การซื้อบ้านจัดสรรนั้นจะมีความแตกต่างจากการสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองอยู่พอสมควร เพราะนอกจากเงื่อนไขทางกฎหมายพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงแล้ว ยังมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่ซับซ้อนจากทางโครงการเสริมเข้ามาด้วย
สำหรับวันนี้ ในบ้าน ก็จะพาชาวเว็บไปชม 42 บทเรียนที่น่ารู้ในการ “ซื้อบ้านจัดสรรครั้งแรก” จากประสบการณ์จริงของเจ้าของบ้านคุณ ChemKorat3 ครับ เป็นแนวทางการซื้อบ้านที่ละเอียดและเป็นประโยชน์มากๆ ต้องมาดูกันก่อนครับ หากคุณเป็นคนที่กำลังจะตัดสินใจซื้อบ้านจัดสรรเป็นหลังแรกในชีวิต
รีวิวบางมุมของบ้านและแชร์ “บทเรียน” ที่น่ารู้ ในการซื้อบ้านหลังแรก จากโครงการบ้านจัดสรรในปัจจุบันครับ
(โดย ChemKorat3 สมาชิกเว็บไซต์ Pantip.com)
หลังจากเข้ามาคลุกอยู่ในห้องชายคาได้เกือบ 3 ปี (ตั้งแต่ตัดสิ้นใจซื้อบ้านหลังนี้)
ทำให้ได้เรียนรู้หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างจากเพื่อนๆ ที่เข้ามาแชร์ข้อมูลกัน ผิดบ้าง ถูกบ้างคละกัน แต่ก็ไม่เป็นไร ทำให้เราได้ข้อคิดหลากหลายเพื่อเอาไปปรับปรุงใช้งานต่อไป จึงอยากจะตอบแทนพระคุณของเพื่อนๆ ในห้องนี้บ้าง โดยเฉพาะกับเพื่อนที่กำลังจะซื้อบ้านหลังแรกในชีวิตจากโครงการบ้านจัดสรรในปัจจุบันครับ
บ้านผมเป็นบ้านแฝดสองชั้น (ผนังบ้านไม่ติดกัน) หลังเล็กกระทัดรัดครับ พื้นทีใช้สอยรวม 135 ตารางเมตรเอง (นี่รวมที่จอดรถแล้วนะ)
– ที่ดิน 50 ตารางวา ราคา 1,750,000 บาท
– ตัวบ้านราคา 1,710,000 บาท
– ปรับเปลี่ยนวัสดุ 33 รายการ ตามที่ให้ไว้ในความเห็นที่ 13 อีก 858,000 บาท
ต่อรองขอส่วนลดหักกับเงินดาวน์ได้ 1 แสนบาทครับ
บทเรียนที่ 1: จะซื้อบ้านอย่างไรดีนะ??? (แบบไหน บริเวณไหน ต้องเริ่มต้นอย่างไร)
คงจะเป็นคำถามที่ตอบยากพอดูสำหรับมือใหม่หัดซื้อบ้านทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่คงจะใช้วิธีตระเวณดูบ้านตัวอย่างในโครงการบ้านจัดสรรในระแวกที่เราสนใจ และคงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปแค่คำตอบเดียวสำหรับทุกๆ คนแน่นอนครับ และหากใครยังไม่ได้คำตอบที่ต้องการก็ลองเอาวิธีของผมไปประยุกต์ใช้ดูได้ครับ
1. สำรวจความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองก่อนครับ คำนวณดูว่าเงินที่เหลือในแต่ละเดือนนั้นเราจะมีความสามารถในการผ่อนบ้านได้ในวงเงินต่อเดือนประมาณเท่าไร => แล้วเอาไปคำนวณหายอดเงินกู้ที่เราสามารถกู้ได้ครับ
2. ถามตัวเองและครอบครัวว่าอยากได้พื้นที่ใช้สอยของตัวบ้านกี่ตารางเมตร และที่ดินของแปลงบ้านที่กี่ตารางวา
3. ถามตัวเองและครอบครัวว่าอยากได้บ้านสไตล์ไหน เช่น บ้านชั้นเดียว บ้านแฝด เทาเฮาส์ บ้านชั้นครึ่ง บ้านสองชั้น บ้านสามชั้น บ้านสี่ชั้น มีที่จอดรถกี่คัน เป็นต้น
4. ถามตัวเองและครอบครัวอยากได้บ้านอยู่ในบริเวณไหน => เช่น ห่างที่ทำงานไม่เกินกี่กิโลเมตร ใกล้ชุมชน โรงพยาบาล ตลาดสด แหล่งบันเทิง โรงงานอุตสาหกรรมเป็นต้น
หากเราได้คำตอบทั้ง 4 ข้อจากข้างต้นแล้ว จะทำให้การตระเวณดูบ้านตัวอย่างในแต่ละโครงการง่ายและกระชับขึ้นครับ
ปล. การเริ่มตระเวนดูบ้าน เป็นงานที่เสียเวลาและเหนื่อยพอสมควรนะครับ
**ส่วนคำตอบในใจของผมก็เป็นตามนี้ครับ**
1. งบไม่เกิน 5 ล้านบาทสำหรับบ้านเปล่าๆ => เลยกำหนดวงเงินสำหรับตัวบ้านไว้ที 2-4 ล้าน
2. พื้นที่ใช้สอยของตัวไม่เกิน 200 ตารางเมตร และที่ดิน 50 ตารางวาขึ้นไป => อยู่กันแค่ 2 คน กับหมา 2 ตัว
3. บ้านชั้นเดียว บ้านชั้นครึ่ง หรือบ้านสองชั้นก็ได้ => ใจชอบบ้านชั้นครึ่งครับ
4. เลือกอยู่ใกล้ที่ทำงานของแฟนและห่างจากที่ทำงานตัวเองไม่เกินระยะการขับรถ 1 ชั่วโมง => แฟนทำงานที่พัทยา เราทำงานที่มาบตาพุดระยอง
พอได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ก็นัดกะแฟนไปตระเวณหาบ้านที่ถูกใจกันลยครับ
บ้านที่เราตระเวนดูกันก็จะเป็นบ้านในโซน สัตหีบและพัทยาเป็นหลักครับ
เราดูกันทุกโครงการฯ ที่เขาเกณฑ์เบื้องต้นที่กำหนดไว้ เป็นงานที่เหนื่อยและเสียเวลางานหนึ่งเลยทีเดียว คำแนะนำเพิ่มเติมคือ อย่าเข้าไปดูเฉพาะบ้านตัวอย่าง หากเป็นไปได้แนะนำให้ขอเข้าเข้าไปดูบ้านที่สร้างจริงด้วยครับ และแนะนำให้เก็บรายละเอียดต่างๆ เช่น แผ่นพับแนะนำโครงการ ราคาและอัตราการผ่อนชำระเบื้องต้น รายละเอียดวัสดุก่อสร้างเบื้องต้น กลับมาด้วยนะครับ แล้วกลับมานั่งทำตารางเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยของแต่ละโครงการฯ ดู เพื่อประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อ
บทเรียนที่ 2: สวยแต่รูป จูบอาจไม่หอม???
ผมเป็นคนหนึ่งที่หลงในรูป (บ้านตัวอย่างที่โครงการฯ ตกแต่งไว้โชว์) โดยเฉพาะบ้านในโครงการที่เลือกนี้ เขาตกแต่งไว้ได้ลงตัวมากๆ บ้านหลังเล็กกระทัดรัด มีพื้นที่รอบบ้าน จัดสวนแบบง่ายๆ (ดูแลเองได้) และหลงเชื่อคำพูดของเซลล์ที่บอกว่า บ้านสร้างจริงเหมือนบ้านตัวอย่างนี้แหละ โดยหารู้ไม่ว่า การตกแต่งบ้านตัวอย่างไว้โชว์นั้น โครงการจะลงทุนค่อนข้างสูงพอควร เพื่อให้ได้บ้านตัวอย่างที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อได้ เช่น บ้านตัวอย่างในรูป ราคาสูงกว่าบ้านมาตรฐานที่ขายอยู่เกือบ 200%
ที่ร้ายกว่านั้น วัสดุ และรายละเอียดที่ใช้ในบ้านตัวอย่างนั้น อาจไม่เหมือนกับบ้านมาตรฐานที่จะก่อสร้างในโครงการก็ได้
สรุปว่าผมไม่โดนหลอกว่าจะได้บ้านเหมือนในบ้านตัวอย่าง เพียวแต่เซลล์พูดไม่หมดว่า บ้านมาตรฐานจะแต่ต่างกับบ้านตัวอย่างอยู่พอสมคาร….เฮ้อ
บทเรียนที่ 3: ต้องมีเงิน ถึงจะซื้อบ้านได้ (แบบสบายใจ 555)??????
เห็นเพื่อนๆ หลายคน บอกมาว่าไม่มีเงินเก็บ ซื้อบ้านได้มั้ย? คำตอบก็มีทั้งได้ และไม่ได้นะครับ ซึ่งมันก็แล้วแต่เงื่อนไขหลายๆ อย่างดั่งที่เพื่อนๆ หลายๆ คนเคยให้ความเห็นไว้แล้ว
ส่วนตัว แนะนำให้มีเงินเก็บติดมือไว้บ้างซัก 10-15% ของราคาบ้านที่จะซื้อ จะทำให้สบายใจกว่านะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราจะไปซื้อบ้านในโครงการฯ ที่สั่งสร้าง หรือกำลังดำเนินการก่อสร้าง ยกเว้นรายรับต่อเดือนของคุณมากเกินพอ => ในเคสของผมก็ไม่มีเงินเก็บแต่รายรับต่อเดือนเกินแสน ก็เลยไม่ลำบากมากนัก
ค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปของการไปซื้อบ้านก็มีตามนี้ครับ
1. เงินจอง => จำนวนแล้วแต่โครงการฯ จะ กำหนด เงินส่วนนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้คืน หากเรายกเลิกการจอง
2. เงินวันทำสัญญาจะซื้อ-จะขาย => จำนวนแล้วแต่โครงการฯ จะ กำหนด เงินส่วนนี้จะนำไปรวมกับยอดเงินดาวน์
3. เงินผ่อนดาวน์รายเดือน => ส่วนใหญ่จะผ่อนตามระยะเวลาการก่อสร้าง เช่น 6 เดือน หรือ 8 เดือน ให้ได้ยอดที่ประมาณ 10% ของราคาบ้าน (เมื่อรวมกับเงินในข้อ 2 แล้ว) ส่งรายเดือนจำนวนเท่าๆ กัน
บทเรียนที่ 4: บ้านใกล้เรือนเคียงสำคัญแค่ไหน?????
