เพื่อนๆ หลายคนที่เข้าสู่วัยทำงานแล้ว หรือเริ่มมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ต่างเริ่มที่จะมองหาที่พักอาศัยเพื่อไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวในอนาคตกันบ้างแล้วใช่ไหมคะ? ซึ่ง ในบ้าน บอกเลยว่าการจะซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรกนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่เงินอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกด้วยค่ะ
และเพื่อให้เป็นแนวทางแก่เพื่อนๆ พวกเราเลยนำบทความ แบ่งปันประสบการณ์ซื้อคอนโดหลังแรก ฉบับมือใหม่ ซึ่งประสบการณ์นี้บอกเล่าผ่านคุณ Soleindee สาวน้อยวัย 24 มาให้เพื่อนๆ ทุกคนที่เป็นมือใหม่ ได้เห็นตัวอย่างในการเลือกซื้ออสังหาฯ ครั้งแรกกันเลยทีเดียว รับรองว่าเพื่อนๆ จะได้อะไรไปอีกเยอะแน่นอนค่ะ ^^
แบ่งปันประสบการณ์ซื้อคอนโดหลังแรก ฉบับมือใหม่
(โดย คุณ Soleindee)
สวัสดีค่ะ _/\_ ขอเล่า Background ของนิคร่าวๆ ก่อนนะคะ เผื่อคนที่อ่านจะได้เอาไปปรับใช้กับสถานการณ์ของตัวเองได้ถูก นิตัดสินใจซื้อคอนโดเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ค่ะ เป็นการตัดสินใจแบบปัจจุบันทันด่วนมากๆ คือ อยากย้ายออกไปอยู่คนเดียว ก็เลยเริ่มตระเวนหาคอนโดที่น่าสนใจ รวมเวลาตั้งแต่คิดอยากจะมีคอนโดเป็นของตัวเองจนย้ายเข้าไปอยู่จริงๆ เนี่ย ประมาณเดือนครึ่งเท่านั้นเองค่ะ อาจจะเพราะเจอคอนโดที่ตอบโจทย์ค่อนข้างเร็วด้วย ตอนที่ยื่นกู้ สถานะของนิเป็นประมาณนี้นะคะ
– อายุ 24 ปี
– กู้คนเดียว ไม่มีผู้กู้ร่วม ไม่มีเงินดาวน์ (ไม่มีเงินดาวน์จริงๆ มันไม่ดีนะคะ อย่าทำตาม ควรดาวน์อย่างน้อยสัก 10% ได้ข่าวว่าปีนี้แบงค์ชาติเริ่มคุมเข้มมากขึ้นแล้วด้วย) สำหรับนิที่ไม่วางเงินดาวน์ เพราะเงินเก็บที่มีมันไม่ได้เยอะขนาดนั้น เลยอยากเก็บเงินไว้ก่อน คิดว่าถ้าตอนหลังอยากลดภาระหนี้ ค่อยเอาเงินเก็บมาโปะแบบตัดเงินต้นอีกทีค่ะ ซึ่งแบบนี้จะเสียดอกเบี้ยเยอะกว่าวางเงินดาวน์ไปเลยตั้งแต่แรกนะคะ
– มีงานประจำ เป็นพนักงานบริษัทเอกชน อายุงาน 2 ปี
– รายได้ต่อเดือนหลังหักลดหย่อนพื้นฐานอยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีในอัตรา 5% (ขอโทษที่บอก
จำนวนตรงๆ ไม่ได้นะคะ เดี๋ยวมีเพื่อนร่วมงานมาเห็น มันผิดกฎบริษัทค่ะ)
– นิเริ่มต้นเองจาก 0 เพราะว่าพื้นฐานทางบ้านก็ธรรมดาๆ ค่ะ พ่อแม่ให้สิ่งที่ดีที่สุดมาแล้วคือการศึกษา นอกนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไขว่คว้ามาเอง ใครที่ท้อใจว่า ไม่มีใคร support แล้วเมื่อไหร่จะมีบ้านเป็นของตัวเองได้ ไม่ต้องท้อนะคะ บ้านและคอนโดมีหลายราคา เราสามารถเลือกที่เหมาะกับงบของเราได้ค่ะ อย่าให้เกินตัว
– คอนโดราคา 2,690,000 บาท เป็นห้อง Fully Fitted 1 ห้องนอน ขนาดประมาณ 32.5 ตารางเมตร อยู่ในระยะที่สามารถเดินไปขึ้นบีทีเอสได้ (ไม่ใกล้มาก) ตอนที่ไปจอง คอนโดสร้างเสร็จเรียบร้อย มีลูกบ้านย้ายเข้ามาอยู่บางส่วนได้ประมาณครึ่งปีแล้วค่ะ
ปูพื้นฐาน สร้างเครดิต
พูดซะเหมือนจะไปปรับพื้นฐานตอนเข้ามัธยม คือจะพูดถึงปัจจัยที่นิคิดว่าทำให้ตัวเองกู้ผ่านง่ายนะคะ พวกนี้จะว่านิตั้งใจปูทางมาเพื่อไปซื้อบ้านโดยเฉพาะก็ไม่ใช่หรอกค่ะ เพียงแต่พยายามควบคุมตัวเองให้มีวินัยทางการเงินที่ดี ไม่สร้างหนี้สินมากเกินกว่าที่ตัวเองจะจ่ายได้ ใครที่อยากจะซื้อบ้านก็ค่อยๆ เตรียมตัวกันนะคะ พอเรามีเครดิตดีแล้วกู้อะไรก็ง่ายค่ะ
1. ไม่มีภาระหนี้สิน: ส่วนใหญ่ เด็กจบใหม่จะซื้อรถกันก่อน บ้านนี่คิดกันทีหลัง พอจะมากู้บ้าน ความสามารถในการชำระหนี้แต่ละเดือนก็ลดลงไปเยอะแล้ว ทำให้กู้กันไม่ผ่าน แต่เผอิญว่านิขับรถไม่เป็นค่ะ เพิ่งมาคิดจะเรียนขับรถหลังซื้อบ้านนี่เอง แต่ถึงใครมีหนี้ก็ใช่ว่าจะกู้ไม่ผ่านนะคะ ต้องเทียบวงเงินกู้กับความสามารถในการชำระหนี้ที่เหลืออยู่ด้วย เช่น ถ้าเงินเดือน 60,000 มีหนี้ที่ต้องชำระ 10,000 บาททุกเดือน ธ. อาจจะมองว่าเรามีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้อีกประมาณไม่เกิน 15,000 — 20,000 บาทต่อเดือน ก็จะปล่อยกู้ให้เราได้ในวงเงินที่พอเหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของเราค่ะ
