สิ่งที่หลายๆ คนควรจะทำก่อนตัดสินใจสร้างบ้านก็คือ ศึกษาหาข้อมูลและค้นหาไอเดียที่ถูกใจ เอาเป็นพื้นฐานความรู้เบื้องต้น เพื่อให้บ้านที่เราจะสร้าง ตอบโจทย์ความต้องการของเราอย่างแท้จริง อีกทั้งยังจะช่วยให้เราประหยัดงบก่อสร้างอีกด้วย
วันนี้ ในบ้าน ก็จะพาเพื่อนๆ ชาวเว็บไปชมการสร้างบ้านหลังแรกของคุณ สมาชิกหมายเลข 954145 เป็นบ้านสองชั้น ขนาด 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ใช้งบประมาณทั้งหมด 2.7 ล้านบาท สร้างไว้ที่ต่างจังหวัด มาในแนวร่วมสมัยที่เรียบง่าย อบอุ่น และน่าอยู่ ใครที่อยากจะสร้างบ้าน ตามมาดูกันแล้วเก็บเป็นไอเดียได้เลยครับ
หลังแรกในชีวิต!! สร้างบ้านสองชั้น 3 ห้องนอน ในรูปแบบที่เรียบง่ายตามสมัยนิยม งบประมาณ 2.7 ล้านบาท
(รีวิวโดย สมาชิกหมายเลข 954145)
รีวิวบ้านหลังแรก
เพิ่งพอจะมีเวลาว่างที่จะรวมข้อมูลและรูปภาพ เลยขอเข้ามารีวิวบ้านหลังแรกที่แสนภูมิใจกะเค้าบ้างค่ะ โดยเน้นรีวิวภายในบ้านที่เราชอบๆ นะคะ เผื่อใครถูกอกถูกใจจะเอาไปเป็นไอเดียได้บ้าง ไม่สงวนลิขสิทธิ์ค่ะ เพราะตอนทำบ้านตัวเองก็มาส่องตามเว็บต่างๆ ไปเป็นไอเดียสร้างและตกแต่งเหมือนกันค่ะ
ตั้งใจว่าจะเข้ามารีวิวในพันทิปตั้งแต่เสร็จใหม่ๆ แต่ก็มีภารกิจงานต่อเนื่องตลอด แถมทำบ้านเสร็จใหม่ๆ ก็เป็นไข้เลือดออกโรคฮิตเมื่อปี 58 กะเค้าอีก อาการสาหัสอยู่เพราะเป็นรอบที่สองแล้วหละ
สำหรับบ้านหลังแรกของเราสร้างเสร็จมาปีกว่าๆ ละค่ะ เป็นแบบบ้านปูนสองชั้น สามห้องนอน สองห้องน้ำ อยู่ต่างจังหวัด ก่อสร้างบนผืนที่ดินที่พ่อแม่ยกให้เลยไม่ต้องเสียค่าที่ เริ่มก่อสร้างตอกเสาเข็มราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 58 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 เดือนก็แล้วเสร็จราวเดือนสิงหาคม 58 ค่ะ
ก่อนสร้างบ้าน
ก่อนสร้างก็เล็งแบบในเว็บออกแบบบ้านต่างๆ จนได้แนวที่ชอบ คือ บ้านปูนสองชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอยกะไว้ราวๆ 120 – 140 ตรม.ก็พอ จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก สร้างตามกำลังทรัพย์ที่มี เพราะอยู่ตัวคนเดียว (ณ ตอนนั้น) กะน้องหมาแก่อีก 1 ตัว (ตอนนี้เสียไปแล้วค่ะเมื่อกลางปี 59 ที่ผ่านมา ยังคิดถึงกันอยู่เลยนะ)
จากนั้นเอาแนวแบบบ้านที่ชอบส่งไปให้น้าที่เป็นสถาปนิกช่วยออกแบบให้ ผลออกมาได้แบบแปลนบ้านสองชั้นขนาดสามห้องนอน สองห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอยรวมเบ็ดเสร็จ 200 ตรม. น้าให้เหตุผลว่าจะสร้างทั้งทีเพิ่มตังส์อีกหน่อยเอาซักสองร้อย ตรม.ไปเลย พอเห็นแปลนบ้านนี่ปาดเหงื่อเลยค่ะ งบที่มีอยู่ในกระปุกหมูออมสินไม่พอแน่นอน นึกถึงที่มีคนเค้าเคยพูดบอกว่าเวลาสร้างบ้านไม้โทมันจะหายจาก “บ้าน” กลายไปเป็น “บาน” นี่จริงๆ ค่ะ ซึ่งประสบกับตัวเองมาแล้วค่ะ ต้องกู้เงินมาสมทบเพื่อบ้านหลังแรกหลังนี้
หลังจากได้แบบบ้านมาแล้ว ก็หาวิศวกรรับรองแบบเป็นเพื่อนของน้องชายช่วยตรวจสอบและรับรองแบบแปลนให้ เพื่อยื่นขอปลูกสร้างกับทางเทศบาลเพราะเป็นบ้านสองชั้น สำหรับการก่อสร้างจ้างผู้รับเหมาที่เคยรับสร้างบ้านของพี่สาวและน้าค่ะ เป็นผู้รับเหมาทั่วไปไม่ได้เป็นบริษัทรับก่อสร้างแต่อย่างใด ตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานอย่างเดียว ค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เจ้าของบ้านจ่ายและจัดการเลือกเองค่ะ