เอาภายนอกโครงการฯ กันก่อนนะ เวลาผมไปเดินดูโครงการฯ ผมจะไปเดินรอบรั้วโครงการฯ (ด้านนอกรั้ว) ด้วย เพราะ ต้องการไปสำรวจดูว่าลักษณะ ชุมชนที่อยู่รอบๆ หมู่บ้านนั้น เป็นอย่างไร จะได้นำเอามาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ โดยมีเงื่อนไขว่า
1. ต้องสงบ (ไปดูทั้ง เช้า กลางวัน และเย็น) ในต่างจังหวัดผมแนะนำให้ไปดูเสาร์-อาทิตย์ต้นเดือนนะครับ (สัปดาห์สังสรรค์ประจำเดือน) ไม่ติดกับตลาด หรือสถานที่ที่มีคนพลุกผล่าน
2. ปลอดภัย เช่น ไม่เป็นแหล่งเสื่อมโทรม หรือเป็นแคมป์คนงาน (ถาวร) สถานบันเทิงยามราตรี
3. ต้องไม่ติดกับบ่อ คลอง หรือลำรางระบายน้ำ => อันนี้เศร้า เพราะหลังบ้านเราเป็น ลำรางระบายน้ำที่ล้นออกมาจาก Lake Land (บ่อเล่นสกีน้ำ) เวลาฝนตก จะได้ยินน้ำไหลเหมือนฟังน้ำตก ลุ้นๆ อยู่ว่ามันจะเซาะกำแพงบ้านหรือเปล่า
ภายในโครงการฯ หากบ้านในบริเวณแปลงที่เราเลือกสร้างเสร็จแล้ว ก็ให้เขาไปดูช่วงที่มีคนอาศัยอยู่ในบ้านเลยครับ เพื่อสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนบ้าน ว่าเราจะยอมรับได้หรือไม่ หากบ้านยังสร้างไม่เสร็จเหมือนกัน ก็สอบถามข้อมูลเพื่อนบ้านเบื้องต้นจากเซลล์ได้เลยครับ
บทเรียนที่ 5: อ้อยเขาปากช้าง…แล้วมันง้างออกมาลำบากนะครับ + สัญญาปากเปล่า เชื่อถือไม่ได้ จริงๆๆ
ก่อนเซ็นสัญญาจะซื้อ-จะขาย ควรจะตรวจสอบรายการวัสดุก่อสร้าง แบบบ้านที่ต้องการ และต่อรองขอของแถมและส่วนลดให้เรียบร้อย และควรจะทำรายการแนบท้ายสัญญาแสดงรายการของแถมส่วนลด ไว้ให้ละเอียด
ผมพลาดในเรื่องการตรวจสอบวัสดุบ้าน เพราะเข้าใจไปเองว่า บ้านราคา 3.45 ล้านบาท มาตรฐานคงจะเป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ …ปรากฏว่า เกรดวัสดุก่อสร้างเป็นเกรดกลางต่ำครับ… เลยต้องเสียเงินค่าปรับเปลี่ยนวัสดุ บ้านไปเยอะมากๆ (จ่ายอีก 25% ของราคาบ้าน)… 555…ดูตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงวัสดุกับแบบบ้านที่ผมขอเปลี่ยนในบ้านของผมเอง ตามข้างล่างนี้ครับ…
1. เปลี่ยนหน้าต่างให้เป็นประตูเลื่อนกระจกบานใหญ่ในส่วนรับประทานอาหารที่ทะลุออกสวนข้างบ้าน
2. ไม่เจาะช่องประตูและไม่ติดตั้งบานประตูห้องน้ำชั้นบนด้านที่ทะลุผ่านเข้าห้องนอนใหญ่
3. ปรับขนาดของบานหน้าต่างห้องครัวให้เป็น 105×120 เซ็นติเมตร เพื่อให้ระยะของขอบล่างหน้าต่างสูงจากพื้น 100 เซ็นติเมตร (เพื่อเตรียมติดตั้งชุดครัวปูนความสูง 90 เซ็นติเมตร)
4. ขยายพื้นที่ปูกระเบื้องลานจอดรถและปูพื้นกระเบื้องในห้องเก็บของ
5. เพิ่มไฟส่องสว่างกันน้ำนอกตัวบ้านอีก 3 ดวง (Down Light) ที่ผนังข้างบ้านด้านด้านสนามหญ้ รวมเป็น 5 จุด (ใช้หลอดไฟ LED 5.5 วัตต์)
6. เพิ่มจุดปลั๊กไฟ (เต้ารับ) ในบ้านอีก 16 จุด และเปลี่ยนสเป็คอุปกรณ์สวิทซ์ไฟฟ้า เต้ารับไฟฟ้า กระดิ่งไฟฟ้า และ Safety Breaker ทั้งหมด
7. เพิ่มก็อกสนามใช้นอกบ้านให้เป็น 4 จุด รอบบ้าน
8. ใส่ดาว์นไลท์แบบหรี่แสงได้ สำหรับส่วนรับประทานอาหารและส่วนรับแขก/นั่งเล่น ส่วนละ 4 ดวง ที่มุมของแต่ละส่วน
9. ใส่โคมไฟห้อยบริเวณส่วนรับแขก/นั่งเล่น
10. ใส่โคมไฟห้อยบริเวณส่วนรับประทานอาหาร
11. ใส่โคมไฟติดผนังเหนือกระจกในห้องน้ำชั้นบน
12. ติดพัดลมดูดอากาศออกแบบติดเพดานในห้องน้ำชั้นบน (ไม่ต้องต่อท่อระบายอากาศ) และชั้นล่าง (ต่อท่อระบายอากาศ)
13. ปูกระเบื้องผนังครัว 4 ด้าน เต็มพื้นที่ (ด้านที่จะติดตั่งอุปกรณ์ห้องครัว) + เตรียมท่อน้ำทิ้งของอ่างล้างจาน เครื่องซักผ้า+ท่อน้ำใช้ของอ่างล้างจาน เครื่องซักผ้า+สายไฟสำหรับเครื่องทำน้ำร้อน ตัวดูดควัน เตาแก็ส+ปลั๊กไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ครัว (Microwave, เครื่องปั่น) + ปลั๊กไฟฟ้าสำหรับเครื่องซักผ้าตามแบบที่มอบไว้ให้กับทางโครงการฯ
14. เปลี่ยนสีและแบบกระเบื้องผนังและพื้นของห้องน้ำชั้นล่างและชั้นบน
15. เทลานปูนเพิ่มเติมในส่วนที่จะติดตั้งเครื่องกรองน้ำประปา ขนาด 0.6×1.2 เมตร+ เดินปลั๊กไฟภายนอกพร้อมกล่องกันน้ำฝน+ เดินท่อขนาด 1 นิ้วลอยสูง 1 เมตรสำหรับน้ำเข้า(จากมิเตอร์น้ำ) น้ำทิ้ง(ลงท่อระบายน้ำ) น้ำออก(เข้าถังเก็บ) และใช้ท่อน้ำขนาด 1 นิ้วยาวไปจนถึงจุดเชื่อมต่อกับตัวบ้าน ค่อยลดขนาดลงมาเป็นขนาดมาตรฐานของโครงการ (เปลี่ยนใช้ถังเก็บน้ำ DOS Nano 1500 ลิตร ปั๊มน้ำกรุนด์ฟอส CH2-50PT 450 วัตต์ และท่อจากมิเตอร์น้ำไปจนถึงตัวบ้าน+ท่อรอบๆ ตัวบ้านให้เปลี่ยนไปใช้ท่อ HDPE)
16. เปลี่ยนวัสดุแผ่นอลูมิเนียมฟลอยด์สะท้อนความร้อนใต้กระเบื้องมุงหลังคาเป็น “แผ่นสะท้อนความร้อนซีแพคโมเนีย รุ่น อัลตร้าคลู”
17. เปลี่ยนวัสดุอลูมิเนียมวงกบ บานประตูและบานหน้าต่าง สำหรับบานเลื่อนและช่องเปิดรับแสงทั้งหมดเป็นวัสดุ ประตูบานเลื่อน-หน้าต่างบานเลื่อน UPVC ระบบมัลติล็อค 2 จุด ใช้กระจก Laminated Glass หนา 12.76 มม. (กระจกโฟลทตัดแสงสี Blue Green หนา 6 มม. + ฟิล์มใส PVB หนา 0.76 mm มม. + กระจกโฟลทใส หนา 6 มม.)
18. เปลี่ยนวัสดุบานประตูไม้ MDF ให้เป็นไม้จริง 6 บาน ขนาดความหนา 33 มิลลิเมตร + บานพับสแตนเลส (ไม่รวมประตูห้องน้ำและห้องเก็บของ)
19. เปลี่ยนวัสดุลูกบิดล็อคประตูสำหรับบานประตูไม้จริง 6 ชุด ให้เป็นชุดมือจับก้านโยกแบบลิ้นล๊อคตลับ (ไม่รวมประตูห้องน้ำและห้องเก็บของ)
20. เปลี่ยนวัสดุลูกบิดล็อคประตูสำหรับบานประตูห้องน้ำ 2 ห้องและห้องเก็บของ ให้เป็นชุดมือจับก้านโยกแบบลิ้นล็อคกลม รวม 3 ชุด
21. เปลี่ยนโถสุขภัณฑ์เป็นแบบชิ้นเดียว แบบประหยัดน้ำ 3/6 ลิตร (ชักโครก) 2 ชุด สำหรับห้องน้ำชั้นบนและชั้นล่าง
22. เปลี่ยนอ่างล้างหน้าเป็นอ่างล้างหน้า American Standard รุ่น อะคาเซีย (Acacia TF-0504W/0704) แบบขาตั้งลอย 1 ชุด ติดตั้งสูง 80 เซ็นติเมตรจากพื้น+อุปกรณ์ภายในห้องน้ำชั้นล่าง
23. เปลี่ยนอ่างล้างหน้าเป็นเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าแก้ว Aqauflex 1 ชุด ติดตั้งสูง 80 เซ็นติเมตรจากพื้น+อุปกรณ์ภายในห้องน้ำชั้นบน
24. เปลี่ยนโคมไฟเพดาน T-8 ทั้งหลัง ให้เป็นโคมไฟเพดาน T-5 (โคมกลมซาลาเปาเล็กและใหญ่) + ห้องเก็บของ+โคมกันน้ำหลังบ้าน รวม 13 ชุด (ไม่รวมโคมห้อยส่วนรับประทานอาหารและส่วนรับแขก)
25. เปลี่ยนฝ้าชายคายิปซั่มเป็นชายคาไวนิล รุ่น Soffit System – Center Vent สี Pearl White
26. เปลี่ยนฝ้าเพดานยิปซั่ม (ภายใน) เฉพาะชั้นบน เป็นฝ้าเพดานยิปซั่มเสริมโฟม Hi-Density EPS – ยิปรอค Thermal Line ความหนา 59 มม. + ชุดอุปกรณ์โครงคร่าวและสกรูยิดแผ่นยิปซั่มยาว 75 มม. สำหรับติดตั้งบนพื้นที่ 65 ตร.ม.
27. เปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า 1 เฟส 15(45) A เป็นมิเตอร์ไฟฟ้า 1 เฟส 30(100) A
28. เปลี่ยนตู้คอนซูเมอร์ยูนิตและเบรกเกอร์ไฟฟ้าทั้งหมด ปรับวงจรไฟฟ้าและขนาดสายไฟฟ้าในบ้านตามแบบที่มอบแบบไว้ให้กับโครงการฯ
29. เปลี่ยนพื้นไม้ลามิเนตชั้นสองเป็นกระเบื้องลายไม้ พี้นที่ 50 ตร.ม.