2. มีข้อมูลในเครดิตบูโร: ก่อนที่ธนาคารจะปล่อยกู้ทุกครั้งเขาจะเช็คข้อมูลเครดิตบูโรของเราก่อนเสมอ เพื่อดูประวัติการชำระหนี้ ซึ่งธ.เขาจะสามารถคาดเดานิสัยทางการเงินของเราได้จากตรงนี้นะคะ เอ่ แล้วไหนข้อก่อนบอกว่าไม่มีภาระหนี้สิน ทำไมถึงมีข้อมูลในเครดิตบูโรได้ นิมีบัตรเครดิตค่ะ มีหลายใบด้วย (ถ้าวันไหนว่างๆ จะมารีวิวเรื่องบัตรเครดิตให้ฟังนะคะ) แต่นิจ่ายเต็มเกือบทุกเดือนค่ะ เดือนไหนที่หมุนไม่ทันก็มีหยวนๆ ให้ตัวเองบ้าง แต่จะไม่ทิ้งหนี้เก่าไว้เกินสองเดือนเด็ดขาด คือ สมมติ เดือนนี้มีเงินไม่พอ จ่ายไปแค่ครึ่งเดียว เดือนหน้าก็จะต้องหาเงินมาปิดยอดที่เรียกเก็บมาให้ได้ทั้งหมด เพื่อไม่ให้หนี้มันพอกพูนขึ้นไปอีกค่ะ ถ้าจำไม่ผิด ช่วงหกเดือนก่อนที่จะกู้ นิจ่ายเต็มทุกเดือน ทุกใบนะคะ ถ้ายิ่งมีหนี้บัตรเครดิตมากโอกาสที่จะกู้ได้ก็จะน้อยตามไปด้วยค่ะ
3. มีเงินเก็บ: ข้อนี้เป็นอีกข้อที่สำคัญมาก นิไม่แนะนำให้ใครซื้อบ้านโดยที่ไม่มีเงินเก็บสำรองไว้เลย เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้นะคะ สมมติอยู่ๆ เราตกงานหรือป่วยไปทำงานไม่ได้ขึ้นมา เราจะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนบ้าน ถ้าทิ้งไว้ไม่ผ่อน โดนดอกเบี้ยผิดนัด ทีนี้หนี้จากที่เยอะอยู่แล้วก็พอกขึ้นไปอีก หรือผ่อนไม่ไหว โดนธ. ยึด ที่เราผ่อนมาก็สูญไปหมด กลับกัน ถ้าเรามีเงินเก็บสำรองไว้ให้พอผ่อนบ้านไปได้อย่างน้อยสักครึ่งปี นอกจากธ. จะให้คะแนนเราเพิ่มแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงและซื้อเวลาให้ตัวเองตั้งหลักใหม่ได้ด้วยนะคะ
4. มีรายได้แน่นอนพร้อมหลักฐาน: ข้อนี้คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยนึกถึงกัน ถ้าทำงานบริษัทแบบนิก็สบายหน่อย มีสลิปเงินเดือนเป็นหลักฐานทุกเดือน แต่ตอนกู้ นิไม่ได้ยื่นแค่สลิปนะคะ นิแนบตัวภงด. 90 ไปด้วย สำหรับคนที่ทำงานฟรีแลนซ์หรืองานไม่ประจำทั้งหลาย ภงด.90 หรือ 91 นี่ล่ะค่ะ ที่จะช่วยเป็นหลักฐานได้ ว่าคุณมีรายได้เท่าไหร่ บางคนเห็นว่าตัวเองเป็นฟรีแลนซ์ รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ก็ไม่ยื่นกัน แต่พอจะต้องใช้ ไม่มีขึ้นมานี่ลำบากนะคะ
อ่านต่อในคอมเม้นท์นะคะ
ประเมินตัวเอง
“จะซื้อบ้าน ต้องมั่นใจก่อนว่าหักยอดที่ผ่อนแล้ว เรายังมีเงินเหลือใช้จ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและค่าเอาใจตัวเอง”
หลายคนคงสงสัยว่า ค่าเอาใจตัวเอง คืออะไร มันก็คือค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นทั้งหลาย เช่น ค่าเที่ยว ดูหนัง ช็อปปิ้ง ที่คนเราใช้เพื่อความสุขของตัวเองนั่นล่ะค่ะ นิค่อนข้างให้ความสำคัญกับตรงนี้ เพราะว่าคนเราจะห้ามใจตัวเอง ไม่ให้ใช้จ่ายกับของไม่จำเป็นพวกนี้ไม่ค่อยได้หรอกค่ะ อย่าหลอกตัวเอง เราสามารถประหยัดขึ้นได้ แต่ไม่สามารถห้ามได้ 100% อะไรที่ตึงเกินไปมันไม่ดี เราซื้อบ้านมาเป็นทรัพย์สิน เป็นความสุขอีกอย่างนึงของเรา ถ้าซื้อบ้านแล้วจะต้องเป็นทุกข์ อย่าซื้อเด็ดขาดเลยนะคะ
ถ้าถามว่า ต้องกันส่วนนี้ไว้เท่าไหร่ อันนี้แล้วแต่คนเลยค่ะ ต้องกลับมาดูค่าใช้จ่ายรายเดือนในปัจจุบันของเราก่อนว่ามีอะไรบ้าง ใช้ไปกับอะไรเท่าไหร่ อันไหนตัดได้ก็ตัด พวกค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอาจจะใช้วิธีลดความถี่เอา เช่น แต่ก่อนเข้าร้านตัดผมทุกสองเดือน อาจจะเว้นเป็นทุกหกเดือนแทน บางคนอาจจะเหลือส่วนฟุ่มเฟือยนี้ไว้สัก 5-10% ของรายได้ต่อเดือน แล้วถ้าเดือนไหนไม่ได้อยากได้อะไรเป็นพิเศษ ก็เอาส่วนนี้ไปโปะบ้านเพิ่มได้ค่ะ อย่างนิ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปประมาณ 10% ทุกเดือน ช่วงไหนมีแพลนจะไปเที่ยวด้วย อาจจะต้องเพิ่มเป็น 20% แล้วก็เก็บหลายๆ เดือนหน่อยค่ะ
หลังหักยอดผ่อน นอกจากจะต้องเหลือพอใช้จ่ายทั้งที่จำเป็นและฟุ่มเฟือยแล้ว ยังต้องเหลือพอจะมาโปะเงินต้นด้วยนะคะ อันนี้มากน้อยก็แล้วแต่ความพอใจของแต่ละคนเช่นกันค่ะ นิแนะนำว่ายังไงก็ควรจะโปะบ้าง ไม่ต้องทุกเดือนก็ได้ จะเดือนเว้นเดือน หรือโปะทุกครึ่งปีก็ได้นะคะ
เลือกบ้าน/คอนโดที่ใช่
“ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน ซื้อบ้านก็เช่นกัน”
