เมื่อเวลาผ่านไป บ้านหลังแรกที่เราเติบโตมาก็อาจจะผุพังไปตามกาลเวลา ถ้ามีเวลาและเงินทอง หลายๆคนก็คงไม่อยากให้บ้านหลังแรกของเราต้องพังไปตามสภาพอายุ
หากมีไอเดียดีๆ วางแผนให้เข้าท่า การจะปรับปรุงซ่อมแซมบ้านสักหลัง ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเราเคยอาศัยอยู่มา ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม
เหมือนอย่างคุณ ณัฐวุฒิ เชียงราย ที่ได้ทำการรีโนเวทบ้านไม้เก่า ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมา เสริมความแข็งแรงทนทานเข้าไป คงความดั้งเดิมได้อย่างครบถ้วน ลองไปชมกันดูครับ ^_^
รีโนเวทบ้านคุณตาคุณยายอายุกว่า 40 ปี เปลี่ยนจากบ้านโทรมๆ เป็นบ้านใหม่จนแทบจำไม่ได้
(โดยคุณ ณัฐวุฒิ เชียงราย)
ได้รับมรดกบ้านไม้เก่าของคุณตาคุณยายครับ บ้านหลังนี้อยู่ที่จังหวัดเชียงราย สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ (หมายความว่าสร้างก่อนหน้านี้ เนื่องจากสมัยก่อนต้องใช้เวลาในการสะสมไม้ต้องไปตัดเอาในป่ากว่าจะสร้างเสร็จหลายปี) เป็นบ้านไม้ทรงไทยทางภาคเหนือ มีห้องครัวแบบไทยแยกออกไปและมีสะพานไม้เชื่อม บ้านหลังนี้ผ่านการปรับปรุงมาหลายครั้งโดยเฉพาะในส่วนของหลังคาที่เคยเปลี่ยนมาแล้ว พอได้รับมรดกมาก็ปรึกษาญาติๆ หลายท่านก็แย้งบอกให้รื้อขายเป็นไม้ซะเพราะบ้านเก่ามากแล้ว ไอ้ผมก็เสียดายอยากเก็บไว้เป็นที่ระลึกเพราะเดี๋ยวนี้บ้านไม้ก็หายากแล้ว เลยดันทุกรังที่จะปรับปรุงให้ใช้งานได้ตามยุคสมัย ก็ลองดูกันเลยนะครับว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ภาพนี้เป็นภาพจาก google ดีใจที่ยังมีภาพเก่าๆ ต้องขอบคุณ google ครับ
นี่เป็นสภาพของบ้านก่อนการปรับปรุงครับ ผมก็ได้เข้าไปสำรวจสภาพไม้ในจุดต่างๆ และพบว่ายังใช้งานได้ประมาณ 80% หมายความว่าต้องมีบางจุดที่ต้องมีการซ่อมแซมครับ
เนื่องจากพื้นที่บ้านเดิมของตาและยายได้ถูกแบ่งให้กับลูกทั้งหมด 4 คน เท่าๆ กัน หลังจากเอาโฉนดมากาง ผมก็เริ่มเห็นปัญหาแล้วละครับ พบว่าตัวบ้าน ไปตกอยู่ในเขตพื้นที่ของคุณน้าและคุณลุง ดังที่เห็นนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนเชียร์ให้ผมรื้อบ้าน แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาครับทุกอย่างสามารถแก้ไขได้
ขั้นตอนต่อไปคือการปรับพื้นที่ครับ ด้านหลังบ้านเดิมเป็นบ่อปลาของคุณตาที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ผมจึงทำการถมบ่อปลาดังกล่าวและปรับพื้นที่เพื่อรอการดำเนินการขั้นตอนต่อไป หมดงบประมาณในส่วนนี้ไปหมื่นกว่าบาท
ก่อนจะลงมือทำก็เลยวางแผนคร่าวๆ ว่าหน้าตาของบ้านหลังจากปรับปรุงเสร็จน่าจะเป็นอย่างไร ผมก็เลยไปหาโปรแกรมเขียนแบบง่ายๆ google sketch up ลองมาร่างแบบคร่าวๆ ดู ได้หน้าตาออกมาเหมือนที่เห็นนี่แหละครับ (อันนี้คาดหวังว่าน่าจะได้อย่างนี้)
