“กู้ไม่ผ่าน” หรือกู้ผ่าน แต่ผ่านไม่เต็มจำนวนตามต้องการ กลายเป็นปัญหาในวงการอสังหาริมทรัพย์มาหลายปี และมีแนวโน้มว่าสัดส่วนการถูกปฏิเสธสินเชื่อจะสูงขึ้นด้วย ซึ่งหลักๆ นอกจากแบงก์จะเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อด้วยการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ในการอนุมัติต่างๆ มากมายตามแต่สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นแล้ว ยังเป็นเพราะพฤติกรรมทางการเงินของผู้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยยุคใหม่ที่มีภาระหนี้สินมากขึ้นด้วย
เพราะยุคนี้ไม่ว่าจะซื้อหรือจับจ่ายใช้สอยอะไรในห้างสรรพสินค้า ก็สามารถ “ผ่อน” ได้ ซึ่งบางครั้งคนที่วางแผนจะซื้อบ้าน หรือคนที่กำลังผ่อนดาวน์คอนโดฯ แล้วกำลังจะเตรียมยื่นกู้ก็อาจจะเผลอไปรูดซื้อสินค้าต่างๆ ด้วยการผ่อนได้โดยไม่ทันตั้งใจ และไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา ก็อาจส่งผลต่อการตัดสินใจปล่อยกู้ได้
วันนี้ ในบ้าน จึงจะมาแนะนำ 4 ข้อห้าม ก่อนยื่นกู้ซื้อบ้าน-คอนโด เพื่อให้คนซื้อบ้าน-คอนโดยุคนี้มีโอกาสกู้ผ่าน กู้ได้เต็มจำนวนตามต้องการมากขึ้น ลองมาดูข้อห้ามก่อนยื่นกู้ แล้วปรับพฤติกรรมด้านการเงินใหม่ ตามนี้กันได้เลยครับ
1. ห้ามผ่อนก่อนกู้
หลายคนอาจจะคิดว่าไม่เป็นไรผ่อนแค่ไม่กี่เดือน เช่น ผ่อนแค่ 3-6 เดือน แต่อาจจะเป็น 3-6 เดือนที่ยังอยู่ในช่วงพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีผลต่อการพิจารณา โดยเฉพาะในช่วงที่แบงก์เข้มข้นในการอนุมัติ ผู้พิจารณาจะดูตัวเลขภาระหนี้ในแต่ละเดือนของผู้กู้ แล้วนำมาหักกับรายได้ออก เหลือเป็นรายได้สุทธิ แม้ว่าการผ่อนเหล่านั้นจะใช้เวลาสั้นๆ ก็ตาม
ดังนั้นเพื่อความชัวร์ อย่าเพิ่งรีบไปผ่อนข้าวของเหล่านั้น (ถ้าจะซื้อสดก็ไม่เป็นไร) หรือเวลาเดินช้อปปิ้งในห้าง แล้วมีพนักงานมาเสนอขายคอร์สต่างๆ จะคอร์สสั้น คอร์สยาว ให้จ่ายแบบเงินผ่อน ก็ให้ท่องไว้เลยว่า เดี๋ยวกู้ไม่ผ่าน
2. ห้ามมีหนี้ค้าง
ประเด็นเรื่องหนี้ค้างชำระ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามพื้นฐานมากๆ สำหรับคนที่อยากจะขอกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ต้องเคลียร์หนี้ค้างชำระให้หมดเรียบร้อย ซึ่งถ้าจะให้ประวัติสวย ไร้กังวล ควรปิดบัญชีให้หมดก่อนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน โอกาสในการกู้ผ่านหรือได้วงเงินตามเป้าจะสูงมาก แต่ถ้ามีหนี้ค้างตอนยื่นกู้ โอกาสถูกปฏิเสธมีสูง ซึ่งหากรอให้ถูกปฏิเสธก่อนค่อยมาเคลียร์หนี้ แล้วยื่นกู้ใหม่ อาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้เสียเวลา
3. ห้ามกู้ฉุกเฉินก่อนยื่นกู้ซื้อบ้าน
อันนี้เป็นอีกเรื่องที่ผู้พิจารณาอนุมัติวงเงินให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน โดยกู้ฉุกเฉินจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบกู้เป็นเงินก้อน คล้ายวงเงินส่วนบุคคล Personal Loan กับ แบบบัตรกดเงินสด ซึ่งถ้าเป็นแบบแรก คือ แบบกู้เป็นเงินก้อน ส่วนใหญ่ก็จะผ่อนชำระเป็นรายเดือน ก็จะเข้าข่ายคล้ายกับเรื่อง “ผ่อนสินค้า” แต่อาจจะดูหนักกว่าเล็กน้อย เพราะเหมือนเป็นภาระหนี้ที่อาจจะยาวกว่า
แต่ถ้าเป็นแบบบัตรกดเงินสด วิธีการพิจาณาของแต่ละแบงก์มีเกณฑ์แตกต่างกัน และในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันเช่นกัน โดยการพิจารณาในภาพกว้างบางแบงก์ จะดูว่า ผู้กู้มีบัตรกดเงินสดกี่ใบ ซึ่งถ้าเป็นช่วงที่เข้มกับการปล่อยสินเชื่อมากๆ แม้จะยังไม่มีการกดใช้เงินในบัตรกดเงินสด แต่ผู้พิจารณาก็จะประเมินว่า ยิ่งมีบัตรกดเงินสดมาก ยิ่งมีความเสี่ยงที่บุคคลคนนั้นมีหนี้เท่ากับวงเงินได้ทันที เพราะบัตรเหล่านี้สามารถกดเงินสดออกมาได้เลย ส่วนผู้กู้ที่เคยมีประวัติการกดเงินสดมาใช้ประจำ แม้จะมีการชำระตามปกติ แต่ผู้พิจารณาจะประเมินการใช้จ่าย และมองว่ามีความเสี่ยงในการมีภาระหนี้สูงขึ้นมาอีก
กรณีที่กู้ร่วมกับบุคคลอื่น แล้วผู้กู้ร่วมรายใดรายหนึ่งกู้ฉุกเฉินก่อนยื่นซื้อบ้าน จะทำให้ความสามารถในการกู้ลดลงเช่นกัน เพราะเท่ากับมีภาระหนี้จากตรงนั้นครึ่งหนึ่งด้วย
4. ห้ามถอนเงินเดือนหมด
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เตรียมตัวซื้อที่อยู่อาศัย นอกจากการอัพเดตสมุดบัญชีอย่างสม่ำเสมอแล้ว หนึ่งในหลักสำคัญในการพิจารณาความสวยงามทางการเงิน นั่นคือ สมุดบัญชีเงินเดือน ห้ามถอนเงินเดือนออกหมด ควรทยอยกดออก หรือถ้าจะกดเงินรอบเดียว ควรให้มีเงินคงเหลือในบัญชีอย่างต่อ 1/3 ของรายได้แต่ละเดือนเพื่อแสดงให้เห็นว่า ยังมีเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นเงินออมเบื้องต้น หรือเป็นเงินฉุกเฉิน
ที่มา: ddproperty .