จากเหตุการระเบิดของโรงงานกิ่งแก้วเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนตระหนักได้ถึงความอันตรายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิด แม้ว่าจะอยู่ภายในบ้านของตัวเราเอง
โดยถ้าหากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้นั้น สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำเป็นอันดับแรกคือ ‘การตั้งสติ’ ประการต่อมาคือ ‘การสำรวจอาการบาดเจ็บและเร่งอพยพตัวเอง ครอบครัว และสัตว์เลี้ยง’ ออกจากพื้นที่อันตรายทันที จากนั้นจึงโทรหา ‘เบอร์ฉุกเฉิน’ ดังที่ ในบ้าน ได้แนบมานี้เพื่อขอความช่วยเหลือ
โดยการปฎิบัติในข้างต้นนั้นจะเป็นการปฎิบัติหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นแล้ว แต่คงจะดีกว่า ถ้าหากเรามีแผนการป้องกันและรับมือรองรับไว้ก่อนเสียแต่เนิ่น ๆ วันนี้ ในบ้าน จึงจะมาแนะนำบทความดี ๆ จาก Mthai มาให้ชมกัน กับ “9 เทคนิค วิธีป้องกันไฟไหม้บ้าน ฉบับเชิงรุก” ไปชมกันได้เลย
1. ติดตั้ง เครื่องตรวจจับควัน
เครื่องตรวจจับควัน (smoke detector) จะมีตัวเซ็นเซอร์วัดแสง โดยในสภาวะปกติแสงจะสามารถทะลุผ่านอากาศมายังหัวรับแสง แต่เมื่อมีควัน หรือไฟไหม้ อนุภาคของควันไฟ จะบดบังทำให้เกิดสภาวะทึบหรือไม่โปร่งแสง ดังนั้นระบบก็จะสามารถบอกได้ว่าตอนนี้เกิดไฟไหม้ได้
2. ติดตั้งเครื่องตัดไฟ
เครื่องตัดไฟ หรือเซฟทีคัท เมื่อไฟฟ้าภายในบ้านเกิดลัดวงจรหรือ มีปัญหาขึ้นมา เจ้าเครื่องนี้จะช่วยตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในทันที จึงช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรจนเกิดไฟไหม้ได้
3. ติดตั้งถังดับเพลิงในบ้าน
ถังดับเพลิงควรติดตั้งไว้ในตำแหน่งที่ฉวยออกมาใช้งานได้ง่าย เป็นจุดที่สมาชิกทุกคนในบ้านรับรู้ว่าถังดับเพลิงตั้งอยู่ตรงนี้ นอกจากนี้ยังต้องคอยเช็ควันหมดอายุและศึกษาวิธีการใช้งานอีกด้วย
4. จัดเก็บเบอร์โทรฉุกเฉินไว้ในสมาร์ทโฟนโดยตั้งค่าเป็น Emergency call หรือ ติดเบอร์ไว้ในจุดที่เห็นได้ชัดเจน
ควรจัดเก็บเบอร์โทรฉุกเฉินไว้ในสมาร์ทโฟนโดยตั้งค่าเป็น Emergency call รวมถึงเขียนติดไว้ในจุดที่ทุกคนในบ้านสามารถเห็นได้ชัดเจน
5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง
การเข้าครัวทำอาหาร การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ การสูบบุหรี่บนเตียง หรือบนโซฟา การวางสิ่งของที่เป็นวัตถุไวไฟไว้ใกล้ปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ เตาไฟ หรือ แม้แต่การปล่อยปละละเลยให้เด็ก ๆ เล่นไฟ ก็เป็นสาเหตุของไฟไหม้บ้าน
6. จัดวางของใช้สำคัญ ๆ ในจุดที่หยิบง่าย
ควรจัดเก็บของใช้สำคัญ เช่น กุญแจ โทรศัพท์ ให้เป็นที่เป็นทาง หยิบสอยได้ง่ายและไม่เปลี่ยนตำแหน่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันจะได้ช่วยกันหนีออกมาได้ทันท่วงที
7. แบ่งสรรจัดเก็บทรัพย์สินไว้นอกบ้านบ้าง
การแบ่งจัดเก็บทรัพย์สินสำคัญ ๆ บางส่วนไว้ในตู้เซฟธนาคาร เป็นการวางแผนการชีวิตอย่างรอบคอบอีกทางหนึ่ง หากเกิดเหตุร้ายขึ้นมาจริง ๆ อย่างน้อย ๆ เราก็ยังเหลือทรัพย์สินไว้ติดตัวได้บ้าง
8. ทำประกันอัคคีภัย
การทำประกันอัคคีภัยไว้ก็สร้างความอุ่นใจให้กับเราและคนในครอบครัวได้มากขึ้น หากเกิดเหตุร้ายก็ยังคงมีความช่วยเหลือไว้ให้เราและครอบครัวอุ่นใจได้บ้าง
9. ผูกมิตรกับเพื่อนบ้านไว้
เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงจะช่วยเป็นหูเป็นตาให้ได้ยามเจ้าของบ้านมีเหตุให้จำเป็นต้องไม่ได้อยู่บ้านเป็นเวลานาน ทั้งเรื่องฟืนไฟ ทั้งเรื่องโจรขโมย หรือเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายในบ้าน
ที่มา : mthai