อยากให้ทุกคนใส่ใจกับการเลือกบ้านหรือคอนโดที่จะซื้อให้มากๆ เลือกที่ตัวเองถูกใจและเหมาะสมกับตัวเองนะคะ อย่าเลือกตามใจคนอื่นหรือตามที่ใครเขาว่ากันว่าดี บางทีมันอาจจะไม่ดีสำหรับเราก็ได้ค่ะ ซื้อบ้านเป็นเรื่องใหญ่ เป็นภาระหนี้ที่เราต้องแบกไปอีกนาน ต้องคิด หาข้อมูลให้ดี และเลือกที่ชอบจริงๆ อย่างนิเอง ก็พลาดที่ตอนแรกรีบตัดสินใจวางเงินจองห้องสตูดิโอไป เพราะแม่ชอบ แต่มานั่งคิดนอนคิดอีกที เราเองไม่ได้ชอบขนาดนั้น ห้องที่อยากได้จริงๆ คือห้อง 1 ห้องนอน สุดท้ายเลยตัดใจ ทิ้งเงินจองไปเอาห้องใหม่ ถ้าใช้เวลาและตั้งสติคิดให้ดีตั้งแต่แรกก็คงไม่ต้องเสียเงินไปอีกหมื่นนึงฟรีๆ ค่ะ
มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เราควรคำนึงถึง เวลาเลือกซื้อบ้าน/คอนโด ขอยกตัวอย่างที่นิใช้เป็นเกณฑ์ของตัวเองดังนี้นะคะ
1. Developer มีชื่อเสียงและไว้ใจได้: ก่อนจะตัดสินใจวางเงินจอง นิอยากให้ทุกคนสละเวลา เสิร์ชอินเตอร์เน็ตสักนิดก่อนว่า มีรีวิวอะไรในแง่ลบเกี่ยวกับ Developer เจ้านั้นๆ บ้าง แล้วเรารับได้ไหม ถ้าต้องเจอเหตุการณ์เดียวกันหรือใกล้เคียง หรือคิดว่าโอกาสที่จะเกิดซ้ำแบบนั้นมันมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าเจอรีวิวแย่ๆ เป็นจำนวนมาก ขอให้หลีกเลี่ยงนะคะ อย่าคิดว่า เออ ไม่เป็นไรหรอก เราคงโชคดี อย่างนิ นิเลือกดูคอนโดแค่สี่เจ้าเท่านั้นเองค่ะ เจ้าอื่นตัดออกจากตัวเลือกไปเลย
2. หาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนั้นๆ ก่อน: ควรเสิร์ชเกี่ยวกับโครงการนั้นๆ ว่า ลูกบ้านที่เขาย้ายเข้าไปอยู่ก่อน มี Feedback อย่างไรบ้าง หรือถ้าเป็นโครงการที่ยังสร้างไม่เสร็จ ก็ควรเสิร์ชเช่นกัน เผื่อจะเจอพิรุธ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้าง เรื่องร้องเรียน ฯลฯ จะได้เลี่ยงได้ทัน รวมถึงหาข้อมูลเกี่ยวกับทำเลแถวนั้นให้มากๆ ว่าคนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน เขาบ่นเรื่องอะไรกันบ้าง เช่น การจราจร เสียงดัง มลพิษ และสำรวจว่าในละแวกนั้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับเราเพียงพอไหม เช่น แหล่งของกิน โรงพยาบาล แนะนำให้ไปเดินดูด้วยตัวเองนะคะ บางทีเราอาจจะไม่ชอบลักษณะชุมชนรอบข้างจนเปลี่ยนใจก็ได้ค่ะ ก่อนที่นิจะมาเลือกโครงการนี้ นิก็ไปดูอีกที่มาเหมือนกัน เพราะโครงการอยู่ใกล้บ้านเดิม ไม่อยากย้ายไปไหนไกล แต่พอลองเดินดูรอบๆ (คอนโดยังสร้างไม่เสร็จ) กลับไม่ชอบบรรยากาศแถวนั้นสักเท่าไหร่ เลยตัดสินใจได้ว่าไม่เอาดีกว่า
3. ราคาเหมาะสมกับรายได้: อย่าเลือกอะไรที่เกินตัว ถึงแม้จะอยากได้แค่ไหนก็ตาม ถ้าราคามันไม่ไปด้วยกันกับรายได้ของเรา จากที่เคยตื่นเต้น สักพักจะกลายเป็นทุกข์แทนนะคะ ยอดผ่อนต่อเดือนไม่ควรเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ เพราะไม่งั้นเราจะบริหารการเงินยากมากๆ ถ้าไม่เกิน 1 ใน 3 ได้จะดีมากเลยค่ะ ของนิก็เกินมานิดนึง ยังพอรับได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับภาระที่แต่ละคนมีด้วยนะคะ ถ้าบางคนมีรายได้ 60,000 บาท แต่ภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก็ปาไป 30,000 บาทต่อเดือนแล้ว จะผ่อนคอนโดอีกเดือนละ 30,000 ก็คงไม่ไหวนะคะ
4. ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี มีโอกาสให้เช่าหรือขายต่อได้: พยายามเลือกทำเลที่จะมีการพัฒนาต่อไปในอนาคต ลองหาข่าวเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ในย่านเดียวกันดู เช่น การสร้างห้าง บีทีเอส ฯลฯ ที่จะเพิ่มราคาให้กับคอนโดของเราได้ หรือลองสำรวจราคาค่าเช่าคอนโดที่อยู่ใกล้เคียง ที่อยู่ในเกรดเดียวกันกับของเราว่า ถ้าเราเอามาปล่อยเช่าทีหลัง จะคุ้มไหม คือ นิซื้อคอนโดเพื่อมาอยู่เองก็จริงค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ที่นี่ตลอดไป ถ้าสมมติอีกหน่อยเรามีรายได้มากขึ้น ก็อาจจะขยับขยายไปอยู่ที่ๆ ดีกว่าแล้วปล่อยเช่าหรือขายคอนโดนี้เป็นรายได้เสริมให้กับตัวเองต่อไป จริงๆ มันเป็นการลดความเสี่ยงด้วยอย่างนึงนะคะ เผื่อเรามีเหตุจำเป็นให้ผ่อนต่อไม่ได้ จะได้หาคนมาซื้อต่อได้ไม่ยากนักค่ะ