เนื่องจากที่บอกไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าตัวบ้านตกอยู่ในเขตที่ซ้อนทับกับที่ดินของญาติ ดังนั้นจึงต้องทำการย้ายตัวบ้านขยับเข้ามาอยู่ในเขตบ้านเรา ผมจึงได้ไปปรึกษากับช่างที่รับดีดบ้านย้ายบ้านเขาให้คำแนะนำกับผมว่าในส่วนของชานบ้านเดิม(ที่เป็นคอนกรีต) ไม่สามารถย้ายได้หรือหากจะย้ายก็จะใช้งบประมาณสูงจึงแนะนำให้ทุบทิ้งแล้วค่อยสร้างใหม่ ผมจึงว่าจ้างช่างในพื้นที่มาทำการทุบและรื้อส่วนนี้ออกไปหมดงบประมาณไปราว 3000 บาท
ระหว่างที่รอบริเวณบ่อปลาเดิมที่ถมไปให้แน่นนั้น ผมก็ได้ไปหากระเบื้องที่คาดว่าน่าจะเข้ากับตัวบ้านที่สุด สรุปก็คือกระเบื้องว่าว เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องพายุลูกเห็บ ซึ่งเกิดบ่อยๆ ในพื้นที่ครับ จึงได้ไปสำรวจราคากระเบื้องว่าวในจังหวัดเชียงราย พบว่าราคาตกอยู่ที่ประมาณแผ่นละ 11 บาท ผมแอบคิดว่ามันแพงไปไหม จึงได้ติดต่อสอบถามจากเพื่อนฝูง สุดท้ายก็พบว่ามีโรงงานที่จังหวัดลำพูนราคาขายหน้าโรงงานประมาณ 5.50 บาท จึงเดินทางไปที่ จ.ลำพูน ไปดูที่โรงงานเพื่อตรวจสอบคุณภาพ พบว่าโอเคเลยครับ เลยสั่งกระเบื้องมาตามจำนวนคร่าวๆ ที่ได้จากแบบที่ออกไว้บวกเผื่อเหลือเผื่อขาดอีกเล็กน้อย หมดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไป สี่หมื่นกว่าบาท + ค่าขนส่งอีก 8000 บาท ครับ
เมื่อพื้นที่พร้อม (รอหลายเดือนเลยทีเดียว แฮ่ๆ) มหกรรมการย้ายบ้านจึงเริ่มขึ้น ผมได้ช่างในพื้นที่ (เฮียมานิต อ.พาน) มารับเหมาทำให้ โดยตกลงค่าย้ายและดีดขึ้นเป็นเงิน 80,000 หลายท่านคิดบอกว่าแพงน่าดู คือผมจะบอกว่าผู้รับเหมาเขาจะคิดแพงหรือถูกขึ้นอยู่กับจำนวนเสาของบ้านครับ บ้านหลังนี้มีเสาทั้งหมด 22 ต้น อีกทั้งเป็นการย้ายและดีดขึ้นด้วย ราคานี้พร้อมค่าเสาสำเร็จ (เหล็ก 4 หุลเต็ม) ที่เขาจะเอามาใส่ให้ตอนดีดบ้านขึ้นครับ ผมก็คิดว่าสมเหตุสมผลละครับ ในรูปจะเห็นว่า ตัวบ้านได้ลาจากเสาเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ
ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะใช้เวลาแค่อาทิตย์เดียวในการย้ายบ้านและดีดบ้านครับ คนงานทั้งหมดเป็นชาวพม่า มีหัวหน้างานซึ่งเป็นคนไทยเพียงคนเดียว โอ้วววว …. ไวมาก นี่จะต้องจ่ายเงินแล้วใช่ไหม? หลังจากย้ายบ้านและดีดขึ้นสูง 4 เมตร เรียบร้อยแล้ว ผมได้ขอให้ช่างช่วยเอาเหล็กเส้นดึงตัวบ้านไว้กับต้นไม้รอบๆ บ้านทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันพายุฤดูร้อน ซึ่งเกิดบ่อยๆ ในช่วงหน้าร้อน เรียบร้อยก็จ่ายเงินกันเป็นที่เรียบร้อย ช่างก็แยกย้ายไปทำที่อื่นกันต่อ ….