เรื่องของเรื่องคือ เกรงว่าผู้รับเหมาจะลดสเปคของ ได้ของไม่ถูกใจ และอีกอย่างให้เหมาทั้งหมดผู้รับเหมาจะบวกเพิ่มจากค่าวัสดุเข้าไปอีก หากซื้อของในมาตรฐานสเปคเดียวกันกับที่เราต้องการ ซึ่งอันนี้ก็เข้าใจค่ะ เป็นค่าบริหารจัดการในการจัดหาวัสดุของเค้า ใครจะมาทำให้ฟรีๆ จริงไหมคะ
ดังนั้น จึงขอเลือกเองดีกว่า ไม่ต้องกลัวผู้รับเหมาแอบยัดไส้ซื้อของไม่ดีให้ ซึ่งขอบอกเลยว่าเหนื่อยมากกกกกกกกก แต่เป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่าเพราะได้ของดีและถูกใจเราค่ะ ต้องหาข้อมูลตามเนต เดินส่องตามโฮมโปร ร้านวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (สำหรับโฮมโปรเป็นร้านหลักของเราเลยค่ะ ค่อนข้างครบครัน เลือกหาของง่าย แบบทันสมัย พนักงานบริการดี พูดจากประสบการณ์ตรงจร้า ไม่ได้ค่าโฆษณาเลยนะ แต่โฮมโปรจะไม่มีวัสดุโครงสร้างพื้นฐานนะคะ เช่น เหล็ก ปูน กระเบื้องต้องหาซื้อจากที่อื่นค่ะ)
วกกลับมาเรื่องจ้างแรงงานก่อสร้างบ้านต่อ กดเครื่องคิดเลขเมื่อสร้างเสร็จละตกอยู่ราว 30 เปอร์เซ็นต์ ของค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จพร้อมอยู่อาศัยทั้งหมดค่ะ
เริ่มก่อสร้าง
เราได้ไปสั่งซื้อดินมาถมปรับระดับพื้นดินให้เสมอกันก่อน จากนั้นผู้รับเหมาจึงติดต่อคนรับตอกเสาเข็มมาให้ แล้วลิสต์รายการปูน เหล็ก แผ่นปูนสำเร็จที่ต้องการใช้ เราไปสั่งซื้อวัสดุตามจำนวนที่ผู้รับเหมาทยอยแจ้งให้เราไปซื้อ
เริ่มตั้งแต่เหล็ก ตอนไปซื้อเพิ่งรู้ค่ะว่ามีหลายมาตรฐาน พนักงานร้านถามว่าจะเอาเหล็กเต็มหรือไม่เต็ม ซึ่งเราก็งงว่ามันคืออาราย???? พนักงานร้านเลยถามต่อว่าพี่จะสร้างบ้านอยู่เองหรือทำให้คนอื่นอยู่ เราตอบไปว่าสร้างอยู่อาศัยเองค่ะ พนักงานตอบว่างั้นเอาเหล็กเต็มค่ะ ซึ่งเค้าอธิบายเพิ่มว่าเหล็กเต็มคุณภาพจะดีกว่า ส่วนปูนที่เป็นวัสดุโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ศึกษาข้อมูลมากนัก มารู้ทีหลังว่าเค้ามีเกรดคุณภาพปูนอยู่ตามยี่ห้อ แต่ก็ซื้อไปละค่ะ คละเคล้าหลากหลายยี่ห้อ ไม่รู้อยู่อาศัยไปนานๆ จะมีปัญหาปูนร้าว ปูนหลุดรึป่าวค่ะ
ในส่วนโครงสร้างพื้นฐานนี่ยอมรับว่าไม่ค่อยรู้อะไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาถอดแบบแปลนและดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างของตัวบ้าน แต่ก็มีปรึกษาหารือกันบ้างอยู่นะ เพราะปลูกบ้านต้องตามใจผู้อยู่ผู้จ่ายตังค์ค่ะ
ตามแบบแปลนบ้านชั้นล่างจะอยู่ในระดับเดียวกันกับพื้น ผู้รับเหมาได้ให้ข้อแนะนำให้ยกสูงขึ้นจากพื้นดิน เนื่องจากวางระบบท่อต่างๆ ได้โดยสะดวกใต้บ้าน ปลอดภัยจากปลวกเพราะพื้นบ้านไม่ติดดิน (ไม่รู้จริงหรือเปล่านะคะ) และเพื่อความสวยงาม
เนื่องจากเราสร้างบ้านอยู่ตรงกลางระหว่างบ้านพ่อแม่กับบ้านพี่สาว ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่กว่าบ้านสองชั้นของเราค่ะ ผู้รับเหมาบอกถ้ายกพื้นขึ้นสูงจะดูขนาดสมดุลท่ามกลางบ้านที่ขนาบสองข้างค่ะ ก็เลยตกลงเห็นชอบอนุมัติปรับแบบค่ะ อ้อ แต่พอปรับแบบบ้านยกสูงจากพื้น จะมีระเบียงหน้าบ้านและบันไดเพิ่มเข้ามา จากเดิมหากบ้านเสมอพื้นดินก็ไม่ต้องมีราวกันตก ราวบันได ซึ่งก็ต้องแจ้งให้ผู้รับเหมาให้ทำเพิ่มเติม