5. เดินทางสะดวก: ต่อให้โครงการนั้นถูกใจเราแค่ไหน แต่ถ้ามันเดินทางไม่สะดวกเลย เพิ่มความลำบากให้เราจากเดิมไปมาก ก็ลองชั่งใจดูนะคะ ความอยากได้บ้านใหม่มักจะผลักดันให้คนยอมลำบาก คิดว่า เออ ไม่เป็นไร แค่นี้ฉันไหว ฉันทนได้ พอหมดช่วงเห่อและย้ายเข้ามาอยู่จริงๆ ทีนี้จะรู้กันค่ะ นิเลือกคอนโดที่ทำให้เซฟค่าเดินทางไปได้ครึ่งนึงทุกเดือน ส่วนต่างตรงนั้นก็เอามาโปะบ้านเพิ่มแทน
6. นิติบุคคลมีประสิทธิภาพ: ปัจจัยหนึ่งที่นิเลือกคอนโดนี้ เพราะชื่อเสียงของนิติบุคคลที่โครงการใช้บริการอยู่ค่อนข้างดีมาก แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ ค่ะ รู้สึกว่านิติบุคคลจัดการอะไรได้ดี ให้ความช่วยเหลือลูกบ้านได้ตามสมควร แม่บ้านกับเจ้าหน้าที่น่ารัก ยิ้มแย้ม ทักทายตลอด สำหรับบางคนมันอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ นะคะ แต่ชีวิตการงานนิต้องดีลกับคนตลอดเวลาและบางทีก็ต้องไฟท์หนักมาก เพื่อให้ได้ตามที่ควรจะได้ อยู่บ้านแล้วขอเลือกความสบายใจดีกว่าค่ะ หวังว่าคณะกรรมการคอนโดจะไม่ตัดสินใจเปลี่ยนนิติบุคคลทีหลังนะคะ ฮ่าๆ แต่คิดว่าคงไม่ เพราะถ้าจะเปลี่ยน เขาคงเปลี่ยนแล้ว
7. เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา: นิเป็นคนขี้เกียจมาก วันๆ แทบจะไม่ลุกจากเตียง ถ้าห้องใหญ่เกินไป คงทำความสะอาดไม่ไหว เลยเลือกห้องเล็กๆ กวาดถูครึ่งชม.ก็เสร็จดีกว่า ราคารับได้ด้วย หลายๆ คนมาห้องนิจะบ่นว่า เออ ห้องเล็กจัง ห้องที่นู่นที่นี่กว้างกว่าตั้งเยอะ คือขออนุญาตมองบน แล้วกรอกตาสามสิบรอบ นิมีเงินเท่านี้ มีปัญญาซื้อแค่นี้ เท่าที่คิดว่าดูแลไหว ถ้าจะอาสาผ่อนให้ ก็จะซื้อให้สวยๆ ใหญ่ๆ แบบสามสิบล้านอัพไปเลยค่ะ อีกอย่างที่ต้องดูคือ ส่วนกลางที่มีให้ เราจะได้ใช้คุ้มค่าแค่ไหน ปัจจุบันนิไปใช้บริการบ้าง ไม่มาก พวกฟิตเนส สระว่ายน้ำ ประหยัดค่าฟิตเนสไปได้อีกสองพันกว่าบาทต่อเดือน (คือไม่ใช่ว่านิชอบไปฟิตเนสอะไรหรอกนะคะ แต่ก็พยายามจะผลักดันตัวเองให้ไปออกกำลังกาย แต่ก่อนเคยเสียเงิน แล้วเลิกไปค่ะ เสียเงินฟรีไปหลายเดือน ถ้ามีคอนโดที่ฟิตเนสค่อนข้างโอเค จะรู้สึกสบายใจกว่า เพราะไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม) พวก Co-working space นิเห็นคนในคอนโดไปใช้กันเยอะนะคะ เหมาะกับคนที่ไม่ชอบทำงานอยู่ในห้องของตัวเองค่ะ
8. ค่าใช้จ่ายรายปี: เวลาเราซื้อคอนโด ค่าใช้จ่ายที่ตามมาไม่ได้มีแค่หนี้ที่เราต้องผ่อนชำระทุกเดือนนะคะ ทุกปีเรายังต้องจ่ายค่าส่วนกลาง + ค่าเบี้ยประกันภัยอาคารชุด ให้กับนิติบุคคลด้วย เพราะฉะนั้นถ้าค่าส่วนกลางเยอะเกินไป ก็จะเป็นภาระของเราในอนาคต ทีนี้เราต้องสังเกตด้วยว่า ค่าส่วนกลางที่เขาตั้งมาเนี่ย สัมพันธ์กับส่วนกลางที่เขาให้จริงๆ ไหม คือ บางโครงการ นิเข้าใจว่าเขาตั้งค่าส่วนกลางให้ต่ำไว้ก่อน เพื่อดึงดูดคนให้มาซื้อ แต่สุดท้าย ถ้ามาอยู่จริงๆ แล้ว มันไม่พอใช้ในการบริหารจัดการคอนโด เขาก็ต้องประชุม แล้วขอขึ้นค่าส่วนกลางอีกอยู่ดีค่ะ ยิ่งส่วนกลางจัดเต็มแค่ไหน ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็มากตาม อยากให้คิดเผื่อไปด้วยว่า ถ้าเขาขึ้นราคาอีก เราจะจ่ายไหวไหม ส่วนกลางบางอย่างมันก็อลังการเกินไป ไม่ได้จำเป็นสำหรับเรานะคะ
9. เลือกโครงการที่สร้างเสร็จแล้วหรือเพิ่งเริ่มโครงการดี?: ทั้งสองแบบมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน นิลองเปรียบเทียบให้ดูด้านล่างตามความเห็นส่วนตัวนะคะ
โครงการที่สร้างเสร็จแล้ว
– ได้เห็นสภาพบ้าน/ห้องจริงๆ ก่อนซื้อ รวมถึงวิวรอบข้างและส่วนกลาง เพราะบางทีเขาก็โฆษณาไว้ แล้วทำไม่ได้ เช่น ฟิตเนส โฆษณาไว้สวยหรู เอาเข้าจริง มีเครื่องให้ไม่พอใช้
– สามารถเข้าไปดูความเห็นของลูกบ้านตามกรุ๊ปเฟสบุ๊คหรือในพันทิพก่อนได้
– ตรวจรับและโอนบ้าน ย้ายเข้าไปอยู่ได้รวดเร็ว
– ราคาอาจจะแพงกว่าตอนโครงการยังสร้างไม่เสร็จ (ไม่จริงเสมอไปนะคะ บางครั้งอาจจะมีโอกาสได้ห้องหลุดจองที่ถูกใจ ในราคาที่ไม่ต่างจากตอน pre-sale มากค่ะ)
– ต้องมีเงินดาวน์เพียงพออยู่แล้ว
โครงการที่ยังไม่เริ่มสร้างหรือยังสร้างไม่เสร็จ
– มีระยะเวลาให้ผ่อนดาวน์ เหมาะสำหรับคนที่กำลังทยอยเก็บเงิน
– ราคาดี
– คาดเดาสภาพโครงการได้ลำบาก ต้องอาศัยดูจากชื่อเสียงของ Developer และโครงการอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้าแทน ซึ่งก็อาจจะวางใจได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแต่ละโครงการก็ใช้ผู้รับเหมาต่างกันไป
