หากคุณมีอาชีพเป็นสถาปนิกที่กำลังเบื่อหน่ายกับงานดีไซน์ออกแบบ หรืออยากจะพักช่วงการทำงานไปลองทำอาชีพอื่นๆ ดู นี่คือข่าวดีสำหรับคุณครับ เพราะว่าอาชีพสถาปนิกนั้น สามารถออกไปหางาน ทำอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่สถาปนิกได้ด้วย
สาเหตุก็เพราะว่า อาชีพสถาปนิกนั้น เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา การคิดทวนซ้ำไปซ้ำมา การวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดการโปรเจคต่างๆ นั่นเอง คราวนี้ ในบ้าน ก็จะมาแนะนำชาวเว็บว่า อาชีพสถาปนิกนั้นสามารถเป็นอะไรได้บ้าง มาชมตัวอย่างจากบุคคลจริงๆ กันได้เลยครับ
1. นักเขียน
สถาปนิก: Megan Padalecki นักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ตีพิมพ์เองในชื่อ “Padalecki Studio”
การศึกษา: ปริญญาตรี สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน
ประสบการณ์ทางด้านสถาปัตยกรรม: ประสบการณ์ 6 ปี ในบริษัทสถาปนิก Bohlin Cywinski Jackson ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
ทักษะ: CAD, ซอฟต์แวร์ Adobe, ดรอว์อิ้ง, วางแผนโครงการ เธอใช้เวลาทั้งหมด 6 เดือนในการเขียน เรียบเรียง และตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกที่มีชื่อว่า “Big Mo (2015)” ซึ่งเธอกล่าวว่า “กระบวนการทั้งหมดนี้มันคล้ายกับกระบวนการออกแบบอาคารอย่างไม่น่าเชื่อ” นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ของเธอยังได้รับรางวัล National Indie Excellence Award ในสาขาหนังสือภาพยอดเยี่ยมอีกด้วย
ทักษะเพิ่มเติมจากทักษะของสถาปนิก: การจัดการธุรกิจขนาดเล็ก, บัญชี, การเงิน, กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา, การกระจายสินค้า และการตลาด วิธีการหาความรู้ของเธอคือการเดินเข้าร้านหนังสือ ติดต่อพูดคุยกับบล็อกเกอร์และนักวิจารณ์หนังสือ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้อื่นทั้งในห้องเรียนและห้องสมุด
ข้อแนะนำ: อดทน, กล้าที่จะทำ, รู้จักเรียกร้องจากผู้อื่นบ้าง เพราะการเขียนและตีพิมพ์หนังสือก็เหมือนกับ “กระบวนการสร้างอาคารแบบค่อยเป็นค่อยไป” เธอกล่าว
2. ทนายความ
สถาปนิก: Jay Wickersham ทนายความกฎหมายสิ่งแวดล้อม และการใช้ที่ดิน บริษัทกฎหมาย Noble, Wickersham & Heart
การศึกษา: ปริญญาโท สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประสบการณ์ทางด้านสถาปัตยกรรม: ประสบการณ์ทำงาน 5 ปี ในหลายบริษัทเมืองบอสตัน แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
ทักษะ: มีความเข้าใจในอาชีพสถาปนิกรวมทั้งศัพท์เฉพาะที่ใช้ในวงการ เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทออกแบบ high-profile หลายบริษัท สามารถนำความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม มาปรับใช้กับงานด้านอื่น ๆ ได้ดี
ทักษะเพิ่มเติมจากทักษะของสถาปนิก: ทักษะการเจรจาต่อรองขั้นสูง ดีกว่าที่สถาปนิกทั่วไปมี รวมทั้งยังมีความสามารถในการอ่านเนื้อหาต่าง ๆ อย่างละเอียด รวมถึงทักษะการเขียนที่ดีมากเช่นกัน
ข้อแนะนำ: หากคุณกำลังอยากเปลี่ยนอาชีพ แต่ไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไรกันแน่ ให้ศึกษาจากคนที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่นลูกค้าจากบริษัทออกแบบ หรือนักธุรกิจซักคน อาจทำให้คุณพบทางของตัวเอง
3. นักธุรกิจ
สถาปนิก: Jackie Wong ที่ปรึกษาด้านการจัดการบริษัท McKinsey & Co.