ส่วนด้านหลังบ้านก็เช่นกัน ตอนแรกผู้รับเหมาทำเนียนสั่งคนงานให้ก่ออิฐฉาบปูนปิดสนิทเลยกันพลัดตก เราเลยต้องมโนภาพว่าเวลาอยู่อาศัยจริงมีประตูหลังบ้านแต่เปิดออกมาเจอห้องปิดทึบ คงจะไม่อะเครแน่นอน เลยต้องรีบสั่งผู้รับเหมาให้เปิดช่องทำบันไดหลังและมีทางออกทันที หลังจากคนงานก่ออิฐมอญปิดไปได้นิดหน่อยละ เพราะตามหลักฮวงจุ้ยที่มีติดติ่งสมองนิดหน่อยว่าบ้านจะต้องมีทางออกด้านหลังไม่ใช่ปิดสนิทค่ะ
ผลออกมาได้ผลงานตามภาพค่ะ อันนี้เป็นข้อคิดสำหรับผู้คิดจะสร้างบ้านโดยไม่ได้ซื้อสำเร็จจากโครงการนะคะ ต้องติดตามกำกับดูแลงานก่อสร้างอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอเพื่อให้ได้งานตามแบบและตรงใจเราค่ะ
ตัวบ้านที่ยกสูงขึ้น ต้องทำบันไดทางขึ้นด้านหน้าบ้าน ด้านข้าง และด้านหลังบ้านค่ะ
ไม้วงกบ ไม้ประตู หน้าต่าง
ในส่วนของการสั่งไม้วงกบประตู หน้าต่าง ซึ่งต้องสั่งรวมตัวประตู หน้าต่างไปพร้อมกันทีเดียว เพราะโรงไม้ต้องใช้เวลาทำ ไม่ได้มีขายสำเร็จรูป เนื่องจากไม่ใช่ขนาดมาตรฐาน และเลือกรูปแบบตามที่เราต้องการ ซึ่งเป็นแบบลายลูกฟักเรียบๆ ค่ะ
ขั้นตอนนี้เราต้องเริ่มศึกษาแบบแปลนไปพร้อมผู้รับเหมาแล้วหละ เพราะต้องไปสั่งซื้อไม้เอง ต้องเช็คว่ารูปแบบอะไร ขนาดกว้างยาวเท่าใด ตรวจเช็คแบบบ้านว่าชั้นบนชั้นล่างมีประตูหน้าต่างวงกบตรงไหนบ้าง จำนวนที่ต้องใช้กี่บาน ละมีบางส่วนได้ปรับเปลี่ยนแบบแปลน เช่น ตรงช่วงพักบันได สถาปนิกออกแบบเป็นหน้าต่าง แต่เราปรับเปลี่ยนเป็นติดบล็อกแก้ว ให้แสงสว่างไม่มืดทึบแทน เนื่องจากในแบบแปลนช่วงพักบันไดยื่นออกไปเสมอขอบหลังคา ไม่มีเชิงหลังคากันฝน ซึ่งเวลาฝนสาดอาจเล็ดลอดเข้าหน้าต่างเต็มๆ อันนี้พ่อเราแนะนำบอกให้เปลี่ยนเป็นบล็อกแก้วเหอะ จึงได้บล็อกแก้วลีลาวดีสวยงามออกมาค่ะ
ส่วนตรงช่องโต๊ะทำงานชั้นล่าง ตั้งใจว่าจะมีตู้ชั้นวางของอยู่ด้านหลังโต๊ะ ซึ่งในแบบแปลนเป็นหน้าต่าง เราจึงบอกผู้รับเหมาให้ปรับเป็นฉาบผนังปูนทึบและติดบล็อกแก้วให้แสงสว่างด้านบนแทนช่องหน้าต่างตามแบบแปลน
ไม้วงกบ ไม้ประตู หน้าต่าง และเพิ่มไม้บันไดอีกอย่าง
กลับมาเรื่องซื้อไม้ต่อนะคะ ไม้วงกบเราใช้ไม้แดงนอกค่ะ ราคาจะถูกกว่าไม้แดงไทยซึ่งแพงกว่าและหายาก เจ้าของร้านค้าไม้ที่ซื้อแนะนำว่าคุณภาพไม้ทัดเทียมกันเพียงแต่สีไม้แดงไทยจะสีสรรสวยงามกว่าไม้แดงนอกค่ะ แต่เด๋วพอทาสีไม้วงกบก็มองไม่เห็นความแตกต่างแล้ว ส่วนประตูหน้าต่างเจ้าของบ้านเลือกใช้ไม้สักทั้งหมด รวมๆ แล้วก็หลักแสนกว่านิดๆ
ส่วนไม้ทำขั้นบันได ราวบันไดได้ไม้ประดู่เก่าของพ่อที่ซื้อเก็บไว้ร่วมสามสิบปีละ ขนาดแผ่นใหญ่ หนา แห้งสวยสุดๆ ตอนแรกก็คิดว่าจะเข้ากันกับไม้สักที่ทำประตูหน้าต่างรึป่าว เพราะเป็นไม้คนละชนิดกัน แต่ เอ้อ….เมื่อเริ่มมองเห็นว่างบเบ่งบานละ เลยต้องพยายามเซฟค่าใช้จ่าย และพอทำแล้วก็ไปกันได้ดีกะประตูหน้าต่างไม้สัก แถมได้ของดีด้วยอีกต่างหากค่ะ