แต่เหตุการณ์มันไม่จบแค่นั้นครับ มันมีสิ่งที่น่าตื่นเต้นต่อมา บ้านหลังจากย้ายและดีดเรียบร้อยแล้วนั้น ยังไม่ได้มีการยึดคานอะไรแต่อย่างใด มีเพียงแต่การเทตอหม้อแล้วเอาเสาสำเร็จใส่ลงไป เทปูนลงไปทับแล้วก็กลบดินครับ
เย็นวันหนึ่งหลังจากที่ช่างกลับไปได้เพียงวันเดียวหลายท่านคงจะจำเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในจังหวัดเชียงรายราว 7 ริกเตอร์ได้นะครับ มันไหวแรงจริงๆ ครับตั้งแต่ผมเกิดมาเพิ่งเจอแผ่นดินไหวแรงแบบนี้ ตอนนั้นผมนั่งทานข้าวอยู่ที่บ้านอีกหลัง พอแผ่นดินไหวเสร็จผมรีบวิ่งมาดูเลยครับ ในใจก็คิดว่ามันจะล้มไหมนั่น เพราะหัวหน้าช่าง (เฮียมานิต) เคยเล่าให้ผมฟังครั้งหนึ่งว่าแกเคยไปดีดบ้านแถวๆ สนามบินเก่า ทำเพิ่งเสร็จเหมือนของผมนี่แหละ ปรากกฏว่าเจอพายุฤดูร้อน แล้วบ้านหลังนั้นก็ล้มทั้งยืน ไอ้ผมก็คิดในใจว่าล้มแน่ๆ วิ่งไปคิดไป พอไปถึงถึงกับโล่งใจ สิ่งที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าคือ บ้านผมที่ดีดขึ้นสูง 4 เมตร ไหวไปมากับแรงแผ่นดินไหวอย่างอ่อนโยน เดชะบุญที่มีสลิงลวดที่ยึดไว้ (หวังไว้ป้องกันพายุฤดูร้อน) ผมนี่ก็โล่งอกไปเยอะเลยครับ แต่ก็ยังนอนไม่หลับตลอดทั้งคืนเพราะว่ามีอาฟเตอร์ช็อคมาอีกเป็นร้อยรอบ ได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้เกิดไหวใหญ่ในช่วงนี้เลย
วันรุ่งขึ้นเพื่อความไม่ประมาทผมจึงติดต่อช่างรับเหมาให้มาทำการเทคานยึดระหว่างเสาแต่ละต้นให้เรียบร้อย (ระหว่างนี้ก็มีอาฟเตอร์ช็อคมาอยู่เรื่อยๆ )
จากนั้นก็ทำการก่อยกพื้นขึ้นสูงราวเมตรกว่าครับ ในระหว่างนี้ชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมาก็จะแวะมาดูบ้าน แล้วก็อุทานออกมาว่า “บ้านหยังมาสูงแต๊สูงว่า” หมายความว่าทำไมบ้านสูงจัง ผมได้ยินคำนี้ทุกวัน ในใจก็คิดว่าอืม…มันยังไม่เสร็จครับ แฮ่ๆ
หลังจากก่อพื้นยกขึ้นแล้วก็ทำการเทพื้นใต้ถุนบ้านและมีก่อฝาผนังบ้างบางส่วน แต่ผมพบว่าฝีมือช่างกลุ่มนี้ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่จึงให้หยุดงานไปก่อน
หลังจากงานยึดโครงสร้างเสาด้านล่างเรียบร้อยแล้ว ผมจึงว่าจ้างช่างอีกกลุ่มมาดำเนินการปรับปรุงหลังคา โดยแก้ไขจากทรงจั่วเดิมให้เป็นทรงไทยหรือทรงปั้นหยาก๋าย (ภาษาเหนือ) โดยใช้ไม้โครงสร้างเดิมมาปรับใช้ ระหว่างนี้ก็มีช่างหลายคนมาแนะนำว่าทำไมไม่ใช้เหล็กไปเลย บางคนบอกว่ามันอาจจะรับน้ำหนักกระเบื้องว่าวไม่ไหวนะ แต่ผมก็ยังยืนยันที่จะใช้ไหม้ในการทำโครงสร้าง เพราะเราสามารถเพิ่มในส่วนของ หน่องหนัก (ภาษาเหนือ) หรือตัวรับน้ำหนักเพิ่มได้
