ
ช่างลามิเนตเข้ามาดูพื้นชั้นล่าง
แล้วก็ใช้สิ่วขูดๆ ตรงที่เป็นรอยปูนหยด
ปูโฟมดำรองพื้น
เพิ่งรู้ว่าช่างจะต่อลามิเนตเป็นแถวๆก่อน แล้วค่อยใส่เข้าไปทีละแถว
ลามิเนตเป็นยี่ห้อ ลามินา หนา 12 มม. ลาย Alder country เป็นระบบคลิกล็อก และมีแว๊กซ์กันน้ำเคลือบรอบด้านข้างค่ะ
ปูเสร็จแล้วก็ติดบัวพื้นคอนวูดทาสีขาว
ใช้สีทาภายนอกที่โฆษณาว่ากันคราบ ไม่รู้จะกันได้แค่ไหนกันน้อ
ตรงขอบที่ต่อกับประตูและบันได เดิมช่างยิงซิลิโคนใสไว้ให้ แต่มันหลุดง๊ายง่าย เอามือถูๆเบาๆก็หลุดออกมาละ
เรียกท่านพี่เจ้าของโครงการคนเดิมที่เดินตรวจแถวนั้นมาดู พี่ท่านก็เลยเอาซิลิโคนสีน้ำตาล ซึ่งแข็งกว่า ไม่หลุดง่าย มายิงให้ด้วยตัวเองเลย
พี่เค้าทำสวยมากๆเลยนะเนี่ย สงสัยตอนเรียนสถาปนิกต้องต่อโมเดล เลยทำพวกนี้บ่อยหรือเปล่าน้า
มาถึงเหล็กดัดกันบ้าง ออกแบบเองอีกแล้วค่ะ
ตอนออกแบบในกระดาษ ไม่รู้เลยว่ามันจะหนักขนาดนี้ ใช้สี่คนยกเลยทีเดียว
คิดว่าถ้าโจรมางัด เหล็กดัดอาจทับโจรหลังหักได้ 55
ยึดขาเข้ากับผนังด้วยพุกเหล็ก แล้วก็เอาเครื่องเชื่อมสแตนเลสมาเชื่อมหัวน๊อต เขม่าเลยไม่เยอะ ไม่ต้องแก้สีมากค่ะ
เสร็จแล้วเป็นแบบนี้
ส่วนบานเปิดติดเหล็กดัดด้านใน เป็นลายเรียบๆ
ประตูเหล็กหลังบ้าน
สีโดดสุด เล่นสีดำเลย
เหล็กดัดด้านออกครัว
เรียบๆ เหมือนกันจ้า
ติดม่านชั้นล่าง สีกลืนกับกำแพงไปเลย
เป็นแบบเรียบๆอีกแล้ว
ต้นไม้รอปลูก
น้าเขียวเจ้าเก่า ขุดหลุมให้ ดินแข็งมากๆๆๆๆ แบบนี้รากจะโตมั้ยน้อ
เราซื้อดินถุง(ดินดำ)ผสมกับหน้าดินจากท้องนาแถบนี้(ดินทรายออกแดงๆ) อย่างละครึ่งค่ะ
เอาลงหลุม
แล้วก็เดินสายรดน้ำอัตโนมัติไว้
เฮ้อ เสร็จซักทีบ้านของเรา
ต้องขอบคุณพี่เจ้าของโครงการ ที่คอยตอบรับเรื่องเปลี่ยนแปลงจุกจิกสารพัดจากลูกค้าคนนี้นะคะ ขอบคุณค่ะที่ช่วยให้คำแนะนำอย่างจริงใจ เหมือนมีสถาปนิกส่วนตัวเลย ฮ่าๆ
แล้วก็ขอบคุณพี่ที่สำนักงานขายที่เป็นทั้งคนทำบัญชี โฟร์แมน โอเปเรเตอร์ แถมมาช่วยทำความสะอาดบ้านให้อีก พี่เป็นคนที่จริงใจ ใจเย็น และช่วยเหลือลูกค้าคนนี้เหมือนเป็นญาติพี่น้องพี่เองเลย
ขอบคุณที่ให้ยืมอุปกรณ์ช่างทั้งหลายของที่บ้านมาให้ใช้นะคะ
แล้วก็ลูกชายตัวเล็กก โฟร์แมนคนเก่ง เพิ่งอยู่อนุบาลสองเอง ช่วยเฝ้าไม่ให้ช่างกลับบ้านให้ ^^