สำหรับไม้สักที่ซื้อมาจากร้านนั้นเป็นไม้ใหม่ที่เอามาอบ พออยู่อาศัยไปได้ซักพักไม้หดตัวแห้งแตกเป็นร่องเลยค่ะ แต่ก็มีเทคนิคแก้ไขนะคะ ทำเองได้เลย แอบเป็นครูพักลักจำดูช่างไม้ที่มาทำบ้านนั่นแหละ ใช้เศษขี้เลื้อยไม้ละเอียดที่เก็บไว้จากช่างไม้ไสขอบประตูหน้าต่าง เอามาผสมกับกาวลาเท็กซ์ให้ข้นเหนียวกำลังพอเหมาะละอุดตรงรอยร่องแตกของไม้ เอาฟองน้ำล้างจานชุบน้ำหมาดๆ เช็ดเศษที่เลอะๆ ให้เรียบร้อย พอแห้งจะเนียนไม่มีร่องแตกไม้ละค่ะ เคยเห็นวัสดุอุดรอยแตกไม้มีขายสำเร็จรูปในโฮมโปร ขอบอกว่าแพงมาก ใช้วิธีที่เราบอกข้างต้นได้ผลดีและประหยัดเงินด้วยค่ะ
นอกจากนี้ มีข้อแนะนำสำหรับคนทำบ้าน
หากเลือกใช้ประตูหน้าต่างไม้ใหม่แบบเรา เพราะไม้เก่าหายากและราคาแพงมาก นอกจากจะต้องประสบพบเจออาการไม้หดตัวแตกเป็นร่องจนต้องอุดกันแล้ว ยังเจอการหดตัวของขนาดบานประตูที่เล็กลงจนเกิดช่องว่างเป็นร่องห่างจากขอบวงกบ (ดีนะที่อยู่คนเดียวไม่มีคนมายืนส่อง อิอิ…แต่ตอนนี้ก็หาคนอยู่ด้วยได้แล้วค่ะ) กลับมามีสาระต่อ ข้อควรระวังก็คือ เวลาไสไม้ใหม่ให้ช่างไม้ไสให้พอดีๆ กับขอบวงกบเลยค่ะ ไม่ต้องเผื่อมาก เพราะไม้จะหดตัวลงไปอีกทำให้เกิดเป็นช่องห่างจากขอบวงกบเยอะเลยค่ะ
วิธีแก้ไขคือเราไปซื้อขอบยางกันกระแทกสีน้ำตาลที่โฮมโปรมาแปะค่ะ ช่วยได้อยู่ ดูเนียนๆ สวยงามตามภาพเลยค่ะ ซึ่งขอบยางนี้ตอนแรกเราซื้อมาติดกับประตูบานเลื่อนที่ทำบิวท์อิน ช่างเค้าไม่ได้ติดให้ ไปเดินดูที่โฮมโปรเห็นเข้าท่าดีเลยซื้อมาติดกันกระแทก และขยายผลเอามาติดประตูที่หดตัวห่างจากวงกบมากเกินไปได้อีกค่ะ
หลังคาใครคิดว่าไม่สำคัญ
ตั้งหัวข้อให้เท่ๆ เด๋วเล่าให้ฟังว่ามันสำคัญยังไงค่ะ หลังจากเลือกไม้วงกบ ไม้ประตู หน้าต่างแล้ว ลำดับถัดไป คือ เลือกหลังคา อุปกรณ์ประกอบหลังคาไม่ค่อยมีความรู้เช่นกันค่ะ ตามแต่ผู้รับเหมาจะแจ้งรายการให้ไปซื้อ แต่กระเบื้องหลังคานี่เลือกซีแพคโมเนียค่ะ รุ่นเอลาบานา สีน้ำตาลโกเมนเข้มเลย เพราะเคยสังเกตเห็นหลังคาสีนี้ในบ้านหลังอื่นเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ หากมีราหรือเศษคราบเกาะแล้วจะมองไม่ค่อยเห็นคราบเปื้อนดีค่ะ
ตอนแรกไปร้านช็อปจำหน่ายตรงเลยปรากฎว่าต้องออเดอร์ของใช้เวลาเป็นสัปดาห์ซึ่งผู้รับเหมาต้องเร่งใช้วัสดุ จึงไปร้านตัวแทนจำหน่ายวัสดุนี้ในจังหวัดปรากฎว่าไม่ต้องรอออเดอร์ของและราคาก็ถูกกว่ากันตั้งแผ่นละ 3 บาทแน่ะ เซฟค่าใช้จ่ายได้เป็นหลักหมื่นค่ะ อันนี้เป็นข้อคิดนะคะว่าอย่าคิดว่าร้านช็อปจำหน่ายตรงราคาจะถูกเสมอไป
ส่วนแผ่นชนวนกันความร้อนก็ซื้อพร้อมกันกับกระเบื้อง ซึ่งไม่แน่ใจว่ากันร้อนได้มากน้อยแค่ไหน แต่จะมีปัญหาหากประสบพบเจอกับปัญหาช่างปูหลังคาไม่ดีเกิดมีรอยรั่วจะหาตำแหน่งรอยรั่วยากมาก เพราะน้ำจะซึมไหลจากหลังคาลงผ่านแผ่นชนวนกันร้อน ทำให้หาจุดตำแหน่งรอยรั่วไม่เจอ มันมองไม่เห็นจุดน้ำหยด กว่าจะเจอก็นานมาก
พอดีบ้านเราเจอแจ๊คพอต ช่างปูกระเบื้องหลังคาในบางตำแหน่งไม่ดี (อธิบายไม่ถูกว่าเค้าเรียกว่าอะไรแต่เป็นช่วงต่อหลังคาที่ต่างระดับนะคะ) ละรอยรั่วเกิดอยู่มุมหลังคาด้านหลังบ้าน น้ำไหลผ่านแผ่นชนวนกันร้อนไหลลงมาตกตรงฝ้าหลังคาช่วงห้องน้ำชั้นบนซึ่งอยู่ตรงช่วงกลางตัวบ้าน ตอนแรกช่างแก้ไขก็พยายามหาจุดรั่วตรงๆ ในบริเวณหลังคาที่ตรงห้องน้ำ หาอยู่นานสองนานก็หาไม่เจอ ต้องตัดแผ่นชนวนกันร้อนใต้หลังคาไล่ดูรอยน้ำจึงเจอว่าจุดรอยรั่วอยู่ตรงบริเวณหลังบ้านค่ะ