ในส่วนของ “ก้าน” หรือส่วนที่จะให้กระเบื้องเกี่ยวนั้น ผมเลือกใช้เหล็กกล่องขนาด 1 นิ้ว พ่นสีกันสนิมครับ คิดว่าน่าจะดีกว่าใช้ไม้ (คิดเอง)
หลังจากนั้นก็เริ่มทำการมุงหลังคาครับ สังเกตุว่าช่างของผมมีแค่สองลุงป้าครับ คุณป้าก็ยืนให้กำลังใจกับคุณลุงที่ขึ้นบนหลังคา ช่างแถวบ้านนอกพอถึงฤดูทำนาเขาก็จะไปทำนากันหมดครับ เหลือเพียงสองคนนี้เท่านั้นที่เขาไม่ได้ทำนา ก็ค่อยๆ ทำกันไปครับ
อันนี้เป็นภาพหลังจากที่ปรับปรุงหลังคาบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ดูดีขึ้นมาเลยทีเดียว หมดค่าใช้จ่ายสำหรับช่างในส่วนนี้ไปประมาณ 5 หมื่นบาทครับ
ในส่วนของช่องลมเดิมที่เป็นเหล็กดัดเป็นซี่ๆ ผมได้ให้ช่างแก้ไขทำเป็น “ฝาไหล” แบบโบราณซึ่งคิดว่าน่าจะเข้ากับตัวบ้าน โดยฝาไหลนี้สามารถเปิด-ปิดได้ด้วยการเลื่อนซ้าย-ขวา
จากนั้นเป็นมหกรรมทำสีด้านนอกครับ ผมเลือกที่จะใช้สีแบบเดิม คือเป็นสีปี๊บครับราคาปี๊บละประมาณสามร้อยกว่าบาท หมดไปหลายปี๊บเลยทีเดียว และผมก็ได้ทำการเจาะบันไดด้านในตัวบ้านเพิ่มดังภาพ
หลังจากทาสีด้านนอกเสร็จครับ ให้อารมณ์เหมือนบ้านโบราณเหมือนเดิม
ในส่วนของประตูหน้าบ้านเดิม เป็นซี่ลูกกรงไม้โล่งๆ อันนี้ผมลงมือทำเองกับมือเลยครับ โดยการใช้ไม้กระดานปิดด้านล่าง จากนั้นก็เอากระจกสีลายดอกพุดมาใส่ด้านบนที่เหลือ ก็ได้ออกมาหน้าตาแบบนี้ละครับ
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ลงมือทำกับตัวเองครับ คิดว่าจะทำช่องลมติดห้องนั่งเล่นด้านล่าง เพื่อให้อากาศและแสงสามารถลอดผ่านได้ ก็เลยไปเอาลูกติ่งไม้มาใส่กรอบไม้ดังภาพ ลงมือทำทั้งคืนเลยครับ หลังเลิกงาน
ประตูก็ใช้ประตูลูกฟักไม้เก่า เอามาลอกสีเก่าออกเองครับ โดยใช้น้ำยาลอกสีทาทิ้งไว้ แล้วก็ขูดออกๆ
วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำก็นองเต็มตลิ่ง พอมาถึงฤดูน้ำหลากก็เป็นดังสภาพที่เห็นครับ อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผมต้องสร้างบ้านสูงครับ ช่วงนี้ช่างที่รับทำหลังคาและก็ตัวบ้านด้านบนก็เสร็จพอดีครับ ผมก็เลยพอได้พักซักระยะ รอน้ำลดแล้วค่อยมาลุยกันต่อ
หลังจากพักไประยะหนึ่งช่วงน้ำหลาก ผมก็ได้ไปหาช่างที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องงานปูน อันนี้สำคัญครับเพราะช่างไม้ก็จะเก่งเฉพาะงานไม้ ช่างปูนก็จะชำนาญเรื่องงานปูน ถ้าเราเอาช่างไม้มาทำงานปูนงานออกมาก็จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ครับ ถ้าจำได้ในส่วนของชานบ้านที่เป็นปูนที่ผมได้ทุบทิ้งไปก่อนที่จะทำการย้ายละดีดบ้านนั้น ตอนนี้ผมได้ให้ช่างทำเพิ่มชานบ้านออกมาเหมือนเดิมโดยให้ไอเดียว่าชานที่ยื่นออกมานั้นจะทำเป็นห้องน้ำชั้นบน-ล่าง แล้วก็เป็นระเบียงชั้นบนใต้ระเบียงชั้นล่างเป็นห้องเล็กๆ สักห้อง ช่างก็ลงมือทำออกมาดังที่เห็น และช่างบางส่วนก่อไปทำการก่อบล็อกประกบเสาเดิมที่มีขนาด 7 นิ้ว ให้ใหญ่ขึ้นดังรูป
