เป็นที่ทราบกันดีว่าในขณะนี้ ระดับมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลนั้น พุ่งขึ้นสูงจนเรียกได้ว่าเป็นขั้นวิกฤต ซึ่งสาเหตุของวิกฤตนี้ หลักๆ แล้วมาจาก ฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเทียบอย่างง่ายๆ ก็คือมีขนาดราวๆ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์นั่นเอง
และยิ่งฝุ่นละอองมีขนาดเล็กลงมากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพมากเท่านั้น เนื่องจากมันสามารถถูกสูดเข้าไปในร่างกายโดยง่าย และเข้าไปได้ถึงปอดและระบบทางเดินหายใจทั้งหมด สร้างความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และบางครั้งก็อาจจะเลยเข้าไปในกระแสเลือดและไหลเวียนทั่วร่างกายเรา ซึ่งก็เป็นสาเหตุของโรคหัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ ฯลฯ
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ก็มาจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นท่อไอเสียจากรถยนต์หรือรถบรรทุก โรงงานอุตสาหกรรม ไซต์งานก่อสร้าง รวมไปถึงการเผาพื้นที่เพื่อเตรียมปลูกของเกษตรกรด้วย
วันนี้ ในบ้าน ก็จะมาแนะนำวิธีเบื้องต้นในการป้องกัน “ฝุ่นละอองในอากาศ” เป็นเคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยป้องกันตัวเราและครอบครัวจากฝุ่นพิษ จะมีวิธีไหนบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยครับ
1. สวมหน้ากากที่สามารถป้องกันทางเดินหายใจได้
หน้ากากที่สามารถป้องกันทางเดินหายใจได้ ไม่ใช่หน้ากากที่แพทย์หรือพยาบาลใส่ในห้องผ่าตัด แต่จะต้องเป็น หน้ากาก N95 (กรองฝุ่นได้ 95%) และ หน้ากาก N99 (กรองฝุ่นได้ 99%)
สิ่งสำคัญก็คือจะต้องสวมใส่อย่างถูกวิธี ให้หน้ากากกระชับกับใบหน้าอย่างเหมาะสม มิเช่นนั้นอาจจะป้องกันฝุ่นไม่ได้เลย หน้ากากเหล่านี้มักจะมีจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป
2. ลดกิจกรรมนอกบ้าน
หากคุณเป็นคนที่ชอบออกไปเดินเล่น หรือออกกำลังกายนอกบ้าน ช่วงนี้ขอแนะนำว่าให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียก่อน โดยให้ลดเวลาในการทำกิจกรรมนอกบ้านให้น้อยลง หรือเปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในบ้านแทน
เนื่องจากฝุ่นพิษนั้นจะส่งผลต่อร่างกายเพิ่มทวีคูณขึ้น เมื่อเราออกแรงมากในพื้นที่กลางแจ้ง แต่หากจำเป็นต้องอยู่ไปทำธุระข้างนอกเป็นเวลานานๆ ก็ควรป้องกันด้วยหน้ากาก N95 หรือ N99 ครับ
3. หลีกเลี่ยงกิจกรรมเผาไหม้ทุกชนิด
แนะนำให้งดกิจกรรมการเผาทุกชนิด เพราะการเผาทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การปิ้งย่าง การทำอาหารด้วยเตาถ่าน การจุดธูปเทียน การเผาใบไหม้แห้ง ฯลฯ
4. กลั้วคอด้วยน้ำสะอาด
การกลั้วคอด้วยน้ำสะอาด เป็นอีกวิธีที่จะช่วยล้างฝุ่นในช่องปาก แนะนำว่าควรกลั้วคอด้วยน้ำสะอาดวันละ 3 – 4 ครั้ง จะสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่นที่ร่างกายได้รับลงไปได้
5. ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท
ในช่วงที่วิกฤติฝุ่นพิษกำลังปกคลุมไปทั่วเมืองเช่นนี้ ควรปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองพัดเข้ามาในบ้าน เพราะเมื่อฝุ่นพัดเข้ามาในบ้านแล้ว ผู้อยู่อาศัยก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง
6. ใช้เครื่องปรับอากาศที่มีระบบหมุนเวียนอากาศภายในบ้าน
เมื่อปิดประตูและหน้าต่างแล้ว เป็นที่แน่นอนว่าอากาศในบ้านจะไม่ถ่ายเท ดังนั้นจึงควรใช้เครื่องปรับอากาศ และถ้าจะให้ดีควรเป็นเครื่องปรับอากาศที่มีระบบหมุนเวียนอากาศภายในบ้านแทนการดึงอากาศจากภายนอกด้วย
ส่วนบ้านที่ใช้พัดลม แนะนำให้เป่าลมลงผิวน้ำก่อน จะช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านลงไปได้
7. หมั่นทำความสะอาดบ้าน
ควรทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ สำหรับเช็ดทำความสะอาดสิ่งต่างๆ และทำความสะอาดพื้นด้วยไม้ถูพื้นชุบน้ำ จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองภายในบ้านได้
ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดูดฝุ่นหรือการใช้ไม้กวาดในการปัดฝุ่น เพราะจะทำให้ฝุ่นละอองกระจายตัวมากขึ้น
8. ใช้เครื่องฟอกอากาศ
การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ จะช่วยกรองฝุ่นละอองภายในบ้านได้ โดยก่อนที่จะทำการติดตั้ง จะต้องมั่นใจก่อนว่าเครื่องฟอกอากาศนั้นมีขนาดเหมาะสมกับห้องภายในบ้าน
แนะนำให้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศประเภทที่ใช้แผ่นกรองแบบ HEPA (High Efficiency Particulate Air Filter) ซึ่งเป็นเครื่องฟอกอากาศที่มีเครี่องกรองอนุภาคฝุ่นละอองที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ถึง 0.3 ไมครอนเลยทีเดียว
9. ปลูกต้นไม้ในบ้าน
ต้นไม้บางชนิดนั้นสามารถช่วยลดมลพิษของอากาศในบ้านได้ เช่น ต้นลิ้นมังกร บอสตันเฟิร์น พลูด่าง ฯลฯ (ดูต้นไม้ที่สามารถปลูกในบ้านได้ที่นี่ : goo.gl/HVPiQt)
ทั้งนี้ ควรศึกษาข้อมูลของต้นไม้แต่ละชนิดให้ดีก่อนนำมาปลูกในบ้าน เพราะต้นไม้บางชนิดนั้นเป็นอันตรายต่อเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง ที่สำคัญก็คืออย่าลืมดูแลเป็นประจำ ทั้งเรื่องการรดน้ำ การให้ปุ๋ย และการให้แสง เพราะถ้าละเลยแล้วเดี๋ยวต้นไม้จะตายได้นะจ๊ะ
วิกฤตฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวไทยอย่างหนักหน่วง ในบ้าน ก็หวังว่า ทั้ง 9 วิธีที่นำมาฝากกันคราวนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่ออันตรายจากฝุ่นพิษให้กับผู้อ่านทุกคนได้นะครับ
ที่มา : Kapook, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, National Geographic TH
รูปภาพ : nationmultimedia.com/detail/national/30362204, U.S. EPA .