มุมโต๊ะกินข้าวและโต๊ะทำงานอ่านหนังสือชั้นล่าง แถมด้วยชั้นวางหนังสือใต้บันไดค่ะ เคยส่องดูไอเดียในเนตละมาปรับใช้บ้านตัวเองค่ะ ให้ช่างฉาบผนังทึบเข้าไปใต้บันได ละซื้อชั้นวางสำเร็จรูปมาติด ผลงานตามภาพค่ะ
ห้องครัว
ห้องครัวและห้องซักผ้าเก็บของใช้พื้นกระเบื้องโทนสีน้ำตาลลายเดียวกัน ขนาด 40×40 ซม. ผนังใช้กระเบื้องโทนสีขาว 8×10 นิ้ว มีโมเสคโทนสีน้ำตาลไว้แต่งขอบให้สวยงาม โดยดูดีไซน์ตามแบบรีวิวบ้านในเนตนั่นแหละค่ะ ส่องมาเป็นไอเดียละปรับใช้
ในแปลนบ้านเราเองจะไม่ได้ลงรายละเอียดเจาะลึกถึงแบบลายกระเบื้อง จำนวนที่ใช้ค่ะ เราต้องมาเลือกเองคำนวณเอง ผู้รับเหมาชมว่าเราเป๊ะมากไม่ต้องเป็นภาระให้เค้าช่วยเลือกและคำนวณให้เลย ในขั้นตอนนี้เราเลือกใช้ตู้แขวน บานซิงค์สำเร็จรูป ต้องเลือกไปพร้อมกันกับกระเบื้องค่ะ เพราะต้องคำนวณว่าขนาดห้องกว้างเท่าใดต้องใช้ตู้แขวนกี่หลัง บานซิงค์กี่บาน โดยภายในบ้านเราเลือกใช้ยี่ห้อ kitzcho สีไม้เชอรี่ สั่งซื้อที่โฮมโปรค่ะ ดีไซน์สวยงามถูกใจ เป็นไม้ยางพาราทาเคลือบสีค่ะ
ส่วนภายนอกบ้านพนักงานแนะนำให้ใช้บานซิงค์ที่ทำจากพลาสติกพีวีซี เพราะทนทานดีกว่าไม้ค่ะ เราเลือกยี่ห้อ king เพราะรูปแบบสวยงามถูกใจ เป็นสีน้ำตาลโอ๊ค ซึ่งเรามีข้อแนะนำว่าบานซิงค์สีน้ำตาลนี่อะเครเลยค่ะ เพราะที่บ้านแม่เราใช้บานซิงค์พีวีซีสีขาวครีม พอใช้งานนานๆ ไป มีคราบสกปรกติดจะมองเห็นง่ายมาก ทำให้แลดูไม่สวยงามค่ะ
รวมค่าใช้จ่ายตู้แขวน บานซิงค์ ตกประมาณเจ็ดหมื่นกว่าบาทนิดๆ ค่ะ อ้อขั้นตอนนี้ ต้องพิจารณาเลือกเตาแก๊ส ท่อดูดควัน ซิงค์ล้างจานไปด้วยพร้อมกันนะคะ เพื่อจะจัดวางให้พอเหมาะกับขนาดพื้นที่ภายในห้องค่ะ และช่างเค้าจะวางแผนเจาะช่องบนท็อปครัวให้เราได้ตรงกับขนาดซิงค์น้ำ ขนาดเตาแก๊สที่เราซื้อมาด้วย สำหรับบ้านเราเหมาๆ เลือกยี่ห้อ mex มาค่ะ ดีไซน์สวยงาม ใช้งานได้ดี และราคาก็สวยงามตามดีไซน์ค่ะ
ห้องน้ำ
ห้องน้ำใช้พื้นกระเบื้องโทนสีน้ำตาลส้มเหมือนกันทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ขนาด 30×30 ซม. ผนังใช้กระเบื้องโทนสีขาวผิวเรียบมัน 8×10 นิ้ว เน้นยี่ห้อคอตโต้ เพราะช่างแนะนำว่าคุณภาพดีขอบเรียบสนิทดี และอีกอย่างแบบสีถูกใจเราด้วยค่ะ
มีโมเสคโทนน้ำตาลส้มไว้แต่งขอบให้สวยงาม โดยดูดีไซน์ตามแบบบ้านในเนตที่มีเพื่อนบ้านรีวิวไว้ให้ชมก่อนหน้าค่ะ สำหรับช่างปูกระเบื้องบ้านเราต้องขอชมเลยว่าฝีมือดีขั้นเทพอยู่ค่ะ ปูเรียบสนิทดี ทำตามแบบที่เราเขียนลายมือไว้ให้ซึ่งไม่ได้ถ่ายเก็บไว้ค่ะ
การวางลายกระเบื้องไม่ต้องควบคุมเลย วางหัวท้ายกระเบื้องเรียบร้อยไปในทิศทางเดียวกัน สุขภัณฑ์และอุปกรณ์เลือกใช้ยี่ห้ออเมริกันสแตนดาร์ดทั้งหมดค่ะ เพื่อความสวยงามคงทน
ห้องน้ำชั้นล่าง
ห้องน้ำชั้นบนค่ะ ใช้กระเบื้องแบบ/ลายเดียวกันกับห้องน้ำชั้นล่างค่ะ
กระเบื้องโรงจอดรถ
กระเบื้องปูพื้นโรงจอดรถข้างบ้านใช้เป็นกระเบื้องอิฐสีน้ำตาลแดง เป็นโรงงานที่ผลิตทำขายทั่วไปไม่ได้มียี่ห้อค่ะ เค้ามาจัดโชว์จำหน่ายที่หน้าร้านไทวัสดุและทิ้งเบอร์โทรไว้ให้ติดต่อ ก็โทรไปสั่งซื้อมาค่ะ ซึ่งตามแบบแปลนพื้นโรงรถเป็นเทพื้นปูนธรรมดา แต่พอเปลี่ยนเป็นกระเบื้องอิฐก็ดูดีกว่ากันเยอะเลยค่ะ แข็งแรงทนทานด้วยค่ะ เพราะเคยเห็นบางบ้านใช้กระเบื้องปูพื้นภายนอกมาปูพื้นโรงจอดรถ จะมีบางแผ่นแตกร้าวเพราะไม่ค่อยทนทานต่อการรับน้ำหนักมากๆ ค่ะ