30. เปลียนสีน้ำ-สีน้ำมันทาบ้านและสีย้อมไม้ลูกนอนบันได (สีทั้งหลัง): (1) สีน้ำอะคีลิคทาภายนอก-ภายใน-รั้วบ้าน, (2) สีน้ำมันทาไม้-เหล็ก, (3) สีย้อมไม้ลูกนอนและพักบันได, (4) สีรองพื้นปูน-ไม้-เหล็ก ทั้งหมด จากเกรดกลาง เป็นเกรดท๊อป
31. ให้ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น 2 เครื่อง ในห้องน้ำชั้นล่าง+ชั้นบน
32. ให้ติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อน 1 เครื่อง ใต้ซิงค์น้ำห้องครัว
33. ให้เดินสายและเบรกเกอร์ไว้สำหรับติดตั้งแอร์ทุกห้องในบ้าน
บทเรียนที่ 6: วางแผนดี ติดตามงานก่อสร้างถี่ มีชัยไปกว่าครึ่ง
เนื่องด้วยความผิดพลาดในการไม่ตรวจสอบวัสดุก่อสร้างจากข้างต้น ทำให้งานซื้อบ้านของผม กลายเป็นงานช้างทันที ด้วยเหตุที่ว่า รายการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างเยอะมากๆ เลยจำใจต้องผันตัวเองจากนักเคมีไปเป็นโฟร์แมนคุมงานก่อสร้างบ้านตัวเองอยู่ 1.5 ปีเต็มๆ เหนื่อยมากๆ
โครงการฯ ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ จะไม่มีคนงานเป็นของตัวเอง ใช้ผู้รับเหมาช่วงมาทำเสียส่วนใหญ่ มันเหนื่อยตรงที่เราต้องวางแผนประสานกับโครงการฯ แล้ว วิศวกรโครงการฯ ต้องไปคุยกับ ผู้รับเหมาช่วงให้เรา ซึ่งโอกาสสื่อสารกันไม่สมบูรณ์มีเยอะมากๆ จนท้ายที่สุดผมต้องสื่อสารตรงไปทั้ง 2 ส่วน เพื่อลดข้อผิดพลาด
การเข้าไปตรวจสอบความคืบหน้าในการก่อสร้างหน้างานบ่อยๆ เป็นเรื่องที่ดี เพราะหากเจอข้อผิดพลาด จะแก้ไขได้ทันท่วงที เพราะบางงานมันกลับมาแก้ไขได้ลำบากมากๆ
ปล. ผมเข้าไปดูงานช่วงเย็นแถบทุกวัน และใช้เทคนิดแปะโพส-อิทไว้หน้างานเพื่อให้วิศวกรคุมควบเข้าไปตรวจสอบ หรือถ่ายรูปนำมาเขียนในแบบฟอร์มร้องขอให้โครงการฯ ดำเนินการแก้ไข (ส่งให้เป็นลายลักษณ์อักษร)
เล่นบทไหนดี??? พระเอก-นางเอก ผู้ใจดี (ไม่เป็นไร สีทนได้) หรือผู้ช่วยพระเอก-ผู้ช่วยนางเอก (ยอมรับไม่ได้ ต้องแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามแบบแปลน
คำแนะนำส่วนตัวนะครับ หากแก้ไขได้ ให้โครงการฯ แก้ไขข้อบกพร่องให้เลยครับ อย่ายอมรับ-บ้านอยู่กับเราไปอีกนาน แต่หากแก้ไขไม่ได้หรือไม่ทันแล้ว เราก็ต้องมาตัดสินใจใหม่ว่าจะซื้อ-หรือไม่ซื้อแล้ว และใช้วิธีการเจรจาต่อรองกับโครงการฯ ครับ
เคสของผม ก็ต้องเจรจาเปลี่ยน “แปลงที่ดิน” จะซื้อกันถึง 2 รอบ ถึงมาได้หลังปัจจุบันนี้ครับ
บทเรียนที่ 7: เปลี่ยนประตูรั้ว จากบานเปิดหรือบานเฟี้ยมมาเป็นประตูเลื่อนบนราง ไม่ง่ายอย่างที่คิด
ด้วยเหตุที่ ที่ดินส่วนหน้าบ้านค่อนข้างแคบและไปกว้างออกด้านหลัง เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูด้านไม่เท่า หน้าบ้านกว้างแค่ 10.5 เมตร แต่ต้องการทำประตูบานเลื่อนบนราง เพื่อเปิดให้รถ 2 คัน เข้าไปจอดได้ ซึ่งต้องทำประตูกว้างประมาณ 6 เมตร แถมบ้านอยู่บนโค้งนอกของถนนในโครงการฯ (ไม่สามารถทำรางให้ล้ำไปค่อมหน้าบ้านของแปลงถัดไปได้) ปวดหัวอยู่นานครับ
จนได้วิธีแก้ไขจากเพื่อนๆ ที่แชร์ข้อมูลในห้องชายคานี้แหละ ผมก็เลยทำประตูบานเลื่อนซ้อนกัน 3 ราง ความกว้างตกบานละ 2 เมตร ดั่งในรูปครับ ขอบคุณเพื่อนๆ ที่แชร์ข้อมูลให้นะครับ
บทเรียนที่ 8: กันสาด/แดด สำคัญแค่ไหน???
บ้านผมหันหน้าตรงทิศตะวันออกครับ โดนแดดทั้งวันโดยเฉพาะ ทิศใต้ในรูป จึงวางแผนแก้ไขเรื่องกันร้อน โดยการติดตั้งกันสาด/แดด ที่ประตูและหน้าต่างฝั่งทิศตะวันออก ใต้ และตะวันตก => เลือกใช้โครงระแนงเหล็กกล่องทาสีขาว มุงด้วยแผ่นไวนิลครับ
ได้ผลดีมากๆ ครับ กันแดดได้ ทำให้บ้านไม่ร้อน ปัจจุบัน บ้านชั้นล่างไม่ต้อง ติดแอร์ เพราะอากาศในบ้านไม่ร้อนและมีลมพัดจากทะเลมาถึงตัวบ้านตลอดวัน ซึ่งก็น่าจะได้อานิสงมาจากรายการอุปกรณ์ก่อสร้างดั่งข้างล่างนี้ด้วย
1. ผนังเป็นอิฐบล๊อคมวลเบา Eko Blok
2. ผนังด้านนอกทาสีฟ้าอ่อนของ เบเยอร์ UV Shield Cool ใช้สีรองพื้นเป็นตัวที่ผสมไมโครเซรามิค
3. แผ่นสะท้อนความร้อนใช้เป็นแบบอลูมิเนียมฟรอยด์ที่มีฉนวนกันร้อนสีเขียวเหมือน Stay Cool ของตราช้าง วางปูใต้แปหลังคาก่อนวางกระเบื้อง
4. ฝ้าชั้น 2 ใช้แผ่นยิปซั่มหนา 9 มม. แบบที่มีแผ่นโฟม HD-EPS หนา 50 มม. แปะอยู่ด้วย ของ ยิปร๊อค
5. ชายคารอบตัวบ้านใช้แบบมีรูระบายอากาศตลอดแนว เป็น uPVC รุ่น Center Vent ของ วินเซอร์
บทเรียนที่ 9: ได้บ้านแล้ว อยากได้สวน/สนามหญ้า สวยๆ ทำไงดี????
แนะนำให้ตั้งสติ ไตร่ตรอง ก่อนตัดสินใจครับ คำแนะนำส่วนตัวคือ ถามตัวเองก่อน ว่าใครจะเป็นคนดูแลสวน/สนาม หากไม่จ้าง คนสวนดูแล นี่ต้องคิดให้หนักครับ เดียวมันจะเป็นภาระในระยะยาวโดยไม่จำเป็น
ผมเลือกทำสนามหญ้าเล็กๆ และปลูกต้นไม้น้อยๆ ตามแปลนนี้ เพราะต้องการดูแลเองได้ตามเวลาที่ตัวเองมีครับ
บทเรียนที่ 10: รั้วข้างบ้านเตี้ย ต่อรั้วอย่างไรดี????
คำถามสุดฮิต ไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดให้หรอกครับ ต้องเลือกเองตามความเหมาะสม ส่วนตัวผมเลือกใช้รั้วต้นไม้-ต้นไทรเกาหลีครับ โตเร็วพอสมควร
บทเรียนที่ 11: ชุดม้านั่งสนาม ต้องอยู่เฉพาะในสนามหญ้าหรือเปล่า????
ชุดไม้นั่งสนาม-เอาท์ดอร์ อารมณ์โมเดิร์น เอามาวางไว้หลังบ้าน สำหรับนั่งเล่นกะหมา 2 ตัว ร้านถึงกับงง ว่าทำไมวางไว้หลังบ้าน เขานึกว่าจะสั่งมาวางไว้ในสนามหญ้า สั่งมาจากร้านศาลาบ้านสวน-เครดิตภาพถ่าย (ไปดึงถาพถ่ายที่บ้าน ที่ทางร้านฯ เอาไปลง Website ไว้มานะ)
บทเรียนที่ 12: เลือกปลูกต้นไม้ให้เข้ากับทิศทางของแสงแดด????
ต้นสับปะรดสีที่บ้านแตกหน่อแล้ว ปลูกเองกะมือ ดีใจอ่ะ เพิ่งเคยมีส่วนร่วมในการกำเนิดชีวิตใหม่ 5555
ปล. ปลูกไว้หลังบ้านตรงทิศตะวันตก โดนแดดแรงมากๆ ทั้งบ่าย
ส่วนนี่ ต้นพุดพิชชา (ต่อยอด) ใส่กระถางไว้หน้บ้าน (ทิศตะวันออก) ตู้สีฟ้าอ่อนเอาไว้เก็บรองเท้ากับอุปกรณ์สำหรับน้องหมาครับ
บทเรียนที่ 12: คิดให้ถ้วนถี่แม้ในส่วนเล็กๆ ในชีวิต
เลือกใช้ม้านั่งสีขาวทำมาจากไวนิล จะได้ไม่เจอปัญหาสีซีดจางเมื่อโดนแดด มุมนั่งเล่นกับหมาๆ ช่วงเย็นๆ หน้าบ้าน (ทิศเหนือ) ติดแผงกันสาดไวนิลสีขาว เพื่อกันน้ำฝนสาดเข้าไปโดนตู้รองเท้าสีฟ้าหน้าบ้าน
ผมเตรียมก๊อกสนามไว้จุดนี้ด้วย
เอาไว้เป็นที่อาบน้ำของเจ้าตูบ 2 ตัวนี้
บทเรียนที่ 13: ระบบไฟฟ้าที่ดี สำคัญแค่ไหน???
ส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับระบบไฟฟ้ามาก จึงขอวงจรไฟฟ้าของโครงการฯ ไปนั่งดู โดยอาศัยความรู้เรื่องไฟฟ้าที่ได้ร่ำเรียนมา 6 ปี สมัย มัธยม 1-6 เป็นหลัก + ไปขอความรู้จากเพื่อนวิศวกรไฟฟ้าประจำโรงงาน
ผลลัพธ์ก็ได้ตามแปลนนี้ครับ ผมเผื่อขาดไว้เยอะพอประมาณครับ
นี่รูปตู้ควบคุมไฟฟ้าตัวจริงครับ
เลือกใช้ตู้ของสแคว์ดี รุ่น 18 ช่อง ซ่อนไว้ในตู้สีแดงชั้นล่าง
กลัวอันตรายจากไฟฟ้าดูด
ก็เลยติดลูกย่อยแบบ RCBO ในส่วนของวงจรที่เรามีโอกาสได้สำผัสทุกตัวครับ เช่น ปั๊มน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน เต้ารับไฟฟ้า (ปลั๊กไฟ)
บทเรียนที่ 14: เลือกกรอบประตูหน้าต่างที่ทำด้วยวัสดุชนิดไหนดี? อลูมิเนียม(แบบมีแบนด์) หรือ uPVC?