การศึกษา: ปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจ วอร์ตันสคูล มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
ประสบการณ์ทางด้านสถาปัตยกรรม: บริษัท Skidmore, Owings & Merrill นิวยอร์ก 6 ปี, ผู้บรรยายที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย 5 ปี
ทักษะ: วางแผนโครงการและประสานงาน เรียนรู้และแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ สำหรับ Wong แล้ว เขาเชื่อมโยงทุกสิ่งที่ทำเข้ากับไอเดียหรือความคิดทางด้านการออกแบบทั้งสิ้น มีอารมณ์ร่วมไปกับมัน และมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างไปจากการแก้ปัญหาในอาชีพสถาปนิกที่เป็นการช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าประสบความสำเร็จ รวมทั้งช่วยในเรื่องของการดำเนินการทางธุรกิจอีกด้วย
ทักษะเพิ่มเติมจากทักษะของสถาปนิก: กลยุทธ์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล, หลักการก่อสร้างที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ, หลักการบัญชี, Microsoft Powerpoint
ข้อแนะนำ: เตรียมตอบคำถามนายจ้างให้ดี ว่าทักษะทางสถาปัตยกรรมที่คุณมีจะช่วยแบ่งเบาภาระอะไรเขาได้บ้าง
4. แอนิเมเตอร์
สถาปนิก: Alyce Tzue ผู้กำกับและแอนิเมเตอร์ เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นชื่อดัง ‘Smule’
การศึกษา: ปริญญาตรี สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัย Princeton, ปริญญาโทวิจิตรศิลป์ ด้านการสร้างภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ (3D Animation) Academy of Art University ซานฟรานซิสโก
ประสบการณ์ทางด้านสถาปัตยกรรม: ประสบการณ์การทำงาน 1 ปี ในบริษัทสถาปนิก Pelli Clarke Pelli นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ทักษะ: สร้างแบบจำลอง 3 มิติ (3D Modeling), โปรแกรมแอนิเมชั่น, การทำ Visualization (แปลงข้อมูลเป็นภาพ), มีความสามารถในการพาตัวเองเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ ซึ่งจำเป็นสำหรับการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่มักจะเล่าถึงโลกที่ไม่มีอยู่จริง เธอกล่าวไว้ว่า “โลกนี้มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ภาพยนตร์ต้องสร้างโลกอีกโลกหนึ่งที่สวยงามกว่าโลกแห่งความเป็นจริงขึ้นมา”
ทักษะเพิ่มเติมจากทักษะของสถาปนิก: ทักษะการประสานงานที่ดี ซึ่งในความคิดของเธอนั้น “การจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ดี จำเป็นจะต้องมีความสามารถในการบริหารคนและประสานงานที่ดีด้วย”
ข้อแนะนำ: ฝึกฝนและพัฒนาทักษะการสร้างภาพแอนิเมชั่นควบคู่ไปกับทักษะการประสานงาน ซึ่งทางเลือกที่ไม่ควรมองข้ามอีกทางเลือก ก็คือสื่อการสอนออนไลน์
5. เชฟ
สถาปนิก: Francesco Crocenzi เชฟส่วนตัวที่ศูนย์ Personal Chef ‘Frankie’s Table’
การศึกษา: ปริญญาโท สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัย Syracuse นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, ปริญญาตรี คหกรรมศาสตร์ Seattle Culinary Academy และโรงเรียนสอนศิลปะในครัวเรือน ‘Quillisascut School of Domestic Arts’
ประสบการณ์ทางด้านสถาปัตยกรรม: ประสบการณ์ทำงานหลายองค์กรใน West Coast ประเทศสหรัฐอเมริกา ยาวนานถึง 16 ปี