พื้นลามิเนตชั้นสอง
พาขึ้นไปบนบ้านชั้นสองต่อนะคะ ปูพื้นด้วยไม้ลามิเนต ช่างมาปูวันเดียวเสร็จค่ะ เราเลือกใช้ยี่ห้อ kronotex ตามที่น้าเป็นสถาปนิกแนะนำ ไม่มีหน้าร้านจำหน่ายอยู่ในจังหวัดที่เราอยู่ค่ะ เลยค้นหาที่อยู่ในอินเตอร์เนตละโทรติดต่อกับบริษัทที่อยู่กรุงเทพฯ เค้ารับติดตั้งต่างจังหวัดให้อยู่ค่ะ
เลือกลายไม้โทนน้ำตาลอ่อนกลางๆ พนักงานขายเสนอแบบที่ลดราคาแต่ถูกใจเราก็ช่วยเซฟค่าใช้จ่ายไปได้บ้างค่ะ จะติดตั้งหลังจากทาสีฝ้า ทาสีบ้าน ติดประตูหน้าต่างเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากยังไม่ติดเค้าจะไม่ปูลามิเนตให้ เพราะเกรงจะโดนฝนสาดเสียหายได้ เนื่องจากไม้ลามิเนตไม่ทนสภาพน้ำแช่ขัง แต่หากเช็ดถูธรรมดาก็ทนทานอยู่ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ สำหรับค่าใช้จ่ายหมดไปราวๆ เจ็ดหมื่นปลาย ปูพื้นชั้นสองทั้งหมดพร้อมติดขอบบัวโดยรอบภายในหนึ่งวัน ผลงานสวยงามตามภาพเลยค่ะ
รีวิวห้องโถงชั้นสองค่ะ
ราวระเบียง เหล็กดัดประตูหน้าต่าง
เริ่มจากราวระเบียง ความตั้งใจแรกอยากได้ราวระเบียงไม้จริง ดูอบอุ่นเป็นธรรมชาติ แต่สอบถามราคาละเอาเรื่องอยู่ และผู้รับเหมาให้ข้อคิดว่าราวระเบียงไม้นานๆ ไปมันอาจผุ สีซีดไม่สวย เค้าแนะนำให้ใช้ราวสแตนเลสเถอะ บวกกับส่วนหนึ่งช่างไม้ของผู้รับเหมาฝีมือไม่ค่อยอะเครเท่าไหร่ ผู้รับเหมาเลยไม่ค่อยส่งเสริมการใช้ไม้มาตกแต่งบ้านเท่าไหร่ด้วย
เราจึงเก็บไปคิดบวกลบคูณหาญค่าใช้จ่ายและหาข้อมูลในเนตดู ก้อลงตัวที่ราวสแตนเลสแบบเรียบง่ายแบบตรงๆ มีห่วงกลมประกอบเล็กน้อย โดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบลวดลายดัดอ่อนซ้อย เพราะรู้สึกว่าทำความสะอาดยากค่ะ และชอบแบบเรียบๆ ด้วยส่วนนึง ราคาเชฟลงกว่าการใช้ไม้จริง ภายนอกใช้สแตนเลสเกรด 304 ภายในใช้เกรด 201 พอเมื่อราวระเบียงใช้สแตนเลสแล้ว เหล็กดัดประตูหน้าต่างเลยจัดให้เข้าชุดกันไปเลย แถมระเบียงรั้วข้างบ้านก็พลอยใช้ไปด้วยกันอีก แต่จะมีแผ่นพ่นสีไม้แซมประกอบเพื่อความสวยงามและประหยัดค่า สแตนเลสด้วยค่ะ
ว่าแล้วก็เหมาๆ ช่างเจ้าเดียวกันทำราวระเบียง เหล็กดัด และระเบียงรั้วข้างบ้านครบชุด ขอบอกข้อดีของราวระเบียงสแตนเลสนะคะ เช็ดทำความสะอาดง่ายอยู่ และที่สำคัญราวสแตนเลสมันกลมๆ ลื่นๆ นกพิราบมันไม่นิยมมายืนเกาะจู๋จี๋กันค่ะ ถ้าเป็นราวระเบียงวัสดุปูน วัสดุไม้ เห็นนกพิราบมันมายืนเกาะเสนอหน้าเยอะอยู่ค่ะ ซึ่งมันไม่เกาะอย่างเดียว มันจะขี้ทิ้งไว้ให้ด้วยซิ นี่เป็นสาเหตุหลักเลยที่เราไม่อยากต้อนรับให้อยู่ร่วมชายคา แถวที่บ้านของเรานกเยอะอยู่ค่ะ
ฝ้าเพดานและหลอดไฟ
เราให้น้าสถาปนิกออกแบบฝ้าเพดานเป็นแบบเรียบ ไม่เอาไล่ระดับหลายชั้น เพราะชอบแนวเรียบๆ และอีกอย่างเกรงว่าแมลงมุมสัตว์เลี้ยงคู่บ้านจะไปชักใยตามซอกเพดานที่ลดหลั่นระดับด้วยค่ะ ส่วนหลอดไฟใช้แบบหลอดเกลียว ซื้อจากโฮมโปร ยี่ห้อแลมป์ตันที่กำลังจัดโปรโมชั่นซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง ณ ขณะนั้นมา ผลปรากฎว่าใช้งานเปิดให้แสงสว่างในบ้านเหมือนบ้านหลังอื่นทั่วๆไป แค่ปีกว่าๆ หลอดขาดเยอะมาก (สงสัยหลอดที่แถมมาคุณภาพจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่) ต้องซื้อหลอดมาเปลี่ยนใหม่ร่วมสิบกว่าหลอดแล้วค่ะ ซึ่งเปลี่ยนยี่ห้อเป็นพานาโซนิก ใช้ได้ดีอยู่นะแต่ก็แอบมีเสียด้วยความรวดเร็วไปหลอดนึงเหมือนกัน แต่ก็ยังดีกว่ายี่ห้อแรกเยอะค่ะ
