เชื่อว่านาทีนี้คงจะไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ มหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส (Notre-Dame Cathedral De Paris) ที่เพิ่งได้ประสบเหตุเพลิงไหม้ไปเมื่อประมาณเวลา 18.20 นาฬิกา ของวันจันทร์ที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น)
ผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ทำให้ส่วนหลังคาและโครงสร้างภายในวิหารได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่เจ้าหน้าที่ได้เข้าสกัดเพลิงโดยใช้เวลาทั้งหมดยาวนานถึง 15 ชั่วโมงเลยทีเดียว
มหาวิหารนี้ไม่ได้เป็นเพียงโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญอย่างสูงในฐานะมรดกของโลก ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของศิลปะยุคกอธิค (Gothic art) อีกด้วย
ศิลปะยุคกอธิค เป็นศิลปะที่แพร่หลายในยุโรปช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12-15 เป็นสถาปัตยกรรมที่เน้นโครงสร้างหลังคาแบบโค้งแหลม ตกแต่งสีสันด้วยกระจกสี (Stained Glass) พร้อมเส้นสายความสวยงามอันซับซ้อนบนสัดส่วนความสูงและความกว้างที่เด่นเป็นพิเศษ ประกอบกันเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่ดูงดงามน่าค้นหา
.
หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าทั้งที่มีอุปกรณ์ครบครันพร้อมเทคโนโลยีทันสมัย แต่เหตุใดการดับเพลิงครั้งนี้ต้องกินเวลายาวนานกว่าครึ่งวัน ในบ้าน จึงได้รวบรวมและสรุปข้อมูลจากทวิตเตอร์ของคุณ Gregg Favre อดีตหัวหน้าทีมดับเพลิงแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ผู้ร่วมสังเกตการณ์เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ ที่ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับมุมมองการทำงานอันยากลำบากและเต็มไปด้วยข้อจำกัดของทีมนักดับเพลิงซึ่งกว่า 500 ชีวิตด้วยกัน ตามมาดูกันเลยครับ
1. โครงสร้างหลักของตัววิหารคือไม้
เนื่องจากมหาวิหารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อย้อนไปถึง 850 ปี ซึ่งการสร้างอาคารในยุคนั้นยังนิยมสร้างขึ้นด้วยไม้ ทำให้ตัวโครงสร้างของวิหารที่เป็นไม้ขนาดใหญ่ เป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟไหม้อย่างรวดเร็ว และลุกลามไปทั่วทั้งตัววิหาร
2. ภายในวิหารเต็มไปด้วยวัตถุที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี
นอกจากโครงสร้างของตัววิหารที่เป็นไม้แล้ว สิ่งของต่างๆ ภายในตัววิหาร ได้แก่ ภาพเขียน กรอบภาพ เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงของตกแต่งอื่นๆ เป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย บวกกับอายุของสิ่งของแต่ละชิ้นที่ยาวนานนับหลายร้อยปี จึงกลายเป็นเชื้อไฟได้เป็นอย่างดีที่ทำให้เพลิงยิ่งลุกลาม
3. ข้อจำกัดด้านการใช้เครื่องมือขนาดใหญ่
ด้วยขนาดของวิหารที่มีขนาดใหญ่ มีโครงสร้างที่ซับซ้อน รวมไปถึงยังมีโครงสร้างที่เสี่ยงต่อการพังถล่มลงมา และที่สำคัญคือจุดที่เกิดไฟไหม้คือส่วนบนของโครงสร้างวิหาร จึงเป็นเรื่องยากที่จะใช้เครนหรือเครื่องมือขนาดใหญ่มาช่วย จึงทำให้เจ้าหน้าต้องบุกเข้าวิหาร ใช้วิธีเข้าไปสกัดเพลิงทีละจุด
4. วิหารกำลังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงครั้งใหญ่
ในช่วงนี้มหาวิหารนอร์ทเทอ-ดาม กำลังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงครั้งใหญ่ (ซึ่งเชื่อว่าความผิดพลาดระหว่างการปรับปรุงอาจจะเป็นสาเหตุหลักของเพลิงไหม้ในครั้งนี้) ภายในวิหารจึงเต็มไปด้วยวัสดุ เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่หลายชีวิต ทำให้นักดับเพลิงต้องเร่งช่วยเหลือชีวิต และอพยพเจ้าหน้าที่ภายในวิหาร การควบคุมเพลิงจึงทำได้ไม่เต็มที่นัก
5. ตัววิหารเสี่ยงต่อการถล่ม
ด้วยขนาดของมหาวิหารที่มีขนาดใหญ่ ทั้งยังมีอายุถึงเกือบพันปี จึงมีความเสี่ยงที่ตัววิหารอาจจะพังถล่มลงมา อาจสร้างความเสียหายกับอาคาร และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอาจจะทำให้เพลิงยิ่งลุกลามจนสถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการเข้าควบคุมเพลิง
และนี่ก็คือ 5 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการควบคุมเพลิงยาวนานถึง 15 ชั่วโมง ซึ่งงานนี้ต้องยกนิ้วให้กับ Pompiers de Paris สุดยอดทีมดับเพลิงมืออาชีพที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ผู้ซึ่งพิชิตภารกิจการดับเพลิงครั้งนี้ที่ยากกว่าปกติเป็นอย่างมากครับ
ที่มา : Gregg Favre, archdaily, bbc
.
.
.
.
.
.