อันนี้ต้องแล้วแต่ความชอบส่วนตัวและงบประมาณเป็นหลักนะครับ เรื่องคุณภาพแทบจะไม่แตกต่างกันเลย ถ้าเลือกรุ่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบ
อลูมิเนียมมีแบนด์จะเสียเปรียบเรื่องราคาที่จะสูงกว่า uPVC พอสมควร แต่ก็จะได้เปรียบเรื่องความทนทานและระยะเวลาการรับประกัน แบนด์อลูมิเนียมที่ผมเลือกไว้รับประกันถึง 15 ปีครับ
คำแนะนำเพิ่มเติม ก็คือกำหนดสเป็คให้ครอบคลุมแล้วส่งไปให้แต่ละแบนด์เสนอราคากลับมาพร้อมกับรูปโปรไฟล์+คุณสมบัติในแต่ละรุ่น แล้วนำมาเปรียบเทียบราคากับงบประมาณที่ตั้งไว้ แล้วค่อยไปดูของจริงตามโชว์รูมครับ ซึ่งส่วนใหญ่พวกที่มีแบนด์จะมีโชว์รูมให้ไปดูของจริงได้ครับ
แรกๆ ผมตั้งใจจะติดอลูมิเนียมแบบมีแบนด์ (ใช้เส้นโปรไฟล์ของ Reynear) ทำสีดำซาฮาร่าหรือสีเทาเข้มซาฮาร่า แต่เมื่อมาตรวจเช็คบัญชีรับ-จ่าย งบประมาณในการซื้อบ้าน ก็พบว่ามันจะเกินงบไปถึง 2 แสนบาท ก็เลยเปลี่ยนใจในนาทีสุด ไปคบกับ uPVC โปรไฟล์ของวินเซอร์แทน 555 โดยเน้นบริการหลังการขาย (ใกล้บ้านมากๆ เรียกซ่อมสะดวกดี)
บทเรียนที่ 15: เลือกกระจกชนิดใดเพื่อให้เหมาะกับประตู-หน้าต่างบ้าน???
ปัจจุบันมีกระจกให้เลือกใช้งานหลากหลายมากๆ ฉะนั้นต้องถามตัวเองก่อนว่าต้องการคุณสมบัติในเรื่องใดบ้าง แล้วค่อยเลือกซื้อในชนิดที่เราต้องการ
ผมต้องการคุณสมบัติเรื่องความปลอดภัย (หากกระจกแตกจะไม่เกิดอันตรายกับผู้อยู่อาศัย) มีคุณสมบัติกันเสียงได้ดีและมีคุณสมบัติกันร้อน+กรองแสง UV เป็นหลัก ก็เลยทำให้ผมมีตัวเลือกที่ผมสนใจจริงๆ 2 ชนิดดังข้างล่างครับ (จริงๆ ตัวเลือกทั้งหมดมีมากกว่านี้)
1. กระจกนิรภัยเทมเปอร์หนา 6 มม. แผ่นหนึ่งใสและอีกแผ่นเป็นกระจกมีสีตัดแสง นำไปทำเป็นกระจกฉนวน 2 ชั้น (Insulated Glass Unit-IGU) ที่มีช่องว่าง 10 มม. ขึ้นไป โดยบรรจุก๊าซเฉื่อยอาร์กอนในช่องว่าง ดังนั้นตัวกระจกจะมีความหนารวม 22 มม. ขึ้นไป (แล้วแต่าขนาดความกว้างของช่องว่างระหว่างแผ่นของกระจก)
2 กระจกนิรภัยลามิเนตหนารวม 12.76 มม. (กระจกโฟลตสีตัดแสงหนา 6 มม. + แผ่นฟิล์ม PVB หนา 0.76 มม. + กระจกโฟลตใสหนา 6 มม.)
ท้ายสุดก็ตั้งเลือกตัวเลือกที่สอง “กระจกนิรภัยลามิเนตหนารวม 12.76 มม. สี Blue-Green เมื่อแดดส่องผ่านจะเห็นเป็นสีฟ้าอ่อน เข้ากับสีตัวบ้าน” เหตุผลที่เลือกก็เพราะติดข้อจำกัดของ uPVC โปรไฟล์ของวินเซอร์ ที่สามารถใส่กระจกหนารวมสูงสุดได้ที่ 18 มม. แค่นั้นแหละ*
ปล. ไม่แนะนำให้ใช้กระจกอินซูเลตที่มีช่องว่างระหว่างแผ่นกระจกต่ำกว่า 10 มม. ครับ เพราะหากไปเทียบคุณสมบัติ 3 ด้านที่ผมสนใจ กระจกลามิเนตในความหนาที่น้อยกว่ากลับจะตอบโจทย์ได้ดีกว่าครับ
บทเรียนที่ 16: ใช้ท่อน้ำประปาแบบไหนดี???
นี้ก็เป็นอีกหนึ่งของความปวดหัวครับ เพราะช่างที่ทำบ้านผมไม่ทันเทคโนโลยีของท่อน้ำ ต่อท่อ PP-R สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นฝั่งไว้ในผนังให้รั่วได้ 555 เศร้าครับ
ผมก็เลยต้อง D.I.Y. ต่อท่อ PE-Al-PE เอง ทำ Pressure Test เอง ก่อนนำไปให้ช่างฝั่งในผนังห้องน้ำให้้ใหม่
สรุปที่บ้านผมเลือกใช้ ท่อ PVC สำหรับงานในตัวบ้าน ท่อ HD-PE สำหรับงานนอกตัวบ้าน และใช้ท่อ PE-Al-PE สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นครับ
ประเภทของท่อน้ำปะปาที่มีให้เลือกใช้ หาซื้อได้สะดวกก็มีประมาณนี้ครับ
1. ท่อ PVC ย่อมาจาก Poly Vinyl Chloride
2. ท่อ HD-PE (เกรดใช้กับน้ำดื่มนะ) ย่อมาจาก High Density Poly Ethylene
3. ท่อ PB ย่อมาจาก Poly Butylene
4. ท่อ PP-R ย่อมาจาก Poly Propylene Random Copolymer
5. ท่อ GSP (ท่อเหล็กชุบสังกะสีกันสนิม) ย่อมาจาก Galvanized Steel Pipe
ส่วนท่อสำหรับเดินระบบน้ำอุ่นและน้ำร้อน ก็มีให้เลือกใช้ดังนี้
1. ท่อ PB เกรดสำหรับน้ำร้อน
2. ท่อ PP-R เกรดสำหรับน้ำร้อน
3. ท่อ GSP (ท่อเหล็กชุบสังกะสีกันสนิม)
4. ท่อทองแดง
5. ท่อ PE-Al-PE หรือ PAP ย่อมาจาก Poly Ethylene-Aluminuim-Poly Ethylene เป็นท่อที่มีใส้กลางเป็นอลูมิเนียมและเคลือบผิวด้านนอกและด้านในด้วย Poly Ethylene
บทเรียนที่ 17: ใช้หลอดไฟฟ้าแบบไหนดี เพื่อให้อินเทรนด์ เรื่องประหยัดพลังงานและช่วยลดโลกร้อน???
มีตัวเลือกที่ใช้งานได้จริงไม่มากครับ ที่บ้านเลยเลือกใช้หลอดไฟฟ้าดังต่อไปนี้
1. หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซ็นประหยัดไฟฟ้าแบบหรี่แสงได้ ใส่ในโคมดาวน์ไลท์
2. หลอด LED ขั้ว E27 ใส่กับโคมไฟที่ใช้ขั้วหมุนเกลียว E27
3. หลอดฟลูออเรสเซ็น T-5 แบบแท่งยาว ใส่ในโคมไฟแบบใช้หลอดยาว
4. หลอดฟลูออเรสเซ็น T-5 แบบกลม ใส่ในโคมไฟซาลาเปา
ปล. หากมีความกังวลในเรื่องราคาในการลงทุนจะไม่คุ้มกับราคาหลอดประหยัดไฟที่ผมเลือกใช้ ก็ไม่แนะนำให้ลอกเรียนแบบครับ เพราะมันไม่คุ้มกับการลงทุนเพื่อการประหยัดไฟฟ้าจริงๆ นะ หลอดพวกนี้มันยังราคาแพงอยู่มากๆ
บทเรียนที่ 18: เรื่องลับๆ ในครัว ที่บางคนไม่รู้???
นี่ถือว่้าเป็นความโชคดีของผม ที่ขยันเตรียมการตกแต่งห้องครัวในตัวบ้านไว้ก่อนครับ ผมไปให้บุญถาวรออกแบบห้องครัวบิวด์อิน ไว้รอตัวบ้านครับ (ก่อนการก่อสร้างแปลงที่ 2) โดยให้บุญถาวรเข้าไปวัดขนาดครัวที่บ้านตัวอย่างเพื่อนำไปออกแบบ
ปรากฏว่าช่างของบุญถาวร แจ้งว่าครัวของผมมันจะเตี้ยกว่ามาตรฐานปกติไปประมาณ 10 เซ็นติเมตร ผมจะยอมรับได้มั้ย เพราะมันอาจมีปัญญาเรื่องต้องก้มเวลาใช้ครัว (ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องปวดหลังได้) เพราะขอบวงกบล่างของหน้าต่างครัวมันต่ำกว่าปกติ (สูงจากพื้นแค่ 80 เซ็นติเมตร)
ผมจึงเข้าไปตรวจสอบกับโครงการฯ และพบว่าโครงการฯ ออกแบบให้หน้าต่างสูงกว่าปกติประมาณ 10 เซ็นติเมตร เพื่อให้บ้านดูโล่งมองเห็นด้านนอกบ้านมากขึ้น แต่คงความสูงของเพดานไว้เท่าเดิมที่ 2.60 เมตร
ผมก็เลยต้องขอให็โครงการปรับขนาดหน้าต่างเฉพาะบานที่ตำแหน่งห้องครัวนีัให้มีความสูงลดลง 10 เซ็นติเมตร เพื่อจะได้ทำครัวที่มีความสูงตามมาตรฐานที่ 85-87 เซ็นติเมตร ได้ครับ
บทเรียนที่ 19: เลือกกระเบื้องปูผนังครัวลายไหนดีนะ???
เลือกลายกระเบื้องไม่ถูกเพราะมันมีให้เลือกเยอะมากๆๆ ก็เลยตัดสินใจเลือกซื้อกระเบื้องเกรดธรรมดา ราคาแผ่นละ 10 กว่าบาท หลากสีมาปูเป็นลายเปรอะซะเลย
แรกๆ ช่างไม่ยอมปูให้ครับ เขากลัวมันมั่วไม่สวย แล้วเราจะสั่งรื้อ ต้องออนวอนกันอยู่นานทีเดียว กว่าช่างจะยอมแปะกระเบื้องลายนี้ให้ ท้ายสุดช่างขอถ่ายรูปไปเป็นตัวอย่าง เขาจะเอาไปทำที่บ้านให้ลูกๆ เขามั้ง 5555
ครัวเล็กมากๆ เอาไว้ให้แฟน อุ่น-ทำ อาหารแบบง่ายๆ ใช้งบตามนี้ครับ
1. กระเบื้องปูผนังแผ่นละ 10 กว่าบาท ปูเต็ม 4 ด้าน ค่ากระเบื้อง = 8,000 บาท
2. ชุดครัวบิวอินด์ Kitchen Express รุ่น Look II + หน้าบาน E607 # Pacific Blue – ใช้ไม้พาติเคิ้ลปิดผิวด้วยแผ่นลามิเนต = 54,400 บาท
3. ท็อปหินสังเคราะห์ รุ่น Standard Cream (SM421) ข. 60×4 ซม. มีบัวกันน้ำในตัวสูง 5 ซม. = 25,883 บาท
4. อุปกรณ์ Hardware ในชุดครัวบิวอินด์ = 2,010 บาท
5. เครื่องดูดควัน Techno+ รุ่น TNP HD 90C-06GS = 19,900 บาท
6. เตาแก๊ส 3 หัว Techno+ รุ่น TNP HB 3070 GS = 10,900 บาท
7. ซิงค์สแตนเลส 1 หลุม+ตะแกรง Teka รุ่น BAHIA Plus1 = 12,200 บาท
8. ก็อกน้ำผสมอ่างล้างจาน Teka รุ่น Cuadro Pro = 10,900 บาท
บทเรียนที่ 20: คนหลายใจ กับสีผนังในตัวบ้าน???