สีทาบ้าน
เราเลือกโทนสีขาว ขาวครีมเป็นหลักค่ะ ขอบด้านล่างของตัวบ้านตัดด้วยสีน้ำตาลเลือดหมูเข้มกันเปื้อน โดยเลือกใช้สียี่ห้อ TOA ตอนไปหาซื้อทีแรกก็สั่งเลยขอรุ่น 4 season เพราะเห็นโฆษณาเค้าว่าทนแสนทน สีทนได้ทุกฤดู
แต่พอพนักงานขายที่โฮมโปรเค้าแนะนำสินค้าเลยถึงบางอ้อ ว่าสีเค้ามีหลายเกรด ที่ว่าทนแสนทนน่ะ มีทนทานยิ่งกว่า คุณภาพเยี่ยมกว่า ติดทนนานกว่าแบบเบิร์ดๆ เลยเปลี่ยนรุ่นค่ะ เป็นรุ่น supershield duraclean ทาแล้วเช็ดทำความสะอาดรอยเปื้อนง่ายเหมือนเค้าว่าจริงๆ ค่ะ ละก้อทาเสร็จแล้วไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวนเลยซักนิด เดินชมการทำงานทาสีของช่างได้อย่างสบายจมูก ขอบอก ส่วนราคาก็ขยับแพงขึ้นมาตามคุณภาพค่ะ
ระบบน้ำ
เราซื้อแทงค์น้ำยี่ห้อ Dos ถังขนาดสองพันลิตร เอาที่สบายใจเผื่อประปาเสียหลายวัน มีให้เลือกหลายเกรดหลายราคา ของเราซื้อมาราวๆ หมื่นสามพันบาท ส่วนปั๊มน้ำเลือกยี่ห้อมิสซูบิซิ พนักงานขายเชียร์อีกยี่ห้อนึงมากเลย แต่น้าเราบอกไว้มิสซู เราก็เลยตามนั้นไม่ได้คลอยตามพนักงานขาย
ระบบน้ำเข้าบ้านต้องให้ช่างต่อระบบน้ำเข้าบ้านสองระบบนะคะ คือต่อผ่านปั๊มน้ำท่อนึง และต่อตรงอีกท่อนึง ของบ้านเราประสบปัญหาละ เอาภาพการต่อท่อน้ำเข้าบ้านที่ค้นข้อมูลในอินเตอร์เนตให้ผู้รับเหมาดูแต่เค้าไม่ได้บอกช่าง (รีว่าบอกแล้วแต่ช่างไม่เป็นก็ไม่แน่ใจค่ะ) ทำให้ช่างไม่ต่อท่อตรงให้ มีแต่ต่อท่อผ่านปั๊มน้ำอย่างเดียว ซึ่งเราก็ไม่ได้มีความรู้ด้านช่าง เลยไม่ได้กำกับผลงานอย่างใกล้ชิด ผลก็คือ หากไฟฟ้าดับ เราจะใช้น้ำภายในบ้านไม่ได้เลยค่ะ เพราะปั๊มน้ำไม่ทำงาน ส่วนน้ำประปาที่มีไหลอยู่ตลอดก็เปิดใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีท่อต่อตรงเข้าบ้านค่ะ เลยอยากฝากเป็นอุทาหรณ์ข้อควรระวังสำหรับผู้กำลังจะสร้างบ้านอยู่ค่ะ
บิวท์อิน
ตั้งงบไว้อยู่หนึ่งแสนสองพันบาท อยากได้ชั้นวางโชว์ห้องรับแขก 2 จุด บานเลื่อนกั้นห้องรับแขกเวลาเปิดแอร์ 1 จุด ผนังกั้นบังตาบริเวณหน้าห้องครัว 1 จุด และบานเลื่อนกั้นห้องนอนเวลาเปิดแอร์อีก 1 จุด
ในส่วนของบิวท์อินนี้เจ้าของบ้านคิดเองว่าต้องการอะไรบ้างหลังจากถอดแบบบ้านแล้ว เริ่มจากห้องรับแขกต้องการชั้นวางโชว์และวางทีวีด้วยพร้อมกัน 1 จุด อีกฝั่งด้านหนึ่งต้องการชั้นวางโชว์พร้อมกับเป็นผนังกั้นห้องเวลาเปิดแอร์ ต้องมีประตูบานเลื่อนปิดเปิด สามารถเลื่อนได้ไม่ทึบเวลาไม่ได้เปิดแอร์ 1 จุด
ในส่วนของผนังกั้นบังตาบริเวณหน้าห้องครัว เนื่องจากมีตู้ชั้นวางเครื่องครัวสีขาวซื้อไว้แล้วหนึ่งหลังต้องการผนังพิง ซึ่งในแปลนเป็นจุดที่สถาปนิกออกแบบให้เป็นมินิบาร์ แต่เราไม่เอา เราต้องการวางตู้ครัวหลังนี้ จึงต้องออกแบบผนังกั้นบังตาบริเวณหน้าห้องครัวอีก 1 จุด (หมายเหตุตู้และเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เราทยอยซื้อสะสมก่อนสร้างบ้าน โดยหาซื้อจากร้านมือสองญี่ปุ่น ดังนั้นเราจึงต้องออกแบบจัดวางเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ให้ลงตัวในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของบ้านด้วยค่ะ)