พวกพี่ๆช่างทั้งหลาย ที่ทำงานกันอย่างดี ถึงจะมีไม่เรียบร้อยบ้าง แต่เวลาขอให้แก้ก็แก้ทันที ไม่มีหงุดหงิดใส่เลย
โดยเฉพาะน้าที่ทำสีประตูกับปาร์เก้ งานดีมากๆ แล้วยังคอยช่วย จขกท. ขัดและทำสีไม้รั้ว โดยไม่คิดตังค์อีก (แต่สุดท้ายเราก็ยัดเยียดให้แกไป)
ดีใจมากๆที่ได้เจอกับ คนที่ทำงานดีๆ ทำด้วยความจริงใจ คิดถึงใจเขาใจเรากับลูกค้า แบบพวกพี่ๆ ความดีนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้พวกพี่พบแต่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป
แล้วขอบคุณพี่อีกสองท่าน ที่ช่วยถ่ายรูปให้เห็นความคืบหน้า ตอนที่ จขกท. อยู่ต่างประเทศด้วยค่ะ
ขนาดมีคนดีๆช่วยดูอยู่ตั้งหลายคนยังเหนื่อยขนาดนี้เลย ถ้าไปสร้างบ้านเอง จะเหนื่อยขนาดไหนเนี่ย
แนวคิดในการทำบ้านหลังนี้
1. ถ้าอยากได้อย่างใจ ต้องไม่ใช่แค่บอกด้วยปากเปล่า ต้องเขียนเท่านั้นค่ะ อาจจะ
- เขียนลงเทปพันสายไฟ แปะไว้ที่จุดที่ต้องการ
- เขียนลงในแปลนบ้าน เช่นชักโครกห้องนี้ติดรุ่นไหน ประตูห้องนี้ทำสีอะไร
- เขียนแบบโดยใช้มือร่าง หรือใช้คอมถ้าทำได้
- กรณีจะเพิ่มปลั๊กไฟหรือไฟแสงสว่าง ขอแปลนไฟมา แล้วเขียนเพิ่มลงในแปลนเลยค่ะ ช่างจะได้ถือใบนั้นทำได้เลย
2. ให้ชื่อรุ่น สเป็ก ที่ชัดเจนกับช่าง
จะเอายี่ห้ออะไร รุ่นไหน โค้ดสี เบอร์กระเบื้อง แล้วเขียนระบุในแปลนบ้านเลยค่ะ
3. ถ้าหารูปถ่ายมาประกอบได้จะดีมากๆ
เอาแบบนี้ๆ เข้าใจตรงกันแน่นอน
4. จะเป็นคนซื้อ คนขาย สถาปนิก เสมียน ช่างเชื่อม ช่างฉาบ หรือคนขุดดินรับจ้าง ก็เป็นคนเหมือนกันค่ะ
เรายังอยากให้คนอื่นพูดกับเราดีๆเลย เราก็ควรจะให้เกียรติเขาด้วย เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่ล้วนเป็นอาชีพที่สุจริต บางทีช่างก็อาจจะไม่ระวัง ทำเปื้อนบ้าง ลืมล้างมือบ้าง แค่บอกให้รู้แล้วให้แก้ไขก็ โอเคแล้วค่ะ ถ้าเราไม่เดือดร้อน ก็มีน้ำใจ ซื้อน้ำซื้อของกินไปให้ช่างบ้างก็ดีนะคะ
5. ถ้าจะให้ช่างแก้อะไร เราทำสามอย่างเสมอค่ะ คือ
- เขียนเทป แปะไว้ที่จุดที่แก้
- เรียกช่างมาดู บอกช่างด้วยตัวเอง
- เรียกคนที่คุมงาน หรือท่านพี่เจ้าของโครงการมาดู แล้วอธิบาย
6. ถ้าอยากจะจ้างช่างให้ทำอะไรเพิ่มให้เรา ควรจะปรึกษาหรือหาข้อมูลด้วย ว่าราคาสมเหตุสมผลมั้ย