– มีความเสี่ยงว่าคอนโดจะสร้างไม่เสร็จหากเกิดวิกฤต
การกู้ธนาคาร
เมื่อเลือกคอนโดที่ถูกใจได้และวางเงินจองแล้ว ก็มาถึงเรื่องของการกู้ธนาคารกันบ้าง นิยื่นขอ Pre-approve ไปหลายธ.พร้อมกันค่ะ อาศัยว่ายื่นพร้อมกันเลย ตอนเขาเช็คเครดิตบูโรจะได้ยังไม่เห็นว่ามีธ.ไหนที่เรายื่นไปแล้วบ้าง (อ่านมาจากรีวิวของหลายๆ คน บางคนบอกว่า ธ. เห็นจากประวัติว่ามีการเช็คเครดิตบูโรหลายครั้งในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แล้วธ. มองว่า มีความเสี่ยงที่จะสร้างหนี้อื่นอีกเลยส่งผลให้กู้ไม่ผ่านหรือกู้ได้วงเงินที่น้อยลง พวกสมัครบัตรเครดิตนี่เขาก็ต้องเช็คบูโรนะคะ ระวังกันด้วย อย่าสมัครเยอะในช่วงครึ่งปีก่อนจะกู้บ้าน เช็คหลายครั้งนี่คือ น่าจะเกิน 4 ครั้งนะคะ นิไม่แน่ใจ เกณฑ์ของธนาคารแต่ละแห่งอาจจะไม่เหมือนกันค่ะ)
ตอนนั้นนิยังไม่แน่ใจว่าตัวเองจะกู้ผ่านไหม เลยลองไปหลายธ. จริงๆ ยื่นสัก 3 – 4 ที่ก็โอเคแล้วนะคะ จะได้ไม่เสียเวลาเตรียมเอกสาร แต่ไม่แนะนำให้ยื่นธนาคารเดียว เพราะยื่นหลายที่เราจะได้เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและต่อรองอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารได้ถูกค่ะ นิติดต่อกับจนท.ของธนาคารที่ทางโครงการให้คอนแทกมาทั้งหมดเลย ไม่ได้เดินเข้าแบงค์เอง เรียกได้ว่า กู้บ้านนี่แทบจะไม่ต้องไปธ.เองเลยนะคะ เจ้าหน้าที่ทุกธนาคารที่นิยื่น มารับเอกสารถึงที่ทำงาน บางคนก็ฝากให้เมสเสนเจอร์มารับ สะดวกมากค่ะ
เวลาคุยกับแบงค์ ถามเงื่อนไขต่างๆ มาให้ครบนะคะ เช่น ไม่มีเงื่อนไขอะไรใช่ไหม ถ้าหลังปีที่ 3 เราจะรีไฟแนนซ์ โปะเงินต้นได้ตลอดไหม หรือบางทีลองโยนหินถามโปรดูก็ได้ค่ะ เช่น บัญชีเงินเดือนเป็นแบงค์นี้ มีโปรพิเศษไหม (บางแบงค์ให้กู้วงเงินเยอะขึ้น ถ้าได้รับเงินเดือนผ่านระบบ Payroll ของธ.ค่ะ) มีฟรีค่าจดจำนองไหม ไม่ทำประกันได้ไหม (ส่วนใหญ่แบงค์เขาจะพยายามให้เราทำประกันชีวิตพ่วงไปด้วยและจูงใจด้วยการให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเล็กน้อย) หรือมีโปรผ่อนต่ำสามปีไหม
ด้านล่างคือความรู้สึกต่อแบงค์ต่างๆ ที่นิคุยด้วย ใครสงสัยก็ถามได้นะคะ อาจจะจำได้ไม่เป๊ะนักเพราะมันก็นานพอสมควรแล้ว ทุกธ.นิยื่นกู้ นิขอวงเงิน 2.959 ล้าน เนื่องจากทางโครงการทำส่วนลดมาให้ ทำให้ราคาจริงที่นิจ่ายคือ 2.69 ล้าน ส่วนที่เหลือนิเอาไปจ่ายค่าส่วนกลาง ค่าจดจำนอง ค่าซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าห้องค่ะ ส่วนใหญ่นิจะถามหาโปรผ่อนต่ำสามปีกับทางธนาคาร เพราะช่วงแรกๆ เงินเดือนยังไม่เยอะ กลัวจะผ่อนอย่างเดียว ไม่มีเงินมาตัดต้น เลยสนใจผ่อนต่ำเป็นพิเศษค่ะ แค่วันแรกหลังจองก็มีธนาคารโทรมามากมายแล้ว รับโทรศัพท์แทบไม่ทัน ไม่ต้องไปหาธ. เองเลยค่ะ
– TMB: เจ้าหน้าที่โอเคเลยค่ะ แต่สุดท้ายเราเทเขา ไม่ได้ยื่นขอ Pre-approve เพราะยอดผ่อนต่อเดือนและดอกเบี้ยที่เขาลองคำนวณให้คร่าวๆ สูงกว่าธ. อื่น กลัวถ้ายื่นด้วย จะยื่นหลายธ.เกินไปค่ะ
– กู้ได้นาน 35 ปี
– ผ่อนเดือนละประมาณ 16,200 บาท
– ถ้าทำประกัน ดอกเบี้ยคงที่ 3.33% นาน 3 ปี
– ฟรีค่าจดจำนอง ค่าประเมิน ค่าประกันอัคคีภัย
– เกียรตินาคิน: แบงค์นี้ก็โอเคนะคะ จนท.มารับเอกสารเองถึงที่ทำงานนิเหมือนกัน เหมือนจะเป็นคนที่เตือนนิว่าอย่ายื่นหลายแบงค์ ไม่รู้เขากลัวคู่แข่งเยอะรึเปล่า ฮ่าๆ อนุมัติผ่านเต็มวงเงิน แต่เขาสู้ดอกเบี้ยกสิกรกับกรุงไทยไม่ไหวค่ะ เขาได้สุดๆ แค่ 2.9% เป็นแบบคงที่
– กรุงศรีฯ : อนุมัติ แต่ไม่เต็มวงเงิน ได้แค่ 2.69 ล้าน พอแค่ซื้อคอนโด ไม่มีเหลือให้ซื้อของเข้าบ้านเลยตัดไปค่ะ
– กรุงเทพ: แบงค์นี้ก็อนุมัติค่ะ ดอกเบี้ยเฉลี่ยแล้วถูกที่สุด แต่เขาไม่มีแบบ fix มีแต่ดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งนิว่ามันไม่แน่นอน เลยตัดไปออกจากช้อยส์ค่ะ
ผลอนุมัติ
– วงเงินกู้ 2.948 ล้าน ระยะเวลากู้ 40 ปี
– ผ่อนเดือนละ 16,700
– อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 MRR-4.525% ปีที่ 2 และ 3 MRR-4.275% เฉลี่ยสามปี 2.76%
– ค่าประกันชีวิต 10 ปี และอัคคีภัย 5 ปี รวม 19,920 บาท