ส่วนชั้นบน สถาปนิกออกแบบห้องนอนขนาดใหญ่โซนด้านหน้าบ้าน ซึ่งเราคิดว่าหากไม่กั้นห้องนี่ต้องซื้อแอร์ขนาดบีทียูสูงหน่อย นอนคนเดียว เปลืองค่าไฟมากไปมั๊ง จึงคิดออกแบบให้มีประตูบานเลื่อนกั้นครึ่งห้อง คือเวลาไม่ได้เปิดแอร์ก็สามารถเปิดโล่งถึงกันได้
จากนั้นเราส่องหาไอเดียจากในอินเตอร์เนต แล้วคุยกับช่างที่รับจ้างค่ะ โดยเป็นช่างที่มารับจ้างทาสีฝ้า เค้าบอกว่าเค้ารับทำบิวท์อินด้วย ก็เลยติดต่อใช้บริการตกลงราคาอยู่ในงบที่เราตั้งไว้ มีต้องจ่ายซื้อวัสดุเพิ่มเติมบ้างนิดหน่อย เช่น มือจับประตูในราคาหลักพันบาทค่ะ ฝีมือดี ผลงานเป็นที่น่าพอใจตามภาพเลยค่ะ
บิวท์อินบริเวณห้องรับแขก (แถมภาพชุดโต๊ะรับแขกด้วยค่ะ)
บิวท์อินบานเลื่อนกั้นห้องรับแขกค่ะ
บิวท์อินผนังกั้นบังตาหน้าห้องครัว เราซื้อรูปภาพตกแต่งจากเนตมาพันกว่าบาท ละเอาให้ช่างเค้าติดผนังให้ด้วยเลยค่ะ
บิวท์อินกั้นห้องนอนใหญ่ชั้นบนค่ะ ให้คอนเซ็ปช่างว่าทำกั้นห้องแบบแนวญี่ปุ่น ช่างเลยเลือกโทนสีไม้สีอ่อนกว่าที่ทำบิวท์อินชั้นล่างค่ะ ซึ่งให้เข้ากันกับสีพื้นไม้ลามิเนตที่ปูด้วย
รีวิวห้องนอนค่ะ ห้องนอนใหญ่ของเรา และห้องนอนเล็กไว้รับรองแขก
รีวิวผ้าม่าน เลือกแบบห่วง สีน้ำตาลค่ะ (อิอิ คุมโทนสีนี้ทั้งหลัง)
เฟอร์นิเจอร์มือสองญี่ปุ่น และของตกแต่ง จานชาม
ช่วงนี้เราจะเห็นว่ามีร้านจำหน่ายสินค้ามือสองจากญี่ปุ่นเปิดอยู่ในหลายๆ จังหวัด รวมทั้งจังหวัดที่เราอยู่ด้วยค่ะ เราเลยไปเดินส่องดูและสะสมไว้ตั้งแต่ก่อนปลูกบ้านซักปีนึงได้ค่ะ
สินค้าเค้าแม้จะเป็นมือสองถ้าเลือกดีๆ มีตำหนิบ้างเล็กน้อย แต่คุณภาพโดยรวมของยังดีอยู่เลยค่ะ บางชิ้นนี่มือหนึ่งนะคะแต่ตกรุ่นเค้าโละสต๊อกมา ดีไซน์ก็สวยด้วย ราคาไม่แพงมาก (ช่วงหลังๆ ขึ้นราคาอยู่ ร้านอ้างว่าค่าขนส่งแพงขึ้น พอดีเราสะสมจนพอใจแล้วเลยไม่ค่อยกระทบเท่าไหร่)
เราจะซื้อเป็นตู้โชว์ ตู้ครัว ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเครื่องแป้ง โต๊ะวางทีวี ทำจากไม้ยางพารา ไม้สนค่ะ ของตกแต่งบ้าน ตุ๊กตา จานชามลายน่ารักทั้งนั้น ในส่วนเฟอร์นิเจอร์ไทยมือหนึ่งก็ซื้อมามิกซ์แอนด์แมทกันกับเฟอร์นิเจอร์มือสองญี่ปุ่น โดยเลือกแนวสไตล์ญี่ปุ่น เช่น โต๊ะกลางรับแขก ซื้อจากร้านส่งออกญี่ปุ่น (สั่งซื้อทางเนต) โต๊ะกินข้าว โต๊ะอ่านหนังสือ เตียงนอน ซื้อจากร้านไอเดียเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้านไม้แกะสลักนี่ซื้อจากกลุ่มแกะสลักที่จังหวัดสุโขทัยและเชียงใหม่ค่ะ ไปสรรหาซื้อมา บางชิ้นก็สั่งซื้อทางเนต จัดส่งถึงบ้านผลงานตามภาพเลยจร้า
เพิ่มเติมในส่วนฝ้าใต้หลังคาและฝ้าระเบียงค่ะ เราใช้ไม้เชอร่าสีน้ำตาลมะฮอกกานีวางเรียงเป็นฝ้าค่ะ ซึ่งเมื่อตัดกับขอบปูนโดยรอบสีขาว ก้อจะงามตามภาพค่ะ
บทสรุป
โดยรวมเราก็พอใจปลื้มปริ่มกะบ้านหลังแรกของเราอยู่ค่ะ เพราะเลือกเอง อยู่เองแสนสบายใจ จะมีปัญหาจุกจิกกวนใจบ้างตามที่บ่นมาข้างต้นก็พอรับได้ และขอจบรีวิวบ้านหลังแรกของเราแต่เพียงเท่านี้ค่ะ
ที่มา : สมาชิกหมายเลข 954145