บ้านทาวน์เฮาส์บางหลัง อาจจะไม่มีห้องครัวแยกมาให้ด้วย หลายคนที่มีครอบครัวและจำเป็นต้องใช้ห้องครัวจึงต้องทำการต่อเติมห้องครัวเข้าไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีพื้นที่แคบๆ เก็บของได้ไม่มาก การจัดวางองค์ประกอบให้ลงตัวและใช้งานได้จริงจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก
วันนี้ ในบ้าน ก็จะพาชาวเว็บไปชม รีวิว ต่อเติมห้องครัวหลังทาวน์เฮาส์ โดยเป็นการต่อเติมลงบนพื้นที่แคบๆ ขนาดเพียง 5.6 x 3.4 เมตรเท่านั้น ได้มาเป็นครัวที่สวยงามและใช้งานได้จริง ใครที่กำลังจะต่อเติมห้องครัวที่บ้านทาวน์เฮาส์หรือบ้านทั่วๆ ไป ลองมาชมเป็นแนวทางกันเลยครับ
Review : ต่อเติมห้องครัวหลังทาวน์เฮาส์ สวยลงตัว ใช้งานได้จริง ในงบไม่เกิน 2 หมื่น
(รีวิวโดย Heroic Failure)
ต้องขอชี้แจงก่อนนะครับว่า รูปอาจจะน้อยไปหน่อย ไม่ครบทุกขั้นตอน
เนื่องจากเจ้าของกระทู้ทำงานต่างจังหวัด และให้แม่เป็นคนคุมงานก่อสร้างให้ การติดตามงานส่วนใหญ่จึงเป็นการโทรศัพท์คุยกันมากกว่าครับ บางทีก็ไม่ค่อยเข้าใจกัน เนื่องจากลูกชายค่อนข้างจะอินดี้ แล้วก็พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง และคุณแม่ท่านก็ไม่สันทัดเรื่องเทคโนโลยีเท่าไร จึงไม่สามารถบันทึกภาพได้ครับ
เข้าเรื่องเลยล่ะกันครับ
บ้านที่ผมซื้อเป็นบ้านที่อยู่ซอยท้ายสุดของโครงการ และอยู่ติดรั้วโครงการด้วย ด้านหลังจะเป็นที่ดินเปล่า มีต้นกกขึ้นเต็มไปหมด โดยบ้านของผม จะอยู่บล็อกกลางหลังที่ 2 จากขวาครับ ซึ่งสำหรับผมชอบตรงนี้มาก เพราะดูไม่วุ่นวายกับเพื่อนบ้านมากหลังเกินไป รวมทั้ง ตรงนี้บ้านจะขวางทิศทางลมด้วย ทำให้ลมพัดมาจากทางด้านหลังบ้านเต็มๆ
ส่วนพื้นที่ด้านหลังของบ้านโดยปกติแล้ว ถ้าเป็นบ้านตามแบบมาตรฐานจะมีขนาด 5.7×2 เมตร แต่ด้วยบ้านผมติดรั้วโครงการเลยจะมีพื้นที่ตรงนี้มากหน่อย ขนาด 5.7×3.5 เมตร หักลบส่วนที่เป็นรั้วก็จะเหลือ 5.6×3.4 เมตร ครับ
แนวคิดในการออกแบบของผมคือ ต้องการครัวที่โล่งถึงโล่งมาก ๆ เพราะตัวผมเองและแม่ชอบทำอาหารมาก ๆ ดังนั้นวันไหนว่างพื้นที่ที่จะใช้เวลามากที่สุด คงจะเป็นครัวนี่แหละครับ รวมทั้งอยากให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยไม่รบกวนเพื่อนบ้านในที่ดินฝั่งตรงข้ามที่อาจจะมีหมู่บ้านในอนาคต จึงออกแบบหลังคา 2 ชั้น เพื่อให้มีช่องระบายอากาศ ระหว่างชั้นของหลังคาครับ โดยใช้โครงเหล็กกล่องและแผ่นเมทัลชีท ช่องว่างระหว่างชั้นหลังคาห่างจากเขตที่ดิน 2 เมตรไม่ขาดไม่เกิน ความสูงชั้นแรก สูงจากพื้นประมาณ 3.1 เมตร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลังคาจะโล่งมากครับ
อันดับแรกต้องทำการเจาะพื้นเพื่อทำคานคอดินครับ
จากนั้นจึงจะทำการขึ้นโครงหลังคาครัวหลังบ้านครับ เพื่อความแข็งแรงใช้เสาเป็นเหล็กกล่องขนาด 4×4 นิ้ว และคานเชื่อมเสาใช้เหล็กกล่องขนาด 4×1.5 นิ้ว เนื่องจากจะไม่ยึดโครงสร้างใด ๆ ของครัวเข้ากับตัวบ้านครับ แต่การเชื่อมอาจจะไม่ค่อยเรียบร้อย เนื่องจากพ่อของเจ้าของกระทู้เชื่อมเองและมีช่างอีก 3 คน ช่วยกันทำครับ