ไตร่ตรองและตัดสินใจให้ดี ว่าจะทาสีผนังภายในหรือจะติดวอลเปเปอร์ เดียวจะเหมือนผมที่ครั้งแรกตัดสินใจทาสี และทาไปแล้ว แต่ก็มาเปลี่ยนใจติดวอลเปเปอร์ที่หลัง ทำให้เสียค่าใช้จ่าย 2 ต่อนะครับ
ผนังทั้งสองแบบมีของดีข้อเสียทั้งคู่ สุดท้ายก็ต้องตามใจผู้อยู่อาศัยในบ้านแต่ละหลังล่ะครับ ว่าจะชอบแบบผนังแบบไหน
โถงด้านล่างบ้านผมก็เลยออกมาหลากสีอย่างที่เห็นครับ
บทเรียนที่ 21: วกเข้าห้องน้ำ ไปเลือกสุขภัณฑ์ที่ถูกใจกันดีกว่านะ???
โจทย์ของผมคือ อยากได้โถสุขภัณฑ์แบบชิ้นเดียวแบบประหยัดน้ำ หาอะไหล่ง่าย (มีศูนย์บริการ) และรูปแบบสวยงาม เลยไปได้ ของ American Standard รุ่น Acacia มาครับ
พบปัญหาครับ สังเกตฐานของโถสุขภัณฑ์ดีๆ ครับ มันจะทึบ น้ำที่พื้นห้องจะไมสามารถไหลข้ามด้านข้างของโถ ไปอีกด้าหนึ่งได้ ยุ่งละซิครับ เพราะไม่ได้เตรียมช่องระบายน้ำที่พื้นห้องไว้ทั้งสองฝั่งของโถ (โถแบบมาตรฐานของโครงการฯ ฐานไม่ทึบ น้ำสามารถไหลข้ามฝั่งได้)
เดือดร้อนช่างปูกระเบื้องพื้นล่ะครับ ที่ต้องรื้อกระเบื้องเพื่อปูปรับระดับให้น้ำไหลเพื่อระบายลงท่อน้ำทิ้งให้้ใหม่ ส่วนผมก็ต้องเสียเงินซื้อกระเบื้องใหม่ 555 บานปลายตลอด
บทเรียนที่ 22: อยากอาบน้ำท่ามกลางสายฝนกะเข้ามั้ง ไปเลือกซื้อเรนชาวเวอร์กันดีกว่า???
ได้มูนชาวเวอร์หัวขนาด 8 นิ้ว ของ American Standard มาดั่งรูปครับ
ติดตั้งแล้วน้ำที่ได้กลายเป็นฝนตกรินเม็ด ไม่แรงดั่งใจ เพราะวางระบบท่อน้ำปะปาในตัวบ้านไว้เล็กเกินไป คือใช้ท่อ PVC ขนาด 1/2 นิ้ว ซึ่งเป็นไปตามที่คุณต้นโพธิ์ต้นไทรแนะนำไว้เลยครับ (จริงๆ ผมอยากได้ท่อขนาด 1 นิ้ว แต่มาบอกช่างให้เปลี่ยนขนาดไม่ทันครับ)
วิธีแก้ไขเพื่อบรรเทาอาการฝนตกไม่สะะใจ คือ ต้องไปเพิ่มแรงดันน้ำในระบบ และเพิ่มอัตราการส่งน้ำในระบบให้มากขึ้น โดยการอาศัยปั๊มกรุนด์ฟอส รุ่น CH2-50PT ขนาด 450 วัตต์ (ไม่อยากเดินท่อแบบลูบครับ)
ได้ผลดีระดับหนึ่งครับ แต่มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุนะครับ
บทเรียนที่ 23: เห็นอ่างล้างหน้าแบบแก้วใส ดูสวยดี ลองเอาไปติดที่ห้องน้ำชั้นบนดีกันกว่า???
ติดแล้วก็ดีครับ สวย ดูโปร่ง ทำให้ห้องน้ำเล็กๆ ดูกว้างขึ้น แต่หากไม่เช็ดคราบน้ำให้แห้งทุกครั้งหลังใช้งาน อ่างมันจะมัวหมอง เป็นรอยด่าง ไม่สวยเลยครับ คิดให้ดีก่อนเลือกซื้อนะ
บทเรียนที่ 24: พื้นชั้นบนปูด้วยลามิเนตหรือกระเบื้องดี???
ต้องตามใจผู้อยู่ครับ ผมเลือกใช้กระเบื้องลายไม้ของ Cotto ECO Touch ปูแทนลามิเนต (ตกตารางเมตรละ 1 พันบาท) เพราะต้องการพื้นที่แข็งแรงและทนทานต่อการขีดข่วนในระยะยาว แต่ก็ยังอยากได้พื่นคล้ายไม้ด้วยครับ
ปล. ข้อเสียของการปูกระเบื้องคือ พื้นมันแข็ง ต้องใส่รองเท้าผ้าเดินในบ้านครับ ไม่ใส่รองเท้า เดียวส้นเท้าสาวๆ จะแตกเอานะ
บทเรียนที่ 25: บ้านหลังเล็กพื้นที่ใช้สอยน้อย หากใส่ตู้เสื้อผ้าไว้ในห้องนอน มันจะอึดอัดไปมั้ย??? มันจะอึดอัดแน่ๆ ครับ ไม่ว่าจะทำเป็นตู้เสื้อผ้า หรือกั้นห้องทำเป็น walk in closet
ผมแก้ปัญหาโดยการเลือกที่จะยอมเสียห้องนอนเล็ก 1 ห้อง เพื่อทำเป็นห้องเก็บเสื้อผ้าและเป็นห้องแต่งตัวด้วยครับ
ปล. ผมก็เลยทำพื้นที่บางส่วนในห้องนอนใหญ่ เป็นตู้เก็บของ โต๊ะทำงานแทนครับ มันใช้พื้นที่น้อยกว่าทำเก็บตู้เสื้อผ้า
บทเรียนที่ 26: ถ้าจะทำห่้องนอนเป็นสีชมพูหวานแว๋ว มันจะเป็นเจ้าหญิงในนิยายเกินไปหรือเปล่า???
ไม่ต้องคิดมากครับ ทำไปเถอะ บ้านเรา เราอยู่เอง ไม่ต้องอายใคร ผมทำห้องนอนสำรองห้องเล็กไว้รับแขก เป็นสีชมพู่อ่อนตัดกับสีชมพู่เข้มตามรูปครับ
บทเรียนที่ 27: ทำสีผนังเป็นสีพื้นๆ ไม่มีลาย มันจะเลี่ยนๆ ไปหรือเปล่านะ?
ผมแก้ปัญหานี้โดยการหาวอลสติกเกอร์ลายที่ชอบ มาแปะผนังซะ แค่นี้ผนังก็ดูมีกริมมิคขึ้นแบบง่ายๆ ครับ
บทเรียนที่ 28: แล้วถ้าจะทำห่้องนอนเป็นสีดำ หรือออกโทนเข้ม มันจะผิดหลักการ…หรือเปล่า???
อันนี้แล้วแต่ความเชื่อส่วนบุคคลครับ ส่วนตัวผมไม่ค่อยเชื่อ ก็เลยทำห้องนอนหลักเป็นสีดำ+เทาซะงั้น
นี่ก็มุมโต๊ะทำงานในห้องนอนหลัก
ผนังสีดำ + วอลสติกเกอร์ลาย I Love London
หาวอลเปเปอร์ลายยาวไปติดไว้ที่ผนังอีกด้านเพื่อเพิ่มลูกเล่นในห้อง แบบง่ายๆ
บทเรียนที่ 29: หัวเตียงมีหน้าต่าง แถมอยู่ทิศตะวันออก (แดดส่องช่วงเช้า) แก้ไขอย่างไรดี???
ที่บ้านแก้ไขโดยการทำบานเลื่อนไม้ย้อมสีโอ๊คเข้ม ปิดที่หัวเตียงกันแสงครับ เลื่อนเปิด-ปิดได้
บทเรียนที่ 30: อยากได้โชฟาหนังแท้ แบบปรับนอนได้เอาไว้นั่งดู TV ชั้นล่าง แต่งบไม่ถึง Lazy Boy ทำไงดี???
แรกๆ ก็จะซื้อของ Studio 128 หรือไม่ก็ Lazy Boy ครับ แต่งบเหลือไม่พอ เลยต้องตัดใจใช้โซฟาหนังแท้ปรับเอนได้ ของโรงงานส่งออกในประเทศไปพลางก่อนนะ ราคาต่างกันกว่า 50% ผมเลือกใช้ของ JAS Sofa Gallery คุณภาพคุ้มกับเงินที่จ่ายไปครับ
บทเรียนที่ 31: วาง TV ไว้ส่วนไหนดี เมื่อห้องโถงชั้นล่างมันดูโล่งๆ เหมือนบ้านเทาว์เฮาส์???
จับแขวนไว้กลางห้องเลยครับ ใช้ประโยชน์เป็นฉากกั้นระหว่างส่วนนั่งดู TV กับส่วนที่เป็นโต๊ะรับประทานอาหารซะเลย และผมให้ที่แขวน TV มันหมุนได้ 360 องศา เอาไว้หันกลับไปดู TV เวลาทานข้าวได้ด้วยครับ
มุมมองจากโต๊ะทานข้าวออกมาฝั่งหน้าบ้าน
บทเรียนที่ 32: มารู้จักกับสวิทต์หิ่งห้อยกันดีกว่า???
