สวัสดีเพื่อนๆ ชาวเว็บทุกคน วันนี้ ในบ้าน จะพาเพื่อนๆ ไปชม บ้านสไตล์ร่วมสมัย ผลงานของคุณ เปรมชัย เชื่อมภิญโญธนชาติ ส่วนการออกแบบก็เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นตามบ้านสไตล์คอนเทมโพรารีเลยทีเดียว รับรองว่าน่าจะถูกใจเพื่อนๆ อย่างแน่นอน ตามมาชมกันเลยค่ะ
บ้านหลังนี้ใช้หลังคาทรงปั้นหยาตามแบบสไตล์คอนเทมโพรารี มีการเน้นโทนสีบ้านเป็นสีเบจสุดอบอุ่น สบายตา ตัดกันกับสีน้ำตาลแบบโอวัลตินที่เสาสี่ต้น รวมไปถึงผนังอิฐหน้าบ้าน อีกทั้งระแนงสีน้ำตาลที่พาดเป็นแนวยาวตามความสูงของพื้นระเบียงกับฝ้าหลังคา ก็ช่วยให้บ้านดูมีความโดดเด่นมากขึ้นด้วย
ภายในบ้านมีการเน้นผนังและพื้นในโทนสีขาวสว่างตา ตัวพื้นมีการเลือกเป็นกระเบื้องลายหินอ่อนที่ให้ความรู้สึกหรูหรา ส่วนฝ้าเพดานนั้นออกแบบให้ลึกเข้าไป และตกแต่งด้วยโคมไฟห้อย ซึ่งช่วยให้ห้องดูมีมิติและโปร่งโล่งมากขึ้น
หากเดินเข้ามาในห้องครัว จะสังเกตว่ามีการเลือกใช้ผนังห้องที่แตกต่างออกไปจากผนังห้องอื่น ซึ่งผนังและพื้นจะเลือกใช้กระเบื้องที่มีลวดลาย ดูแล้วตัดกันได้เป็นอย่างดีกับท็อปเคาน์เตอร์ที่เป็นกระเบื้องดำขัดเงา
ห้องนอนชั้นสองจะเห็นว่ามีการเลือกใช้ผนังในโทนสีขาวเหมือนกันผนังด้านล่าง แต่พื้นจะเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างออกไป โดยจะเป็นกระเบื้องลายไม้ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นแทน พร้อมกับหน้าต่างเปิดกว้างรับแสงธรรมชาติได้แบบเต็มๆ
ห้องน้ำแต่ละห้องของบ้านหลังนี้มีสไตล์การตกแต่งที่แตกต่างกัน ในส่วนของห้องนี้จะเน้นเป็นโทนสีขาวสว่าง โดยมีการเลือกใช้กระเบื้องผนังและพื้นเป็นลายหินอ่อน เสริมรายละเอียดด้วยกระเบื้องลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด
ห้องน้ำอีกห้องหนึ่งจะเน้นการออกแบบที่เรียบง่ายด้วยผนังลายหินอ่อน ส่วนผนังช่วงล่างจะขั้นด้วยกระเบื้องโมเสกในโทนสีเข้มเพื่อให้ตัดกัน และถัดลงมาก็จะเป็นกระเบื้องที่มีลวดลายในโทนสีขาวอีกที ช่วยให้ห้องดูไม่เรียบเกินไป
บ้านร่วมสมัยสองชั้นโทนสีเบจหลังนี้ มี 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ โถงรับแขก ห้องครัว และระเบียงคู่ชั้นสอง พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 170 ตารางเมตร งบประมาณในการก่อสร้างอยู่ที่ 1.75 ล้านบาท หากใครสนใจบ้านแบบนี้สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามที่มาด้านล่างเลยค่ะ ^_^
ปล. งบประมาณในการสร้างบ้านแต่ละหลังที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ก่อสร้าง คุณภาพหรือเกรดของวัสดุ การว่าจ้างช่างฝีมือหรือผู้รับเหมา ฯลฯ ดังนั้น ข้อมูลของบ้านหลังนี้จึงมีไว้เพื่อเป็นตัวอย่างให้ศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถนำไปเป็นมาตราฐานในการสร้างบ้านอื่นๆ ที่มีสภาพปัจจัยที่แตกต่างกันได้
ที่มา : เปรมชัย เชื่อมภิญโญธนชาติ
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.