– กสิกรไทย: เจ้าหน้าที่สินเชื่อน่ารัก ให้บริการดีมาก ถามอะไรก็ตอบตลอด เขาแจ้งคร่าวๆ คือ ดอกเบี้ยคงที่ 3.4% 3 ปีแรก แล้วเพื่อนนิที่เคยยื่นกู้ บอกว่าของเพื่อนกสิกรก็ให้ดอกเบี้ยดีสุด เลยคุยกับเขาเยอะค่ะ จริงๆ เขาโทรมาช้ากว่าเจ้าอื่นนะคะ ตอนแรกนิจะไม่ยื่นแล้ว เพราะกลัวยื่นหลายธนาคารเกิน แต่เห็นเขาบริการดีมาก ประทับใจ เลยตัดสินใจลองยื่นอีกธนาคารค่ะ ยื่นวันที่ 14 มิถุนา วันที่ 19 ก็อนุมัติแล้ว ไวมาก ไวกว่าแบงค์อื่นๆ ที่นิยื่นไปก่อนอีก จนท.คุยและแนะนำนู่นนี่นั่นตลอด อย่างเขาเห็นชื่อในทะเบียนบ้านเรายังเป็น ด.ญ. ก็เตือนให้รีบไปแก้ที่สำนักงานเขต จะได้ไม่มีปัญหาตอนทำเรื่องกับกรมที่ดิน เพราะมันไม่ตรงกับบัตรประชาชน
ผลอนุมัติ
– วงเงินกู้ 2.949 ล้าน ระยะเวลากู้ 30 ปี
– ดอกเบี้ยคงที่ 2.8% นาน 3 ปี
– ผ่อนต่ำ 13,500 บาท นาน 3 ปี แต่ต้องทำประกันชีวิตที่นิต่อเหลือ 10 ปี 12,394 บาท
– ตอนหลังเราต่อเขาอีกว่าขอดอก 2.8% แต่ไม่ทำประกัน เพราะกรุงไทยก็ให้ได้ค่ะ แต่อยากใช้กสิกรเพราะเขาบริการดีเป็นพิเศษ สุดท้ายเขาก็ไปขอมาจนได้ เหลือแค่ทำประกันอัคคีภัย คุ้มครอง 9 ปี เบี้ย 7,305 บาท
– เราตกลงกู้กับกสิกรแล้วค่ะ แต่รอตรวจห้องอะไรให้เรียบร้อยก่อน นัดเซ็นสัญญากันเดือนถัดมาที่แบงค์ เพราะเราอยากรูดบัตรจ่ายค่าประกันค่ะ จริงๆ นัดที่ไหนก็ได้ ตอนกำลังนั่งอ่านและทยอยเซ็นเอกสาร เขาก็ทักขึ้นมาว่า เหมือนฝ่ายสัญญาทำเอกสารมาผิด ดอกเบี้ยมันไม่ใช่ เลยเอามาดู เออ มันผิดจริงๆ เขาก็ขอโทษขอโพยที่ทำให้เราเสียเวลา แต่ไม่เป็นไรค่ะ พลาดกันได้ เลยให้เขากลับไปแก้ก่อน อะไรที่ได้มาง่ายๆ นี่ไม่เคยมีในชีวิตจริงๆ ค่ะ ต้องมีอะไรให้ลุ้นตลอด สรุป เขาดูพลาด ดอกเบี้ยที่นิได้ มันหมดอายุไปเมื่อตอนสิ้นเดือน T^T
– นิดันแจ้งทุกธ.ไปแล้วด้วยว่าจะมาใช้กสิกร เซลเขาก็พยายามไปขอเจ้านายให้ค่ะ แต่ได้สุดๆ แค่ 3% แล้วเขาจะรับผิดชอบด้วยการเอาเงินส่วนตัวออกค่าอากรให้ ซึ่งเราเข้าใจเขานะคะว่าเขาเสียใจ แล้ว human error แบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ แต่ 3% กับ 2.8% มันต่างกันเกินไปค่ะ นี่เลยกลับไปหากรุงไทยแทน
– กรุงไทย: แบงค์นี้คือส่งเจ้าหน้าที่มาเฝ้าที่โครงการเลยค่ะ พอนิจ่ายเงินจองปุ๊ป เซลคอนโดก็ให้เจ้าหน้าที่แบงค์เข้ามาคุยรายละเอียดเลย จะชนะแบงค์อื่นก็ตรงพี่เขาหน้าตาดีนี่ล่ะค่ะ ฮ่าๆ คุยรู้เรื่องด้วย โปรที่มีคือ ผ่อนต่ำ ล้านละ 4,000 สามปีแรก ดอกเบี้ยคงที่ 2.98% อันนี้ตอนยังไม่ได้ยื่นนะคะ แต่ฟังดูน่าสนใจเลยเก็บมาเป็นตัวเลือกนึงค่ะ ตอนยื่นเอกสาร พี่เขาก็มารับและเอาเอกสารมาให้เซ็นถึงที่ทำงาน รอผลอนุมัติไม่นานค่ะ น่าจะประมาณสัปดาห์นิดๆ แต่ช้ากว่ากสิกร นิคุยกับเจ้าหน้าที่สองคน คนนึงที่หล่อๆ เป็นเจ้าหน้าที่จากสาขา
ส่วนอีกคนพี่ผู้หญิงเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อ พูดจาดีทั้งคู่ค่ะ อย่างที่บอกว่าตอนแรก นิตัดสินใจจะกู้กับกสิกรเลยปฎิเสธทางเจ้าหน้าที่สินเชื่อกรุงไทยไปแล้ว สุดท้ายพอกสิกรให้ดอกเบี้ยตามที่บอกไว้ไม่ได้ นิก็โทรไปหากรุงไทยใหม่ค่ะ โชคดีที่ผลอนุมัติยังใช้ได้อยู่ ก็เลยตกลงกู้กับกรุงไทยเลย ตอนเขาเอาเอกสารกู้ยืมมาให้เซ็นที่ทำงาน เขาถามด้วยว่าสนใจเปิดบัตรเครดิตด้วยไหมครับ ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเช็คเครดิตบูโรอะไรไปหมดแล้ว นี่ส่ายหัวดิกเพราะบัตรเต็มกระเป๋า แต่จู่ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่า เอ๊ะ เรายังไม่มี JCB นี่นา 555+ มันชอบลด 10% เวลาไปร้านอาหารญี่ปุ่น
สรุปก็ได้ KTC JCB มาประดับกระเป๋าอีกใบค่ะ จริงๆ กรุงไทยนี่นิแทบจะไม่ได้ต่อรองอะไรเลยนะคะ มาแบบนี้เลยค่ะ มีแค่ขอโปรผ่อนต่ำ
ผลอนุมัติ
– อนุมัติเต็มวงเงิน 2.959 ล้าน ระยะเวลากู้ 30 ปี แบ่งเป็น 2 วงเงิน แต่ดอกเบี้ยเท่ากัน
– ดอกเบี้ยคงที่ 2.8% นาน 3 ปี
– ผ่อนต่ำเดือนละ 12,000 บาท นาน 3 ปี
– ไม่ต้องทำประกันชีวิต (เรามีประกันชีวิต 2 ฉบับแล้ว ถ้าทำอีกคงไม่มีข้าวกิน) ทำแค่ประกันอัคคีภัยคุ้มครอง 3 ปี เบี้ย 3.096.58 บาทซึ่งเราตั้งใจจะทำอยู่แล้วค่ะ