ผมแบ่งสวิตท์เปิด-ปิดไฟส่องสว่างตามคุณสมบัติในการใช้งานเป็น 2 แบบนะครับ
1. สวิตท์แบบทั่วไป (เป็นวัสดุทึบ มีหลากสีให้เลือก)
2. สวิตท์แบบหิ่งห้อย (มีไฟแสดงตำแหน่งของสวิตท์เมื่ออยู่ในตำแหน่งปิดไฟ)
ที่บ้านเลือกใช้สวิตท์แบบหิ่งห้อยครับ สังเกตที่แสงไฟสีเขียวที่ตำแหน่งกลางสวิตท์ในรูปนะครับ
แรกๆ ก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อติดสวิตท์ไฟแบบนี้แล้วมันจะได้ประโยชน์อันใด?? แต่เมื่อเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านแล้ว พบว่ามันมีประโยชน์มากๆ ครับ โดยเฉพาะเวลาที่เราปิดไฟในบ้านทุกดวง (กลางคืน) ในบ้านมันจะมืดมากๆ จะเปิดประตูที หรือจะเปิดไฟส่องสว่างที่ ต้องคล่ำหาเป้าหมายกันให้วุ่น บางทีก็เดินชนสิ่งของในห้องเสียด้วย
แต่พอใช้สวิตท์แบบมีไฟหิ่งห้อยบอกตำแหน่ง ปรากฏว่าได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อครับ
ต่อที่ 1: ทำให้เห็นตำแหน่งของสวิตท์ เปิด-ปิดไฟส่องสว่าง ไม่ต้องคลำหากันให้ยุ่งยาก
ต่อที่ 2: ทำให้ประมาณตำแหน่งของมือจับ เปิด-ปิดประตู ได้แม่นยำขึ้น เพราะช่างไฟฟ้าส่วนใหญ่จะติด สวิตท์ เปิด-ปิดไฟส่องสว่างไว้ใกล้กับมือจับเปิด-ปิดประตูครับ
ซึ่งหากเราไม่ยากเปิดไฟส่องสว่างในห้องให้รบกวนเพื่อนร่วมห้อง ก็จะสามารถเปิดประตูห้องได้แม่นยำขึ้นด้วย**
บทเรียนที่ 33: มาตรฐานใหม่ของบานประตูบ้าน ในโครงการบ้านจัดสรรเกรดปกติในปัจจุบัน???
ช่วงไปตระเวณหาดูบ้าน ได้มีโอกาสไปเคาะบานประตูไม้ดู เพื่อจะทดสอบความแข็งแรงของบานประตู … ปรากฏว่า 100% ของโครงการฯ ที่ผมแวะไปดู ไม่มีโครงการฯ ไหน ใช้บานประตูไม้จริงเต็มแผ่นเลยครับ ส่วนใหญ่จะใช้บานประตูไม้ MDF และบานประตูไม้อัด
ชนิดของบานประตูบ้านที่หาใช้งานได้ในปัจจุบันมีดังนี้ครับ
1. บานประตูประตูไม้อัด => บานประเภทนี้จะขึ้นโครงด้วยไม้จริง และเสริมแผ่นไม้จริงในบริเวณที่เจาะใส่ลูกบิดประตู และปิดโครงด้วยแผ่นไม้อัดครับ
ข้อดี: อัตราการยืด-หดตัวไม่มากนักเมื่อเทียบกับบานประตูไม้จริง ราคาถูก
ข้อด้อย: ไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อใช้เป็นบานประตูภายนอกอาจจะผุกร่อนได้ในเวลาอันรวดเร็ว (หากโดนน้ำฝน) ทำเป็นลาย (เช่นลายลูกฟัก) ไม่ได้
2. บานประตูประตูใยไม้อัด MDF => MDF คือ Medium Density Fiberboard เป็นการอัดแผ่นใยไม้ด้วยความหนาแน่นปานกลาง บานประเภทนี้จะเสริมขอบประตูและบริเวณที่เจาะใส่ลูกบิดประตูด้วยไม้จริง แล้วนำใยไม้มาอัดเป็นแผ่นบานประตูครับ
ข้อดี: อัตราการยืด-หดตัวต่ำเมื่อเทียบกับบานประตูไม้จริงและบานประตูไม้อัด ราคากลางๆ ทำเป็นลาย (เช่นลายลูกฟัก) ได้
ข้อด้อย: ไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อใช้เป็นบานประตูภายนอกอาจจะผุกร่อนได้ในเวลาอันรวดเร็ว (หากโดนน้ำฝน) เหมาะสำหรับใช้เป็นบานภายใน
3. บานประตูประตูใยไม้อัด HDF => HDF คือ High Density Fiberboard เป็นการอัดแผ่นใยไม้ด้วยความหนาแน่นสูง บานประเภทนี้จะเสริมขอบประตูและบริเวณที่เจาะใส่ลูกบิดประตูด้วยไม้จริง แล้วนำใยไม้มาอัดเป็นแผ่นบานประตูครับ เช่น ประตูยี่ห้อ “ดอร์ริก” ครับ
ข้อดี: อัตราการยืด-หดตัวต่ำเมื่อเทียบกับบานประตูไม้จริง บานประตูไม้อัด และบานประตูไม้ MDF ราคากลางๆ สูงกว่าบานประตู MDF เล็กน้อย ทำเป็นลาย (เช่นลายลูกฟัก) ได้
ข้อด้อย: ไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อใช้เป็นบานประตูภายนอกอาจจะผุกร่อนได้ในเวลาอันรวดเร็ว (หากโดนน้ำฝน) เหมาะสำหรับใช้เป็นบานภายใน
4. บานประตูประตูไม้จริงชนิดต่างๆ => เป็นนำแผ่นไม้จริงมาทำเป็นโครงและนำแผ่นไม้จริงมาทำเป็นตัวบานหรือเป็นลูกพัก แล้วก็นำมาประกอบกันเป็นบานประตูไม้จริงเต็มแผ่นครับ
ข้อดี: ทำเป็นลาย (เช่นลายลูกฟัก) ได้ แข็งแรง ทนต่อการผุกร่อนได้ (หากโดนน้ำฝน) เหมาะสำหรับใช้เป็นบานประตูภายนอกและภายใน
ข้อด้อย: ราคาแพง อัตราการยืด-หดตัวเมื่อโดนควาชื้นสูงมากๆ (แม้ผ่านการอบแห้งมาแล้ว)
5. บานประตูประตูเหล็ก => เป็นเหล็กกล่องมาทำเป็นโครงประตูและนำแผ่นเหล็กเรียบๆ หรือปั๊มเป็นลายมาปิดโครงบานครับ
ข้อดี: ทำเป็นลาย (เช่นลายลูกฟัก) ได้ แข็งแรง ทนต่อการผุกร่อนได้ดีกว่าไม้จริง (หากโดนน้ำฝน) ใช้เป็นบานประตูภายนอกและภายในได้ ทำเป็นประตูนิรภัยทนไฟได้ อัตราการยืด-หดตัวต่ำมากมากๆ (เมื่อโดนความชื้นและแสงแดด)
ข้อด้อย: ราคาแพง ต้องใช้กับวงกบเหล็ก น้ำหนักมากจึงต้องทำโครงใส่วงกบเหล็กให้แข็งแรงพอสมควร ไสแต่งบานไม่ได้ หากสีเคลือบตัวบานถลอกก็มีโอกาสเกิดสนิมในการใช้งานในระยะยาว
ที่บ้านผมเลือกใช้บานไม้จริงเกรดธรรมดา อบแห้งแล้วปิดผิวหน้าด้วยเวอร์เนียร์ไม้จริง และนำมาทาสี้น้ำมันสีขาวครับ
บทเรียนที่ 34: จะติดเขาควายที่บ้านก็ยุ่งกว่าที่คิดนะ (มือจับก้านโยก)???
ด้วยความขี้เกียจที่จะใช้แม่กุญแจคล้องบานประตูเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับลูกบิดประตูบ้าน และไม่อยากเพิ่มกลอนแบบเดดล๊อด (เพราะมันต้องมีลูกกุญแจเพิ่มอีกดอก เบื่อใช้พวงกุญแจที่มีดอกเยอะๆ) ผมก็เลยปิ๋งไอเดียที่จะติดมือจับก้านโยก (มือจับเขาควาย) ให้กับประตูที่บ้านครับ เพราะเดือยล๊อคมันยาวพอๆ กับลิ้นล๊อคแบบกลอนเดดล๊อดเลยที่เดียว
แต่แล้วความปวดหัวก็มาเยือนอีกครั้ง เพราะดันใจร้อนไปซื้อชุดมือจับก้านโยกมาก่อนที่จะอ่านสเป็คในการติดตั้งของมัน
ปัญหาที่เจอคือ
1. มันต้องใส่กับบานประตูที่มีความหนาพอสมควรครับ คือ บานประตูต้องหนาประมาณ 38 มิลลิเมตร ขึ้นไป มันจึงจะแข็งแรง (ขอบด้านข้างหลังเจาะใส่ตลับบานประตูจะเหลือฝั่งละ 5-6 มม. ขึ้นไป)
ปล. บานประตูบ้านตามมาตรฐานปกติ จะมีความหนาที่ 33-35 มม. ซึ่งสวนใหญ่จะหนาแค่ 33 มม. ด้วยนะครับ
2. ช่างที่โครงการฯ ไม่ยอมติดตั้งให้ เพราะกลัวบานประตูบ้านเราจะพัง (คาดว่าไม่มีประสบการณ์ในการติดตั้งและไม่มีเครื่องมือติดตั้ง-ตัวเราว์เตอร์เจาะเพื่อใส่ตลับลิ้นกุญแจ)
งานจึงเข้าอีกคราหนึ่ง วิ่งวุ่นไปหาซื้อบานประตูที่มีความหนา 38 มม. ขึ้นไป เชื่อมั้ยว่าหากยากมากๆ ขนาดจะสั่งทำบานไม้สักทั้งบาน ยังจะได้ความหนาสูงสุดที่ 35 มม. สุดท้ายก็หาไม่ได้ครับ (ได้บานประตูไม้จริงเกรดทั่วไปที่มีความหนาที่ 33 มม. เอง)
งานยากอีกชิ้น คือ ต้องวิ่งวุ่นไปหาช่างข้างนอกโครงการฯ มาเจาะบานประตูเพื่อใส่ตลับลิ้นกุญแจเอง นี่ก็ยากเอาการเพราะปริมาณงานมันน้อยแค่ 6 บาน ช่างประตูข้างนอกไม่อยากจะรับงาน สุดท้ายก็ต้องไปอ้อนว้อนร้านทำบานประตูไม้ ให้ส่งช่างมาเจาะให้ สนนราคาการเจาะและใส่มือจับก้านโยกให้ตกบานละ 700 บาท (ไม่รวมการติดตั้งตัวบานประตูเข้ากับวงกบนะครับ)
คำแนะนำเพิ่มเติม หากจะติดตั้งมือจับก้านโยกหลายๆ ตัวในบ้าน แนะนำให้ไปสั่งซื้อตัวมือจับที่ใช้กับกุญแจมาสเตอร์คีย์ (ดอกเดียวไขได้ทุกบาน) ที่ตัวแทนจำหน่วยมือจับในแต่ละยี่ห้อดีกว่าครับ จะได้ไม่ต้องพกดอกกุญแจเยอะๆ สะดวกกว่าครับ ราคาไม่ต่างจากซื้อแบบปกติซักเท่าไร (ต่างกันหลักร้อย)
บทเรียนที่ 35: พระอาทิตย์เลิกงานก่อนเรา ทำไงดี ตัวบ้านมืดๆ เดี๋ยวน้องหมาจะกลัวผี???