ทักษะ: พัฒนาความคิด, วางแผนโปรเจคทั้งแผนการดำเนินงานและระยะเวลาการดำเนินงาน, มีความคิดที่ว่า ‘การครีเอทเมนูใหม่ ๆ ก็เหมือนกับการกระทำที่ต้องอาศัยกระบวนการวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง’ เขาเชื่อว่า “การทำอาหารจะต้องอาศัยทำตามแผนที่วางไว้ และทำไปทีละขั้นตอน”
ทักษะเพิ่มเติมจากทักษะของสถาปนิก: ทักษะการบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็ก และทักษะการทำอาหารขั้นสูง
ข้อแนะนำ: เครียมตัวให้พร้อมสำหรับช่วงเวลาที่คุณหมดไฟในการทำงาน
6. นักสื่อสารการตลาด
สถาปนิก: Berna Fo ผู้อำนวยการสื่อสารการตลาด คณะกรรมการการจัดประชุมภายใต้สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ ซึ่งในปี 2016 นี้ จัดขึ้นในหมู่เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยการจัดประชุมนี้เป็นการประชุมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ใหญ่และสำคัญที่สุด จัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 4 ปี
การศึกษา: ปริญญาโท สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ทักษะ: ความสามารถในการพัฒนาความคิด, เขียนโปรแกรม, ทักษะการขาย, ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์, ออกแบบทัศนศิลป์, ทักษะด้านการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด, ความสามารถในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด รวมไปถึงความสามารถในการมองปัญหาให้กว้าง เป็นผลทำให้คิดหาหนทางแก้ปัญหาได้หลากหลายวิธี
ทักษะเพิ่มเติมจากทักษะของสถาปนิก: ทักษะการสื่อสารที่ดี ชัดเจน สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นภาพได้อย่างชัดเจน
ข้อแนะนำ: สถาปนิกเป็นอาชีพที่ต้องสื่อสารกับผู้อื่นผ่านทางความคิดที่เป็นนามธรรม ควรใช้ทักษะนี้ในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน
7. ผู้สร้างภาพยนตร์
สถาปนิก: Christian D. Bruun, ผู้กำกับ คนเขียนบท และโปรดิวเซอร์ บริษัท Light Cone Pictures
การศึกษา: ปริญญาโท Aarhus School of Architecture ประเทศเดนมาร์ก
ทักษะ: นำไอเดียที่ได้จากการพัฒนาความคิดไปพัฒนาฝีมือในด้านต่าง ๆ เช่น ฝีมือดรอว์อิ้ง, การจัดการโครงการ ซึ่งก่อนจะสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นจะต้องคิดถึงโครงสร้างของหนัง และคิดถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารกับคนดู
ทักษะเพิ่มเติมจากทักษะของสถาปนิก: ความสามารถเฉพาะในการสร้างภาพยนตร์ เช่น รู้วิธีการใช้เลนส์ในการสร้างสเปเชียลเอฟเฟ็กต์, วิธีการเพิ่มแสงให้กับฉากในภาพยนตร์ รวมไปถึงการจัดการทางด้านการเงินที่ดี
ข้อแนะนำ: เลือกทำงานในตำแหน่งที่จะทำให้คุณเห็นขั้นตอนทั้งก่อนและหลังการถ่ายทำ
8. ผู้บริหาร
สถาปนิก: Emmanuelle Bourlier, CEO บริษัท Panelite
การศึกษา: ปริญญาโท สถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ประสบการณ์ทางด้านสถาปัตยกรรม: ประสบการณ์ในหลายองค์กร เป็นเวลา 2 ปี
ทักษะ: การวิจัย, การทดลอง, การดีไซน์ภายใต้ข้อแม้ต่าง ๆ หลังจากเรียนจบเธอและเพื่อนร่วมหุ้นกันทำธุรกิจ ผลิตแผ่นกระดานที่มีน้ำหนักเบา โปร่งแสง และทำจากแถบกระดาษรังผึ้ง
ทักษะเพิ่มเติมจากทักษะของสถาปนิก: ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และการตลาด นอกจากนี้ เธอยังแนะนำหนังสือเรื่องหนึ่ง ที่มีชื่อว่า ‘The Personal MBA’ ไว้สำหรับศึกษาด้านธุรกิจอีกด้วย
ข้อแนะนำ: ห้ามตอบปฎิเสธ และห้ามคิดว่าเราทำไม่ได้
ที่มา : architectmagazine