ด้านล่างของเรือนไม้หลังเล็ก บอกช่างว่าจะเอาไว้ทำห้องนั่งเล่น/ห้องโถงรับแขกไปในตัว ด้านหลังติดประตูไม้สักลูกฟักดังที่เห็น
ด้านหน้าบ้านเพิ่มเสาเข้าไป 2 ตัว กะว่าจะทำเป็นมุกหน้าบันไดหน้าบ้าน เอาไว้นั่งเล่นและเป็นกันสาดบันไดไปในตัว
ด้านในตัวบ้านที่ผมได้เจาะพื้นบ้านไม้ด้านบนรอไว้แล้วนั้น ก็ทำบันไดขึ้นไปโดยเลือกใช้บันไดไม้เก่าที่มีอยู่ครับผสมกับพักบันไดปูนเนื่องจากบ้านค่อนข้างสูง (เผื่อไว้ให้แม่เดินขึ้นบ้านเหนื่อยจะได้พักตรงนี้ก่อน แฮ่ๆ ) และผมก็ได้ติดตั้งช่องลมไม้ที่ผมได้ทำไว้ก่อนหน้าที่ไว้ตรงข้างๆ บันไดนี่พอดี แสงจะได้ลอดเข้ามาครับ บริเวณนี้จะได้ไม่มืด
เวลาผ่านไปประมาณสองอาทิตย์ ในส่วนของการต่อเติมชานบ้านด้านล่างเสร็จแล้วครับ เสาทุกต้นก็พอกเสร็จแล้วครับ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างตามเค้าร่างที่เคยออกแบบไว้แล้วละสิ
ทำไปสักพักแม่กับแฟนแวะมาดูแล้วก็ถามว่าจะทำกับข้าวที่ไหน …. เอ่อ ผมนึ่อึ้งเลย ไปปรึกษาญาติๆ ก็บอกให้ทำห้องครัวเพิ่มครับ ผมเลยต้องต่อเติมด้านหลังบ้านเพื่อทำให้ครัว ไอเดียคือห้องครัวแบบไทยๆ ครับ โล่งๆ เน้นการใช้งาน ก็ให้ช่างดำเนินการลงเสาเลยครับ
ช่วงนี้ช่างก็ทำชานบ้านด้านบนเสร็จแล้วครับ อันนี้ก็อีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ลงมือทำเองเลยครับ กระจกสีลายดอกพุดที่เหลือจากการตกแต่งประตูหน้าบ้าน ผมก็เอามาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่เป็นช่องๆ ตรงประตูออกนอกระเบียงชั้นบนครับ
เพิ่มความอ่อนโยนให้กับเสาบ้านโดยการติดคิ้วบัวเข้าไปสองชิ้นดังภาพครับ
ประตูเข้าห้องนั่งเล่นก็เป็นประตูไม้เก่าเอามาทำสีใหม่ครับ ตกแต่งเพิ่มเติมไปนิดหน่อย
จากนั้นก็เป็นการปูกระเบื้องพื้นด้านล่างครับ เลือกกระเบื้องสมัยใหม่แต่ลายออกโบราณๆ นิดๆ ครับ จากโฮมโปร
จากนั้นก็เริ่มทำสีครับ ผมเลือกสีที่มีชื่อว่า Chiang Mai Rose ครับ
เรียบร้อยแล้วครับสำหรับการปรับปรุงบ้านไม้เก่ามรดกของคุณตาคุณยายให้มีสภาพใช้งานได้ต่อไป ตอนนี้ 95% แล้วครับ เหลือเพียงการตกแต่งภายในเล็กน้อยกับการปรับภูมิทัศน์รอบๆ บ้านครับ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามกระทู้ครับ
ที่มา : ณัฐวุฒิ เชียงราย