กว่าจะกลับถึงบ้านก็หลังพระอาทิตย์ตกดิน รอบๆๆ ตัวบ้านก็จะเริ่มมืดแล้ว ทำไงดีไฟส่องสว่างถึงจะเปิดเองหลังพระอาทิตย์ตก ตัวบ้านจะได้สว่างไสว – ทางเลือกมีสองทางที่นำไปปฎิบัติได้ง่ายๆ ครับ
1. ติดเซ็นเซอร์แสงสว่างที่ตัวโคมไฟที่เราต้องการให้ติดเมื่อหมดแสงแดด
2. ติดสวิตท์ตั้งเวลา เปิด-ปิด หลอดไฟฟัาอัติโนมัติ
แล้วแต่ความชอบครับ ราคาสวิตท์เปิด-ปิด ไฟอัตโนมัติจะสูงกว่าราคาของตัวเซ็นเซอร์แสงสว่างอยู่พอสมควร ที่บ้านเลือกติดสวิตท์เปิด-ปิด ไฟอัตโนมัติของ Home-Expert ครับ สำหรับตั้งเวลาเปิดปิดไฟส่องสว่างรอบๆ ตัวบ้าน
ตัวนี้ผมใช้ควบคุมการปิด-เปิด ชุดหลอดไฟโคมดาว์ไลท์ที่ติดอยู่ที่นอกตัวบ้านฝั่งสนาม 3 โคม ใช้หลอด LED 5.5 วัตต์ใส่โคมละหลอดครับ => ตั้งเปิดไฟไว้ที่ 18:00 น. และปิดไฟตอน 06:00 น.
บทเรียนที่ 35.1: พระอาทิตย์เลิกงานก่อนเรา ทำไงดี ตัวบ้านมืดๆ เดี๋ยวน้องหมาจะกลัวผี???
ตัวนี้เปิดสวิตท์ตั้งเวลา เปิด-ปิด หลอดไฟฟัาอัติโนมัติ ของ Home Expert รุ่น G-3 => เป็นแบบควบคุมได้ 3 อุปกรณ์แยกกันแบบอิสระครับ ตัวนี้ผมใช้ควบคุมการปิด-เปิด ชุดหลอดไฟส่องสว่างหน้าบ้านดังข้างล่างนี้ครับ
1. หลอดซาลาเปา T-5 ขนาด 66 วัตต์ จำนวน 1 ชุด สำหรับลานจอดรถ => ตั้งเปิดไฟไว้ที่ 18:00 น. และปิดไฟตอน 00:00 น.
2. หลอด LED ขนาด 5.5 วัตต์ จำนวน 2 หลอด สำหรับโคมดาว์ไลท์ ติดที่เสาหน้าบ้าน 2 ต้น => ตั้งเปิดไฟไว้ที่ 18:00 น. และปิดไฟตอน 06:00 น.
3. หลอด LED ขนาด 5.5 วัตต์ จำนวน 1 หลอด สำหรับโคมส่องป้ายเลขที่บ้าน => ตั้งเปิดไฟไว้ที่ 18:00 น. และปิดไฟตอน 00:00 น.
บทเรียนที่ 36: ความปลอดภัยในทรัพย์สิน สำคัญมากหรือน้อยกว่าน้อยกว่าความปลอดภัยในชีวิต???
เป็นเรื่องที่ต้องนั่งจับเข่าคุยกันกับแฟน ว่าเราจะเลือกอะไรกันระหว่าง
1. ความปลอดภัยในทรัพย์สิน => “ติดเหล็กดัด” ติดสัญญาณกันขโมย เลี้ยงน้องหมาพันธุ์ยักษ์ ใช้กล้องวงจรปิดของส่วนกลาง ใช้พนักงานรักษาความปลอดภัยของส่วนกลาง
2. ความปลอดภัยในชีวิต => ติดสัญญาณกันขโมย เลี้ยงน้องหมาพันธุ์ยักษ์ ใช้กล้องวงจรปิดของส่วนกลาง ใช้พนักงานรักษาความปลอดภัยของส่วนกลาง
ได้ข้อสรุปว่าเราเลือกความปลอดภัยในชีวิต โดยใช้ระบบดูแลความปลอดภัยตามนีั
1. ติดสัญญาณกันขโมยทุกห้อง
2. เลี้ยงน้องหมาพันธุ์ยักษ์ 1 ตัว หนัก เกรทเดนหนัก 90 กิโลกรัมแล้ว และมีพันธุ์จิ๋ว ปั๊กอีก 1 ตัว
3. โครงการฯ มีกล้องวงจรปิดติดทั้งโครงการฯ ครับ
4. โครงการฯ เล็ก พี่ๆ รปภ. เลยปั่นจักรยานตรวจตราในหมู่บ้านให้ ทุกชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมงเลือกที่จะไม่ติดเหล็กดัด เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วออกจากตัวบ้านไม่ทัน มันจะน่าเศร้ามากๆ ครับ**
5. ลุงข้างบ้านใจดี อยู่บ้านทุกวัน แกคอยสอดส่องดูแลบ้านให้ด้วยครับ แกมาขอเบอร์มือถือผมเองเลย แกบอกว่าหากมีอะไรผิดปกติจะได้ โทรฯ บอกได้
6. ที่สำคัญที่สุด ไม่เก็บของมีค่าไว้ที่บ้านเลยครับ (ไม่มีให้เก็บด้วย 555) เลือกที่จะไม่ติดเหล็กดัดครับ
ปล. ที่บ้านเลือกใช้สัญญาณกันขโมยของ Visonic รุ่น Power Max Pro ครับ => คุณภาพโอเค บริการหลังการขายดีมาก (ทั้งๆ ที่บ้านผมอยู่ต่างจังหวัด)
บทเรียนที่ 37: รางน้ำฝนกับบ้านยุคใหม่ มันสำคัญเพียงใด???
สมัยเด็กๆ ผมอาศัยอยู่ต่างจังหวัด เป็นจังหวัดเล็กๆ จะเห็นชาวบ้านติดรางน้ำฝนไว้ทุกบ้าน เพื่อจะดักเอาน้ำฝนมาใส่ตุ่ม เอาไว้ดื่ม หรือใช้งานทั่วไป ….. แต่ยุคนี้ 3G ที่บ้านกินน้ำขวดตราสิงห์ ใช้น้ำปะปาจากถังพักแทนน้ำฝน …. แล้วเราจำเป็นต้องติดตั้งรางน้ำฝนให้เกะกะบ้านกันอยู่หรือเปล่า
คำแนะนำส่วนตัวนะครับ ติดเถอะหากคุณมีงบประมาณ เพราะมันจะช่วยถนอมบ้านให้อย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึง เพราะมันจะไม่มีน้ำฝนไหลแรงๆ จากที่สูงกว่า 6 เมตร ลงมาปะทะตัวบ้าน (ทำให้สีเสียหาย) กันสาด ระเบียง ลานจอดรถ สนามหญ้า หรือต้นไม้ของเราให้เสียหายนะครับ
ผมสังเกตบ้านหลังอื่นๆ ในหมู่บ้าน ที่ไม่ได้ติดรางน้ำฝน นี่เพิ่งผ่านฝนที่ 2 เอง ทุกหลังเกิดความเสียหายจากฝนไหลแรงๆ จากที่สูงกว่า 6 เมตร ลงมาปะทะกับตัวบ้าน ซึ่งความเสียหายที่พบมากที่สุดคือ เรื่องสีของตัวบ้าน เริ่มมีปัญหาพองมั้ง หลุดมั้ง แล้วตะไคร่น้ำก็เกาะ (บริเวณที่น้ำฝนตกใส่) ที่บ้านทุกหลังที่ไม่มีรางน้ำฝน มากน้อยต่างกันไป
หากกังวลเรื่องความสวยงามก็เลือกรางน้ำฝนให้เข้ากับสไตล์บ้านของเราซะ ซึ่งในปัจจุบันมีรางน้ำฝนให้เลือกใช้ได้หลากหลายครับ เช่น
1. รางน้ำฝนสังกะสี
2. รางน้ำฝนสแตนเลส
3. รางน้ำฝนอลูมิเนียม
4. รางน้ำฝน GSP (เหล็กชุบสังกะสี)
5. รางน้ำฝนไวนิล
ที่บ้านผมเลือกใช้รางน้ำฝนของวินเซอร์สีขาวครับ ทำจุดน้ำลง 3 จุด หลบไว้ที่หลังบ้าน 2 จุด และข้างบ้าน 1 จุด
ปล. อย่าลืมทำบ่อพักของระบบท่อระบายน้ำไว้ระบายน้ำฝนให้ไหลลงระบบระบายน้ำของตัวบ้านด้วยนะ ทำฝาปิดให้มีช่องให้น้ำฝนไหลลงได้ หรือเปลี่ยนเป็นฝาแบบตระแกรงก็ได้ครับ
บทเรียนที่ 38: ประตูเล็ก สำหรับเข้าออกประตูรางเลื่อนบานใหญ่หน้าบ้าน มันจำเป็นต้องมีมั้ยนะ???
ช่างทำประตูที่บ้านก็ถามผมในคำถามนี้ เขาบอกว่าทำไม่พี่ไม่เลื่อนบานเลื่อน เปิด-ปิดเอาล่ะ ผมก็ตอบเขาไปว่าสงสารแฟน กลัวเลื่อนบ่อยๆ แล้วกล้ามจะโต เขาเลยทำให้ดั่งในรูป
ความเห็นส่วนตัวนะครับ => ผมว่าควรจะทำไว้นะ มันสะดวกดีเวลาเดินเข้า-ออก หรือเวลามีเพื่อนมาเยี่ยม ก็เปิดแค่ประตูเล็กเพื่อเดินเข้า-ออก ได้สะดวกกว่าต้องออกแรงเลื่อนบานประตูบานใหญ่ ดีสำหรับ เด็ก สตรีและคนชราด้วยนะ
บทเรียนที่ 39: วางระบบน้ำปะปาให้ช่างทำงาน มันไม่ง่ายอย่างที่คิด???
ผมมีปัญหากับช่างปะปาว่าไม่เข้าใจแบบร่างระบบน้ำปะปา (ในรูปนี้) => เราก็ดูแล้วดูอีก มันก็น่าจะเข้าใจนี่นา ……. ทำไงดีล่ะที่นี้
ไม่เป็นไร เดี๋ยวนั่งร่างแบบให้ช่างใหม่ โดยวาง Lay out ให้เหมือนของจริง (ตามรูปนี้)
ปรากฏว่า ช่างทำได้แล้วอ่ะ ก็งงๆ อยู่ ว่ามันต่างกันยังไงนะ 2 แบบนี้
บทเรียนที่ 40: ได้บ้านใหม่แล้ว จะติดจาน True Vision สีแดงก็พอรับได้ แต่ก็ขัดใจตรงขายึดจาน (ท่อเหล็กชุบ) มันช่างไม่เข้ากับตัวบ้านเลย ทำไงดี???
เดินไป เดินมา จำได้ว่าปากซอยมีร้านทำสแตนเลส ก็เลยร่างแบบง่ายๆ ในรูป แล้วไปถามเขาดูว่าจะทำให้มั้ย ….. ปรากฏว่าทำแฮะ วันเดียวได้ สนนราคาที่ 700 บาท*
บทเรียนที่ 41: กลัวห้องน้ำชื้นแล้วขึ้นรา หรือกลัวไอน้ำไปเกาะกระจก เวลาอาบน้ำอุ่น ป้องกันอย่างไรดี???