ส่วนที่ติดกับบ้านต้องทำการตัดบัวปูนปั้นออก
เพื่อให้เสาสามารถตั้งชิดตัวบ้านได้ครับ
ขึ้นโครงเสร็จแล้วก็ทำการเทพื้นครับ
โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนห้องครัวจะมีขนาด 3.6×3.4 เมตร และที่เหลือ 3.4×2 เมตร จะทำเป็นหลังคาโปร่งเพื่อปลูกต้นไทรสัก 3-5 ต้นครับ รวมทั้งเป็นพื้นที่ซักล้างและตากผ้าได้ด้วยครับ
เทพื้นเสร็จก็ทำการมุงหลังคาครับ
ตอนนี้เจ้าของกระทู้มีโอกาสลางานกลับไปดูครับ แล้วก็ทำเองเลยจะได้ลดระยะเวลา
จากนั้นก็ทำการก่ออิฐฉาบปูนครับ
โดยใช้อิฐมวลเบา 1 พาเลท จำนวน 200 ก้อน ใช้เวลาก่อ 1 วันก็เสร็จ หลังจากฉาบเสร็จก็ทำการติดตั้งประตูบานซิงค์ ในส่วนของบานซิงค์ไม่ได้คำนวณเลยครับ คือไปถึงร้านดูโฮมก็ซื้อเลย อยากได้ตัวไหนบ้างก็เลือกเอา แล้วค่อยมาปรับให้เข้ากับหน้างาน แต่ที่ขาดไม่ได้คือบานถังแก๊สต้องมี และต้องรู้ด้วยว่าจะใช้เตาแก๊สแบบลอยหรือแบบฝัง เพราะจะได้เลือกบานซิงค์ใต้เตาแก๊สได้ถูกขนาด มาถึงก็วางแนวไว้ให้ช่างเรียบร้อย ตัวนี้เจ้าของกระทู้เป็นคนทำเองครับ ทำไว้แค่นี้แล้วก็หนีกลับต่างจังหวัด ปล่อยให้ช่างสานต่อ
เสร็จแล้วก็ติดกระเบื้องผนัง ซิงค์กระเบื้อง และกระเบื้องภายในเคาน์เตอร์ครับ
เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด
ช่วงระหว่างรอกระเบื้องแห้ง
ก็ทำการติดฝ้าเพดานและติดมุ้งลวดเหล็กดัดครับ
มาดูท็อปครัวกันครับ
ตัวนี้เจ้าของกระทู้เลือกใช้แกรนิตโต้แผ่นใหญ่ ขนาด 120×62 เซนติเมตร เนื่องจากลายสวย ราคาไม่แพงมาก ตกแผ่นละ 600 บาท โดยจะขายกล่องละ 2 แผ่น ใช้ ทั้งหมด 5 แผ่นครับ ตัวกระเบื้องนี่เจ้าของกระทู้ลางาน 1 วันมาติดกับช่างครับ
เมื่อติดกระเบื้องเสร็จสรรพ ก็จะได้แบบนี้ครับ
ยังขาดตู้แขวน ค่อยๆ ทยอยติดไป
หลังจากจุดนี้ไปคือช่างขอกลับบ้านเพื่อกลับไปเกี่ยวข้าว
ก็จะเหลือประมาณ 20% เรื่องการเก็บรายละเอียดครับ ต่อจากนี้ก็จะเป็นการทาสีและติดตั้งผ้าม่าน โดยจะใช้เวลาว่างทำการทาสีเองครับ อาจจะไม่เนียนบ้างแต่ก็ภูมิใจครับ ทำด้วยตัวเองไม่ต้องจ้าง
สรุปค่าใช้จ่ายทั้งหมด
- ค่าแรงช่างโครงสร้าง 2 คน วันละ 500 บาท 10 วัน = 10,000 บาท
- ค่าแรงช่างปูนปูกระเบื้อง 1 คน วันละ 400 บาท 15 วัน = 6,000 บาท
- ค่าแรงไม่รวมค่าอาหารและค่าที่พักครับ เนื่องจากเป็นญาติกับเจ้าของกระทู้เอง ก็กินอยู่ด้วยกันที่บ้านเลยครับ
ส่วนค่าวัสดุอุปกรณ์ (คร่าว ๆ)
- เหล็กกล่อง+เหล็กเส้น 20,000 บาท
- หิน+ทราย 1,000 บาท
- กระเบื้องปูพื้นและผนัง 12,000 บาท
- คิ้วสเตนเลส 2,000 บาท
- หลังคาเมทัลชีท 10,000 บาท
- ปูนกาว 4,000 บาท
- อิฐมวลเบา 2,700 บาท
- บานซิงค์+เตาแก๊ส 17,000 บาท
- มุ้งลวดเหล็กดัด 15,000 บาท
- ผ้าม่าน+ราว 6,000 บาท
- ไม้ระแนง 2,000 บาท
- ฝ้าเพดาน 3,000 บาท
- สี 4,000 บาท
ที่มา : Heroic Failure