– กรุงไทยขอดูเอกสารเราเพิ่มเติมก่อนอนุมัติจริงสองอย่าง คือ เอกสารประกันชีวิตที่ทำไว้กับเงินเก็บเพิ่มเติม ซึ่งเรายื่นเป็น LTF ไป เพราะเงินฝากประจำเรายื่นไปแต่แรกแล้วค่ะ
สรุปเอกสารที่ใช้ยื่นกู้
– สำเนาบัตรประชาชน 2 ชุด
– สำเนาทะเบียนบ้าน 2 ชุด
– สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน (หลายๆ ธ.ขอแค่สามเดือนค่ะ)
– สลิปโบนัส (ถ้ามี)
– Statement 6 เดือน (หลายๆ ธ.ขอแค่สามเดือนค่ะ)
– หนังสือรับรองเงินเดือนและอายุงานอัพเดทไม่เกิน 3 เดือน (บางแบงค์ก็ไม่ต้องใช้ค่ะ)
– หน้าบุ๊คแบงค์ที่เงินเดือนเข้า
– ใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
– ทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
– ภงด. 90 หรือ 91 (ของนิเขาไม่ได้ขอค่ะ แต่ยื่นไปด้วย จำไม่ได้ อาจจะมีกรุงไทยที่ขอ)
– หลักฐานแสดงเงินออมประเภทต่างๆ และทรัพย์สินปลอดภาระ
Tips
– โครงการใหญ่ๆ อาจจะมีดีลพิเศษกับบางธนาคาร:
ให้ลองคุยกับแบงค์ที่ทางโครงการมีคอนแทกอยู่ค่ะ เขารู้จักกันอยู่แล้วจะยิ่งประสานกันได้เร็วมากขึ้นด้วย ตอนตัดสินใจจอง เหมือนทางโครงการจะเอาเบอร์นิให้กับเจ้าหน้าที่ของแต่ละธนาคาร แล้วเขาก็จะโทรมาแนะนำตัวติดๆ กันเลย นิแนะนำให้ลองคุยดูก่อนนะคะ เลือกคุยที่เราคิดว่าน่าจะโอเคสัก 3 – 4 ที่ บางธนาคารจะมีสินเชื่อพิเศษที่จัดโปรโมชั่นมาสำหรับโครงการนั้นๆ โดยเฉพาะ ดีลจะโอเคกว่าเราเดินเข้าไปหาแบงค์แล้วไปขอกู้เองค่ะ อย่างของกรุงไทยที่นิเลือก เหมือนตอนนั้นจะมีโปรผ่อนล้านละสามพัน ดอกเบี้ยต่ำสามปีแรก แล้วก็เป็น fixed rate ด้วย พอมาผ่อนจริงๆ ประเภทเงินกู้เขียนชัดเลยค่ะว่าสำหรับโครงการของ Developer เจ้านี้
– บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดว่ามีเยอะได้ไหม จะมีผลกระทบอะไรไหม:
บัตรเครดิตมีเยอะไม่เป็นไรค่ะ ธ.เขาจะดูยอดหนี้คงค้างที่เห็นในเครดิตบูโรมากกว่า ใครที่ใช้แบบจ่ายเต็มทุกเดือนอยู่แล้ว สบายค่ะ ไม่ต้องคิดมาก ส่วนบัตรกดเงินสด นิจำได้ว่ามีธ.นึงถามเรื่องนี้เหมือนกันนะคะ แสดงว่ามีผลอยู่เหมือนกันค่ะ เขาโทรมาถามว่าบัตรกดเงินสดนี่ไม่ค่อยได้ใช้ใช่ไหมคะ นิก็บอกไปว่าไม่ค่อยได้ใช้ค่ะ (ก็ไม่ค่อยได้ใช้จริงๆ นั่นล่ะค่ะ มีไว้เผื่อฉุกเฉิน กับตอนใช้ผ่อน 0% เท่านั้นเอง)
การรับโอนห้องและค่าใช้จ่ายต่างๆ
คือ ซื้อคอนโดทีนึง มันไม่ได้มีแค่ค่าห้องนะคะ มันยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องจ่ายตอนเราโอนห้อง แต่ก่อนจะรับโอนขอให้ตรวจห้องให้ดีก่อนนะคะ ถ้ามีอะไรจะได้ให้ช่างเขามาแก้ให้เรียบร้อย อย่ารีบร้อนโอนห้องโดยที่ยังแก้ไม่เสร็จ เพราะมันมาตามแก้ทีหลังยากกว่าค่ะ ของนิก็มีเหมือนกันที่มาแก้ทีหลัง โชคดีที่บริการหลังการขายของ Developer เจ้านี้ค่อนข้างโอเค นิเรียกช่างมาซ่อมเพิ่มเติมหลังจากนั้นหลายรอบอยู่ค่ะ ทั้งแอร์ไม่เย็น น้ำแอร์รั่ว ประตูตกทำให้ปิดลำบาก สีไม่เนียน ท่อน้ำในห้องน้ำระบายน้ำได้ช้า เศษเฟอร์นิเจอร์หลุดร่วง บิ่น ล้านแปดเลยค่ะ แต่เขาก็พยายามแก้จนหมดนะคะ ถือว่ามีแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่ขนาดนิให้พี่ที่รู้จักที่เขาเป็นสถาปนิกมาช่วยตรวจรอบนึงก่อนรับโอนแล้วนะคะ คือหลายอย่างมันก็เพิ่งมาเป็นทีหลังค่ะ บางอย่างตอนแรกนิก็ขี้เกียจแก้
ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องจ่ายตอนโอนห้องมีตามนี้ค่ะ (ถ้าไม่ลืมอะไรไปนะคะ)
1. ค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กรมที่ดิน รวม 29,710 บาท
– ค่าคำขอ 20 บาท
– ค่ามอบอำนาจ 100 บาท
– ค่าจดจำนอง 29,590 บาท (1% จากวงเงินกู้)
2. ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า 3,250 บาท
3. ค่าส่วนกลาง 17,680 บาท
4. ค่ากองทุนรวม 16,370 บาท
5. ค่าธรรมเนียมการโอน 25,243 บาท (1% จากราคาประเมิน) อีก 1% ทาง Developer เป็นคนจ่าย
6. ค่าบริการนิติกรรมสำหรับโอนกรรมสิทธิ์ 500 บาท
7. ค่าอากร 1,490 บาท
8. ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของธ. 40 บาท
การย้ายทะเบียนบ้าน
ย้ายเข้าห้องใหม่ได้ไม่นานนิก็รีบไปทำเรื่องย้ายทะเบียนบ้านเลยค่ะ ไปทำเรื่องที่เขตที่คอนโดนิตั้งอยู่เลย ไม่ได้ไปที่เขตเดิม เสียค่าธรรมเนียมย้ายทะเบียนบ้านปลายทางแค่ 20 บาทเอง นิรีบย้ายเพราะ เห่อบ้านใหม่ด้วยหนึ่ง แล้วก็ถ้าย้ายเข้าทะเบียนบ้านเกิน 1 ปีแล้ว ตอนขายจะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจค่ะ ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เตรียมพร้อมไว้ก่อนดีกว่า เอกสารที่ต้องเตรียมไปมีดังนี้ค่ะ