ต้องติดพัดลมดูดอากาศนะครับ และถ้าจะให้ดี หาตัวหน่วงเวลาปิดพัดลม เพื่อให้มันดูดอากาศชื้นออกไปอีกซักระยะหนึ่ง (10-30 นาที) ก่อนที่จะปิดพัดลมดูดอากาศ จะทำให้ความชื้นในห้องน้ำต่ำได้ครับ
ที่บ้านผมติดตัวเซ็นเซอร์ เปิด-ปิด พัดลมดูดอากาศอัตโนมัติในห้องน้ำ
มันสามารถปรับเพื่อหน่วงเวลาการปิดพัดลมหลังเลิกใช้งานได้ ซึ่งผมตั้งให้มันหน่วงไว้ 30 นาทีหลังเลิกใช้งานห้องน้ำครับ ที่ตั้งหน่วงเวลาไว้เยอะก็เพื่อจุดประสงค์ที่ต้องการกำจัดความชื้นในห้องน้ำให้มากที่สุดนะครับ^^
ปล. ผมประยุกต์ใช้ตัวเซ็นเซอร์ในรูป มาประกอบเข้ากับพัดลมดูดอากาศ ใช้งานได้ดีมากๆ ครับ (เช็คอัตรากระแสไฟฟ้า ของตัวพัดลมดูดอากาศแล้วว่าไม่เกินพิกัดของตัวเซ็นเซอร์ครับ)
บทเรียนที่ 42: จะทำบิวด์อินในบ้านทั้งหลัง จะเริ่มต้นอย่างไรดีนะ…?????
หลังจากตัวบ้านเสร็จ ก็เริ่มคิดเรื่องตกแต่งภายในครับ…แรกๆ ก็ไม่คิดจะทำบิวด์อิน จะไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวทั้งหมด
แต่พอเริ่มไปวัดขนาดของห้องต่างๆ และไปเดินสำรวจดูเฟอร์นิเจอร์แบบที่ชอบ พบความจริงหนึ่งอย่างซึ่งเป็นข้อด้อยของบ้านไซด์เล็กๆ นั้นคือ …หาเฟอร์ฯ ไซด์ที่พอเหมาะกับตัวบ้านได้ยากมากๆ เพราะมันใหญ่เกินไป ทั้งนั้นเมื่อเทียบขนาดของบ้านเรา
ทำไงดีล่ะ…เลยเปลี่ยนใจทำบิวด์อินทั้งหลังเลยครับ แก้ปัญหานี้ได้ แต่บานปลายไปอีก ครึ่งล้าน…..55555 จะทำบิวด์อินสำหรับคนที่ไม่เคยทำเหมือนผม มันลำบากพอดู เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ก็ลองผิด-ลองถูก ไปจนสำเร็จได้อย่างที่เห็นครับ
จึงขอสรุปไว้เป็นแนวทางไว้ให้เพื่อนมือใหม่หัดบิวด์ เอาไว้ไปประยุกต์ใช้งานนะครับ
บทเรียนที่ 42.1: ใครใจดี มาช่วยออกแบบให้ที????
หากสอบตกศิลปะ ในหัวไม่เคยมีรูปภาพ มีแต่ตัวเลขและสูตรเคมีเหมือนผม ต้องหาคนออกแบบให้ได้ก่อนครับ ก็ที่เรียกๆ กันว่าอินทีเรีย ดีไซน์เนอร์หรือมัณฑนากรนั้นแหละ
หาที่ไหน อันนี้ตามสะดวกครับ จะไปเดินหาเอง ใช้อากู๋หาให้ ถามใน pantip ให้เพื่อนหาให้ ให้ญาติหาให้ ก็ได้ แต่ข้อที่สำคัญก็ที่สุดก็คือ ต้องคัดกรองให้ดี จะได้ไม่โดนโกงนะ
แต่ถ้าเราจะใช้บริการจากพวกบริษัทตกแต่งภายในใหญ่ (ไม่ใช้ร้านทั่วๆ ไป) ส่วนใหญ่เขาจะมีบริการออกแบบให้ด้วยเลยครับ เขาก็จะคิดค่าบริการรวมกับค่าทำบิวด์อินเลยนะ (เทิร์นคีย์) สะดวกดี แต่ก็มีข้อเสียก็คือ บริษัทฯ พวกนี้ไม่ค่อยอยากรับทำงานเล็กๆ และมีราคาขั้นต่ำที่จะรับทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเริ่มต้นที่ 500,000 บาท ขึ้นไปนะครับ
บทเรียนที่ 42.2: เสี่ยงใช้นักออกแบบตกต่างภายใน ใน pantip ดีมั้ย????
บ้านผมใช้นักออกแบบตกแต่งภายใน จาก pantip ครับ วิธีการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ถูกโกงของผมก็ คือ
1. ต้องเจอตัวจริง (face to face) => เพื่อมานั่งฟังรูปแบบที่ผมอยากได้
2. ต้องมาดูหน้างานที่ตัวบ้านผมก่อนออกแบบ => เพื่อมาเห็นสภาพสิ่งแวดล้อมของจริง ที่ตัวบ้าน เขาจะได้มีไอเดีย ช่วยแก้ไขปัญหาในการออกแบบได้ดีที่สุด
3. ทำสัญญาจ่ายเงินเป็น งวดๆ ตามผลงานที่ส่งให้ครับ => สัญญาก็ควรจะระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน เช่น แก้แบบได้ฟรีกี่ครั้ง หากเกินจำนวนจะต้องจ่ายเพิ่มเติมกันอย่างไรเป็นต้น
4. ติดตามงานตามระยะเวลาที่กำหนดกันไว้
บทเรียนที่ 42.3: สื่อสารอย่างไรให้ ข้อมูลความต้องการของเจ้าของบ้าน ส่งถึงนักออกแบบภายใน ให้สมบูรณ์????
ผมก็ใช้วิธีการถ่ายรูปบ้านในจุดที่จะทำบิวด์อินทุกจุด และใส่รายละเอียดที่ต้องการให้นักออกแบบฯ เชิญนักออกแบบฯ มาเดินดูบ้านในทุกจุดที่จะทำบิวด์อิน ให้รูปถ่ายรูปแบบเฟอร์นิเจอร์สไตล์ที่อยากได้ ให้กับนักออกแบบฯ (ถ้ามี)
บทเรียนที่ 42.4: ข้อมูลสำคัญที่นักออกแบบฯ ต้องการคือ อะไรกันนะ????
นอกจากประเภทและสไตล์ของเฟอร์นิเจอร์แล้ว ก็มี จุดเต้ารับ (ปลั๊กไฟ) จุดของสวิตท์ไฟ จุดเต้ารับ TV และจุดเต้ารับโทรศัพท์ครับ
บทเรียนที่ 42.5: ระบุรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์อย่างไร ให้กับนักออกแบบฯ ????
แนะนำให้เขาออกแบบเบื้องต้นให้เราดูก่อนครับ แล้วค่อยมาปรับแก้
ปล. หากนักออกแบบฯ มีความเป็นมืออาชีพ เขาจะรู้หลักการเรื่องแสง สี เออร์โกโนมิค ดีอยู่แล้วครับ
บทเรียนที่ 42.6: ไม่กล้าให้นักออกแบบฯ แก้งานออกแบบให้ ????
ห้ามเกรงใจครับ ให้แก้ไขจนเราพอใจตามเงื่่อนไขในสัญญานั้นแหละ
บทเรียนที่ 42.7: ได้แบบเฟอร์นิเจอร์บิวด์อินที่สมบูรณ์แล้วทีไงต่ออ่ะ????
สิ่งที่เราจะได้รับจากนักออกแบบส่วนใหญ่ คือ แบบ 3D ครับ หากเราไม่ให้นักออกแบบฯ ดำเนินการประสานงานกับช่างทำเฟอร์ฯ ให้ ก็อาจจะต้องจ่ายเงินค่าถอดแบบอุปกรณ์ในเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นอีกจำนวนหนึ่งนะ
บทเรียนที่ 42.8: หาช่างทำเฟอร์นิเจอร์บิวด์อิน อย่างไรดี????
ผมให้นักออกแบบฯ แนะนำช่างเฟอร์ฯ ให้ครับ แต่ขอติดต่อประสานงานโดยตรงกับช่างเฟอร์นิเจอร์ (ไม่ผ่านนักออกแบบ)
บทเรียนที่ 42.9: ทำอย่างไรดี ถึงจะรู้ฝีมือของช่างเฟอร์นิเจอร์บิวด์อิน????
ผมใช้วิธี ขอไปดูผลงานของช่างฯ ครับ ขอไปดูทั้งที่ทำงานสมบูรณ์แล้ว และที่กำลังทำงานอยู่จริง
บทเรียนที่ 42.10: ทำอย่างไรดี ถึงจะไม่โดนช่างเฟอร์นิเจอร์บิวด์อินโกง????
อันนี้ก็ต้องแล้วแต่โชคของแต่ละคนด้วย แต่ก็ต้องงทำในสิ่งที่จับต้องได้กันไว้ด้วยนะ เช่น ทำสัญญาตกแต่งภายในให้ดี ซอยงวดการจ่ายเงินให้เหมาะสมกับงานทำทำแล้วจริง ติดตามตรวจสอบผลงานถี่ๆ เป็นต้น**
ปล. ผมเข้าตรวจหน้างานทุกวันครับ และถ่ายรูปความคืบหน้าของงาน เก็บไว้เป็นหลักฐาน
บทเรียนที่ 42.11: งานทำเฟอร์นิเจอร์บิวด์อินจะเสร็จสมบูรณ์ที่ขั้นตอนใด????
โดยปกติงานทำเฟอร์นิเจอร์บิวด์อิน จะจบงานที่การเก็บงานความเสียหายที่เกิดกับตัวบ้านขณะที่ทำงานบิวด์อิน และการทำความสะอาดบ้านครับ ปกติร้านทำเฟอร์บิวด์อิน เขาจะจ้างบริษัททำความสะอาดมาจัดการให้ครับ => เราควรจะระบุขั้นตอนนี้ไว้ในสัญญาด้วยนะ
บางร้านอาจจะมีการมาทำ QC ระบบฮาร์ดแวร์และตรวจสอบความสมบูรณ์ของงานแต่ละชิ้นหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำความสะอาดให้ด้วยนะครับ ขอให้ได้เฟอร์นิเจอร์ถูกใจทุกท่านนะครับ
นึกไม่ออกแล้วว่าจะแชร์อะไรอีกครับ ขอปิดท้ายการรีวิวด้วยเรื่องนี้ก็แล้วกันนะ
เผื่อใครจะใช้สิทธิเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย (โครงการบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท-ขอคืนภาษี) เหมือนผม ก็ให้ปฏิบัติดังนี้นะครับ
1. ตรวจสอบกับโครงการฯ ให้มั่นใจว่าการโอนกรรมสิทธิ์ จะต้องเป็นการโอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดินนะครับ (บ้านพร้อมที่ดิน) => เพราะถ้าเป็นการโอนแยกรายการ หรือโอนแค่รายการใดรายการหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี (ในส่วนของโครงการฯ) เราจะไม่สามารถนำบ้านหลังนี้ไปเข้าโครงการของรัฐบาลได้
2. หนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศของกรมฯ (ดูเอกสารแนบท้ายใน Link นี้ ได้ครับ http://www.rd.go.th/publish/33067.0.html)
3. หนังสือรับรองตนเองว่าเป็นที่อยู่อาศัยแห่งแรก โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศของกรมฯ (ดูเอกสารแนบท้ายใน Link นี้ ได้ครับ http://www.rd.go.th/publish/33067.0.html)
4. สำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ => จะได้จากกรมที่ดินในวันโอนกรรมสิทธิ์นะครับ
5. สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน (กรณีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน)
แล้วก็รอนำไปกรอกแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้ในช่วงต้นปีหน้า เพื่อขอภาษีคืนได้เลยครับ
ขอให้เพื่อนทุกท่านจงโชคดีในการซื้อบ้าน อย่าเหนื่อยเหมือนผมนะครับ
ที่มา : ChemKorat3