กรณีของ จขกท. คือ ถามพี่ที่คุมงานนั่นแหละค่ะ เพราะเค้ารู้ดีกว่าเราว่า ค่าแรงอะไรควรเป็นเท่าไหร่
ตัวอย่างการใส่รูปภาพประกอบ ลงในแปลนค่ะ
เขียนแบบด้วย MS. Power point เพื่อให้ช่างเข้าใจง่ายๆ
เขียนให้ครบด้าน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน
ตัวอย่างการเขียน Drawing โดยใช้ Power point
เป็นภาพด้านหน้า ด้านบน ด้านข้างค่ะ
ตัวอย่างการลงรายละเอียดที่จะขอปรับแบบลงในแปลนบ้าน
ตัวอย่างการลงรายละเอียดเรื่องประตูสีและลูกบิดที่ติด
ตัวอล่างการลงรายละเอียดลงในรูปภาพค่ะ
หลายๆ ท่านชมว่าเราเป็นคนละเอียด
แต่จริงๆแล้วคนที่ละเอียดกว่าคือ พี่เจ้าของโครงการ และพี่ที่สำนักงานขายที่ดูแลงานก่อสร้างให้เราค่ะ
หลายๆ ครั้งที่เค้าสั่งแก้งาน ในจุดที่เราเองมองไม่เห็นด้วยซ้ำ ส่วนห้องน้ำชั้นหนึ่งที่เพื่อนๆชอบกัน ก็ได้พี่สถาปนิกนี่แหละค่ะ ช่วยเลือกวัสดุ และคิดวิธีติดตั้งที่ทำให้ดูดีได้ในราคาไม่แพง
เราขอเปลี่ยนโน่นนี่นั่นเยอะไปหมด จนเรายังบอกพี่ๆเค้าว่า ปฏิเสธเราบ้างก็ได้นะคะ ดูแล้วมันลำบากพี่มาก เค้าก็ตอบว่า ก็โกหกไม่เป็นน่ะ ถ้ามันพอทำได้ก็บอกว่าได้ ทำไม่ได้จริงๆถึงจะบอกว่าไม่ได้
แบบว่า…ประทับใจมากๆเลยค่ะ
ส่วนเรื่องราคาที่เพื่อนๆหลายท่าน บอกว่า ไม่แพง เราคิดว่า ที่โครงการนี้ทำราคานี้ได้ ส่วนนึงเพราะเค้าไม่สร้างต้นทุนด้านการโฆษณาเลย ใช้คนน้อยแต่มีประสิทธิภาพ ไม่มีเซลล์ ไม่ต้องเสียค่าคอมให้เซลล์
นั่นก็คือ ให้ตัวสินค้า “ขาย” ตัวเอง
อีกอย่างคือ ตัวเจ้าของโครงการเองก็เป็นสถาปนิก ออกแบบเองไม่ต้องจ้างหลายทอด แล้วก็เพราะเป็นคนที่นี่ เลยรู้จักคนในพื้นที่เป็นอย่างดี สามารถเลือกใช้ช่างมีฝีมือได้ในราคาที่เหมาะสม
เป็นจุดที่ทำให้แตกต่างจากบริษัทใหญ่จากกรุงเทพค่ะ
อีกอย่างที่ทำเต็มที่ สงสัยว่า เจ้าของโครงการและครอบครัวก็อาศัยในหมู่บ้านเดียวกัน แบบว่าถ้ามีปัญหาอะไร อาจจะโดนลูกค้าเดินไปกดกริ่งเรียกได้ตลอด เจ้าตัวเลยพยายามดูแลเต็มที่ไม่ให้มีปัญหามั้งคะ 555
เราคิดว่า คนที่จะซื้อบ้านในหมู่บ้านจัดสรรต่างจังหวัด เลือกที่เจ้าของอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันได้ก็จะดีมากเลยค่ะ
ที่มา : เกาะร้าง