1. ทะเบียนบ้านที่จะย้ายเข้า
2. บัตรประชาชนของเจ้าบ้าน (ถ้าเราย้ายไปเป็นเจ้าบ้าน ก็ของเรานั่นล่ะค่ะ)
3. บัตรประชาชนของผู้ที่ย้ายเข้า
4. หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (ในกรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
5. บัตรประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบอำนาจ)
6. ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ซึ่งเจ้าบ้านเซ็นยินยอมให้ย้ายเข้าแล้ว
7. หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ได้แก่ สัญญาซื้อขาย โฉนดที่ดิน หรือใบอ.ช. 2 (หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด)
ขอขอบคุณข้อมูลจากศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐฯ สายด่วน 1111 ที่มาให้ข้อมูลสมาชิกในพันทิพนะคะ
วันที่ไปย้ายทะเบียนบ้านจริงๆ นิใช้แค่ไม่กี่อย่างค่ะ เพราะย้ายไปเป็นเจ้าบ้าน พอทำเรื่องย้ายทะเบียนบ้านเสร็จ ก็สามารถทำบัตรประชาชนใหม่ได้ทันทีเลย เสียค่าธรรมเนียมทำบัตรใหม่ 100 บาทค่ะ
วางแผนการผ่อนบ้าน
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่หลายๆ คนมองข้ามไป อย่างแม่นิ (คือยกพ่อแม่ตัวเองนี่ไม่ใช่อะไรนะคะ เป็นตัวอย่างใกล้ตัวและเห็นได้ชัดเจน) มีหนี้ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีหนี้เท่าไหร่กันแน่ เงินที่มีคือพอแค่จ่ายขั้นต่ำไปแต่ละเดือน จนวิกฤตจริงๆ ถึงจะแบออกมาดู พอคำนวณออกมาแล้วก็หน้าซีด
การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวนะคะ แต่ต้องรู้ว่าตัวเองมีหนี้เท่าไหร่ หนี้นั้นมีไปเพื่ออะไร ก่อให้เกิดประโยชน์ไหม ถ้าใช้แบบหลับหูหลับตา พอลืมตามาอีกที ก็หาเงินใช้ไม่ทันแล้วค่ะ เมื่อรู้ว่าตัวเองมีหนี้เท่าไหร่ ลำดับต่อไปก็คือ วางแผนใช้หนี้ค่ะ การผ่อนบ้านเป็นหนี้ก้อนโต สำหรับคนจบใหม่เพิ่งทำงานอย่างนิคงต้องผ่อนเป็นสิบปี แถมหนี้บ้านอาจจะไม่ใช่หนี้ก้อนเดียวเมื่อรวมกับภาระหนี้ที่มีอยู่ และในอนาคตเราอาจจะไปก่อหนี้อื่นอีก ถ้าเราคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ก็เขียนมันออกมาไว้เลยนะคะ อย่าไปกลัวจำนวนที่จะเห็น แล้วมาวางแผนคร่าวๆ กันว่าเราจะโปะเงินต้นต่อเดือนกี่บาท เพื่อให้หนี้หมดภายในกี่ปี เราต้องตั้งเป้าหมายแล้วพุ่งชนไปเลยค่ะ เอาจริงๆ ถึงธงที่ตั้งไว้จะไม่สำเร็จก็ไม่มีอะไรเสียหายนะคะ ก็แค่ผ่อนนานกว่าที่ตั้งใจไว้ แต่อย่างน้อยเราก็รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ค่ะ
ที่สำคัญ ทำแบบนี้เราจะคาดการณ์ได้คร่าวๆ เลยว่า สุดท้ายแล้ว เราซื้อคอนโดหรือบ้านนี้มาด้วยราคาเท่าไหร่กันแน่ เมื่อรวมยอดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่จะต้องเสียทั้งหมด ยอดผ่อนต่อเดือน เราจะรู้เมื่อผลอนุมัติเงินกู้ผ่านแล้ว แต่ว่าน่าจะถามตัวเลขคร่าวก่อนๆ ได้นะคะ นิเองมาทำตารางนี้ทีหลังจากกู้ผ่านแล้ว แต่ถ้าใครมีโอกาส ลองคำนวณดูก่อนจะตัดสินใจซื้อบ้านก็ดีค่ะ เผื่อเห็นตัวเลขแล้วทำใจไม่ได้ จะได้กลับลำทันค่ะ
อย่างที่บอกไปในหัวข้อก่อนว่า สรุป นิมีสัญญากู้ 2 สัญญา นิเลยตั้งใจจะโปะสัญญาตัวเล็กที่ยอดสองแสนกว่าให้หมดภายในสามปีแรกก่อนรีไฟแนนซ์ค่ะ ตอนรีไฟแนนซ์จะได้ไม่ยุ่งยากมาก แพลนที่วางไว้คือ จะรีไฟแนนซ์ (เปลี่ยนธ.) หรือขอรีเทนชั่น (ขอลดดอกเบี้ย) ทุก 3 ปี จนกว่าจะไม่คุ้มที่จะทำ
นิเน้นโปะวงเงินเล็กอย่างเดียวในช่วงสามปีแรก ยอดใหญ่ก็ผ่อนไปเฉยๆ ก่อน แต่ใครจะโปะยังไงก็แล้วแต่วางแผนเลยนะคะ นิไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ สูตรคำนวณอาจจะไม่เป๊ะ อาจจะมีคนอื่นที่มีตารางที่ดีกว่านี้โพสแจกไว้ ลองหาดูนะคะ ส่วนใครอยากได้ตารางที่นิใช้ก็ทักมาขอได้เลยค่ะ
นิขอจบการเล่าประสบการณ์การซื้อคอนโดหลังแรกไว้เท่านี้ ใครมีอะไรสงสัย สามารถถามได้เลยค่ะ ถ้ามีข้อมูลตรงไหนผิด ก็แจ้งได้เลยนะคะ
ไว้คราวหน้านิจะหาเรื่องมาเล่าอีก ขอบคุณที่อ่านกันจนจบนะคะ _/\_
ที่มา : Soleindee .